25 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • ปรัชญา

Mask Girl : รู้จัก “Beauty Bias” ถ้าเราสวยโลกจะใจดีกับเรา

“ถ้าเราสวย โลกจะใจดีกับเรา” ประโยคนี้เป็นจริงเกือบ 100% โดยเฉพาะสังคมที่มักตีค่าคนจากภายนอกเป็นอย่างแรก
1
Mask Girl เป็นซีรีส์เกาหลี 7 ตอนที่เดินเรื่องได้อย่างรวดเร็วจนทำให้คนเผลอดูจบ 7 ตอนรวด เรื่องราวของหญิงสาวที่หน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานความสวยในสังคม แต่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง ผู้คนรอบข้าง
แม้กระทั่งแม้ของเธอก็ดูถูกความฝันของเธอว่าเธอไม่มีทางเป็นนักร้องได้ด้วยหน้าตาแบบนี้ เธอจึงเติบโตมากลายเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งในสังคม เป็นสาวออฟฟิศที่ไม่มีตัวตน
และยังถูกเลือกปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงานชายเพราะหน้าตาไม่ดีอีกด้วย จนวันหนึ่งเธอตัดสินใจใส่หน้ากากไลฟ์สตรีมจนโด่งดังไปทั่วโลกออนไลน์ในชื่อ “Mask Girl” แต่ความโด่งดังนั้นก็นำพาให้เธอไปพัวพันกับเรื่องบางอย่างที่ไม่คาดคิด
ซีรีส์พยายามสื่อถึงพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไป ที่มักตีค่าคนที่ภายนอกก่อน อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ ที่จิตใต้สำนึกของเรามักจะเผลออคติไปโดยไม่รู้ตัวเวลาตัดสินใครสักคน ซึ่งความสวยนี้เองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลให้เกิดความลำเอียงในการตัดสินใจขึ้นมาเช่นกัน
📌 รู้จัก “Beauty Bias” ถ้าเราสวย โลกจะใจดีกับเรา
Beauty Bias หรืออคติที่เกิดจากความสวย เชื่อว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับสิ่งนี้แบบไม่รู้ตัว เคยไหมที่บางครั้ง คนสองคนที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่คนที่หน้าตาดีมักได้รับการชมเชยมากกว่า หรือหากทำผิดก็ได้รับการให้อภัยมากกว่า
จริงอยู่ว่าความสวยนั้นอยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคล ถ้าไปถามคน 2 คน อาจจะตอบไม่เหมือนกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในสังคมหนึ่งๆ ก็มักจะมีมาตรฐานความสวยงามที่หลายๆ คนเห็นตรงกันว่าแบบนี้เรียกว่าสวย เช่นในสังคมไทยที่นิยมผู้หญิงผิวขาว ตัวเล็ก ก็เลยทำให้ความสวยอาจจะไม่ใช่มุมมองส่วนบุคคลไปเสียทั้งหมด แต่ก็มีมาตรฐานที่สังคมเห็นร่วมกันด้วย
เราอาจจะคิดว่า Beauty Bias เป็นอคติที่มักพบเจอได้ในที่ทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมันก่อตัวมาในใจเรานานกว่านั้น
แม้แต่ในกลุ่มเด็กเล็ก มีการทดลองให้เด็กเลือกเพื่อนในกลุ่มมา 2 คน เพื่อให้เป็นกัปตันในเกมเรือจำลอง เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกคนที่มีลักษณะน่าดึงดูดกว่า
และเมื่อลองให้เด็กดูจากรูป แล้วถามคำถามปลายปิด เช่น คิดว่าคนไหนได้เกรดดีกว่า ใครสมควรได้เป็นกัปตันทีมกีฬามากกว่า เด็กๆ ก็มักจะเลือกคนที่มีลักษณะน่าดึงดูดกว่า จึงสรุปได้ว่า Beauty bias นั้นเป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นในความคิดเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะโตพอรับรู้ว่านั่นคืออคติใต้สำนึกของเราเสียด้วยซ้ำ
จนถึงวัยทำงาน Beauty Bias ก็เป็นสิ่งที่มีผลกระทบในที่ทำงานเป็นอย่างมาก เพราะการที่คนๆ หนึ่งจะถูกปฏิบัติในที่ทำงานอย่างไร ขึ้นกับว่าคนๆ นั้นมีลักษณะน่าดึงดูดแค่ไหนในสายตาคนอื่น ซึ่งหลายครั้งก็เป็นอคติที่เราเผลอทำลงไปโดยไม่รู้ตัว
จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีลักษณะน่าดึงดูด มักถูกจ้างงาน และได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่า
ในขณะที่คนที่มีลักษณะไม่ค่อยน่าดึงดูดมักมีแนวโน้มจะถูกไล่ออกมากกว่า ในสังคมที่ทำงานบางที่ มีการเหยียดคนอ้วน เหยียดคนมีรอยสัก เหยียดคนแต่งตัวแปลกๆ ทำให้คนที่ไม่ตรงตามมาตรฐานสังคมจึงมักเสียเปรียบคนที่มีลักษณะดูดีตามมาตรฐานสังคม
อย่างไรก็ตามในบางคน คนที่หน้าตาดีก็อาจจะเสียเปรียบกว่าในบางงานที่ไม่ต้องใช้หน้าตา เช่น งานขับรถบรรทุก หรืองาน รปภ. ที่นายจ้างมักจะเลือกคนที่หน้าตาดีน้อยกว่า
📌 แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ Beauty Bias บังตา
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากเรื่อง Beauty bias นั้นคือในเรื่องของการเลือกผู้เข้าสมัครงาน ดังนั้นเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหานี้
ในบางองค์กรนำข้อมูลรูปภาพออกในขั้นตอนคัดกรองผู้สมัคร เพื่อลดโอกาสที่ผู้เข้าสมัครจะถูกตัดสินจากเพียงรูปภาพ
และผู้สัมภาษณ์เองก็ต้องพยายามแยกอคติของตัวเองออกให้ไดัในขณะที่สัมภาษณ์ หรืออย่างในปัจจุบัน บริษัทบางแห่งก็ใช้ AI ในการสัมภาษณ์ผู้สมัคร เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถูกสัมภาษณ์จะได้รับการตัดสินอย่างเท่าเทียมทุกคนโดยปราศจากอคติจริงๆ…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา