10 พ.ค. 2023 เวลา 12:42 • ปรัชญา

สิริมงคลแบบเซน

มี #นิทานเซน เรื่องหนึ่ง ที่ผมเคยอ่านแล้วรู้สึกประทับใจ เพราะให้ข้อคิดที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ทุกคน นิทานถูกเขียนอยู่หลายสำนวน รายละเอียดอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่รวมๆ กล่าวถึง #มงคลสูงสุดแบบเซน #สิริมงคลตามประสาเซน หรือ #คำอวยพรที่ดีที่สุด
ในญี่ปุ่นยุคโบราณ มีเศรษฐีชราผู้หนึ่ง ปริวิตกว่า...หากตนตายไปแล้วลูกหลานจะรักษาทรัพย์สมบัติเอาไว้ไม่ได้ จึงคิดนิมนต์พระอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือในยุคนั้นนามว่า ‘เซนไก’ (仙崖 หากอ่านด้วยสำเนียงจีนกลาง จะออกเสียงว่า ‘เซียนหยา’) มาฉันอาหารที่บ้าน และขอให้ท่านช่วยเขียนคำอวยพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล ให้ร่ำรวยเงินทอง จากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีวันอับจน
หลังฉันอาหารเสร็จ ญาติมิตรและแขกเหรื่อมากมายที่เศรษฐีชราเชิญมาร่วมพิธี ต่างพุ่งความสนใจไปที่ม้วนกระดาษ ว่าท่านเซนไกจะเขียนคำอวยพรว่าอย่างไร จากนั้นท่านเซนไกจึงจุ่มหมึกป้ายพู่กันอย่างรวดเร็ว ปรากฏตัวอักษรสามประโยค
แถวแรกเขียนว่า “พ่อตายก่อน”
แถวที่สองเขียนว่า “ลูกตาย”
แถวสุดท้ายเขียนว่า “แล้วหลานตาย”
ทุกคนต่างตกตะลึง อ้าปากค้าง กับประโยคที่ท่านเซนไกเขียนลงบนม้วนกระดาษนั้น ซึ่งมิใช่คำอวยพร แต่เป็นเหมือนคำสาปแช่งให้ตาย จนเศรษฐีชราถึงกับหลุดปากด้วยบันดาลโทสะว่า “เหตุใดท่านจึงล้อเล่นรุนแรงขนาดนี้ ข้าเพียงต้องการคำอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคลกับครอบครัวเท่านั้น”
ท่านเซนไกเห็นเป็นโอกาส จึงเอ่ยคำอธิบายว่า “ลูกเอ๋ย ข้ามิได้ล้อเล่น ความตายเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องพบเจอ เป็นความจริงที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นหากต้องตายแล้ว ขอให้ตายเรียงลำดับกันจากรุ่นสู่รุ่นมิดีกว่าหรือ? หากลูกตายก่อนพ่อแม่ พ่อแม่ย่อมต้องทุกข์ทรมานยิ่งนัก และหากหลานตายก่อนบิดาของเขา ท่านและบิดาของเขายิ่งต้องทุกข์ทรมานทับถมเท่าทวีคูณ แต่หากครอบครัวของท่านสิ้นอายุขัยตามลำดับที่ข้าได้เขียนเอาไว้ ถือเป็นคำอวยพร นำมาซึ่งความสุขความเจริญ และสิริมงคลยิ่งแก่วงศ์ตระกูล”
แล้วนิทานเซนเรื่องนี้ก็จบลง
หากใครเคยอ่านนิทานเซนกันมาบ้าง จะพบจุดสังเกตว่า...อาจารย์เซนมักใช้วิธีการสอนแบบฉับพลัน ในขณะที่ผู้ฟังกำลังตกอยู่ในอาการตกตะลึง ดั่งนิทานเรื่องนี้
ในชีวิตจริงผมเคยพบเห็นเหตุการณ์ทำนองนี้ น้องสาวของเตี่ยผมคนหนึ่ง ผมเรียกว่าอาโกว อาโกวเป็นคนรักสวยรักงามช่างพูดช่างเจรจา แต่หลังจากลูกสาวเพียงคนเดียวต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหัน อาโกวก็ตกอยู่ในภาวะที่น่าจะเรียกได้ว่า “ซึมเศร้าอย่างรุนแรง” บุคลิกกลายเป็นตรงกันข้าม ผมเผ้าไม่หวี หน้าตาไม่แต่ง และไม่ช่างพูดเหมือนเคย ตรงกับนิทานเซ็นเรื่องนี้ เพราะการที่ลูกตายก่อนย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ใจมากกว่า
และล่าสุดหลายชาย ลูกของน้องสาว (ลูกพี่ลูกน้องผม) เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตลงในวัยเพียง 22 ปี แน่นอนว่าเมื่อครอบครัวผมทราบข่าว ทุกคนตกใจกันหมด คงไม่ต้องคิดไปถึงพ่อแม่ของเขาว่า....จะทุกข์ทรมานมากขนาดไหน ที่ลูกชายต้องมาด่วนจากไปก่อนวัยอันควร
จริงอยู่ #ความตายเป็นสัจจะของชีวิต ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่พอเกิดเหตุกับคนใกล้ตัวแบบนี้ ทำให้ผมหวนระลึกถึงนิทานเซ็นเรื่องนี้ขึ้นมา และเห็นชอบกับท่านเซนไกทุกประการ ว่าหากครอบครัวใดตายเรียงกันตามลำดับ ถือได้ว่า....เป็นพรในชีวิตข้อหนึ่ง อีกนัยหนึ่งนิทานเซ็นเรื่องนี้ สอนให้เราดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท เพราะความตายอาจพรากชีวิตเราหรือคนรอบข้างไปเมื่อใด ก็ได้
ส่วนตัวผมได้เลือกวางแผนการตายล่วงหน้าอย่างเรียบง่ายไว้แล้ว ด้วยการอุทิศร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทยตั้งแต่ปี 2562
ผมได้แจ้งญาติพี่น้องใกล้ชิดไว้แล้ว และยังพกบัตรอุทิศร่างกายและบริจาคดวงตาไว้ในกระเป๋าสตางค์เสมอ เจตนาคือไม่ต้องการให้เกิดภาระยุ่งยากกับคนข้างหลัง ไม่ต้องการจัดพิธีศพ หลังสิ้นสุดการเป็นอาจารย์ใหญ่ และฌาปนกิจเสร็จแล้ว ผมมีความประสงค์ไม่ต้องการให้เก็บอัฐิไว้ ให้ทิ้งเสียให้หมด ส่วนจะในน้ำหรือผืนดินก็ไม่มีปัญหา
ถึงแม้ผมจะมีความตั้งใจเช่นนี้ แต่...ในโลกแห่งความเป็นจริง เราทั้งไม่รู้ และไม่อาจกำหนดวิธีตายของเราได้ และนั่น...อาจเป็นเหตุให้ผมต้องเสียความตั้งใจนี้ไป เพราะผิดเงื่อนไขการบริจาคร่างกาย อาทิ
  • 1.
    ผมประสบอุบัติเหตุ แล้วศรีษะไปทาง แขนขาไปทางแบบนี้ ทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์ ไม่เหมาะกับการบริจาคเพื่อการศึกษา
  • 2.
    หากผมเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โรคไต หรือเบาหวาน
  • 3.
    หากผมเสียชีวิตในช่วงอายุเกินกว่า 80 ปีขึ้นไป
  • 4.
    หากผมเสียชีวิตในพื้นที่ห่างไกล จนไม่สามารถส่งศพไปบริจาคได้ทัน
  • 5.
    หรือเหตุผิดพลาดอื่นๆ ที่ไม่อาจทราบได้
การเข้าใจเรื่องความตาย และวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกคนทราบ และไม่อาจปฏิเสธได้ แต่...หลายคนกลับมองข้าม ไม่ว่าจะเพราะความกลัว เชื่อโชคลาง หรือเหตุผลอื่นๆ บลาๆ จนไม่อยากนึกถึง ทำให้พอเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกมักตั้งตัวกันไม่ทัน
กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ #สุนทรภู่ ได้ประพันธ์กลอนบทหนึ่งไว้อย่างไพเราะน่าฟัง ซึ่งผมมักระลึกอยู่เสมอว่า
๏ นึกถึงความตาย สบายนัก
มันหักรักหักหลง ในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์ อันธกาล
ทำให้หาญหายสะดุ้ง ไม่ยุ่งใจ ๚๛
ขอแปลสักนิด :
1. #สงสาร จากคำกลอนนี้ ไม่ใช่คำกิริยาที่แปลว่า ความเห็นอกเห็นใจ แต่หมายถึง “สงสาร” ที่ย่อมาจากคำเต็มว่า “สงสารวัฏ” หรือคำที่เราคุ้นกว่าคือ “สังสารวัฏ” หรือ “วัฏสงสาร” หมายถึง ความทุกข์ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้นในคติพุทธ
2. #โมหันต์ หรือ โมหะ แปลว่า ความหลง “หลง” อะไร? หลงเพราะไม่รู้จัก #อริยสัจสี่ หมายถึง หนทางออกจากความทุกข์ 4 ประการในคติพุทธ ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
3. #อันธการ แปลว่า ความมืด ความมัว ความมืดมน; เวลาคํ่า; ความเขลา
4. จากประโยคเต็ม “บรรเทามืดโมหันต์ อันธกาล” คือ ความมืดมนในความหลง ในที่นี้ สุนทรภู่น่าจะหมายถึง ยศ ทรัพย์ สรรเสริญ สุข ซึ่งเป็นของน่าใคร่น่าชอบใจของคนทั่วไป แต่...เมื่อใดหวนระลึกถึงความตายปั๊บ ความหลงมัวเมาใน “โลกธรรม 8” เหล่านี้ก็จะทุเลาหรือเบาบางลงไป
กวีบทนี้ของสุนทรภู่ นอกจากจะไพเราะ คล้องจอง จดจำง่ายแล้ว สิ่งสำคัญคือความหมายที่แฝงอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ควรปฏิเสธ ไม่ประมาทกับความตาย ควรดำรงชีวิตอยู่ด้วยความ “มีสติ รู้สึกตัว” รู้จักประมาณในการใช้ทรัพย์ทางโลกให้พอเหมาะ ให้คิดเข้าทำนองสมบัติผลัดกันชม ไม่ใช่เจ้าของอย่างแท้จริง เพราะเมื่อใดที่เราตายไป เราจะต้องทิ้งทุกๆ อย่างไว้หมด เอาไปไม่ได้สักอย่างเดียว
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
ภาพประกอบ (ด้านบนสุด) : ภาพวาดรูปกบ ฝีมือท่านเซนไก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา