22 มี.ค. 2023 เวลา 04:00 • การศึกษา

ต้องรู้มั้ยนี่ (3) : ตรุษไทย vs สงกรานต์ ต่างกันอย่างไร

.
ผมเคยสังเกตเห็นว่าบนปฏิทินบางฉบับ นอกจากบอกวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามปกติแล้ว ช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน จะมีเขียนว่า "ตรุษไทย" อยู่ด้วย
ตามความรู้สึกของผม คำว่า "ตรุษไทย" นั้นคล้ายคลึงกับคำว่า "ตรุษสงกรานต์" ตรงที่มีคำว่า "ตรุษ" เหมือนกัน
ผมลองไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า "ตรุษ" แปลว่า ตัด, ขาด
คือ ตัด,ขาด จากปีเก่า เข้าสู่ปีใหม่
ผมจึงเกิดความสงสัยต่อว่า ถ้า"ตรุษสงกรานต์" คือ การขึ้นปีใหม่ไทย แล้ว "ตรุษไทย" คือ ขึ้นปีใหม่อะไร ทำไมถึงมีคำว่า "ไทย" อยู่ด้วย
ปรากฏว่า คำตอบที่ผมตามหาอยู่ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้อย่างละเอียด สรุปตามความเข้าใจและภาษาของผมได้ว่า
"ตรุษไทย" เป็นเทศกาลระหว่าง แรม 14-15 ค่ำ เดือน 4 และ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยวัน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเปลี่ยนนักษัตรใหม่ (ปีชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ ฯลฯ)
"ตรุษสงกรานต์" เป็นเทศกาลที่ขึ้นกับการย้ายราศีของดวงอาทิตย์ โดยวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้ามาอยู่ในราศีเมษ, วันเนา คือวันถัดจากวันมหาสงกรานต์ 1 วัน และ วันเถลิงศก คือวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในราศีใหม่ไม่น้อยกว่า 1 องศา และวันเถลิงศก จะถือเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช
ถ้ายังไม่เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างปีที่แล้ว (2565) ตรงกับ ปีขาล จุลศักราช 1384
เมื่อมาถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษไทย จะเป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีเถาะ จุลศักราช 1384 (นักษัตรเปลี่ยน แต่จุลศักราชเดิม)
และเมื่อถึงวันที่ 16 เมษายน 2566 เวลา 20 นาฬิกา 2 นาที 24 วินาที จุลศักราชจะเปลี่ยนเป็น 1385 (เปลี่ยนทั้งนักษัตร และจุลศักราช)
อ้างอิง
ภาพจาก Wikimedia Commons

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา