Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mr.BlackCatz. Academy
•
ติดตาม
9 มิ.ย. 2023 เวลา 04:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อะไรนับว่ามี “ชีวิต” | Biology with JRItsme.
⌚️เวลาที่ใช้อ่าน 5 นาที
อย่างที่บอกว่าวิชา “ชีววิทยา” เป็นวิชาที่ศึกษาที่ศึกษาเกี่ยวกับ “สิ่งมีชีวิต” แล้วถามว่าอะไรบ้างที่เป็นสิ่งมีชีวิต ? ในตอนที่ผมอยู่ ป.1 จำได้ว่าสิ่งมีชีวิตต้องเคลื่อนที่ได้ งั้นต้นไม้หรือพืชนานาชนิดนับไหม ? แล้วคนที่นอนเป็นผักหรือแม้แต่นอนแน่นิ่งจากไปอย่างสงบ... อันนี้นับไหม ? แต่คนก็เป็นสิ่งมีชีวิตนะ... มันอาจจะดูสับสนนะ แต่ถ้าทุกคนได้อ่านบทความตอนนี้ แน่ใจได้เลยว่าจะชี้แจ้งแถลงไขได้แน่ ๆ
มันฟังดูเหมือนตอนเราเป็นเด็กเหมือนกัน ที่เราจำแนกสิ่งมีชีวิตกับไม่มีชีวิตได้ จากตรรกะที่ได้ยกตัวอย่างไปว่าอะไรที่เคลื่อนที่ได้ก็นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิต มันก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียว... แต่อย่างนั้นรถ ลม น้ำ ก็คือสิ่งมีชีวิตใช่ไหม ? ผมยังจำได้อีกนะว่าคุณครูอีกคนหนึ่ง สอนว่ามีแค่พืชกับสัตว์เท่านั้นที่นับเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็ไม่ได้ถูกซะทั้งหมดเหมือนกัน
ที่นี้ว่าทำความเข้าใจในหลักชีววิทยาสักหน่อย การจะนับว่าอะไรเป็นสิ่งมีชีวิต [Living thing] สิ่งนั้นต้องมีคุณสมบัติดังนี้
อ้างอิง: https://www.itqb.unl.pt/news/how-do-bacteria-divide
1. สืบพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนตัวเองได้ [Reproduction] : ข้อนี้นับว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุด สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ หรือเรียกได้ว่าใช้ข้อนี้แยกได้เลย ที่สิ่งมีชีวิตต้องทำอย่างนั้นได้ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไม่ให้สูญพันธุ์ [Extinct] แต่หลายคนน่าจะเข้าว่าสิ่งมีชีวิตต้องมี Sex กันเท่านั้น จริง ๆ แล้วก็มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเพิ่มจำนวนโดยไม่ต้องมี Sex ก็ได้ เช่น แบคทีเรียที่แบ่งตัวได้
อ้างอิง: สุกี้ตี๋น้อย
2. ต้องการอาหารหรือพลังงาน : ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง นอน ทำงาน ขยับร่างกาย หรือแม้แต่การหายใจทิ้งไปวัน ๆ (ผมเองนี่แหละ...) ล้วนต้องใช้พลังงานมาดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น ส่วนใหญ่ได้มากจากการกินอาหาร แต่ก็มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเหมือนกันที่สร้างพลังงานเองได้เช่น พืช ที่นำพลังงานแสงมาเปลี่ยนเป็นพลังงานตัวเอง หรือที่เรียกว่าการสังเคราะห์ด้วยแสง [Photosynthesis] เมื่อได้รับพลังงานเข้ามาแล้ว ร่างกายจะใช้พลังงานหรือเก็บไว้ใช้ เรียกกระบวนการจัดการพลังงานในร่างกายว่าเมตาบอลิซึม [Metabolism]
อ้างอิง: https://eduinput.com/what-is-homeostasis-definition-objectives-and-levels-of-homeostasis/
3. ต้องมีการรักษาสมดุลหรือดุลยภาพร่างกาย [Homeostasis] : ร่างกายรู้ดีว่าอะไรที่มากหรือน้อยเกินไปมักไม่ดี ที่ร่างกายต้องรู้เพราะมีผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตนั้นด้วย เมตาบอลิซึมเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ควบคุมพลังงาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นเช่น น้ำและอากาศ ที่ร่างกายต้องจัดการและควบคุมตามสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น เมื่ออากาศร้อน อุณหูมิร่างกายจะสูงขึ้น จึงเกิดเหงื่อออกเพื่อลดอุณหภูมิ หรือเมื่ออากาศหนาว ร่างกายจะสั่นเพื่อใช้พลังงานในร่างกายให้เกิดความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติ
อ้างอิง: https://study.com/academy/course/human-growth-and-development-textbook.html
4. ต้องมีการเติบโต [Growth] : สิ่งมีชีวิตไม่ใช่อะไรทีเกิดมาเก่งกล้าสามารถในทันที เลยต้องมีการเติบโตเพื่อเพิ่มความสามารถในการมีชีวิตรอด ในที่นี้พูดถึงการเติบโตทางร่างกายเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากการใช้พลังงาน มาพัฒนาระบบร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับการเติมโตที่สมบูรณ์ จะทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นมีโอกาสอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้สูง แต่ร่างกายก็สามารถเสื่อมถอยได้ตามกาลเวลา ทำให้สิ่งมีชีวิตมีอายุขัยที่จำกัดตามไปด้วย กลายเป็นวัฏจักรชีวิตที่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หมุนเวียนไปเพื่อให้เผ่าพันธุ์คงอยู่
อ้างอิง: https://board.postjung.com/1347504
5. ต้องมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า [Response] : มันมีไว้เพื่อการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะมันทำให้ร่างกายรู้ว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองจากภัยนั้น เช่น เมื่อเราเดินอยู่แล้วนิ้วเท้าชนขอบโต๊ะ เราจะชักเท้าหนีและมีอาการปวด เพื่อบอกว่าเราได้เจอภัยที่กระทำนิ้วเท้าสุดที่ร่าย และได้ทำการชักเท้าหนีเพื่อป้องกันไว้แล้ว (ประสบการณ์ตรงของใครหลายคน...) จะบอกว่าสิ่งมีชีวิตกลัวตายเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ไม่ผิด เพราะต้องมีชีวิตเพื่อสืบพันธุ์ดำรงเผ่าพันธุ์
6. ต้องมีความจำเพาะ [Specific] : บนโลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตมากว่า 8.7 ล้านสปีชีส์ [Species = ชนิด] แต่ละชนิดมีหน้าตา ถิ่นที่อยู่ อาหารการกิน พฤติกรรมไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่คนด้วยกันเองยังแตกต่างกันเลย เพราะความแตกต่างหรือความจำเพาะนี้บางครั้งอาจมีไว้เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอด ถ้าเรามองเป็นภาพเล็ก ก็จะเกิดจากพันธุกรรมที่ส่งต่อจากพ่อแม่ แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปหลายล้านปี จะพบว่าสิ่งมีชีวิตที่มีหน้าตาดังปัจจุบัน ผ่านการวิวัฒนาการ [Evolution] จากบรรพบุรุษมายาวนาน
7. ต้องมีการจัดระบบในร่างกาย [Organization] : ว่าง่าย ๆ คือเป็นสิ่งมีชีวิตได้ต้องมีร่างกาย บางชนิดเป็นแค่เซลล์เล็ก ๆ เซลล์เดียว และหลายชนิดมีหลายเซลล์และซับซ้อนกว่านั้นเป็นลำดับการจัดการร่ายกาย [Level of organization] ดังนี้
อ้างอิง: https://www.pharmacy180.com/article/organization-levels-of-the-body-3412/
ร่างกายสิ่งมีชีวิต [Organism] เกิดจากระบบอวัยวะ [Organ system] ที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ประสานกัน ซึ่งมีอวัยวะต่าง ๆ ทำงานในหน้าที่คล้ายกัน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ [Tissue] ที่มีหน้าตาหลากหลายทำงานประสานกัน และเกิดมาจากเซลล์ [Cell] ที่หน้าตาคล้ายกัน ทำหน้าที่เดียวกัน ประสานกัน
สังเกตว่าข้อที่ 2-7 มีเพื่อให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตให้สามารถสืบพันธุ์ได้ โดยอธิบายรวมได้ว่า เมื่อสิ่งมีชีวิตตัวใหม่ได้เกิดมา ได้รับความจำเพาะอันเนื่องจากพันธุกรรมของพ่อและแม่ ต้องกินอาหารหรือรับพลังงานมาเพื่อเติบโตและมีร่างกายที่สมบูรณ์ ระหว่างการเติบโตต้องป้องกันตัวเองจากอันตรายโดยการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และรักษาดุลยภาพร่างกายให้อยู่สภาวะปกติอยู่เสมอ เมื่ออยู่ในช่วงโตเต็มวัยจะสืบพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกที่จะสืบต่อเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ สุดท้ายจะดำรงชีวิตจนหมดอายุขัย
และนั่นคือคุณสมบัติทั้ง 7 ข้อของสิ่งมีชีวิต หากสิ่งใดไม่มี 7 ข้อนี้จะไม่นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือเป็นสิ่งไม่มีชีวิต [Non-living thing] ตามหลักชีววิทยา (ยกเว้นไวรัส) หรือแม้แต่ศพที่นับว่าสสิ้นอายุขัยไป ไม่มีการดำเนินการตาม 7 ข้อดังกล่าวต่อ ก็นับว่าไม่มีชีวิตเหมือนกันนะ
ตอนนี้ถือว่ายาวพอสมควร จริง ๆ แค่หัวข้อของแต่ละขอก็น่าจะเข้าใจกันอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ทุกคนได้เข้าตามหลักนี้เหมือนกัน ก็เลยอธิบายอย่างละเอียดพร้อมยกตัวอย่าง อย่างไรถ้าชอบบทความหรือซีรีส์ที่ผมตั้งใจทำนี้ แค่กดชอบใจหรือกดติดตามก็เพียงพอแล้วครับ ไว้เจอกันตอนหน้าครับ😸
สุขภาพ
วิทยาศาสตร์
การศึกษา
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Biology with JRItsme.
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย