10 พ.ค. 2023 เวลา 03:08 • การเมือง

ปัจจัยทางจิตวิทยาส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงอย่างไร?

🔸 เมื่อการเลือกตั้งใกล้มาถึง หลายคนก็คงลุ้นให้พรรคการเมืองในดวงใจประสปความสำเร็จได้เก้าอี้ สส. ตามเป้า แต่การมีพรรคในดวงใจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คน ๆ หนึ่ง ตัดสินใจลงคะแนนเสียง แต่กลับมีปัจจัยทางจิตวิทยาหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกันและกันอย่างซับซ้อน
🔸 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้แต่ละคนมีพรรคในดวงใจนั้นสามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social identity theory) ที่อธิบายไว้ว่าคนเรามักระบุว่าตนเองอยู่กลุ่มในสังคมที่มีค่านิยมและความเชื่อเหมือนกับตน ซึ่งพรรคการเมืองก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเหล่านี้ ระบุอัตลักษณ์นี้สามารถชักนำให้คนเราลงคะแนนเสียงให้กับพรรคที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางสังคมของคน ๆ นั้น และปฏิเสธพรรคที่ขัดแย้งกับอัตลักษณ์ของตน
🔸 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางจิตวิทยาอื่นมาประกอบ ทั้ง อคติเชิงยืนยัน (Confirmation bias) ที่ทำให้คนเราชอบเสพข่าวที่สอดคล้องกับความคิดเห็นทางการเมืองของตน ในทางตรงข้ามกันก็ไม่ค่อยเปิดรับสื่อจากขั้วตรงข้ามและปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจาก ความไม่ลงรอยกันทางปัญญา (Cognitive dissonance) ที่ทำให้คนเรารู้สึกไม่สบายและเครียดเมื่อมีข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนมากระแทกหน้า
🔸 และบางทีพรรคการเมืองก็ใช้ การจูงใจด้านอารมณ์ (Emotional appeals) เข้ามาหาเสียง โดยใช้ความโกรธหรือความกลัวเข้ามากระตุ้นให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงให้ ว่าหากไม่เลือกเราเขามาแน่ หรือพรรคตรงข้ามจะทำลายสิ่งที่เรารัก และอาจใช้อคติของผู้มีอำนาจ (Authority bias) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีอำนาจในสังคมมาออกความคิดเห็นเพราะคนเรามักมองว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีอำนาจสูงกว่านั้นจะถูกต้อง
🔸 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีนับไม่ถ้วนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของคนเรา โดยยังไม่ได้นับเรื่องผลประโยชน์หรือการเป็นพรรคพวกกันมาเกี่ยวข้างเลยนะเนี่ย แลัวคุณผู้อ่านตัดสินใจเลือกลงคะแนนเสียงด้วยเหตุผลใดสามารถแชร์ในคอมเมนต์ได้เลยนะครับ
Reference :
Tajfel, H., & Turner, J. C. (1979). An integrative theory of intergroup conflict. The social psychology of intergroup relations, 33-47.
Nickerson, R. S. (1998). Confirmation bias: A ubiquitous phenomenon in many guises. Review of general psychology, 2(2), 175-220.
Festinger, L. (1957). A theory of cognitive dissonance. Stanford university press.
Petty, R. E., & Cacioppo, J. T. (1986). Communication and persuasion: Central and peripheral routes to attitude change. Springer Series in Social Psychology.
Milgram, S. (1963). Behavioral study of obedience. Journal of Abnormal and Social Psychology, 67(4), 371-378.
โฆษณา