28 พ.ค. 2023 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

“Stanley Kubrick” ผู้กำกับมือมาร ตำนานภาพยนตร์ล้ำยุค

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 43 ปีภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องหนึ่งที่ดีที่สุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์ นอกจากความหลอนลึกลับและฉากในตำนานสุดสั่นประสาทที่ The Shining ฝากทิ้งไว้ในความทรงจำของใครหลายคน และหากจะกล่าวถึงผู้กำกับระดับตำนานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มากกว่ามรดกทางปัญญาสุดล้ำค่าในด้านเทคนิคภาพยนตร์ ยังเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่โด่งดังในเรื่องการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์(ในทางที่ไม่ค่อยดีนัก)
ด้วยความจริงจังอย่างแรงกล้าที่มีให้ต่องานแต่ละชิ้น ทำให้เกิดเรื่องราวกล่าวขวัญถึงวีรกรรมสุดเดือดดาลที่นอกจากจะทำหนังออกมาหลอนแล้ว ยังทำนักแสดงและทีมงานหลอนกับนิสัยส่วนตัวของผู้กำกับไปอีกนาน เขาคือผู้กำกับหนังล้ำขั้นปรมาจารย์ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick)
“หากเขียนออกมาได้ หรือคิดออกมาได้ ก็แปลว่าทำได้”
1
📌 แรงบันดาลใจจากวัยเด็ก
สแตนลีย์เป็นเด็กฉลาด แม้จะไม่ใช่ความฉลาดด้านการเรียน เขาก็เป็นเด็กชายที่รักในการอ่านตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่แค่วรรณกรรมเด็กทั่วๆ ไป แต่รวมถึงนิทานพี่น้องตระกูลกริมม์ที่จัดได้ว่าเป็นต้นฉบับวรรณกรรมเด็กสุดโหด อีกทั้งยังมีความชื่นชอบในวรรณกรรมจากตัวพ่อนักเขียนสยองขวัญถึงสองคนอย่าง ฟรานซ์ คาฟคา และ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ ที่มีเอกลักษณ์มากกว่าความสยองแบบทั่วไป
งานเขียนของฟรานซ์ คาฟคา และ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ยังมีการผสมผสานวิทยาศาสตร์ สิ่งรุกรานลึกลับและความรู้สึกอ้างว้างจนน่าขนลุกลงไปในงานเขียนของเขา ดังนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้สแตนลีย์ คูบริกหยิบเอาอารมณ์สุดอึดอัดมาใช้ในงานภาพยนตร์ของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
📌 กล้องตัวแรกสู่งานแรกในวงการ
จุดเริ่มต้นแรกที่นำไปสู่การทำงานในวงการภาพยนตร์กว่า 48 ปีของสแตนลีย์ ได้มาจากวันเกิดครบรอบอายุ 13 ปี เด็กชายสแตนลีย์ในครอบครัวชาวยิวฐานะปานกลาง ได้กล้องตัวแรกในชีวิตเป็นของขวัญจากคุณพ่อ ดั่งเป็นรักแรกพบ เขารู้สึกหลงไหลกับการถ่ายภาพในทันที จนทุ่มเทชีวิตให้กับการถ่ายภาพจนได้เริ่มงานแรกเป็นช่างภาพนิตยสาร Look ในวัย 17 ปี ถือเป็นก้าวแรกที่ดีก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว
📌 ความสำเร็จไม่ง่าย
Fear and Desire (1953) หนังเรื่องแรกของสแตนลีย์ไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ แต่เขาก็ไม่ได้ท้อ ยังเดินหน้าทำหนังต่อไปด้วยใจรัก จนกระทั่ง Spartacus (1960) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องแรกของสแตนลีย์เกี่ยวกับเรื่องราวของทาสที่ชีวิตพลิกผันไปเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ได้สร้างกระแสตอบรับที่ดีจนเรียกได้ว่าเป็นประตูบานแรกสู่ความเป็นตำนานของสแตนลีย์
📌 ตำนานความล้ำ
2001: A Space Odyssey (1968)
“หากคุณเข้าใจ ‘2001’ อย่างสมบูรณ์ เราก็ล้มเหลว เพราะเราต้องการตั้งคำถามมากกว่าการได้คำตอบ”
1
