6 ธ.ค. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนุมานที่จงรักภักดีต่อพระราม

เราได้กล่าวไว้ในบล็อกก่อนๆ ว่าเราจะมาเล่าเรื่องราวของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำทางการเมืองสายเผด็จการคนสำคัญที่ปกครองประเทศด้วยความเฉียบขาด มีบุคลิกแบบใจนักเลง ใจถึงพึ่งได้ ท่านได้วางรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูบทบาทของราชสำนักครั้งใหญ่หลังจากคณะราษฎรล่มสลายลง ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสเขียนๆ บ้างซะที
อย่างที่เคยบอกไว้นะครับว่า มนุษย์มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งเป็นปกติของปุถุชน
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ เนื่องจากมารดาเป็นชาวอำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันเป็นจังหวัด) จังหวัดนครพนม และเคยพาบุตรชายไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครพนม ถึงถือได้ว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีสายเลือดของชาวอีสาน
หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) ผู้นี้ คือผู้ที่นำ "ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา" มาแปลเป็นภาษาไทยอีกด้วยนั่นเอง
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขณะดำรงยศพันเอก) สมรสกับคุณหญิงนวลจันทร์ ธนะรัชต์ และต่อมาได้สมรสใหม่กับคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ (ชลทรัพย์) ธิดาของนาวาโท พระศรการวิจิตร ร.น. และนางประเทียบ ชลทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นเจ้าภาพ
จอมพลสฤษดิ์ (ขณะเป็นยศพันตรี) เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเข้าร่วมคณะรัฐประหารของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490) นำไปสู่การกลับมาเถลิงอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเมืองไทยเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "การเมืองสามเส้า" เป็นการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
อีกสองปีต่อมา (พ.ศ. 2492) จอมพลสฤษดิ์ได้สร้างผลงานดีเด่นด้วยการนำกองกำลังเข้าบุกยึดพระบรมมหาราชวังคืนจากกลุ่มกบฎวังหลวงของปรีดี พนมยงค์ จนสามารถปราบปรามกบฎได้สำเร็จ จอมพลสฤษดิ์จึงได้รับการเลื่อนยศและดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก
จอมพลสฤษดิ์ยังได้สร้างกลุ่มการเมืองของตัวเองที่เรียกว่า "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" เรียกตามที่อยู่ของผู้นำกลุ่มคือที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ (บ้านพักรับรองของกองทัพบก) ที่ถนนศรีอยุธยา สมาชิกของกลุ่มมี พลโท ถนอม กิตติขจร พลโท ประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) , พลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ฯลฯ เป็นคู่แข่งคนสำคัญของ "กลุ่มซอยราชครู" นำโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อีกทั้งเมื่อก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นในปี พ.ศ. 2498 จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วันก็ลาออก
สาเหตุของการลาออกจากตำแหน่งของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น เกี่ยวโยงย้อนหลังมากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่า เป็นการเลือกตั้งที่ทุจริต มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า “ผู้กว้างขวาง” ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก
จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษา ประชาชนนับหมื่น นับแสนคน ซึ่งเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจคู่บารมีผู้สถาปนารัฐตำรวจทรงอำนาจ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลามเกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ และช่วงนี้เองเป็นช่วงที่สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า “วีรบุรุษมัฆวานฯ”
ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
1
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ผู้ตนนับแสนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใด ๆ
1
ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เห็นว่าไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนายพจน์ สารสินได้จัดการเลือกตั้ง และได้พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้น พลโทถนอม กิตติขจร ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงร่วมมือกับพลโทถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลพลโทถนอมเอง (20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
ในช่วงการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง และได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุงการบริหาร และการพัฒนาประเทศไว้มากมาย ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี
และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนกระทั่งได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – พ.ศ. 2509) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีฉายาว่า “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย เพราะตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่งและมีบทบาท ท่านได้ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันที หลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ
เครื่องมือสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการปกครองประเทศ คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งบทบัญญัติ 20 มาตรา โดยมาตราที่ 17 ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งลงโทษได้อย่างกว้างขวางและรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลยุติธรรม
การใช้มาตราที่ 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ได้ส่งผลดีต่อสังคมไทย คือ การใช้อำนาจที่เฉียบขาดดังกล่าว ทำให้อาชญากรรมลดลง โดยมีการกวาดล้างนักเลง อันธพาล ผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ทำให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังเป็นการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย
1
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลเสียแล้ว พบว่า การนำมาตรา 17 มาใช้เพื่อกวาดล้างทำลายศัตรูทางการเมือง เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ไม่ให้สามารถตรวจสอบกลุ่มผู้กุมอำนาจการปกครอง ตลอดจนการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยภาพรวม
1
ในการปกครองและการบริหารประเทศ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว” ซึ่งนักประวัติศาสตร์ทางการเมืองถือว่าเป็นสมัยเผด็จการ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 หรือฉบับที่ 7 สามารถใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติบริหารและตุลาการได้เอง
รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์อยู่ โดยใช้ข้อความว่า “คณะปฏิวัติและรัฐบาลนี้” ควบคู่กันไป และได้ใช้มาตรา 17 แทรกแซงอำนาจทางตุลาการ โดยสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาในหลายคดี เช่น คดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และบ่อนทำลายประเทศชาติ คดีวางเพลิง คดียาเสพติด รวมทั้งคดี “ผีบุญ” หรือผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ได้แก่ นายศิลา วงศ์สิน หรือลาดละคร เป็นต้น
ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บริหารประเทศ บรรดาพ่อค้านายทุนไม่มีใครกล้ากักตุนหรือขึ้นราคาสินค้า เพราะกลัวมาตรการขั้นเด็ดขาดซึ่งไม่ถูกจำคุกก็อาจถึงขั้นประหารชีวิต ส่วนในทางอำนาจบริหารนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมตำรวจ” อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยภาพรวมถือว่าประเทศมีการพัฒนามากขึ้น เช่น มีการกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยมีการตั้งมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด มีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ออกพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศขยายการศึกษาของชาติ ในวันที่ 1 เมษายน 2504 โดยเป็นการขยายการศึกษาภาคบังคับจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการออกกฎหมายเลิกการเสพ และจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด
โดยรัฐบาลได้ทำการเผาฝิ่น เครื่องมือ และอุปกรณ์การเสพที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2502 นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายปราบปรามพวกนักเลงอันธพาล กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ฉบับที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2504 – 2509 ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่บทของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน นับว่าได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุง บริหารและการพัฒนาประเทศไว้อย่างมากมาย
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งใหญ่หลังจากคณะราษฎรล่มสลายลง เช่นการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยเสด็จทางชลมารค และได้กำหนดรูปแบบการเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เช่นการสวนสนามของหน่วยทหารรักษาพระองค์ การกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นวันชาติไทย การประดับไฟตามท้องถนน เป็นต้น
และในช่วงนี้เอง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างเต็มที่ทั้งในและต่างประเทศ โดยพระองค์ได้เสด็จเยือนประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกา ประเทศในทวิปยุโรป และการเสด็จเยือนไต้หวัน ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้นำระดับรัฐบุรุษของฝรั่งเศสอย่าง ชาร์ล เดอ โกล ที่กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และรวบรวมอำนาจก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 (ฝรั่งเศสในปัจจุบัน) โดนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้
“นับเป็นสัปดาห์แห่งวิกฤติการ และสัปดาห์แห่งความอัปยศอดศูนย์แพ้พ่ายของคณะรัฐบาลของพลเอกถนอม กิตติขจร ที่อยู่ ๆ จู่ ๆ ก็ถูกบัญชาจากเหนือหัวให้ดำเนินการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่ได้สร้างความอลวนวุ่นวายสร้างมลทินเปรอะเปื้อนด่างพร้อยให้แก่คณะรัฐบาลใหม่ชุดนี้..
แต่ทว่า ทั้งๆ ที่จอมพล ‘เครื่องในดี’ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้กำลังจะกลายเป็นเดอโกลดิ์เมืองไทยไปแล้วในปัจจุบัน และ ‘พลเอก’ ตงฉิน ถนอม กิตติขจร จะพยายามโปรประกันดาเพื่อให้ประชาชนหลงคารมสักเท่าใดก็ตาม ในที่สุดกลิ่นเหม็นเน่าอลึ่งฉึ่ง
ที่ทั้งๆ ที่จะพยายามปิดบังกลบเกลื่อนสักเท่าใดๆ ก็ตามก็ยังส่งกลิ่นคลื่นเหียรให้หน้าสำรากอาเจียรแก่หมู่ประชาชนทั่วๆ ไป…ฉนั้น เมื่อยุคก่อนๆ เราเคยได้เคยมี ‘ฮิดเล่อรเมืองไทย’ กันมาแล้ว ในยุคนี้เล่า? เมืองไทยเรา จะมี ‘เดอะโกลล์’ ตะวันออกคนที่ 2 หรือไม่นั้นบ้างก็คงจะได้รู้กันในเวลาอันไม่ช้านี้แน่นอน และประวัติศาสตร์อาถรรพ์แต่ก่อนจะกลับมาซ้ำรอยอีกหรือไม่ เราจะคอยดูกันต่อไป”
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง รวมอายุได้ 55 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งหลังการเสียชีวิตสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้เปิดเพลง “พญาโศก” เป็นการไว้อาลัยแก่ท่าน รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ปี 9 เดือน 28 วัน
หลังจากถึงแก่อสัญกรรม จอมพล ถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กล่าวได้ว่า จอมพลถนอมก็คือมรดกทางการเมืองที่สืบทอดอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง จอมพลถนอมได้รับการไว้วางใจให้รับผิดชอบดำเนินการตามระบอบการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งจอมพลถนอมได้อ้างไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่ารัฐบาลของตนมิได้ดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากนโยบายที่จอมพลสฤษดิ์วางไว้
กล่าวคือ รัฐบาลยังคงยืดมั่นต่อการบริหารอย่างเข้มแข็ง การพัฒนายังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล การร่วมมือกับพระมหากษัตริย์และข้าราชการจะยังคงดำเนินสืบไป ตลอดจนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
หลังจากเสร็จสิ้นงานพระราชทานเพลิงศพของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดข่าวอื้อฉาว และคดีความฟ้องร้องเกี่ยวกับมรดกทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจอย่างมากในขณะนั้น ทำให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เข้ามาจัดการโดยออกมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ (ที่จอมพลสฤษดิ์เคยใช้ปกครองประเทศ) สั่งยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ให้ตกเป็นของรัฐ อีกทั้งจอมพลสฤษดิ์ยังถูกเปิดโปงในเรื่องของชีวิตส่วนตัวกับอนุภรรยาราวๆ 80 คนอีกด้วย
2
ถ้าจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีตราไก่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีตรา "หนุมาน" เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวด้วยเช่นกัน
1
จอมพลสฤษดิ์ได้นำสัญลักษณ์ “หนุมานหาวเป็นดาวเดือน” มาใช้เป็นตราประจำตัว เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์นั้นเกิดปีวอก และหนุมานเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ซึ่งต้องการจะสะท้อนถึงตัวตนของจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นผู้กล้าหาญและจงรักภักดีนั่นเอง
และแน่นอนอยู่แล้วว่า หนุมานเป็นผู้ที่จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อพระราม และพระรามในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ "พระมหากษัตริย์"
นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังใช้สัญลักษณ์รูปหนุมานในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของด้วย อาทิ เบียร์ตราหนุมาน หรือทิพยประกันภัยที่มีการใช้สัญลักษณ์เป็นรูปหนุมานมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็จะใช้ข้อความว่า “ลิง” เมื่อต้องวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งฉายาในเชิงลบในแก่จอมพลสฤษดิ์ เช่น ลิงบ้ากาม ลิงม้ามแตก เป็นต้น
โฆษณา