24 ต.ค. 2023 เวลา 12:02 • สุขภาพ
กรุงเทพมหานคร

Yoga Fly ออกกำลังกายเปลี่ยนชีวิต

Volume: ฉบับที่ 50 เดือนตุลาคม 2566
Column: Health Station
Writer Name: ดนัย อังควัฒนวิทย์
กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ...
เนื้อเพลงนี้ผุดขึ้นมาในใจ เมื่อได้มีโอกาสดูวิดีโอสัมภาษณ์ของคุณหมอท่านหนึ่งในรายการ Podcast Rama Channel คุยกันภาษาหมอ ทาง YouTube: Rama Channel ซึ่งมีเรื่องราวที่พลิกผันของชีวิต จากคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย จากคนเป็นโรคที่กว่าจะหาสาเหตุได้
กว่าที่จะค้นพบแนวทางการรักษา คอลัมน์ Health Station ฉบับนี้มีเรื่องราวของ ผศ. พญ.ยิ่งลักษม์ วิเศษศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผมขอเรียกอาจารย์ว่า “หมอกิ๊ฟ” ผู้ซึ่งตอนนี้นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิแพทย์ตจวิทยา แล้วยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาเหาะเหินในกีฬาที่เรียกว่า โยคะฟลาย (Yoga Fly) ด้วยครับ ไปติดตามเรื่องราวกันครับ
หมอกิ๊ฟเป็นพยาธิแพทย์ที่เผชิญกับปัญหาทางสุขภาพมาตลอดระยะเวลา 2 ปี โดยขอบเขตของงานแล้วจะทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจชิ้นเนื้อของคนไข้ว่าเป็นโรคอะไร หมอกิ๊ฟเป็นคนมีระเบียบในเรื่องใหญ่ ๆ แต่เป็นคนชิลมาก ๆ ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ชอบเที่ยว ชอบดูหนัง ชอบทานของอร่อย ชอบความเป็น Healthy Lifestyle แต่ไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย และเป็นคนสุขภาพปกติดีแข็งแรงมาก ๆ มาโดยตลอด
จนกระทั่งเมื่อ 9 ปีก่อนอยู่ดีดี ก็รู้สึกไม่สบาย รู้สึกว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม มีอาการแปลกประหลาดจากหลายอาการหลายโรคและหลายระบบ อาการแรกเริ่มคือผมร่วงเป็นหย่อมหลายหย่อม บางหย่อมก็ใหญ่มากถึง 3 นิ้ว ตื่นเช้ามาก็มีผมกองอยู่บนที่นอนบนหมอน ซึ่งเรียกว่าเป็น Alopecia Areata (โรคผมร่วงเป็นหย่อม) ซึ่งผมร่วงมากจนต้องหาที่คาดผมอันใหญ่มาใส่เพื่อบังไว้
ในตอนนั้นก็ทำการรักษาไปตามขั้นตอน มีความจำเป็นต้องได้รับยาฉีดกลุ่มสเตียรอยด์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีผมร่วงวงใหม่ขึ้นมาหากมีความเครียด อาการผมร่วงยังไม่ทันจะหาย ต่อมาก็มีนอนไม่หลับ บางวันหลับได้เพียงแค่ 4 ชั่วโมง ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งทำให้เริ่มมีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตจนกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในเวลานั้น
นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ก็ยังมีอาการกลืนไม่ลง หายใจไม่ออก ซึ่งตรวจพบในภายหลังว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน (GERD) แม้ว่าจะได้รับยาแล้วอาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีผลกระทบที่ตามมาอีกคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียวันละ 5-7 รอบ ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำตลอดเวลา กินได้แต่ข้าวต้ม แล้วร่างกายก็ผอมมาก น้ำหนักลดลงไป 4-5 กิโลกรัม ช่วงนี้ทำงานไม่ค่อยไหวแล้ว ก็ได้ไปตระเวนหาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ สาขา ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นอะไรกันแน่
ต่อมามีการเจาะเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์เพราะมีอาการใจเต้นแรงจนคิดว่าน่าจะมีความผิดปกติ แล้วก็พบว่ามีอาการไทรอยด์เป็นพิษ ในตอนนั้นหมอกิ๊ฟรู้สึกดีใจมากที่ได้เจอโรคแล้วสักที ซึ่งหลังจากหลังทานยาน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ปรากฎว่าหลังทานยา ค่า Liver Enzyme ขึ้นถึง 3 เท่า ในตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะตายไหม เพราะรู้สึกว่าไม่จบเสียทีกับอาการที่เป็น แล้วก็กลัวมากเพราะคิดว่าถ้าตายแล้วใครจะดูแลลูก เป็นห่วงลูกมาก
เรื่องของร่างกายก็รักษาไป เรื่องของใจก็ต้องหาที่พึ่งพิง ไปไหว้พระ คิดว่าอย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้ตัวเอง เคยคิดถึงขั้นวางแผนเลือกสีดอกไม้ในงานศพตัวเอง วาดภาพเป็นดอกไม้นกยูงธีมขาวฟ้า เอาไว้แล้ว แล้วก็มีแต่ความกลัวว่าจะเป็นอย่างไรในอีก 10 วัน 20 วัน 30 วัน จะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร
ผ่านไป 1 เดือน เมื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษจนอาการดีขึ้น ก็คิดว่ารักษามาถูกทางแล้ว แต่พอส่องกระจกแล้ว ก็คิดกับตัวเองว่าทำไมอ้วนขนาดนี้ น้ำหนักขึ้นมา 20 กิโลกรัมอันเป็นผลจากการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษและการเจ็บป่วยทั้งหมดรวม ๆ กัน จะหยิบชุดอะไรมาใส่ก็จะทะลุทุกชุดไป จึงคิดว่าต้องเริ่มลดน้ำหนักแล้ว
หมอกิ๊ฟเริ่มต้นด้วยการกินคลีนวันละ 800 กิโลแคลอรีเท่านั้น จากความต้องการต่อวันคือ 1,600 กิโลแคลอรี ซึ่งไม่แนะนำให้ทำตาม เพราะจะต้องอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์ กินเพียงชาเขียวกับเม็ดบุกในตอนเช้า ซึ่งให้พลังงานน้อยมาก เที่ยงก็จะกินอาหารคลีน ไม่กินข้าวเลย กินหญ้าหวานแทนน้ำตาล แล้วก็ไม่ออกกำลังกาย เพราะส่วนตัวไม่ชอบ ซึ่งก็ลดลงไปได้ 10 กิโลกรัม จากนั้นจึงหันมากินคีโตต่อ ก็ลดลงไปได้อีก 10 กิโลกรัม สรุปผอมลงไปทั้งหมด 20 กิโลกรัม ในเวลาประมาณปีกว่า ๆ
แต่แล้วก็พบจุดเปลี่ยนของการเริ่มต้นในการออกกำลังกาย..นั่นคือ Yoga Fly
หมอกิ๊ฟกับโยคะฟลาย
หมอกิ๊ฟเล่าให้ฟังว่า “คือวันนั้นขับรถผ่านเห็นป้ายโยคะฟลาย เลยเริ่มสนใจ โยคะฟลายคือการปีนผ้าขึ้นไปด้านบนแล้วไปหมุน ๆ เพื่อโพสท่า แรก ๆ ที่หัดลองเล่น ก็ขาสั่น กลัวตกเหมือนกัน ส่วนตัวชอบเล่นพวกเครื่องเล่น รถไฟเหาะตีลังกา ไวกิ้งอยู่แล้ว แล้วก็เป็นคนไม่ชอบวิ่ง ทั้งเหนื่อยและร้อน
พอมาเจอโยคะฟลายก็รู้สึกว่าใช่เลย ได้เรียนกับเทรนเนอร์ ได้ลอง ได้พยายาม แรกเริ่มที่เล่นแม้จะยากกว่าคนอื่นที่เล่นเป็นแล้ว แต่เราก็ค่อยเป็นค่อยไป พอทำได้ก็ภูมิใจกับตัวเองมาก ๆ ให้กำลังใจกับตัวเอง ..ด้วยความชอบ แรก ๆ ก็เล่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หลัง ๆ มานี้ติดมาก เล่นทุกวันมา 3-4 ปีแล้ว ร่างกายแข็งแรงมากค่ะตอนนี้
ส่วนตัวผู้เขียนฟังวิดีโอรายการมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็รู้สึกว่า ขนาดหมอเองในตอนที่ป่วย ก็ยังต้องการกำลังใจ พลังกายที่สร้างขึ้นจากตัวเราเอง จากคนในครอบครัว จาก turning point บางอย่างที่จะช่วยผลักดันให้ตัวเราเองดีขึ้นได้
“เราให้กำลังใจตัวเราเองได้ ทุกอย่างในชีวิตที่ดี ที่เคยเกิดขึ้นกับเรา เอามาใช้กับตัวเรานะคะ มองย้อนกลับไป มันทำให้รู้สึกว่าตัวเราเองก็เก่งนะ เราผ่านมาได้”
ในวันนี้หมอกิ๊ฟมีร่างกายที่แข็งแรงมาก มีจิตใจที่พร้อมสู้กับทุกเรื่องที่จะเข้ามา มีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนตัวเองจากคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย สู่ความชอบในการออกกำลังกาย อยากให้ทุกคนได้เห็นแบบอย่างของความไม่ย่อท้อกันครับ
ฟังบทสัมภาษณ์เต็ม ได้ที่รายการ Podcast Rama Channel คุยกันภาษาหมอ ทาง YouTube: Rama Channel สแกน QR CODE
โฆษณา