“2001: A Space Odyssey (1968)” หรือในชื่อไทย “2001: จอมจักรวาล” ได้แรงบันดาลใจในการสร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นครู The Sentinel (1948) โดยอาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก ว่าด้วยเรื่องการค้นพบหินศิลาประหลาด “โมโนลิธ” ที่สามารถมอบภูมิปัญญาให้แก่ผู้ใดก็ตามที่ได้ครอบครอง หินนั้นนำมาซึ่งการวิวัฒนาการของมนุษยชาติ และ ไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่ง แต่กลับกระจายอยู่ทั่วจักรวาล จนเกิดเป็นการล่าศิลาแห่งปัญญาในจักรวาลอันเวิ้งว้าง
“2001: จอมจักรวาล” ฉายภาพอวกาศจำลองได้อย่างสมจริงด้วยเทคนิคที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ในยุคสมัยที่ยังไม่มี Visual Effects ล้ำยุค สแตนลีย์ คูบริก สามารถสรรค์สร้างภาพเหนือจินตนาการได้ด้วยฉากหนึ่งฉากและเทคนิคกล้องหลอกตาและแสงที่ทำให้ตัวละครเสมือนล่องลอยอยู่ในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง
การออกแบบฉากก็ได้นักวิชาการจาก NASA มาช่วยเหลือในเรื่องความสมจริง ในยุค 60s ที่ยังไม่มีการใช้ CGI สแตนลีย์ออกแบบฉากให้เป็นลักษณะวงกลม เพื่อให้เข้ากับเทคนิคกล้องทดแทนการตัดต่อ งานศิลปะก็เป็นการตีความอนาคตไว้อย่างสวยงามและสมจริง เป็นงานภาพยนตร์ปรัชญาสุดล้ำลึกที่เล่าผ่านภาพที่งดงามดั่งชิ้นงานศิลปะ “2001: A Space Odyssey” หรือ “2001: จอมจักรวาล” จึงถือว่าล้ำยุคกว่าภาพยนตร์อื่น ๆ ในสมัยเดียวกันมากและนับเป็นหนึ่งในตำนานเทคนิคภาพยนตร์สุดสร้างสรรค์แห่งโลกภาพยนตร์
1
มากกว่าความสามารถในการออกแบบภาพอย่างวิจิตร วิธีการส่งอารมณ์จากตัวละครสู่ผู้ชมของสแตนลีย์ก็ทำได้ถึงใจ จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ความหลอนแบบใหม่ที่สร้างความกลัวได้โดยไม่ต้องมีผีเป็นตัวเป็นตน
📌 ตำนานความหลอน
“The Shining (1980)” ในชื่อไทย “โรงแรมผีนรก” ดัดแปลงมาจากนิยายของเจ้าพ่อเรื่องสยองขวัญ สตีเฟน คิง ที่ตีพิมพ์ในปี 1977 ในตอนแรกที่ The Shining ภายใต้การสร้างของสแตนลีย์ถูกปล่อยออกมา โดนกระแสต่อต้านจากนักวิจารณ์และแฟนนิยายจนทำให้คะแนนรีวิวของหนังเรื่องนี้ตกต่ำอย่างถึงที่สุด
นอกจากหนังจะถูกดัดแปลงจนผิดกับนิยายไปมาก The Shining ยังเป็นหนังสยองขวัญที่ไม่ตรงกับอุดมคติหนังสยองในยุคนั้น ภาพยนตร์สยองขวัญในปี 80s นั้นส่วนมากจะต้องมีผีหน้าตาน่ากลัวและจังหวะชวนสะดุ้งเป็นตัวชูเรื่อง ความสยองแบบเน้นอารมณ์ความรู้สึกอ้างว้างในแบบของสแตนลีย์จึงเข้าถึงไม่ง่ายนัก เพราะใหม่เกินกว่าจะมีใครเข้าใจ
“คุณอาจจะคิดว่าหนังเรื่องนี้น่ากลัวเพราะเกี่ยวกับความตายและพลังวิเศษ แต่ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของจิตวิทยา ว่ามันสามารถเปลี่ยนคน ๆ หนึ่งได้มากเพียงไร เหมือนอย่างในตอนจบของหนัง”
The Shining เป็นเรื่องราวของ แจ็ค ทอร์เรนซ์ ชายผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว แจ็ครับงานเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลโรงแรมโอเวอร์ลุคในฤดูหนาวที่ไร้ซึ่งเจ้าหน้าที่และแขกเข้าพัก โดยอาศัยโอกาสใช้โรงแรมนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของครอบครัวและใช้ความเงียบเพิ่มสมาธิในการแต่งหนังสือ แต่ทว่าในความเงียบงันและหนาวเหน็บของโรงแรมโอเวอร์ลุคกลับซุกซ่อนไปด้วยเรื่องราวเขย่าขวัญที่จะนำพาตัวละครสามคนพ่อแม่ลูกไปอยู่ในจุดที่หวาดกลัวจนแทบสิ้นสติ
