17 มี.ค. 2023 เวลา 12:52 • ข่าวรอบโลก

ชัยชนะแบบได้ไม่คุ้มเสียของ “มาครง” กฎหมายบำนาญฉบับใหม่

ฤๅนี่จะเป็น “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16” ในยุคใหม่
ความคืบหน้าล่าสุดของประธานาธิบดีฝรั่งเศส “เอ็มมานูเอล มาครง” ที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กระบวนการในสภาแห่งชาติ (สภาล่าง) เพื่อผลักดันการยกเครื่องระบบบำนาญของ “ฝรั่งเศส” ที่เป็นประเด็นร้อนมายาวนานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการลงคะแนนเสียงในสภาล่าง จริงอยู่อาจรับประกันการปฏิรูปที่เขากล่าวว่าจำเป็นสำหรับการเงินของฝรั่งเศส แต่อาจจบลงไม่สวยด้วยชัยชนะแบบ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
1
  • 16 มีนาคม 2023: เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา “มาครง” ได้สั่งใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญในการผ่านร่างกฎหมายบำเหน็จบำนาญที่ถกเถียงกัน (ขยายอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี เพื่อยื้อการจ่ายบำนาญ) แทนที่จะเสี่ยงให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำการลงมติในรัฐสภา (ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะโปรยคำหวานกับกลุ่ม ส.ส. ให้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ก็ตาม) ซึ่งเป็นอันตรายมากสำหรับรัฐบาลของเขา
7
การปฏิรูปเรื่องบำนาญครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสรอบนี้ เปรียบได้เหมือน “มาครง” ได้มอบกระสุนให้กับฝ่ายค้านและผู้นำสหภาพแรงงานที่มองว่าการปฏิรูปไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อกลับมาโจมตีเขาเอง
สามารถอ่านความเป็นมาของเรื่องนี้ที่ผมเคยเขียนบทความไว้ก่อนหน้า ได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
National Rally พรรคการเมืองฝ่ายขวาของ “มารีน เลอ แปน” ได้ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีหลังเหตุวุ่นวายในสภา โดยตั้งใจที่จะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล หลังจากประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง” เลือกที่จะผลักดันการปฏิรูปเงินบำนาญที่เป็นข้อขัดแย้งโดยไม่ผ่านการลงคะแนนเสียงจากรัฐสภา
“เลอ แปน” หัวหน้าพรรคฝ่ายขวาในสภา ยังเรียกร้องให้ “เอลิซาเบธ บอร์น” นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส แสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งอีกด้วย ซึ่งนายกฯ “บอร์น” เธอถูกโห่ใส่ขณะที่ประกาศในสภาว่ารัฐบาลจะอ้างมาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสที่อนุญาตให้ผ่านกฎหมายได้โดยไม่ต้องมีการลงมติ
3
ชมคลิปวิดีโอช่วงที่ “เอลิซาเบธ บอร์น” นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ประกาศใช้มาตรา 49.3 ในรัฐสภา เพื่อข้ามขั้นตอนไม่ต้องลงมติเรื่องกฎหมายบำนาญฉบับใหม่ สร้างความไม่พอใจอย่างมากสำหรับ ส.ส. ในสภา มีการโห่ใส่เธอ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
“เลอ แปน” อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังกล่าวกับสื่ออีกด้วยว่า
  • ความเคลื่อนไหวดังกล่าวในการผ่านร่างกฎหมายบำนาญฉบับใหม่โดยไม่ต้องมีการลงมติ เป็น “ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” สำหรับรัฐบาลของ “มาครง”
  • การกระทำของนายกรัฐมนตรี “เอลิซาเบธ บอร์น” ซึ่งเป็นผู้จุดชนวนเรื่องนี้ ถือเป็น “การตบหน้าระบอบประชาธิปไตย”
  • “ฉันพูดเสมอว่าถ้าการปฏิรูปเงินบำนาญเกิดขึ้นเมื่อใด… เธอไม่สามารถอยู่ใน Matignon ได้อีกต่อไป” อ้างอิงถึงบ้านพักของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นั่นหมายความว่าต้องการให้นายกฯ ลาออกนั่นเอง
มารีน เลอ แปน (ซ้าย), เอลิซาเบธ บอร์น (ขวา) เครดิตภาพ: SIPA/Canva/20 minutes
  • การเดิมพันสูงของ “มาครง”
เขายอมเสี่ยงที่จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ร่างกฎหมายบำนาญนี้ผ่านให้ได้ เพราะผลกระทบทางการเงินในวงกว้างหากเสี่ยงต่อการปฏิรูปนี้ไม่ผ่านในสภา ซึ่งหมายถึงการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและหน่วยงานจัดอันดับเกี่ยวกับความยั่งยืนของหนี้ฝรั่งเศส แหล่งข่าวจากรัฐบาลกล่าว
2
เกี่ยวกับเรื่องการเงินประเทศ เขาต้องการเลือก “เพลย์เซฟ”
เครดิตภาพ: AP Photo/Michel Euler
