ในการทำงานของ “ผู้นำธุรกิจ” สิ่งหนึ่งที่ใครหลายคนอาจประสบปัญหาคือ “การสื่อสาร” โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการสื่อสารผิดพลาด ไม่เข้าใจกัน จนส่งผลให้คนในองค์กรเกิดปัญหาในการทำงานและมีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมขององค์กร
แน่นอนว่า ทุกองค์กรธุรกิจอาจจะมีวิธีแก้ไขปัญหาการสื่อสาร ที่แตกต่างกันไปตามปัญหาที่เกิดขึ้นและตามลักษณะของบุคลากรในองค์กร ซึ่งในบทความนี้ จะมาเปิดเผยขั้นตอนที่ผู้นำธุรกิจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อทำให้การสื่อสารในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น และตอบสนองได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ
ขั้นตอนที่ 1 : วิเคราะห์คู่สนทนาหรือคนที่เราจะสื่อสาร
จุดเริ่มต้นของทุกปัญหาการสื่อสาร เริ่มจากการที่เราไม่เข้าใจถึงความต้องการหรือปัญหาของคู่สนทนา หรือ
กลุ่มเป้าหมายที่เราจะสื่อสาร ส่งผลให้เราสื่อสารไม่ตรงใจผู้รับสาร เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จนเกิดปัญหาทะเลาะกัน ทำให้งานล่าช้า เป็นผลกระทบที่ไม่มีธุรกิจไหนอยากให้เกิด ดังนั้น ในการสื่อสารกับทีมงานในองค์กรให้ราบรื่น สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การสอบถามและรับฟังกลุ่มเป้าหมายหรือคู่สนทนา เพื่อที่เราจะได้รู้ถึงปัญหาและความต้องการที่อาจซ่อนอยู่ในกลุ่มเป้าหมาย ที่หลายครั้งเราอาจไม่เคยได้ยินหรือเข้าใจอย่างแท้จริง
ขั้นตอนที่ 2 : วางแผนการสื่อสารอย่างเหมาะสม
เมื่อเราได้ข้อมูลจากขั้นตอนที่ 1 เราจะมาออกแบบ ซึ่งมีตั้งแต่วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด กลุ่มเป้าหมาย แผนปฏิบัติการและขั้นตอน บุคลากรและทรัพยากรที่ต้องใช้ ช่องทางการสื่อสาร รูปแบบข้อความในการสื่อสาร ฯลฯ ที่ต้องคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะเรื่องการสื่อสาร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลต่อการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งไม่สามารถคิดหรือทำแบบไม่ตั้งใจได้ เมื่อวางแผนเสร็จแล้ว ควรมีการนำแผนออกไปดำเนินการและบอกกับพนักงานที่เกี่ยวข้องตามแผน ซึ่งส่วนมากคือ ทุกคนในองค์กร
ขั้นตอนที่ 3 : ปฏิบัติตามแผนการสื่อสาร
การนำแผนการสื่อสารไปปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้นำอย่างเรา สิ่งแรกคือ การสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายหรือคู่สนทนา ไม่ใช่การมุ่งเป้าหมายว่า เราต้องการสื่อสารอะไร หรือต่อให้เราอยากโน้มน้าวพนักงานในทีมแค่ไหน ก็ควรต้องสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี โดยเริ่มต้นจากการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ก่อน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราพูดไป คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็คงไม่อยากรับฟัง เพราะใจเขายังไม่เปิด เนื่องจากสายสัมพันธ์ยังไม่ดี
แต่เมื่อใจเขาเริ่มเปิด เราจะสามารถสื่อสารได้เข้าถึงใจเขามากขึ้น และในระหว่างการสื่อสาร ควรหาจังหวะที่เหมาะสม ในการสื่อสารอย่างจริงใจ ตรงประเด็น และเลือกใช้คำพูดหรือข้อความให้สื่อถึงเจตนาและเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้รับสารได้เข้าใจอย่างถ่องแท้
ขั้นตอนที่ 4 : ปรับปรุงแผนและพัฒนาตัวเองให้เป็นนักสื่อสารที่ดี
แน่นอนว่า เมื่อดำเนินการตามแผนไปสักระยะหนึ่ง ควรมีการวัดผลหรือดู Feedback ว่า ได้ผลตามแผนหรือไม่ มีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง และที่สำคัญผู้นำในองค์กรต้องมีการพัฒนาทักษะของตัวเอง เช่น ถ้ายังไม่เก่งในด้าน Public Speaking (การพูดในที่สาธารณะ) ควรหาโอกาสฝึกฝน หรือไปฝึกอบรมกับวิทยากรมืออาชีพ
และถ้าหากเรารู้ตัวว่ามีปัญหาเรื่องการฟังและการทำความเข้าใจผู้อื่น ก็ควรจะเริ่มต้นฝึกนิสัยใหม่ๆ ในการฟังก่อนพูด รวมถึงสามารถอ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติมในการฝึกได้ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการใช้อารมณ์หรือคำพูดแรงๆ ลองหาโอกาสไปฝึกสติและสมาธิ เพื่อจับตัวเองได้ทันก่อนตอบสนองอะไรที่รุนแรงออกไป ฯลฯ
เมื่อคนในองค์กรเห็นเราเป็นผู้นำที่ดีขึ้น เก่งขึ้นในการสื่อสาร ความไว้ใจระหว่างหัวหน้ากับสมาชิกในทีม ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ศิลปะแห่งการสื่อสาร เป็นเรื่องที่ผู้นำองค์กร ต้องมีการลับคมและอัปเดตอยู่เสมอ แม้หลักการจะค่อนข้างเหมือนเดิม แต่ช่องทางและพฤติกรรมของคนที่ทำงานด้วยล้วนมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา เราจึงไม่ควรที่จะยึดมั่นรูปแบบการสื่อสารเดิมๆ เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป เพื่อทำให้เรายังเป็นผู้นำที่ยังคงเก่งเรื่องการสื่อสาร และครองใจผู้คนในองค์กรได้ตราบเท่าที่เรายังอยู่
ใครที่ไม่ใส่ใจเรื่องการสื่อสาร เน้นแต่ทักษะในการทำงานด้าน Hard Skill โดยไม่เน้นด้าน Soft Skill เลย สุดท้าย องค์กรจะได้แต่ผลงาน แต่คนไม่มีความสุข ไม่มีแรงบันดาลใจ และผลงานที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงจนอาจไม่มีก็เป็นได้
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
เขียนโดย: ธนโชค โลเกศกระวี
นักเขียนอิสระและผู้ประกอบการออนไลน์
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 1
    โฆษณา