26 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

Tech-Enabled Job Replacement and Advancement

การที่เทคโนโลยีมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดงานทั่วโลก เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
มีการคาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้มีตำแหน่งงานเกิดใหม่ถึง 20 - 100 ล้านงานทั่วโลก 85% ของงานที่จะเกิดภายในปี ค.ศ. 2030 ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีตำแหน่งงานในปัจจุบันถึง 85 ล้านตำแหน่งทั่วโลกที่อาจถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น งานในสายงานการผลิต การคีย์ข้อมูลลงระบบ การขนส่ง หรืองานอื่น ๆ ซึ่งมีรูปแบบซ้ำเดิม เป็นกลุ่มงานที่มีแนวโน้มสูงว่าจะถูกแทนที่
โดยปัจจุบันมีผู้บริหารองค์กรมากกว่า 80% ที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนองค์กรของตนเองเป็นองค์กรดิจิทัล และมีถึง 50% กำลังนำระบบอัตโนมัติมาทดแทนตำแหน่งงานต่าง ๆ ทำให้มีผู้บริหารถึง 43% เริ่มมีแนวคิดลดขนาดกำลังคน และ 41% กำลังพิจารณาจ้างพนักงานเป็นแบบสัญญาจ้างรายโครงการเท่านั้น
การที่เทคโนโลยีมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดงานทั่วโลกจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เทคโนโลยี เช่น ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน เทคโนโลยีเพื่อการยกระดับประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนทำงานทั่วโลกต้องพยายามพัฒนาทักษะงานใหม่เพิ่มจากความสามารถเดิม เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ทั้งยังเกิดเป็นแรงผลักดันให้พนักงานต้องพยายามสร้างมูลค่าให้ตนเองเป็นผู้มีศักยภาพหลายด้าน (Multipotentialite) โดยในขณะที่คนที่ถนัดเรื่องคนหรือความคิดสร้างสรรค์พยายามทำความเข้าใจการใช้งานเทคโนโลยี พนักงานในกลุ่มนักพัฒนาระบบปฏิบัติการเองก็เริ่มถูกผลักให้ต้องพัฒนาทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับการคาดการณ์โดย McKinsey Global Institute ที่คาดกากรณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีคนกว่า 375 ล้านคนหรือราว 14% ของตลาดแรงงานโลกเปลี่ยนงานข้ามไปจากสายงานเดิมของตน
ผู้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในอนาคตจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการจับตามอง วางแผน และกำหนดกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงรายการคุณสมบัติที่ต้องการเพื่อรับพนักงานใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาทักษะและจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้กับพนักงานและผู้บริหารภายในองค์กรให้มีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (In-time Upskill & Reskill)
แม้แต่ HR ในองค์กรเองก็ต้องกลับมาทบทวนบทบาทการทำงานของตนเองเช่นกัน ว่างานในลักษณะใดที่ควรถูกลดบทบาทลง และงานกลุ่มใดที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น มีตำแหน่งงานในบ้างที่ต้องถูกตั้งขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงโครงสร้างขององค์กรควรเป็นอย่างไรเพื่อให้ตัวองค์กรเองสามารถอยู่รอด ปรับตัว และเป็นผู้นำที่เท่าทันและนำหน้าไปมากกว่าสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- องค์กรที่พยายามปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่ออนาคตแต่ไม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้พนักงานปรับตัวไปพร้อมกับองค์กรได้จะประสบปัญหาการบริหารทรัพยากรบุคคล จนนำไปสู่ปรากฎการณ์ไล่ออกหรือลาออกครั้งใหญ่
 
- หลายทักษะที่จำเป็นในอนาคตจำเป็นต้องถูกถ่ายทอดให้ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานสายสนับสนุน ทำให้หลักสูตรการพัฒนาทักษะในองค์กรอาจถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามสายงานและระดับงานที่สำคัญมากขึ้น
- รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ตำแหน่งงานด้านการออกแบบการเรียนรู้และประสบการณ์ได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดงาน
- งานบริหารความเสี่ยงจะต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรมากขึ้น และต้องทำงานใกล้ชิดกับ HR เพื่อประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในการพัฒนาทักษะพนักงานออกมาให้ชัดเจน
- รัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดแรงงานภายในประเทศให้เป็นดิจิทัลจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องออกมา เพื่อทำให้แรงงานและองค์กรสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเป้าหมายทางเศรษฐกิจของชาติ
- การผลักดันให้แรงงานผู้สูงอายุกลับเข้ามาในตลาดแรงงานจะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในหลายมิติมากขึ้น การพัฒนาทักษะแรงงานทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้รับการเตรียมการตั้งแต่ในปัจจุบัน
- ความกดดันจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับลักษณะการจ้างงานของแรงงานอิสระ (ฟรีแลนซ์) ความคาดหวังของผลสัมฤทธิ์ ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ รวมถึงจริยธรรมการทำงานอย่างกว้างขวาง
- เกิดการแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษาเพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพและตัวตนของผู้เรียนให้สามารถใช้ชีวิตและสร้างรายได้ในโลกอนาคต
 
- งานกลุ่มที่ต้องทำงานใกล้ชิดและพึ่งพาเทคโนโลยี (Human-machine symbiosis) จะเป็นกลุ่มงานที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์เชิงอารมณ์ลึกซึ้งกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในชีวิตประจำวัน
- การอพยพของแรงงานศักยภาพสูงจะกลับมาเป็นประเด็นสำคัญทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังขาดแคลนประชากร โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในภาวะที่โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบกำลังถูกจับตามองโดยภาคเอกชนและประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน
อ้างอิงจาก
- Realizing 2030: A Divided Vision of the Future Global business leaders forecast the next era of human-machine partnerships and how they intend to prepare https://www.delltechnologies.com/content/dam/delltechnologies/assets/perspectives/2030/pdf/Realizing-2030-A-Divided-Vision-of-the-Future-Summary.pdf
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWork #WellBeing #MQDC
โฆษณา