นักวิเคราะห์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งฝรั่งเศสระบุว่า
  • อย่างไรก็ตามการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในรัฐสภาและการประท้วงตามท้องถนนหลายสัปดาห์ที่ดึงดูดผู้ประท้วงกว่า 1 ล้านคน เสี่ยงที่จะทิ้งมรดกเลวร้ายไว้ให้เขาในเส้นทางการเมือง และยังอาจช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กลุ่มฝ่ายขวาอีกมากด้วย
  • ผลกระทบของการปฏิรูปบำนาญครั้งนี้จะเกิดกับ “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นกลุ่มของประชากรที่มีความอ่อนไหวต่อกระแสโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับที่เกิดในอังกฤษก่อน Brexit และในอเมริกาก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
1
  • ความไม่พอใจนี้จะยังคงอยู่อีกนานไม่จางหายไป แต่มันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่น รอจนถึงผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
  • ยกตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัด ผู้นำในอดีตที่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องบำนาญและขยายอายุเกษียณออกไป ได้ชดใช้อย่างสูงในทางการเมือง นั่นคือ “นีกอลา ซาร์กอซี” เขาล้มเหลวในการการเลือกตั้งในปี 2012 หลังจากที่เขาเลื่อนอายุเกษียณจาก 60 เป็น 62 ปี ในปี 2010
1
  • การรอจังหวะซ้ำอยู่แล้วของ “เลอ แปน”
  • มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสซึ่ง “มาครง” ได้ใช้เพื่อให้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปบำนาญในครั้งนี้ ในประวัติศาสตร์การเมืองของ “ฝรั่งเศส” ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลทั้งฝ่ายซ้าย ขวา และกลาง ในอดีต อดีตนายกรัฐมนตรี “Michel Rocard” ใช้อำนาจพิเศษนี้ที่มีอยู่ถึง 28 ครั้ง ในช่วงปีทศวรรษ 1980s และ 1990s
อย่างไรก็ตามตั้งแต่เริ่มแรกที่มีแนวคิดปฏิรูปบำนาญของ “มาครง” ความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จก็มีต่ำอยู่แล้ว หรือล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ในช่วงเริ่มต้นกลุ่มรัฐมนตรีให้เหตุผลในการปฏิรูปเพื่อป้องกันการล่มสลายของระบบบำนาญ จนถูกเรียกว่า “การปฏิรูปของฝ่ายซ้าย”
เครดิตภาพ: WION
ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า “เลอ แปน” วางบทบาทได้ดี เธออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องความขัดแย้งในการปฏิรูปบำนาญนี้
  • แหล่งข่าวทางการเมืองให้ข้อมูลกับ Reuters ว่า “มาครง” ตอนนี้ถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ในปี 2027 และยังไม่มีผู้สืบทอดที่ชัดเจน
1
เธอได้กล่าวคัดค้านการปฏิรูปนี้หลายครั้ง แต่ได้สั่งเพื่อนร่วมงานของเธอในสภาให้ละเว้นจากการใช้กลยุทธ์แบบขัดขวางเช่นเดียวกับกลุ่มซ้ายสุดโต่ง ขณะที่ฝ่ายซ้ายบางกลุ่มพยายามขัดขวางร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมหลายจุด ส่วนฝ่ายขวากลางโต้เถียงกันว่าจะสนับสนุนกฎหมายนี้หรือไม่
เป้าหมายระยะยาวของเธอคือต้องการได้รับความเคารพนับถือในสภา
  • บทสรุป
เมื่อร่างกฎหมายบำนาญใหม่นี้ผ่านโดยใช้วิธีพิเศษมาแล้ว ภายในสภาอาจไม่สามารถทำอะไรได้มาก ส่วนภายนอกสภาตอนนี้ล้วนเต็มไปด้วยการประท้วงของประชาชนที่ต่างไม่พอใจต่อกฎหมายดังกล่าว อย่างที่เห็นตามภาพข่าวต่างๆ
เปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16” ถูกประหารด้วยกิโยตินเมื่อ 230 ปีที่แล้ว จากความไม่พอใจของประชาชนในปัญหาเรื่องปากท้อง และการบริหารแผ่นดินในเรื่องการคลัง
เมื่อเทียบกับเรื่องปฏิรูปบำนาญในยุคปัจจุบัน ต้นตอมันก็เกี่ยวข้องกับปัญหาการบริหารเงินกองคลังของประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ จากการที่ผู้นำประเทศอย่าง “มาครง” ตัดสินใจที่จะทำการปฏิรูปครั้งใหญ่โดยไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่หรือใช้กระบวนการที่ถูกต้องนั้น ย่อมส่งผลลัพธ์ต่อตัวเขาในแง่เส้นทางการเมืองที่ดูเหมือนจะจบลงได้ไม่สวย เหมือนสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
1
Trial of Louis XVI – ภาพวาดการพิจารณาคดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 – Public Domain
เรียบเรียงโดย Right SaRa
17th Mar 2023
  • แหล่งข่าวอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: GERARD JULIEN / AFP>
โฆษณา