สแตนลีย์ใช้เทคนิคการถ่ายทำที่ใช้มุมกล้องแสดงให้เห็นถึงความอ้างว้างของตัวละครหลักทั้งสามคนในโรงแรมที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา บรรยากาศของโรงแรมที่เคยเนืองแน่นด้วยผู้คนบัดนี้เงียบงันจนน่าขนลุก อากาศหนาวทำหน้าที่เป็นกรงขังไม่ให้ตัวละครเดินทางออกไปไหนได้ ต้องใช้ชีวิตวนลูปในโรงแรมเหมือนไร้ที่สิ้นสุด จุดวนลูปนี้ คือ สิ่งที่สแตนลีย์เลือกนำมาแสดงถึงความเบื่อหน่ายของมนุษย์ ความกดดันที่ต้องคิดถึงเรื่องงานเดิม ๆ ซ้ำๆ อีกทั้งยังมีปมติดแอลกอฮอล์ของแจ็ค ที่สามารถดึงเขาไปอยู่ในจุดที่ตกต่ำจนเกิดโศกนาฏกรรมในตอนจบ
📌 เปิดโลกความกลัว
“โรงแรมผีนรก” แสดงให้เห็นถึง “ผี” และ “นรก” ที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ ภายในบรรยากาศโรงแรมสุดสงัดเงียบ ถูกแต่งเติมไปด้วยเสียงกรีดร้องและความกลัวไว้แน่นขนัด จึงทำให้ The Shining กลายเป็นตำนานความสยองที่กล้าเดินหน้าใช้ไอเดียใหม่ ๆ สร้างความกลัว ไม่ใช่เน้นใบหน้าผีชวนสะดุ้ง ความกลัวจากหนังของสแตนลีย์เต็มไปด้วยการใช้จังหวะที่ทำให้รู้สึกไม่คุ้นชิน
การแสดงที่ตั้งใจทำให้ดูผิดปกติของนักแสดง บทพูดซ้ำ ๆ หลอนชวนหลอนประสาท บทบาทความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แตกสลาย กลายเป็นไล่ฆ่ากันเองทำให้หนังเรื่องนี้น่ากลัวในมิติที่แตกต่าง จนในยุคหลังจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดและยกให้ตัวสแตนลีย์เป็นผู้กำกับที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์
📌 เฮี้ยนนอกจอ
แน่นอนว่าเส้นทางของการเป็นผู้กำกับระดับตำนานไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เบื้องหลังของฉากหน้าที่สวยงามกลับเต็มไปด้วยเสียงก่นด่าถึงผู้กำกับที่มีนิสัยเนี๊ยบจัดจนทีมงานและนักแสดงที่ทำงานด้วยต้องเอือมระอา มีบันทึกและคำให้สัมภาษณ์จากทีมงานเล่าว่าถ้ามีฉากไหนที่สแตนลีย์ คูบริกไม่ถูกใจก็จะสั่งคัทและให้แสดงซ้ำ ๆ จนกว่าจะเจอเทคที่ถูกใจ
จนมีข่าวลือว่าฉากที่เวนดี้ (เชลลี่ ดูวัลล์) ถูกแจ็ค ทอร์เรนซ์ (แจ็ค นิโคลสัน) ไล่ล่าบนบันไดในเรื่องThe Shining ถูกถ่ายทำไปถึง 127 ครั้ง และฉากใช้ขวานฟันประตูในตำนานของแจ็ค ถ่ายทำถึงสามวัน ใช้ประตูในการถ่ายไป 60 บาน และ ในเรื่อง Eyes Wild Shut ที่ทอม ครูซต้องเดินเข้าออกประตูอยู่ 95 ครั้ง กว่าจะได้ฉากเดินเข้าประตูที่สมบูรณ์แบบอย่างที่สแตนลีย์คาดหวังไว้
ไม่ใช่แค่สร้างความลำบากใจให้แค่ทีมงาน แต่นักแสดงที่ต้องพูดบทเดิม ๆ เล่นอย่างเดิมซ้ำ ๆ ก็ต้องพลอยเป็นเหยื่อความสมบูรณ์แบบไปด้วย เวนดี้ รับบทโดย เชลลี่ ดูวัลล์ ในช่วงการถ่ายทำเธอเป็นนักแสดงหญิงเจ้าบทบาทที่นับว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นของสายอาชีพสุด ๆ
จนกระทั่งต้องมารับบทใน The Shining เธอต้องรับบทหนักทั้งทางการแสดงและความกดดัน เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าเครียดกับการรับบทเวนดี้มาก จนผมร่วงเป็นกระจุก หลังจากฉาย The Shining เธอก็หายหน้าจากวงการไปเลยเพราะต้องประสบปัญหาทางจิตใจอย่างรุนแรง
เส้นทางความสำเร็จของสแตนลีย์ คูบริก เป็นดั่งการทำสัญญามารที่ต้องแลกความเจ็บปวดของคนรอบข้างและตัวเองเพื่อผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีว่าความสำเร็จนั้นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่จะได้มา
ผู้เขียน : นัยนา ภูมิลำเนา Content Creator Intern, Bnomics
ภาพประกอบ : เอกณัฏฐ์ นิธินันท์นฤมิต Graphic Design Intern, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา