19 ก.ย. 2023 เวลา 02:03 • ประวัติศาสตร์

สัมมา อะระหัง - คาถาหยุดใจ

“สัมมา อะระหัง” หรือ “สมฺมา อรหํ” เป็นคำภาษาบาลี “สัมมา” แปลว่า โดยชอบ “อะระหัง” แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ สัมมา อะระหัง จึงแปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์โดยชอบ
พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่สด จนฺทสโร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ใช้คำนี้เป็นบริกรรมภาวนเพื่อให้ใจหยุด ใจนิ่ง “สัมมา อะระหัง” จึงเป็นคาถาหยุดใจ ที่ช่วยให้ใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมคลายจากเสียงแห่งความคิดฟุ้งซ่าน และเมื่อใจปลอดจากความคิดทั้งหลาย ก็จะหยุดนิ่ง ดิ่งเข้าสู่ความสงบสุขภายใน
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
นอกจากจะใช้เป็นคาถาหยุดใจแล้ว ยังนิยมจารจารึกคำว่า “สัมมา อะระหัง” บนเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ด้วย เช่น พระเครื่อง เหรียญ ยันต์ ซึ่งโดยทั่วไปมักเขียนด้วยตัวอักษรขอม เพราะนับแต่อดีตคนไทยถือกันว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ จึงนำอักษรขอมมาจารจารึกถ้อยคำหรือคาถาเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ให้คงอยู่
"สัมมา อะระหัง" ในรูปแบบยันต์
สำหรับอักษรขอมจะมีการใช้พยัญชนะ ๒ รูป คือ พยัญชนะตัวเต็ม และพยัญชนะตัวเชิง นั้นหมายความว่าอักษรตัวเดียวกันเมื่อเป็นพยัญชนะตัวเต็มจะเขียนแบบหนึ่ง และเมื่อเป็นพยัญชนะตัวเชิงจะเขียนอีกแบบหนึ่ง โดยพยัญชนะตัวเชิงจะเขียนอยู่ใต้พยัญชนะตัวเต็ม ดังตารางด้านล่าง
ที่มา: https://www.nlt.go.th/ebook/518-คู่มือการอ่าน-ถ่ายทอดอักษรขอม
ที่มา: https://www.nlt.go.th/ebook/518-คู่มือการอ่าน-ถ่ายทอดอักษรขอม
จุดสังเกตคือเมื่อเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทย ตัวพยัญชนะที่มีจุดด้านล่างตัวอักษรแสดงว่าอักษรตัวนั้นเป็นตัวสะกดและอักษรที่ตามมาเป็นตัวซ้อนหรือพยัญชนะตัวเชิงนั่นเอง เช่นคำว่า ทิฏฺฐิ อ่านว่า ทิดถิ มีตัว “ฏ” เป็นตัวสะกด และมีตัว “ฐ” เป็นตัวซ้อน
ดังนั้น คำว่า “สมฺมา อรหํ” เมื่อเขียนด้วยอักษรขอม “มฺ” จะเขียนด้วยรูปพยัญชนะตัวเต็ม ส่วน “ม” เขียนด้วยรูปพยัญชนะตัวเชิง
ตัวอย่างการซ้อนของพยัญชนะตัวเต็มและพยัญชนะตัวเชิง
ส่วนการเขียนสระก็มี ๒ รูปเช่นกัน คือ สระลอยและสระจม โดยสระลอยจะอยู่หน้าสุดของพยางค์ เป็นสระที่ออกเสียงได้โดยไม่ต้องผสมกับพยัญชนะ ส่วนสระจมเป็นสระที่ออกเสียงผสมกับพยัญชนะ มีตำแหน่งวางที่หลากหลาย
ที่มา: https://www.nlt.go.th/ebook/518-คู่มือการอ่าน-ถ่ายทอดอักษรขอม
เมื่อนำพยัญชนะและสระอักษรขอมดังปรากฏในตารางพยัญชนะและสระข้างต้นมาเขียนคำว่า “สมฺมา อรหํ” จะประกอบด้วยพยัญชนะตัวเต็ม ๕ ตัว ได้แก่ ส, ม, ร, ห และ นิคหิต พยัญชนะตัวเชิง ๑ ตัว คือ ม สระลอย ๑ ตัว คือ สระอะ และสระจม ๑ ตัว คือ สระอา
คำว่า "สัมมา อะระหัง" ในรูปแบบอักษรขอม
ผู้ใดหมั่นบริกรรมภาวนา “สัมมา อะระหัง” ทั้งยามหลับและยามตื่น จิตใจของย่อมเกาะเกี่ยวอยู่กับพุทธานุสติอันเป็นมงคล ใจจะบริสุทธิ์หยุดนิ่ง และเข้าถึงความสุขภายในอันไม่มีประมาณ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเขียน “สมฺมา อรหํ” คาถาหยุดใจได้ที่
ติดตามความรู้เนื้อหาสาระดีๆ ได้ที่
โฆษณา