9 มิ.ย. 2023 เวลา 13:30

เราสามารถทักท้วง พระที่แสดงธรรมผิด ได้หรือไม่ ?

ทุกวันนี้เราจะเห็นภิกษุเป็นจำนวนมากกระทำในสิ่งที่ทางธรรมเรียกว่า อวดอุตริ คือ การพูดให้คนอื่นเชื่อว่าตนมีความเป็นอย่างนั้น แต่ตนไม่ได้มีความเป็นอย่างนั้นจริง หรือแสดงธรรมที่ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าบ้าง บางทีพูดในสิ่งที่หากยกพระสูตรมาดูจะเห็นเลยว่าขัดแย้งกับพระสูตรชัดเจน
การแสดงธรรมที่ไม่สามารถสอบสวนลงในพระสูตร สอบสวนลงในพระวินัยได้ ก็เป็นการแสดงธรรมแบบรู้สึกนึกคิดเอาเอง คิดเอาว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ตามความเห็นตน ทำให้แสดงธรรมไม่เป็นไปตามธรรม ก็จะเป็นการกล่าวตู่ธรรมของพระพุทธเจ้าไป
แล้วการแสดงธรรมเห็นผิดในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ก็มีมากเสียด้วยในปัจจุบัน นี่ไม่ได้นึกเอาเองนะ เพราะเห็นได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต
แล้วหากเรามีโอกาสได้ฟังธรรมพระเหล่านั้น เราจะสามารถทักท้วงท่านเหล่านั้นได้หรือไม่ จะยกเอาพระสูตรที่ชื่อว่า โลหิจจสูตร ข้อ 360 ถึง 362 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 9 มาแสดงให้ได้เห็นก่อนว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้อย่างไร เพื่อเป็นหลักในเรื่องนี้
ศาสดาที่ควรแก่การท้วง 3 จำพวก
ดูกรโลหิจจะ ศาสดา 3 จำพวกนี้ ควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดา 3 จำพวกนั้นเป็นไฉน?
ดูกรโลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น
แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา
เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย
สาวกของท่านนั้นย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและย่อมหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรีที่กำลังถอยหลังหนี หรือดุจบุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้
ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ 1 ซึ่งควรท้วงในโลกและทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
จะอธิบายสรุปศาสดาที่ 1 ก่อนว่า ศาสดาที่ 1 ออกบวชแล้วไม่บรรลุธรรม แต่เขานั้นกลับเอาธรรมที่เขาได้คิดเอาเองได้ตรึกเอาเอง มาประกาศธรรมแก่สาวกว่า นี่เพื่อประโยชน์ของท่าน นี่เพื่อความสุขของท่าน และสาวกนั้นไม่ยินดีที่จะฟัง หลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสอนนั้น
ศาสดาที่ 1 นี้ทักท้วงได้ นั่นคือผู้ที่บวชแล้วไม่บรรลุธรรม แต่กลับประกาศธรรมนั้น สาวกก็ไม่ฟังด้วย ให้ท้วงได้เลย
ลำดับต่อมา ศาสดาที่ 2
ดูกรโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย
สาวกของเขาย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย
สาวกของท่านนั้น ย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและไม่หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดาเหมือนบุคคลละเลยนาของตนแล้ว สำคัญเห็นนาของผู้อื่นว่าเป็นที่อันตนควรบำรุง ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้
ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ 2 ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
อธิบายสรุปศาสดาที่ 2 ดังนี้ เราจะเห็นศาสดาที่ 2 อยู่ทั่วไป คือ ศาสดาที่ 2 ออกบวชไม่บรรลุธรรมที่เป็นของสมณะ แต่เขาเอาธรรมที่เขาตรึกเอาเอง คิดเอาเอง เท่าที่เขามีกำลัง มาสอนสาวกซึ่งไม่ได้เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง และสาวกของเขาตั้งใจฟังเงี่ยโสตสดับ และไม่ลีกเลี่ยงจากคำสอนนั้น กระทำตามศาสดานี่ และสาวกด้วยกลุ่มนี้ ก็ควรท้วงได้ในโลก
ลำดับต่อมาศาสดาที่ 3
ดูกรโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาได้บรรลุแล้ว เขาได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของเขาไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา
เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านได้บรรลุแล้ว ท่านเองได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย
แต่สาวกของท่านนั้นไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น
เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ 3 ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนั้น ก็จริงแท้เป็นธรรมไม่มีโทษ
อธิบายสรุปศาสดาที่ 3 นี้ว่า เป็นผู้บรรลุธรรมแล้วแสดงธรรม แต่สาวกไม่ตั้งใจฟัง ศาสดาที่ 3 นี้ก็ควรท้วงได้ในโลก
ดูกรโลหิจจะ ศาสดา 3 จำพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก และทั้งการท้วงของ
ผู้ที่ท้วงศาสดาทั้งหลายเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
จากพระสูตรเราจะเห็นว่า เราสามารถทักท้วงพระที่แสดงธรรมผิดอยู่ทุกวันนี้ ได้โดยไม่บาป ไม่มีโทษในทางธรรมเลย พระพุทธเจ้าประกาศแล้ว
1
ดังนั้นพระที่ อวดอุตริ คือการอวดในสิ่งที่ตนไม่ได้เป็นอยู่จริง เช่น ไม่ได้บรรลุธรรมจริงแต่บอกว่าตนบรรลุ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่บอกว่าตนเป็น ไม่ได้ฌานจริงแต่บอกว่าตนเองได้ฌาน เมื่อเราเป็นผู้ฟังที่รู้ธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็สามารถท้วงได้
เราอาจกลัวว่าจะบาปหากเราจะตั้งคำถาม หรือทักท้วงธรรมะ ที่พระแสดง หรือเราอาจเคยติเตียน บุคคลที่กล่าวทักท้วงพระเหล่านั้น เมื่อเราได้ทราบถึงธรรมที่ได้นำมาแสดงนี้แล้ว จะช่วยให้เข้าใจในการทักท้วงเหล่านั้น จะเห็นว่าการทักท้วงธรรมที่ควรทักท้วง เป็นเรื่องที่กระทำได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศาสดา 3 จำพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาทั้งหลายเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
หากมองในรูปแบบการเรียนรู้ ผู้สงสัยย่อมมีคำถาม ผู้แสดงตนว่ารู้ธรรม หรือที่เรียกว่าศาสดานี้ ก็สามารถให้ความรู้แก่ผู้สงสัยหรือผู้ทักท้วงได้ หรือหากเป็นจริงดังผู้ทักท้วง ศาสดาเหล่านั้นก็จะได้มีสติระลึกถึงธรรมที่ตนเองแสดงไว้ผิดตามคำทักท้วง
ดังนั้น ในศาสดาที่ควรแก่การท้วง 3 จำพวก ชี้ให้เราเห็นว่า เราสามารถทักท้วงธรรมที่ควรทักท้วงได้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
อ้างอิง
โลหิจจสูตร ข้อ 360 ถึง 362 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 9
โฆษณา