6 มิ.ย. 2023 เวลา 11:00

การทำบุญ ให้ทาน ตามหลักพุทธศาสนา

หลังจากที่ได้นำเอาคำถามตอบ ของเหล่าผู้ฟังธรรมจากพระอาจารย์มานำเสนอ เพื่อประโยชน์ดังที่เขียนไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังธรรมะ ในเพจ Tui Space ที่มีความสงสัยในธรรม แต่ยังไม่รู้ว่าจะถามอย่างไร ได้เห็นคำถามจากผู้ฟังธรรมท่านอื่น เพื่อเป็นแนวทางแก้ความสงสัยในตน เป็นเหตุปัจจัยแห่งธรรมในเบื้องหน้า
วันนี้จะมาเขียนถึงเรื่อง การทำบุญ กับ การทำทาน ในพุทธศาสนาคืออย่างไร โดยเป็นการเขียนหลักความรู้กว้างๆเรื่องการทำบุญให้ทาน เนื่องจากทุกวันนี้มีชาวพุทธจำนวนมาก ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร ทานคืออะไร ตามหลักพุทธศาสนา จนทำให้เกิการทำไปในลักษณะงมงาย ดังปรากฏอยู่ในสังคม
ความไม่รู้ว่าบุญหรือทานคืออะไร ส่วนหนึ่งมาจากครูอาจารย์ที่ไม่รู้ธรรมอ แล้วแสดงธรรม สอนกันทำบุญแบบผิดๆ บางสำนักถึงกับหลอกให้ทำบุญด้วยวิธีต่างๆ เมื่อถูกตั้งคำถามก็อ้างว่าเป็นกุศโลบายเพื่อให้คนสนใจทำบุญ หากพูดภาษาชาวบ้านคือหลอกให้ทำบุญนั่นเอง
ทุกวันนี้ความรับรู้ของชาวพุทธทั่วไป เห็นว่าบุญคือสิ่งที่สะสมได้ โดยหวังว่าเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วจะทำให้ไปสู่ภพที่ดี จึงเกิดการทำบุญทำทานกันโดยไม่รู้ว่า ที่ทำไปเป็นการสะสมบุญ หรือ สะสมกิเลส
ความเห็นผิดในการทำบุญดังปรากฏ ก็มีผู้เห็นว่าผิดอยู่ออกมาอธิบายให้เห็นว่า ผิดอย่างไร แต่ไม่สามารถจะบอกผู้เห็นผิดเหล่านั้นได้สำเร็จ เนื่องจากผู้เห็นว่าการกระทำเหล่านั้นผิด ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าการทำบุญที่ถูกต้องคืออย่างไร โดยมีหลายสาเหตุ
เช่น ธรรมะลึกซึ้ง ผู้ฟังไม่รู้ธรรม เมื่อไม่รู้ธรรมก็ไม่สามารถเข้าถึงความลึกนั้นได้ ผู้นำพาการทำในสิ่งที่ตนเองเรียกว่าบุญ และผู้ร่วมกันทำแล้วคิดว่าได้บุญเหล่านั้น ไม่ได้มีความศรัทธาในพุทธศาสนาจริง หรือจะเป็นผู้ที่มีความศรัทธาจริง แต่ไม่รู้ธรรมใดๆ แม้ศรัทธาเพียงใด เมื่อเห็นผิดก็จะไม่รู้ว่าตนเห็นผิด เพราะไม่รู้ธรรม
อึกสาเหตุ คือ ผู้ที่มีความศรัทธาจริง แต่ไม่รู้ธรรมในพุทธศาสนา เพียงแค่เห็นว่าทำแบบนี้ไม่เมคเซนส์ แต่ไม่รู้ที่ถูกคืออย่างไร ก็ไม่สามารถแสดงการทำบุญที่ถูกต้องตามธรรม หรือตามความเป็นจริงได้
เมื่อไม่มีการแก้ใขความเห็นผิด ให้กลับมาเห็นถูกได้ ความเห็นผิดเหล่านั้นก็ทวีกำลังขึ้น โดยในปัจจุบันความเห็นผิดเหล่านี้ จึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า เลยตามเลย เมื่ออยู่ในสภาวะนี้ การเห็นการทำบุญกันแบบผิดๆอยู่จนชินตา เกิดปัญหาทางสังคมที่ไม่มีการแก้ใขใด เพราะอยู่ในสภาวะเลยตามเลย
ดังนั้นเรามาดูว่า การทำบุญ ให้ทานคืออย่างไร เพื่อให้เกิดความกระจ่าง จะใช้ธรรมของพระพุทธเจ้า ตอบใน 2 ข้อความสงสัยนี้
ในเบื้องต้นต้องยกเอาความสำคัญของการทำบุญ หรือการให้ทานนี้ ให้ได้เห็นถึงความสำคัญอันยิ่งเป็นเบื้องต้นก่อน โดยขอยกเอาคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสกับท้าวสักกะ ในจูฬตัณหาสังขยสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่12
ทื่ว่า ดูกรจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น
จากคำตรัสที่ว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น นั่นหมายถึงว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้นั้น จะต้องไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นสิ่งใดๆในโลก นั่นหมายถึงว่ากล้าทำบุญ กล้าให้ทาน ออกไปจนสิ้น
จะอธิบายคำว่า ปุญ ปุญญะ หรือ บุญ ในภาษาไทยเราก่อนว่า คำว่า ปุญญะ หรือ บุญ ในเนื้อความแห่งธรรมที่เป็นภาาษาบาลี อธิบายเอาไว้ว่า สันตานัง ปุนาติ วิโสเทติ
หมายถึงว่า การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์จนที่สุด จนกระทั้งถึงสันดาน ลึกที่สุดจนเกลี้ยงจนสิ้น สำรอกจนสิ้น คือการทำบุญ เป็นการสละออกทั้งหมด
ซึ่งก็มีความหมายนัยยะเดียวกันกับ ทาน คือการ บริจากออก การจาคะออก การสละออก โดยมีผู้ที่กระทำและมีผู้รับ เป็น 2 ฝ่าย โดยมีผู้แจกทานและมีผู้รับอยู่ เป็น2 ฝ่าย จะต้องมี
คำว่า บุญ เราจะได้ยินอยู่เสมอๆ คำว่าทำบุญให้ทานต่อเนื่องกัน ซึ่งมีลักษณะที่สละออก แต่ความหมายของคำว่าทำบุญนั้น ชี้ให้ฟังว่า สันตานัง ปุนาติ วิโสเทติ การชำระจิตของตน ให้เกลี้ยงให้สะอาดที่สุด จนถึงลึกที่สุด จนทั้งหมด สำรอกออกทั้งหมดจนถึงสันดาน นี่คือการทำบุญ
ส่วนการให้ทาน เราจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอในธรรมของพระพุทธเจ้า ในเรื่องของการให้ทาน ประกอบไปด้วย 8 ลักษณะ ดังนี้
ที่ 1 ให้ของสะอาด
ที่ 2 ให้ของประณีต
ที่ 3 ให้เหมาะแก่กาล ให้ถูกเวลา
ที่ 4 ให้ของสมควร ให้ของที่ควรแก่เขา ซึ่งเขาจะใช้ได้
ที่ 5 พิจารณาเลือกให้ ให้ด้วยวิจารณญาณ
เลือกของ เลือกคนที่จะให้ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์มาก
ที่6 ให้เนืองนิตย์ ให้ประจำหรือสม่ำเสมอ
ที่7 เมื่อให้ทำจิตผ่องใส
ที่8 ให้แล้วเบิกบานใจ
ในลักษณะที่ 7 หรือที่ 8 จะหมายถึงการทำบุญให้ทานเพื่อปรุงแต่งจิต คือการทำจิตให้บริสุทธิ์ ให้สิ้นให้เกลี้ยงจากสิ่งที่ยึดติดทั้งหลาย ตามธรรมที่ยกมาในจูฬตัณหาสังขยสูตรที่ว่า
ด้วยบทย่อดังกล่าวนี้ เป็นอันว่าภิกษุนั้นได้น้อมนำไปสู่ธรรมอันเป็นที่สิ้นตัณหา ถ้าเราไม่สิ้นตัณหาเราจะไม่สิ้นทุกข์ เราจะไม่พ้นทุกข์ คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ
ดังนั้นการทำบุญเราต้องรับรู้ว่าต้องทำ
การให้ทานเราจะเห็นคำว่าการให้ทานนี้อยู่ในหลายๆที่ แม้อยู่ในสัมมาทิฏฐิ 10 ซึ่งเป็นข้อที่1 ในอริยมรรคมีองค์ 8 ในสัมมาทิฏฐิ ก็จะขึ้นต้นด้วยคำว่า ทินนัง องค์แห่งการให้ทานเลย ข้อที่ 1 นี้
ให้ดูข้อที่1 ทินนัง คือองค์การสละออก ทานออก สิ่งใดที่เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิต ที่เราอุปาทานเอาไว้ ยึดเอาไว้ทั้งหมด ให้สละออก ให้จาคะออกจนสิ้น ทินนัง เราจึงจะเป็นผู้ที่สิ้นทุกข์ได้ ต้องรับรู้ตรงนี้
1
ดังนั้นการทำบุญ และการให้ทาน จะมี 2 ส่วน ส่วนผู้ที่ทำบุญทำทาน และผู้ที่รับบุญรับทาน ถามว่า ผู้ทาน ทานแล้ว ถึงผู้รับทานหรือไม่ ตอบ ถึง ในความเป็นมนุษย์ เราทานจากเราให้สู่บุคคลหนึ่ง ตามความจำเป็นของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นเห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราทานนั้น ย่อมถึงผลแน่นอน
เราให้ข้าวให้น้ำแก่สัตว์ ให้อาหารแก่สัตว์ ก็ถึงผลแน่นอน มีผู้ทาน มีผู้ทำบุญ และมีผู้รับทาน มีผู้รับบุญนั้นอยู่แน่นอน
แล้วการทำบุญให้ทานถึงผู้ตายหรือไม่
และ การทำบุญให้ทานนั้นเป็นผลสงให้ผู้ที่ตายไปแล้ว
สามารถหลุดพ้นจากวัฆสงสารได้หรือไม่
ต้องแยกตอบดังนี้ ข้อที่ 1 ถามว่า ทำบุญให้ทานถึงผู้ตายหรือไม่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ใน ชานุสโสณีสูตร ข้อ166 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 24
ท่านตรัสเอาไว้ว่า การทำบุญให้ทานแก่ผู้ตายนั้น ผู้ตายไปแล้วเข้าไปสู่ฐานะทั้ง 5 คือไปสู่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน สัตว์เปรต สัตว์มนุษย์ สัตว์เทวดา
ท่านระบุชัดว่า
ฐานะที่ 1 คือสัตว์นรก ไม่ถึง
สัตว์เดรัจฉาน ไม่ถึง
มนุษย์ความเป็นมนุษย์ก็ไม่ถึง
ความเป็นเทวดาก็ไม่ถึง
เพราะทั้ง 4 ฐานะนี้ ต่างตนต่างมีอาหารเฉพาะตนอยู่แล้ว
ฐานะที่ถึงนั้นคือฐานะที่เป็นเปรต โดยอาศัยธรรมใน ติโรกุฑฑะกัณ ใน ติโรกุฑฑสูตร แสดงเอาไว้ว่า ญาติเหล่าใดที่เป็นผู้ที่กระทำบาปกรรมเอาไว้ในชาติที่เป็นมนุษย์นี้ ตายไปแล้ว ตกล่วงไปแล้ว ได้ทราบชัดว่า ตนเป็นเปรต เป็น ปะระเอตะ หรือเป็น เปตะ เป็นผู้ที่ตกล่วงไปจริง ทราบชัด เขาก็รู้ว่าเขาเป็นเปรต และเราเองก็ทราบชัดว่าญาติของเราเป็นเปรต เราจึงทำบุญอุทิศโดยการผ่านหมู่สงฆ์
ตรงนี้ ญาติเหล่านั้นที่เป็นเปรตนั้นจะมาอนุโมทนา ปัตติทานมัย เข้ามาถึงผลทานนี้ได้ มีฐานะนั้นฐานะเดียว ต้องอยู่ในฐานะรู้ตัวว่าตนเองเป็นเปรต
เราเองก็เห็นว่าเขาเป็นเปรต หรือถ้าแม้ว่าเราไม่เห็นว่าเขาเป็นเปรต เราตั้งใจที่จะอุทิศทำบุญเหล่านี้ให้เขา เขาในฐานะที่รู้ เขาก็จะมา อนุโมทนาในผลนี้
ดังนั้น แสดงว่าการทำบุญให้ทานตามธรรมพระพุทธเจ้านี้ จะถึงผู้ตายในฐานะที่เป็นเปรตได้เท่านั้น
หากจะให้เข้าใจได้ง่าย คือ ต้องรู้ตัว
ถ้าไม่รู้ตัว อยู่ในฐานนะ มุฏฐัสสติ กาลัง คือมีสติหลงลืม ก็จะไม่รับรู้ในส่วนนี้ เพราะได้แสดงไปแล้วเบื้องต้นว่า การทำบุญให้ทานจะต้องรู้ รับทราบทั้ง 2 ส่วน ทำไปลอยๆ ไม่ได้ ไม่ถึง
เพราะฐานะทั้ง 4 คือ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา ไม่ถึง ถึงเฉพราะส่วนที่เป็นเปรตนี้เท่านั้น ผู้ทำบุญให้ทานแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตามหลักพุทธศาสนาต้องทราบดังนี้
เมื่อถึงแล้ว เมื่อรับแล้ว คนที่เป็นเปรต หรือบุคคลที่ตกล่วงไปเป็นเปรต ก็ยังอยู่ในฐานะนั้น ยังกินอาหารของเปรต และอนุโมทนาในทานที่ไปถึงได้อยู่ ซึ่งจากคำถามที่ถามว่า ถึงผู้ตายหรือไม่ ถึงได้ในฐานะเดียว
และจากคำถามอีกคำถามหนึ่ง เมื่อทำไปแล้วผลจากการให้ทานนั้น สามารถกระทำให้ผู้ตาย หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้หรือไม่ หรือปรินิพพานตามคำบอกที่ว่า ทั้งหมดทั้งมวลในการให้ทานนี้ เป็น นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ เป็นปัจจัยไปสู่การนิพพาน ได้จริงตามที่ คำที่ผู้เป็นผู้นำพาการทำบุญให้ทานนี้กล่าวได้หรือไม่
ตอบ อาศัยธรรมในพระพุทธเจ้า จากจูฬวัจฉโคตตสูตร
เมื่อวัจฉโคตร ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน ที่ยังไม่สามารถกระทำสังโยชน์ ยังไม่สามารถละสังโยชน์ให้สิ้นตอนที่มีชีวิตอยู่ พอตายไปแล้ว จะสามารถกระทำสังโยชน์ให้สิ้นไปนั้นมีหรือไม่
พระพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน ที่ยังไม่สามารถกระทำสังโยชน์ให้สิ้นไปได้ ในสมัยที่มีชีวิตอยู่นั้น เมื่อตายไปแล้วจะกระทำสังโยชน์ให้สิ้นไปนั้น ไม่มีเลย
ไม่มีเลย เป็นคำตอบ ให้กับคำถามที่ถามว่า เมื่อทำบุญให้ทาน แล้วสามารถจะกระทำให้ผู้ที่รับทานหลังจากล่วงลับไปแล้ว เมื่อรับบุญอุทิศไปแล้ว สามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้หรือไม่ ตอบ ไม่ได้
คือ มีสังโยชน์อยู่ ก็ต้องอยู่ในสังโยชน์นั้น
เป็นสัตว์เปรต ที่มีฐานะรับทานได้ก็ยังอยู่ในความเป็นเปรต จนกว่าจะสิ้นกรรม จึงจะมามีฐานะ เป็น นรก เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ เทวดา
แต่หากต้องการสิ้นสังโยชน์ต้องมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เพราะธรรมในพระพุทธเจ้า ที่จะกระทำให้คนสิ้นทุกข์ได้ ต้องอยู่ในฐานะความเป็นมนุษย์นี้เท่านั้น ฐานะอื่น ทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้
ดังนั้น จากคำถามที่ถามว่า การทำบุญอุทิศนี้ ถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะถึงในฐานะของความเป็นเปรต
คำถามที่ 2 ที่ว่า การทำบุญอทิศนั้นสามารถ ทำให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้จริงหรือไม่ ตอบ ไม่ได้
โดยอาศัยธรรมพระพุทธเจ้า ตอบเอาไว้ว่า
บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน ที่ยังยังละสังโยชน์ไม่ได้ เมื่อล่วงลับไปแล้ว จะกระทำสังโยชน์ให้สิ้นไปนั้นไม่ได้เลย แม้พระพุทธเจ้าก็ทำให้ไม่ได้ ผู้ทำบุญตามธรรมพุทธศาสนาต้องรับรู้
บุคคลที่จะกระทำที่สุดได้นั้น ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่เป็นหลักเลย คือ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ
ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
กล่าวคือ บุญตนเองต้องทำเอาเอง ทำบุญให้คนอื่นไม่ได้ ทำบุญได้เฉพาะตน
การทำบุญด้วยการให้ทานนั้นถึงผู้อื่นอยู่ ดังที่ได้บอกไปแล้ว แต่การสละความเป็นกิเลสในใจ ความเป็นตัณหาในใจนั้น จะไปสละให้คนอื่นไม่ได้ ตนต้องสละของตนเอง ทุกคนต้องกระทำเอาเอง
ซึ่งเป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น บุคคลผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ จึงจะเป็นผู้สามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ได้
แล้วหากเกิดการถือเอาว่า การทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ว่าที่สุด ซึ่งหมู่มวลชาวพุทธ หลังพุทธกาลมานี้ ไม่รู้จริงไม่แทงตลอดในธรรม ที่พระพุทธเจ้านำมาประกาศ
คือไม่รู้เหตุเกิด ไม่รู้เหตุดับ ไม่รู้คุณไม่รู้โทษ ไม่รู้อุบายเครื่องออก จากผัสสายตนะทั้ง 6 ตามความเป็นจริง หรือไม่เห็นอริยสัจ 4 ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค
จึงเป็นเหตุให้เรา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นมโน ไม่เห็นวิญญาณ
จากข้อธรรมที่ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ไม่เห็นธรรม
ไม่รู้ธรรมที่ รู้เหตุเกิด รู้เหตุดับ จึงไม่เกิดปัญญาในการเห็นธรรม
แล้วก็ทำให้เราไม่เห็นอริยสัจ 4 ทั้งหมดทั้งมวล
คือเรา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นมโน ไม่เห็นวิญญาณของเราเป็นเบื้องต้น หมู่มวลชาวพุทธจึงทึกทักเอา จึงหมายเอาดังที่ได้พูดมาเป็นลำดับ
เมื่อไม่รู้ดังนนั้น ก็จะมีความเห็นว่า โลกหลังการตายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตนเองหรือผู้อื่น เมื่อล่วงลับไปแล้วจะไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนในสมัยพุทธกาลก็เห็นดังนี้ หมู่มวลชาวพุทธในยุคปัจจุบันก็เห็นดังนี้
ด้วยคำว่า รัก ห่วงใย ต่อกัน เมื่อถึงสุดท้ายของชีวิต
ผู้ที่เป็นพิธีกร บอกว่า บัดนี้ เราได้ส่งวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สุขติ ในสัมปรายภพแล้ว แต่เราก็ยังห่วง เรายังห่วง
ก็มาทำบุญให้ทานอีก โดยไม่เห็นสภาวะของความเป็นจริงของการไป ที่ต้องไปตามกรรม เราไม่ทราบชัดตามธรรมของพระพุทธเจ้า
จิต มโน วิญญาณ
จะไปเสวยความเป็นสัตว์นรก
จะไปเสวยความเป็นเดรัจฉาน
จะไปเสวยความเป็นเปรต
จะไปเสวยความเป็นมนุษย์
จะไปเสวยความเป็นเทวดา
เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่อยากไปก็ไป ไปเอาเองตามใจ ไปเอาเองตามความคิด ถ้าเช่นนั้นอยากสิ้นทุกข์ เราก็สามารถทำให้สิ้นทุกข์ตอนนี้เลยก็น่าจะได้
แต่ความจริงแล้วทำไม่ได้
นี่คือความลึกซึ้ง ในธรรมของพระพุทธเจ้า จึงนำธรรมนี้มาแสดงให้ได้เห็นว่า ในยุคกาลปัจจุบันนี้ ชาวพุทธนั้น มีความรักมีความศรัทราในพุทธศาสนาเชื่อมั่นว่า พระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้า สามารถที่จะเรียนรู้ได้จริง สามารถจะปฏิบัติตามถึงผลจนที่สุดแห่งการปฏิบัตินั้นได้จริง คือสามารถทำปรินิพพานได้จริง
แต่เรายังไม่รู้จริง ไม่แทงตลอดในธรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดความฟุ้มเฟือย รู้ไม่จริง ความที่ทำสืบๆกันมา ความที่เป็นไปด้วยการคาดเดา และที่สุดก็งมงาย เกิดขึ้นในหมู่ชนชาวพุทธในยุคปัจจุบันนี้ จึงฟุ้มเฟือย สิ้นเปลือง และไม่เกิดผลใดๆเลย
ดังนั้น การทำบุญให้ทาน ตามธรรมของพุทธศาสนา หากเราไม่รู้ธรรมเลย ก็ไม่สามารถหลุดพ้นออกจากวัฏสงสารได้ หรือหากเราทำบุญให้ทาน ด้วยความไม่รู้ว่า จะถึงผู้รับหรือไม่ การทำบุญนั้นก็ไม่เกิดผลใดๆ เพราะยังถูกอวิชชา(ความไม่รู้)ครอบอยู่
แม้จะยกเอาคำว่า ทินนัง ทานมีผล มาพูดนำพาหมู่กลุ่มทำบุญซักเพียงใด ก็ยังไม่ถึงคำว่าสัมมาทิฏฐิ อยู่นั่นเอง
แต่ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การทำบุญต้องรับรู้ว่า ต้องทำ แต่ต้องทำอย่างผู้รู้จริง เมื่อรู้จริงแล้วก็ไม่ได้เป็นการทำอย่างสืบๆกันมา ไม่ได้ทำด้วยการคาดเดา และที่สุดไม่ทำด้วยความงมงาย
เป็นการกระทำเพื่อความสิ้นเกลี้ยงแห่งกิเลส เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า เรากล่าวความสิ้นอาสวะของบุคคล ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ เราไม่กล่าวความสิ้นอาสวะของบุคคล ผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่
เชื่อมั่นว่าผู้ที่ได้รับธรรมในตอนนี้ จะเห็นความเป็นจริงตามธรรมนี้ได้
อ้างอิง
จูฬตัณหาสังขยสูตร ข้อ 433 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 12
ติโรกุฑฑสูตร ข้อ 8 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 25
ชาณุสโสณีสูตร ข้อ 166 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 24
จูฬวัจฉโคตตสูตร ข้อ 240 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 13
โฆษณา