9 ก.ย. 2023 เวลา 04:27 • การเมือง

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอาชีพ 'กำนัน'

ผมจะเล่าอะไรให้ฟัง เห็นประเด็นกำนันนก กำลังเป็นกระแสอยู่ใน Social media ในตอนนี้ เชื่อว่าคนกรุงและเด็กๆในเมืองสมัยนี้น่าจะไม่รู้จักว่าอาชีพ 'กำนัน' มันเป็นอย่างไร รวยหรือไม่ แล้วมีอิทธิพลบารมีถึงขนาดตำรวจ ข้าราชการท้องถิ่นเกรงกลัวกันขนาดนี้ได้ยังไง
เอาจริงๆ ตามหลักการแล้วอาชีพกำนัน ถือว่าอยู่ระดับล่างๆเกือบสุดในสายการบังคับบัญชาของระบบราชการเลยนะ ไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรมากมายหรอก ที่สำคัญคือ ลำดับศักดิ์ยังต่ำกว่าปลัดอำเภอที่ส่วนใหญ่เด็กนักศึกษาจบใหม่ด้วยซ้ำ อันนี้คือในทางทฤษฎีที่เขียนๆกันไว้ในตำรานะ
2
แต่ในความเป็นจริง กำนัน เนี่ยถือเป็นนักการเมืองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม (ต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน แล้วให้คณะผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นๆลงคะแนนโหวตเลือกว่าผู้ใหญ่บ้านคนไหนจะได้เป็นกำนันมาดูแลตำบลนั้นๆอีกทีหนึ่ง)
ทำให้คนที่จะขึ้นเป็นกำนันได้นั้นต้องเป็นที่รู้จัก และมีบารมี เป็นที่เคารพนับถือในพื้นที่นั้นๆได้ในระดับนึง เทียบกับปลัดอำเภอซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนที่ถูกส่งมาจากกรุงเทพ แน่นอนว่าย่อมสู้อิทธิพล อำนาจบารมีของคนเป็นกำนัน และผู้ใหญ่ไม่ได้ ในทางปฏิบัติแล้ว กำนัน จึงมีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นที่สูงกว่าคนเป็นข้าราชการ
2
อย่าลืมว่าเมืองไทยเรายังมีระบบการเมืองแบบเก่ากันอยู่ ชาวบ้านยังต้องพึ่งพาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในการช่วยเหลือดูแล นึกสภาพสังคมตามต่างจังหวัดสมัยก่อนสิ เวลาชาวบ้านเดือดร้อน ต้องวิ่งไปหาใคร? วิ่งไปข้าราชการเขาช่วยได้ไหม? ส่วนใหญ่ก็ช่วยได้แค่ตามระบบ "เดี๋ยวรอเดินเรื่องเอกสารก่อนนะ" เป็นคำตอบที่ชาวบ้านได้รับ
1
แต่ถ้าไปหาเศรษฐี ไปเคาะประตูขอความช่วยเหลือจากนักเลงในชุมชน นักเลงสมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกันนะครับ นักเลงสมัยก่อน คือ คนที่มีอิทธิพล ใจถึงพึ่งได้ ชาวบ้านขอให้ช่วยอะไรเขาก็ช่วยไว้เพื่อให้เกิดหนี้บุญคุณกัน นักเลง มาเฟียสมัยก่อนถึงตั้งตัวเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเติบโตกันมาได้ง่ายๆไง
แล้วเงินมาจากไหน? ทำไมคนเป็นกำนันถึงร่ำรวย? เอ้าาา ก่อนเขาจะมาเล่นการเมืองท้องถิ่นเขาก็มีธุรกิจของเขามาก่อนไงครับ ไม่ว่าจะสีขาว สีดำ หรือสีเทา ก็นับเป็นธุรกิจทั้งนั้น แต่อาจจะมีสีเทาเยอะหน่อย เพราะหาเงินกันง่าย และมีโอกาสได้รู้จักผู้มีอิทธิพลจากทางฝั่งราชการ เช่น บิ๊กสีกากี บิ๊กสีเขียวกันเยอะ
ได้แลกเปลี่ยนค่าน้ำร้อนน้ำชากัน เกาหลังให้กัน ก็ได้รู้จักกัน เกิดเป็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพลระหว่างรัฐกับภาคท้องถิ่น ก็อย่างที่เราเห็นๆกันในข่าว 2-3 วันนี้ ในพื้นที่ต่างจังหวัดนอกกรุงเทพนั้น เครือข่าย connection มันทั่วถึงกันหมดแหละ สังคมมันแคบครับ
ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ มาเฟียท้องถิ่น นักธุรกิจใหญ่ๆเขาก็ไปกินเหล้ากินเบียร์ร้านเดียวกัน มันไม่ได้มีโรงแรมหรูให้เลือกหลายแห่งเอาไว้ socialize กันแบบกรุงเทพน่ะ สังคมแบบนี้เขาเลยรู้จักกันอย่างทั่วถึงขนาดไปกินเลี้ยงวันเกิด หรือไปนั่งจิบกาแฟยามบ่ายด้วยกันบ่อยๆ
ที่สำคัญเลย จากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยเคยออกมาเตือนไว้ว่า "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ให้ทำตัวเป็นกลางทางการเมือง" ประเด็นนี้แหละที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจที่แท้จริงของกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ดีข้อหนึ่งเลย
เพราะในโลกของการเลือกตั้งและหาเสียง คนที่จะเป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมืองได้ดีที่สุดก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนี่แหละ ถ้าพรรคการเมืองคุมหรือเข้าไปตีสนิทคนกลุ่มนี้ไว้ใช้งานได้ การจะชนะเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆก็จะเป็นเรื่องง่ายตามไปด้วย เพราะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเขามีเครือข่ายของเขาอีกต่อหนึ่ง
3
เขาก็ไปใช้คนของเขาเดินเคาะประตูตามบ้าน เดินถือโทรโข่งช่วยแจกใบปลิวในชุมชนได้ กรุงเทพอาจจะไม่ค่อยเห็น แต่ต่างจังหวัดยังมีเยอะอยู่ครับ กระทรวงมหาดไทยถึงเป็นโควต้าที่พรรคการเมืองหลายๆพรรคแย่งกันอยากเข้าไปคุมอยู่ทุกวันนี้ไง เพราะเป็นกระทรวงยุทธศาสตร์ มีประโยชน์ในการเข้าถึงประชาชน
3
กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเงินเดือนแค่ 10,000 บาทนิดๆเท่านั้นแหละครับ ถามว่าคนธรรมดาที่ไหนจะมาเป็นได้ถ้าไม่มีเงินถุงเงินถังกองรอไว้ที่บ้านตัวเองอยู่แล้วน่ะ
1
โฆษณา