30 ส.ค. 2023 เวลา 03:45 • ความคิดเห็น

แชร์ประสบการณ์: งาน “นักวิจัยการเงิน” ทำอะไรบ้าง?

เมื่อพูดถึงงานนักวิจัยหลายๆ คนอาจนึกถึง นักวิจัยที่ใส่เสื้อกาวน์ แว่นตานิรภัยสำหรับทำการทดลองต่างๆ แล้วถ้าพูดถึงงานวิจัยด้านการเงิน / เศรษฐศาสตร์บ้างล่ะ งานนี้ทำอะไรบ้าง? คุณสมบัติของนักวิจัยการเงินเป็นอย่างไรบ้าง? ในโพสต์นี้จะมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวและความคิดเห็น จากการที่ได้รับโอกาสทำวิจัยทางการเงิน📈📉
เมื่อในปีพ.ศ. 2564 ผมได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการธนาคาร และ ณ เวลานั้นเป็นเวลาที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่สำหรับเด็กจบใหม่ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในเวลานั้นอยู่ในภาวะที่ตกต่ำ ผมหางานด้านการเงินแทบไม่ได้เลย...
และในเวลาที่ผมกำลังรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังกับการหางานด้านการเงิน อาจารย์ท่านหนึ่งก็ได้เสนองาน "ผู้ช่วยวิจัย" ให้กับผม
ผมรับข้อเสนองานนี้ทันทีอย่างไม่ลังเล เนื่องจากเป็นงานที่น่าสนใจและต้องการหางานทำให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ในเวลาถัดมาอาจารย์ท่านนี้ได้ให้ผมเข้าทำงานเป็น "นักวิจัย" ในศูนย์วิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์
งานที่มีโอกาสได้ทำมีตั้งแต่ วิจัยเชิงวิชาการซึ่งได้ส่งตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ โดยส่วนใหญ่ที่ได้ทำเป็นการวิจัยเชิงประจักษ์เกี่ยวกับทฤษฎีทางการเงิน เช่น พิสูจน์ความแม่นยำของโมเดลทางการเงิน โมเดลด้านความเสี่ยง พัฒนาหาโมเดลด้านการเงินใหม่ๆ
1
และนอกเหนือจากงานวิจัยแล้ว ยังมีโอกาสได้ประเมินความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนของภาครัฐขนาดใหญ่ โดยแต่ละโครงการนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบที่สูงต่อประเทศไทย โดยแต่ละโจทย์นั้นมีระดับความยากที่สูงมาก แต่อย่างไรก็ตามได้รับการฝึกฝนจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญและคณาจารย์ในศูนย์วิจัยทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับงานได้ในเวลาถัดมา
จากประสบการณ์คุณสมบัติที่คิดว่าจำเป็นในการทำงานวิจัยคือ:
  • ความคิดสร้างสรรค์: ทุกปัญหามีทางออกและทุกทางออกก็ย่อมมีปัญหา... เมื่อหน่วยงานต่างๆ จ้างวิจัยอะไรก็ตามโจทย์นั้นๆ มักจะเป็นปัญหาโลกแตก ที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ ดังนั้นถ้าหากไม่ใช้ความสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบก็จะไม่มีวันตอบโจทย์ต่างๆ ได้
  • ความสามารถในการคิดวิเคราะห์: งานวิจัยคืองานที่ต้องใช้การวิเคราะห์เหตุและผลของอะไรต่างๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางอย่างรอบด้าน
  • ความสามารถในการเขียนโปรแกรมด้านสถิติ: งานวิจัยในด้านอื่นๆ อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรม แต่สำหรับงานวิจัยด้านการเงิน มันคือสิ่งที่จำเป็นมากๆ โดยสามารถช่วยในการจัดการข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างละเอียดถูกต้อง
  • ความสามารถในการใช้ภาษา: *เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด* ในงานวิจัยที่ทำให้หน่วยงานรัฐสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการเปลี่ยนแปลงคำพูดให้งานวิจัยนั้นออกมาดูดี เช่นในสถานการณ์ที่ NPV ติดลบคำตอบที่เป็นจริงที่สุดคือไม่ลงทุน แต่ผู้มีอำนาจเห็นว่าโครงการนี้ดีในด้านอื่นๆ ให้เปลี่ยนคำว่า "ไม่ลงทุน" เป็น "ถึงแม้ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่... 1.) ประชาชนต้องการ 2.) ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน 3.) ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม" โดยคำพูดเหล่านี้ต้องมีหลักฐานมารองรับอย่างหนักแน่น
ในระยะเวลา 2 ปีผมได้ทักษะต่างๆ มาจากการทำวิจัยและผมก็ได้อยู่ในสังคมที่ดี ในตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องออกเดินทางตามหาโชคชะตาในสายงานด้านการเงินต่อไป
พิกัดตำรา CFA สำหรับคนอยากทำงานด้านการเงิน: https://shope.ee/4AXLtkzmlE
โฆษณา