3 ต.ค. 2023 เวลา 20:34 • ประวัติศาสตร์

เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษจากปักษ์ใต้ผู้สร้างชาติไทยให้โชติช่วง

เรามักจะได้ยินวลีนี้ “เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” และ "โชติช่วงชัชวาล" กันทุกคน
ซึ่งผู้ที่สร้างวลีนี้ขึ้นมานั่นก็คือ "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" รัฐบุรุษจากปักษ์ใต้ ที่เราเรียกกันว่า "ป๋าเปรม" นั่นเอง
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2463 ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งนามสกุล "ติณสูลานนท์" เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พลเอกเปรมจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับนายร้อยจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนนายร้อย จปร.)
หลังจบการศึกษาระดับนายร้อยในปี พ.ศ.2484 พล.อ. เปรม เข้าร่วมรบในกรณีพิพาทอินโดจีน โดยได้ไปประจำการที่ปอยเปต กัมพูชา ต่อมาช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา พล.อ. เปรม เข้าร่วมกองทัพพายัพ ซึ่งมีบทบาทในการบุกโจมตีรัฐฉานของพม่า
หลังสิ้นสุดสงคราม พล.อ. เปรมได้รับทุนไปศึกษาต่อในโรงเรียนทหารยานเกราะของสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ของโรงเรียนทหารยานเกราะ และดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ในปีพ.ศ.2511 ระหว่างที่มีการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ พล.อ. เปรม ย้ายเข้าสังกัดกองทัพภาคที่ 2 ดูแลโซนภาคอีสาน ต่อมา พล.อ. เปรม ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปีพ.ศ.2516 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.2521
พล.อ. เปรม เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรกในปี พ.ศ.2502 ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในปี พ.ศ.2511 และดำรงตำแหน่งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หลังจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อีกทั้งยังได้เข้าร่วมคณะรัฐประหารของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน"
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 ซึ่งตรงกับทศวรรษ 1980s เป็นช่วงที่สงครามเย็นกำลังปรับทิศทางไปในทางบวก ในสมัยของ พล.อ.เปรม มีการก่อกบฎถึงสองครั้ง ทั้งกบฎเมษาฮาวาย (1-3 เมษายน พ.ศ.2524) และกบฎทหารนอกราชการ (9 กันยายน พ.ศ.2528)
พล.อ.เปรม ได้ออกนโยบาย "หลักการเมืองนำการทหาร" โดยออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพื่อยุติการสู้รบระหว่างรัฐบาลและกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศ สิ้นสุดการก่อการกำเริบของลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย
ขณะเดียวกัน กองทัพไทยมีการสู้รบกับกองทัพเวียดนาม ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจทางทหารหลังจากสงครามเวียดนามและการบุกกัมพูชาในปี พ.ศ.2522 เริ่มจากการโจมตีบ้านโนนหมากมุ่น จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2523 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ราว 4 เดือน การสู้รบระหว่างไทยกับเวียดนามเกิดขึ้นตลอดช่วงที่พล.อ. เปรม เป็นรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนแบบอ้อมๆ จากจีน และความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐฯ
เหตุการณ์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีในการรบครั้งนี้คือ สมรภูมิช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ.2528-พ.ศ.2530) นอกจากนี้ยังมีการสู้รบกับลาวที่บ้านร่มเกล้าในช่วงต้นปี พ.ศ.2531 อีกด้วย และ พล.อ. เปรม ได้จัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" (ศอ.บต.) ในปี พ.ศ.2524 เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยุคสมัยของ พล.อ. เปรม เป็นยุคของความมั่งคั่งในด้านพลังงาน เรียกกันว่าเป็นยุค "โชติช่วงชัชวาล" ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันและพลังงาน ในช่วงนี้มีการค้นพบแหล่งพลังงานธรรมชาติขึ้นในประเทศ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาพลังงานด้วยตนเองได้
พ.ศ.2525 กรุงเทพมหานครและราชวงศ์จักรีประดิษฐานมาถึงสองศตวรรษ รัฐบาลและปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันจัดฉลอง "สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี" ขึ้นตลอดเดือนเมษายนในปีนั้น เดือนธันวาคมของปีเดียวกัน ได้มีการฉลองสมโภชพุทธมณฑล หลังจากที่ก่อสร้างมาหลายทศวรรษจนเสร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ ยังได้มีการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ (พ.ศ.2530) อีกทั้งยังได้มีการจัดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในวาระที่ทรงครองราชย์ยาวนานกว่ารัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2531) พร้อมทั้งจัดพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้อย่างสมพระเกียรติ (พ.ศ.2527-พ.ศ.2528)
รัฐบาลของ พล.อ.เปรม ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" (กปร.) ขึ้นในปี พ.ศ.2524 เพื่อดูแลประสานงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ของรัชกาลที่ 9 ในภายหลังได้ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี
และ พล.อ.เปรม ยังเป็นผู้นำเทรนด์ "ชุดพระราชทาน" หรือ "เสื้อพระราชทาน" ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศรับรองให้เป็นชุดประจำชาติไทยสำหรับฝ่ายชายอีกด้วย
พลเอกเปรม ผู้นำเทรนด์ชุดพระราชทาน
พล.อ. เปรม พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2531 ทำให้พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ต่อมาได้รับการยกย่องเป็น "รัฐบุรุษ" ซึ่งเป็นรัฐบุรุษคนที่สองของประเทศไทย ต่อจากปรีดี พนมยงค์ พล.อ. เปรม ยังถือได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดของไทย นักการเมือง นายทหาร มักจะไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์อยู่เสมอ
4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานองคมนตรี และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) เสด็จสวรรคต ระหว่างรอการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลปัจจุบัน พล.อ. เปรม ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2562 สิริอายุรวมได้ 98 ปี
โฆษณา