13 มิ.ย. 2023 เวลา 06:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Robot museum

ยูนิเมท ยุคบุกเบิกแห่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

เมื่อ 62 ปีที่แล้ว ในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1961 จอร์จ ดีวอล นักประดิษฐ์ผู้ไร้ปริญญา ได้รับสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์แขนกลทรงรถถัง อันถือเป็นเมล็ดพันธ์ุแรก ที่ในเวลาต่อมาจะเติบโตแตกแขนงออกเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหลากหลายชนิด นวัตกรรมไฮเทคที่มีมูลค่าตลาดกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
ผู้ที่ริเริ่มอุตสาหกรรมโรบอทอันล้ำยุคนี้ ที่จริงแล้วเป็นบุคคลธรรมดา แต่มีความคิดสร้างสรรค์ที่พิเศษ จอร์จ ชาลส์ ดีวอล (1912-2011) มาจากรัฐเคนทักกี แม้จะเรียนไม่เก่ง แต่เขาสนใจทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลและไฟฟ้า ตั้งแต่เรือ เครื่องบิน และเครื่องยนต์ สร้างวิทยุขึ้นเอง ช่วยทำงานก่อสร้าง และระบบไฟฟ้าในโรงเรียน
ช่วงที่เขาเรียนชั้นมัธยม เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในปี 1929 ขึ้นพอดี เขาจึงไม่ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นความฟุ่มเฟือยสำหรับคนส่วนน้อยในยุคสมัยนั้น
จอร์จ ดีวอล “Grandfather of Robotics”
แต่ด้วยความสามารถในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก และศึกษาหาความรู้จากการอ่านด้วยตนเองอยู่เสมอ ดีวอลในวัย 20 ปีได้ก่อตั้งบริษัท United Cinephone ขึ้นในปี 1932 ที่รัฐคอนเนคติคัท เพื่อทำธุรกิจบันทึกเสียงลงแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ด้วยอุปกรณ์ที่เขาออกแบบขึ้นเอง ซึ่งขณะนั้นภาพยนตร์ “เสียงในฟิล์ม” เพิ่งจะเกิดขึ้นและกำลังฮิตเป็นที่ต้องการของตลาด
ต่อมาไม่นานเขาได้ประดิษฐ์ระบบประตูเปิดปิดอัตโนมัติ เป็นสิทธิบัตรแรกของเขาเอง และขายสิทธิให้กับ Yale นำไปผลิตในชื่อ “Phantom doorman” อันเป็นจุดเริ่มต้นของประตูอัตโนมัติที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน
สิทธิบัตร “ระบบควบคุมอิเลกทรอนิกส์สำหรับประตูและเครื่องจักร” ของดีวอล ในปี 1941
จอร์จ ดีวอล มีผลงานสิ่งประดิษฐ์อีกหลายอย่างเช่น ริเริ่มระบบบาร์โคดสำหรับการคัดแยกพัสดุที่ขนส่งทางรถไฟตั้งแต่ยังไม่มีเลเซอร์ใช้, เครื่องขายฮอทดอกอุ่นด้วยไมโครเวฟ “Speedy Weeny” ที่ติดตัั้งตามสถานีรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ค, เครื่องรีดผ้าแบบเพรสอัตโนมัติ, ระบบควบคุมการพิมพ์, เครื่องบันทึกข้อมูลระบบแม่เหล็ก รวมแล้วเขาได้รับสิทธิบัตรสหรัฐกว่า 40 รายการ ส่วนใหญ่จะเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ ทั้งที่วงจรอิเลกทรอนิกส์ในยุคของเขายังใช้หลอดสุญญากาศเป็นหลัก
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้ร่วมพัฒนาระบบรบกวนสัญญาณเรดาร์ซึ่งถูกนำมาใช้ในวันดีเดย์ด้วย
เครื่องขายฮอทดอกอุ่นไมโครเวฟ อีกผลงานของดีวอล
ดีวอลเกิดความคิดในการพัฒนาเครื่องจักรอัตโนมัติชนิดโปรแกรมได้ จากประสบการณ์ที่พบเห็นในโรงงานหลายแห่ง ที่ติดตั้งระบบควบคุมของเขา แม้ว่าจะมีการใช้ระบบอัตโนมัติ (automation) กันมากแล้ว แต่เครื่องจักรที่ใช้เป็นแบบเฉพาะกิจ (task specific) เมื่อมีการออกแบบสินค้าใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ด้วย อุปกรณ์การผลิตจำนวนมากต้องถูกโละทิ้ง
เขาจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะพัฒนาเครื่องจักรอเนกประสงค์ (universal) ที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามโปรแกรม โดยไม่ต้องออกแบบเครื่องจักรใหม่ และช่วยลดการทิ้งซากอุปกรณ์เก่าได้ด้วย
เครื่องจักรที่เขาพัฒนาขึ้นคือเครื่องจักรสำหรับการขนถ่ายวัสดุจากสายพานลำเลียง เช่นที่ใช้ในการบรรจุสินค้าลงหีบห่อ โดยใช้แขนกลที่สามารถหยิบจับวัตถุตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในโปรแกรมที่บันทึกไว้ได้ แม้ว่ารูปร่างสินค้าหรือกล่องบรรจุจะเปลี่ยนไป โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวกลไก
เขาได้ยื่นจดสิทธิบัตรไอเดียนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1954 ในชื่อ “เครื่องขนถ่ายวัตถุตามโปรแกรม” (Programmed article transfer) แต่ยังไม่มีเงินทุนในการเปลี่ยนการออกแบบให้เป็นเครื่องจักรได้
Elektro หุ่นกลของเวสติงเฮาส์ ปี 1939
ขณะนั้น คำว่าหุ่นยนต์เริ่มเป็นที่รู้จักจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง ข้าคือหุ่นยนต์ (I, Robot) ของไอแซค อาซิมอฟ ออกมาตั้งแต่ปี 1950 อันเป็นที่มาของ “กฎสามข้อ” อันโด่งดัง ซึ่งคำว่าวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) ก็เป็นคำที่อาซิมอฟ ดร.ทางเคมีจากโคลัมเบีย คิดขึ้นเอง
ส่วนคำว่า Robot ก็มาจากบทละครเรื่อง R.U.R. (Rossumovi univerzální roboti) ปี 1921 ของคาเรล คาเปค นักเขียนชาวเช็ค
ก่อนหน้านั้นในงานเวิร์ลด์แฟร์ ที่นิวยอร์ค ปี 1939 บริษัทเวสติงเฮาส์ได้นำ Elektro หุ่นกลสูบบุหรี่ มาแสดง ดีวอลก็เข้าร่วมงานนี้ โดยนำเครื่องนับคนผ่านประตูของเขามาติดตั้งด้วย
จนเมื่อเขาได้พบกับวิศวกรหนุ่ม ผู้เป็นแฟนพันธ์แท้ของอาซิมอฟ ซึ่งทำงานอยู่ในรัฐคอนเนคติคัทเหมือนกัน ที่งานเลี้ยงในปี 1956 จินตนาการก็ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรม
ดีวอล และ เองเกลเบอร์เกอร์ คู่หูผู้สร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ราวปี 1960
โจเซฟ เองเกลเบอร์เกอร์ (1925 – 2015) เป็นชาวนิวยอร์ค เมื่อพ้นประจำการจากกองทัพเรือในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นรุ่นน้องของ ไอแซค อาซิมอฟ จนจบปริญญาโททางวิศวกรรมไฟฟ้า และทำงานกับบริษัทผลิตอุปกรณ์ควบคุมเครื่องยนต์เจ็ททางทหาร
ในช่วงสงครามโลกนั้น รัฐคอนเนคติคัทเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางทหารไฮเทคของอเมริกา บริษัทของเองเกลเบอร์เกอร์ตั้งอยู่ที่เมืองแดนบิวรี ส่วนดีวอลนั้นอยู่ที่เมืองทอริงตันซึ่งอยู่ติดกัน และยังอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเฮลิคอปเตอร์ของซิกอร์สกีอีกด้วย
โจเซฟ เองเกลเบอร์เกอร์ “Father of Robotics”
เมื่อสงครามยุติ คำสั่งซื้อจากกองทัพก็หดหายไปด้วย บริษัทของเองเกลเบอร์เกอร์กำลังจะต้องปิดกิจการ เขาซื้อหนังสือการเงินมา 5 เล่มและอ่านมันรวดเดียวจบทั้งหมด เขาบอกกับใครๆว่า จบ MBA แล้วในวันหยุดสุดสัปดาห์ และวางแผนจะทำธุรกิจของตัวเอง
ในที่สุด เขาก็ได้ค้นพบธุรกิจที่ต้องการนั้นจากไอเดียของจอร์จ ดีวอล ซึ่งพบกันในงานเลี้ยง ทั้งสองต่างเป็นแฟนนิยายวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน
ดีวอลมีไอเดียที่ยื่นจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ส่วนเองเกลเบอร์เกอร์ มีดีกรีไอวีลีก และความมุ่งมั่น ภายในหนึ่งวัน ทั้งสองก็เตรียมแผนการเปลี่ยนสิ่งประดิษฐ์ของดีวอล ให้เป็นธุรกิจใหม่
นิยายไซไฟที่นำผู้สร้างหุ่นยนต์มาร่วมงานกัน
ความร่วมมือของจอร์จ ดีวอล กับโจเซฟ เองเกลเบอร์เกอร์ อาจจะคล้ายกับคู่หูผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คือสตีฟ จอบส์ ผู้ลาออกจากมหาวิทยาลัย กับ สตีฟ วอซเนียค อัจฉริยะคอมพิวเตอร์จากเบิร์คลีย์
แต่ต่างกันตรงที่ ในเคสคู่หูผู้สร้างหุ่นยนต์นั้น ผู้ที่ออกแบบทางวิศวกรรม กลับเป็นดีวอล ผู้ไม่เคยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนเองเกลเบอร์เกอร์บัณฑิตจากไอวีลีก กลับเป็นผู้รับหน้าที่กำหนดทิศทางธุรกิจ สลับกันแทน
คำว่า "โรบอท" มาจากบทละครภาษาเช็ค roboti หมายถึงทาสรับใช้
เครื่องจักรกลที่เคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์ มีผู้ประดิษฐ์มานานแล้วตั้งแต่สมัยกรีก แม้แต่สมัยเอโด ในญี่ปุ่นก็มีหุ่นกล “คาราคูริ นินเกียว” ที่มีกลไกสลับซับซ้อน ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงในหมู่ชนชั้นปกครอง แต่จักรกลเหล่านั้นไม่อาจถือว่าเป็นหุ่นยนต์ หรือโรบอท ตามความหมายปัจจุบันได้เลย เป็นได้แต่เพียงชีวกล (automaton) ที่เคลื่อนไหวได้เองเท่านั้น เพราะการทำงานถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวด้วยฮาร์ดแวร์เท่านั้น
ชีวกล คนยิงธนู ของเล่นสมัยเอโด
“หุ่นยนต์” อุตสาหกรรม ที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานตามโปรแกรมคำสั่งได้ เกิดขึ้นจากผลงานของดีวอลและเองเกลเบอร์เกอร์นี่เอง ที่สำคัญคือเป็นการใช้งานเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก
สิทธิบัตรสหรัฐ “เครื่องขนถ่ายวัตถุตามโปรแกรม” ของจอร์จ ดีวอล 13 มิถุนายน 1961
เองเกลเบอร์เกอร์ ได้รับเงินทุนก้อนแรกจาก Condec นายจ้างเก่าของเขาเอง (ปัจจุบันควบรวมอยู่ในบริษัท Eaton) เพื่อพัฒนาโปรเจคหุ่นยนต์ เป็นแบบพิกัดเชิงขั้ว 5 แกนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากป้อมปืนของรถถัง ใช้เวลา 5 ปี กับพนักงานเพียงหกคน รวมทั้งดีวอลและเองเกลเบอร์เกอร์ ก็สำเร็จเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมตัวแรกของโลกในปี 1961 พร้อมกับที่สิทธิบัตรของดีวอลมีผลใช้บังคับหลังจากยื่นขอมา 7 ปีเต็ม
"หุ่นยนต์" ตัวแรก แทบไม่มีอะไรเหมือนกับมนุษย์ เว้นแต่มีรูปร่างเป็นแขนกลขนาดใหญ่ น้ำหนักตัวกว่า 1 ตัน ยกของได้หนัก 35 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกส์ภายใต้แรงดัน 70 บาร์
การป้อนคำสั่งจะใช้วิธี "teach-and-playback" คือเคลื่อนที่โรบอทไปตามจุดที่ต้องการแล้วเก็บข้อมูลตำแหน่งเป็นเลขฐานสอง ไว้ในหน่วยความจำแม่เหล็ก เพื่อจะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เซนเซอร์ตรวจจับตำแหน่งต่างๆ ก็ต้องออกแบบขึ้นมาเองทั้งหมด
โชคดีอยู่บ้างที่ปีนั้น อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์สารกึ่งตัวนำ และวงจรรวม ได้ถูกคิดขึ้นได้แล้ว ทำให้ระบบควบคุมดิจิทอลเล็กกะทัดรัดลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าสมัยหลอดสุญญากาศ
ยูนิเมท หุ่นยนต์อุตสาหกรรมตัวแรก ทรงปืนใหญ่รถถัง โดยจอร์จ ดีวอล (ซ้ายสุด)
ลูกค้ารายแรกของหุ่นยนต์ "สร้างเสร็จก่อนขาย" ตัวแรกคือเจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) ที่ต่อราคาลดกระหน่ำไปกว่าครึ่ง และได้นำมาใช้งานจริงที่โรงงานรถยนต์ ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทำหน้าที่จับวางชิ้นงานโลหะที่ร้อนจัดในแผนกไดแคสติง (die casting) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เพิ่มผลผลิตได้สูงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะเป็นงานซ้ำซาก เสี่ยงอันตรายที่คนงานไม่อยากทำอยู่แล้ว
ยูนิเมท หุ่นยนต์ตัวแรก:
หลังจากที่ได้ตระเวนติดต่อผู้ร่วมลงทุนกว่า 40 บริษัท แต่ถูกปฏิเสธหมด เพราะไม่เชื่อว่าหุ่นยนต์จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้จริง
ในที่สุด เองเกลเบอร์เกอร์ก็ได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่จากบริษัททำตู้รถไฟ พุลแมน (ปัจจุบันคือ Bombardier) แลกกับการเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง ในปี 1962 เขาได้ก่อตั้งบริษัทยูนิเมชัน (UNIMATION = UNIversal autoMATION) ขึ้น เรียกหุ่นยนต์ที่ผลิตว่า “ยูนิเมท”
ยูนิเมท เคลื่อนย้ายวัสดุในกระบวนการหล่อฉีด
ส่วนดีวอล เมื่อพัฒนาหุ่นยนต์ตัวแรกและก่อตั้งบริษัทได้สำเร็จแล้ว เขาก็วางมือออกจากบริษัท แต่ยังคงทำงานเป็นนักประดิษฐ์อิสระอยู่ต่อไป
ในยุคแรก ธุรกิจหุ่นยนต์ยูนิเมท เหมือนจะไปได้ดี จีเอ็มซื้อยูนิเมทมาใช้กับแผนกไดแคสติง 450 ตัว นับว่ามากที่สุดก่อนที่จะถูกลบสถิติด้วยหุ่นยนต์ในแผนกเชื่อมตัวถัง
โรงงานรถยนต์จีเอ็มที่รัฐโอไฮโอ เป็นโรงงานแห่งแรกที่ติดตั้งหุ่นยนต์ยูนิเมทที่มีอุปกรณ์เชื่อมจุดที่ปลายข้อ (spot welding end effector) สำหรับเชื่อมตัวถัง ผลิตรถยนต์ได้ 110 คันต่อชั่วโมงเป็นความเร็วสูงที่สุดในโลกในเวลานั้น และมากกว่าคู่แข่งรองลงมาถึงสองเท่า
หุ่นยนต์ยูนิเมท ที่มอบสิทธิให้คาวาซากินำไปพัฒนาเป็นเครื่องเชื่อม
ยูนิเมทเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เมื่อไปออกรายการจอห์นนี คาร์สัน ทางช่องเอ็นบีซี ในปี 1963
แต่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกาเป็นไปอย่างเชื่องช้า จากราคาที่สูง ขั้นต่ำตัวละ 30,000 ดอลลาร์ หรือหลายล้านบาทในมูลค่าปัจจุบัน ยูนิเมทจึงถูกนำมาให้เช่าแทนการขาย โดยคิดค่าเช่าเสมือนกับเป็นค่าแรงพนักงานคนหนึ่ง นอกจากจีเอ็มแล้ว การขายให้ผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆเช่นฟอร์ด ไม่มีความคืบหน้า บริษัทต้องใช้เวลาถึง 14 ปีกว่าจะทำกำไรได้
จุดเปลี่ยนการเติบโตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกาประเทศต้นกำเนิด แต่กลับเป็นตลาดญี่ปุ่น ทั้งที่ค่าแรงในญี่ปุ่นขณะนั้นต่ำกว่าอเมริกามาก แต่สินค้าญี่ปุ่นในยุค 1960 มีชื่อเสียงไม่ดีเรื่องคุณภาพ จึงนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต
สายการผลิตรถยนต์ ที่ใช้โรบอทเชื่อมตัวถังยูนิเมท ผลิตในญี่ปุ่นโดยคาวาซากิ
ในปี 1967 เองเกลเบอร์เกอร์เดินทางไปบรรยายที่โตเกียว ปีเดียวกันนั้น Versatran คู่แข่งของยูนิเมชันได้ขายหุ่นยนต์ตัวแรกที่นำมาใช้งานในญี่ปุ่น
ยูนิเมชันจึงตัดสินใจขายสิทธิให้คาวาซากิผลิตหุ่นยนต์ยูนิเมทออกขายในตลาดเอเชีย ซึ่งทำยอดขายได้อย่างดี โดยเฉพาะในการเชื่อมตัวถังรถยนต์ ซึ่งรถแต่ละคันต้องมีการเชื่อมซ้ำๆกัน กว่า 4 พันจุด การใช้หุ่นยนต์จึงช่วยได้มาก ระหว่างปี 1969-1983 คาวาซากิ ผลิตยูนิเมทขายไปได้กว่า 2,400 ตัว
เองเกลเบอร์เกอร์ และดีวอล ในการทดสอบยูนิเมทรุ่นแรก
อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์มีความสัมพันธ์กับวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างมาก ยูนิเมทยุคแรกใช้ระบบไฮดรอลิกส์และระบบควบคุมที่ล้าสมัย ความสามารถของหุ่นยนต์จึงมีจำกัดไปด้วย เมื่อเทคโนโลจีที่เกี่ยวข้องพัฒนาขึ้น พร้อมกับจำนวนคู่แข่ง เองเกลเบอร์เกอร์ยึดติดกับระบบไฮดรอลิกส์มากเกินไป ตามการแข่งขันไม่ทัน
ข้อได้เปรียบของระบบไฮดรอลิกส์อยู่ที่ออกแรงได้มาก และการใช้ทรัพยากรกลางร่วมกัน จุดอ่อนคือความแม่นยำและความเร็วการทำงานที่ต่ำ อีกทั้งยังมีปัญหาการดูแลรักษา โดยเฉพาะการรั่วซึมของน้ำมัน เมื่อมอเตอร์ไฟฟ้าพัฒนาขึ้น จุดเด่นของไฮดรอลิกส์ก็ค่อยๆเลือนหายไป
เมื่อจีเอ็ม (เจเนอรัลมอเตอร์) ซึ่งเป็นลูกค้ากว่าครึ่งหนึ่งของหุ่นยนต์ทั้งหมดต้องการเปลี่ยนจากระบบไฮดรอลิกส์ เป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ยูนิเมชันไม่ตอบสนองอย่างทันเวลา จีเอ็มจึงหันไปใช้บริการหุ่นยนต์ไฟฟ้าจากฟานัค (FANUC) ของญี่ปุ่นแทน
หุ่นยนต์ยูนิเมท PUMA 500 ต้นแบบของแขนหุ่นยนต์ 6 แกน
ในปี 1977 Unimation ได้ซื้อกิจการ บริษัท Vicarm ของวิคเตอร์ ไชน์มัน วิศวกรนักประดิษฐ์จากสแตนฟอร์ด ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากดีวอล เป็นบริษัทหุ่นยนต์แรกๆในซิลิคอน แวลลีย์
วิคเตอร์ ไชน์มัน เป็นผู้ออกแบบแขนหุ่นยนต์ PUMA (Programmable Universal Manipulation Arm) ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน แทนที่จะเป็นระบบไฮดรอลิกส์ อันเป็นต้นแบบของแขนกลอุตสาหกรรมในยุคปัจจบัน
ระบบไฟฟ้าของ PUMA มีความแม่นยำสูง ความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าความหนาของแผ่นกระดาษ ทำงานโดยใช้หน่วยความจำเพียง 8 กิโลไบท์ และใช้การเขียนโปรแกรมควบคุมที่ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม
แขนหุ่นยนต์ PUMA เหมาะสำหรับการใช้งานเบา น้ำหนักไม่มาก (น้อยกว่ายูนิเมท รุ่นไฮดรอลิกส์สิบเท่า) เช่นการบรรจุหีบห่อสินค้า ยูนิเมชันได้มอบสิทธิให้โนเกีย แห่งฟินแลนด์ ซึ่งยังไม่ได้ดังจากโทรศัพท์มือถือ ทำการผลิตขายในยุโรป รวมทั้งส่งออกไปสหภาพโซเวียตด้วย
ถึงจะเป็นที่นิยมเพราะราคาถูก ทำยอดขายกว่า 30 ล้านดอลลาร์ในปีแรก แต่ก็ยังไม่พอชดเชยรายได้จากยูนิเมทรุ่นใหญ่ที่ลดลง
แขนกล PUMA รุ่น 560 และรุ่นเดียวกันที่ผลิตโดยโนเกียในยุค 1980
การซื้อ PUMA จึงช่วยได้ไม่มากและไม่ทันการ เมื่อญี่ปุ่นฟื้นจากวิกฤตการณ์น้ำมันในยุค 1970 มาได้นั้น บริษัทในญี่ปุ่นล้วนตระหนักถึงการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยอดขายกลับมาพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
บริษัทหุ่นยนต์ในญี่ปุ่นก็ได้ผลบวกไปด้วย อุตสาหกรรมญี่ปุ่นนั้นคุ้นเคยกับคาราคูริดีอยู่แล้ว จึงไม่ต่อต้านหรือกังขาต่อการนำโรบอทมาใช้งานจริง จากตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ก็สามารถผลิตหุ่นยนต์คุณภาพดีราคาถูกออกขายไปทั่วโลก จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่าโรบอท มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น
ยุค 1980 นั้น ถือว่าเป็นยุคทองของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เริ่มได้รับการยอมรับ แม้แต่สหภาพแรงงานก็ยอมรับว่า หุ่นยนต์ช่วยปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น ช่วยยกระดับทักษะ (skill-twist) จากการใช้แรงงานมาเป็นการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์แทน แต่ผู้ผลิตก็มีมากขึ้นด้วยทั้งจากญี่ปุ่นและในยุโรป ที่นำเสนอหุ่นยนต์ที่หลากหลายและคุณสมบัติเหนือชั้นกว่าเดิมหลายเท่า
แม้จะเป็นผู้บุกเบิกวงการ แต่ยูนิเมชันไม่สามารถแข่งขันทั้งราคาและคุณภาพกับคู่แข่งจากญี่ปุ่นได้เลย เมื่อยูนิเมชัน เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คในปี 1981 นั้น เข้าสู่ขาลงของบริษัทแล้ว เงินลงทุนส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ เหลือติดบริษัทเพียงเล็กน้อย
โครงสร้างของแขนหุ่นยนต์ แบบ 6 แกนในปัจจุบัน
แม้ว่าเวสติงเฮาส์จะซื้อกิจการยูนิเมชัน ไปในปี 1982 ยอดขายก็ไม่ดีขึ้น ในที่สุด เองเกลเบอร์เกอร์ ขอลาออกจากประธานในปี 1984 เขาไปก่อตั้ง Helpmate บริษัทที่สร้างหุ่นยนต์บริการขายให้โรงพยาบาล
ในปี 1989 เวสติงเฮาส์ขายต่อยูนิเมชัน ให้กับ สตอบลี (Stäubli) บริษัทในสวิส ซึ่งปัจจุบันยังทำธุรกิจหุ่นยนต์ที่มีต้นกำเนิดจาก PUMA อยู่มาจนปัจจุบัน
โจเซฟ เองเกลเบอร์เกอร์ ได้เขียนหนังสือขายดีเกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์ไว้สองเล่ม หนังสือ Robot in Practice ที่เองเกลเบอร์เกอร์พิมพ์ออกมาในปี 1980 มีไอแซค อาซิมอฟ เขียนคำนำให้ด้วย
เองเกลเบอร์เกอร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น Father of Robotics ส่วนดีวอล ก็เลยถูกขนานนามว่าเป็น Grandfather of Robotics ไปด้วย ผู้บุกเบิกทั้งสองคนมีอายุยืนยาว (เองเกลเบอร์เกอร์ 90, ดีวอล 99) จนได้มาเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกหุ่นยนต์อย่างที่ไม่อาจคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้นของจินตนาการแต่ครั้งกระโน้น
ยูนิเมท ส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของหุ่นยนต์
ถึงแม้ว่ายูนิเมท (Unimate) แบรนด์โรบอทยุคบุกเบิก ได้สาบสูญไปจากอุตสาหกรรมแล้ว เหลือไว้แต่ในมิวเซียม แต่ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปัจจุบันที่มีความเกี่ยวข้องกับยูนิเมชัน เช่นเคยซื้อสิทธิบัตรหุ่นยนต์มาในยุคก่อตั้ง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น รวมๆกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่ง
จะกล่าวว่ายูนิเมชันซึ่งถือกำเนิดจากไอเดียของนักประดิษฐ์ไร้ปริญญา เมื่อ 60 กว่าปีก่อน คือผู้สถาปนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์กว่าครึ่งหนึ่งก็คงไม่ผิดความจริง
ในโลกปัจจุบัน สินค้าและบริการต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์อย่างใกล้ชิด รถยนต์แทบทุกคันต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ ตั้งแต่การขึ้นรูป เชื่อมตัวถัง ประกอบ และพ่นสี
แต่คำว่า “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ก็ไม่ได้มีอยู่แต่เพียงในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
ทุกวันนี้ มีทั้งหุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ชงกาแฟ หุ่นยนต์ทำความสะอาด ฯลฯ ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงชั่วคนเดียว นับแต่หุ่นยนต์แบบโปรแกรมได้ตัวแรก “ยูนิเมท” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีก่อน
หุ่นยนต์ยูนิเมท จึงไม่เพียงแต่ สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต แต่ยังส่งผลต่ออารยธรรมมนุษย์อย่างใหญ่หลวงในรอบไม่ถึงศตวรรษที่ผ่านมา
แหล่งอ้างอิง
“Explorations in the History and Heritage of Machines and Mechanisms”, Baichun Zhang and Marco Ceccarelli Editors, Springer 2019
ประวัติย่อของแขนหุ่นยนต์ ยูนิเมท
โฆษณา