24 พ.ย. 2023 เวลา 14:35 • ประวัติศาสตร์
ฝรั่งเศส

นโปเลียน - มหาบุรุษตลอดกาล (Part 2)

ความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากนโปเลียนประสบความสำเร็จที่ยุทธการยึดเมืองตูลงและการบุกราชอาณาจักรซาร์ดิเนียจนสามารถปราบปรามกองทัพออสเตรีย-ซาร์ดิเนียได้แล้ว นโปเลียนได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำการที่สาธารณรัฐเจนัวเพื่อคอยควบคุมทิศทางทางการเมืองที่นั่น
ทว่าต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 1794 ในแผ่นดินแม่ฝรั่งเศส มักซิมิลีญง รอแบสปิแยร์ นักปฏิวัติผู้ตั้งตนเป็นเผด็จการและสังหารผู้คนไปเป็นจำนวนมากได้ถูกโค้นล้มลง และเนื่องจากความสัมพันธ์ที่นโปเลียนมีกับตระกูลรอแบสปิแยร์ผ่าน ออกุสแตง น้องชายของมักซิมิลีญง ทำให้มีผู้ร่วมสมัยบางคนกล่าวว่านโปเลียนถูกสั่งกักบริเวณในบ้านพักที่เจนัวเป็นระยะเวลาชั่วครู่
การประหารมักซิมิลีญง รอแบสปิแอร์ ด้วยเครื่องประหารกิโยตินแบบเดียวกับที่เขาใช้สังหารผู้คนหลายหมื่น
เลขานุการส่วนตัวของนโปเลียนแก้ต่างในบันทึกของเขาโดยกล่าวว่าสาเหตุของการกักบริเวณนโปเลียนมาจากความอิจฉาริษยานโปเลียนระหว่างกองทัพแห่งเทือกเขาแอลป์และกองทัพแห่งอิตาลีซึ่งนโปเลียนเป็นรองผู้บัญชาการในขณะนั้น นโปเลียนส่งคำแก้ต่างของตนผ่านจดหมายถึงผู้บัญชาการซาลิเซตีด้วยความโมโหอย่างมากพร้อมทั้งกล่าวว่าตัวไม่มีความผิดใดๆ
นโปเลียนได้รับการปล่อยตัวภายในสองสัปดาห์ และด้วยความสามารถทางการทหารของเขา นโปเลียนจึงถูกทาบทามให้จัดทำแผนการโจมตีที่มั่นของอิตาลีในสงครามฝรั่งเศส-ออสเตรีย(อิตาลีในขณะนั้นเข้าร่วมกับฝ่ายราชวงศ์ฮัพส์บวร์ก) และแผนการยึดเกาะคอร์ซิกากลับคืนจากอังกฤษ แต่ฝรั่งเศสถูกกองเรืออังกฤษขับไล่และประสบความล้มเหลว
ปี 1795 นโปเลียนได้หมั้นหมายกับเดซีเร คลารี บุตรีของฟรองซัวส์ คลารี พ่อค้าชาวฝรั่งเศส-ไอริชผู้มั่งคั่ง ส่วน จูลี่ คลารี น้องสาวของเดซีเรสมรสกับพี่ชายของนโปเลียน โฌแซฟ(โยเซฟ) โบนาปาร์ต ต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน นโปเลียนได้รับมอบหมายให้ประจำการในกองทัพตะวันตกของฝ่ายสาธารณรัฐซึ่งเป็นกองทัพที่มีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐและกลุ่มนิยมเจ้าที่เมืองวองเด
การมาประจำการครั้งนี้ของนโปเลียน เขาถูกลดตำแหน่งลงมาจากนายพลเหล่าทหารปืนใหญ่เป็นผู้บัญชาการ(นายพัน)เหล่าทหารราบเนื่องจากหมดโควต้าตำแหน่งนายพลของกองทัพแล้ว นโปเลียนจึงมักจะรายงานว่าตนเองป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงาน
นโปเลียนถูกย้ายมายังสำนักภูมิประเทศ(คล้ายกับกรมแผนที่ทหาร)ของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ เขาพยายามเสนอตัวเพื่อให้มีคำสั่งย้ายเขาไปประจำการที่คอนสแตนติโนเปิลเพื่อถวายงานรับใช้สุลต่านออตโตมันแต่ไม่สำเร็จ
ต้นฉบับจดหมายรักที่เขียนโดยนโปเลียน
ช่วงเวลานี้เองที่นโปเลียนได้แต่งนวนิยายโรแมนติก "Clisson et Eugénie" ขึ้น เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพลทหารและคนรักของเขาซึ่งอิงมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตัวนโปเลียนเองและคลารี คนรักของเขา วันที่ 15 กันยายน นโปเลียนถูกถอนออกจากรายชื่อนายพลประจำการเนื่องจากปฏิเสธที่จะปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่เมืองวองเด ทำให้นโปเลียนเผชิญสถานการณ์ทางการเงินและโอกาสในหน้าที่การงาน
วันที่ 3 ตุลาคม 1795 กลุ่มผู้นิยมเจ้าในกรุงปารีสได้ประกาศเป็นกบฏต่อสมัชชาแห่งชาติ(รัฐสภาของคณะปฏิวัติฝรั่งเศส) พอล บารัส ผู้นำกลุ่มปฏิกิริยาเทอร์มิดอเรียน(กลุ่มที่โค้นล่มมักซิมิลีญง รอแบสปิแอร์)ทราบถึงความสามารถของนโปเลียนในยุทธการยึดเมืองตูลง จึงได้ตั้งให้นโปเลียนบังคับบัญชากองกำลังเฉพาะกิจเพื่อคุ้มครองที่ประชุมสมัชชาในพระราชวังตุยเลอรี เมืองว็องเดแมร์
สามปีก่อนหน้านี้ นโปเลียนได้เป็นประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ทหารราชองครักษ์สวิส และรู้ดีถึงความสำคัญของเหล่าปืนใหญ่ในฐานะอาวุธสำคัญที่จะช่วยปกป้องภารกิจครั้งนี้ได้
นโปเลียนบัญชาการในภารกิจปราบปรามกลุ่มนิยมเจ้า
นโปเลียนได้ออกคำสั่งให้นายทหารม้าหนุ่มใต้บังคับบัญชา ฌออาคีม มูว์รา(ต่อมาได้เป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส กษัตริย์แห่งซีซิลี กษัตริย์แห่งนาโปลี)ใช้ปืนใหญ่ขนาดใหญ่ขับไล่กลุ่มกบฏ กลุ่มผู้นิยมเจ้ากว่า 1,400 คนเสียชีวิตและส่วนที่เหลือสามารถหลบหนีไปได้ นโปเลียนปราบปรามจลาจลและเคลียร์พื้นที่ถนนโดยใช้กระสุนปืนใหญ่แบบ Grapeshot ซึ่งเป็นกระสุนรูปร่างคล้ายพวงองุ่น ภายในบรรจุด้วยกระสุนเม็ดเล็กๆจำนวนมาก เมื่อยิงออกมา กระสุนเม็ดเล็กจะกระจายตัวออกทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างคล้ายกระสุนปืนลูกซอง
ความพ่ายแพ้ของกลุ่มนิยมเจ้าในครั้งนี้ได้ยุติภัยคุกคามต่อสมัชชาแห่งชาติ ส่งผลให้นโปเลียนได้ความดีความชอบอย่างท่วมถ้น ทั้งชื่อเสียง ความมั่งคั่ง และการอุปถัมภ์คุ้มครองจากรัฐบาลใหม่อย่าง "คณะดิแร็กตัวร์" อีกทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการกองทัพแห่งอิตาลีด้วย ส่วน มูว์รา นายทหารม้าหนุ่มของนโปเลียนได้สมรสกับคาโรลินา โบนาปาร์ต น้องสาวของนโปเลียน และได้เป็นหนึ่งในนายพลของนโปเลียน
ไม่กี่สัปดาห์จากนั้น นโปเลียนตกหลุมรักกับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน อดีตแม่บ้านของบารัสผู้มีอายุมากกว่าเขาราวสิบปี ทั้งสองจัดพิธีสมรสแบบพลเรือนเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1796
นโปเลียน ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแห่งอิตาลี
หลังสมรสได้เพียงสองวัน นโปเลียนเดินทางออกจากกรุงปารีสเพื่อไปบังคับบัญชากองทัพแห่งอิตาลี การทัพในอิตาลีจึงได้เริ่มขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อยึดเอาดินแดนอิตาลีที่ถูกราชวงศ์ฮัพส์บวร์กยึดไปกลับคืนมา นโปเลียนรีบดำเนินการโจมตีในทันทีโดยหวังว่าจะสามารถเอาชนะกองทัพฝ่ายราชอาณาจักรซาร์ดิเนียได้ก่อนที่ออสเตรียซึ่งเป็นพันธมิตรกับซาร์ดิเนียจะเข้ามาแทรกแซง
ชัยชนะอย่างต่อเนื่องในระหว่างการทัพมอนเตนอตเต(หนึ่งในการทัพอิตาลี)ส่งผลให้ซาร์ดิเนียถอนตัวออกจากสงครามภายในสองสัปดาห์ กองทัพฝรั่งเศสจึงมุ่งความสนใจไปยังออสเตรียในช่วงที่เหลือ หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือยุทธการยึดแคว้นมานตัว กองทัพนโปเลียนปิดล้อมแคว้นนี้เป็นเวลาหลายเดือน ฝ่ายออสเตรียพยายามโจมตีฝรั่งเศสหลายครั้งเพื่อทลายการปิดล้อมแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ นโปเลียนยังรับชัยชนะในยุทธการที่เมืองคาสติกโลเน บาสซาโน อาร์โคเล และริโวลี
นโปเลียนในยุทธการที่ริโวรี
ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จที่ริโวลีในเดือนมกราคม ปี 1797 นำไปสู่การล่มสลายของกองทัพออสเตรียในอิตาลี โดยลำพังในเมืองริโวลีมีทหารออสเตรียเสียชีวิตถึง 14,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายนโปเลียนสูญเสียไปเพียง 5,000 นายเท่านั้น ฝ่ายออสเตรียจึงจำเป็นต้องยอมจำนนต่อกองทัพฝรั่งเศสในที่สุด
เฟสต่อไปของการทัพในครั้งนี้คือการนำทัพฝรั่งเศสรุกรานแผ่นดินของราชวงศ์ฮัพส์บวร์ก(ออสเตรีย) ในปี 1796 กองทัพฝรั่งเศสทางตอนใต้ของเยอรมนีพ่ายแพ้ต่อกองทัพออสเตรียซึ่งนำโดยจอมพล อาร์คดยุคชาร์ลส์ แต่ชาร์ลส์ก็ได้ถอนทัพกลับไปปกป้องกรุงเวียนนาหลังจากทราบข่าวการบุกของนโปเลียน
ในการเผชิญหน้ากันครั้งแรกระหว่างนโปเลียนและชาร์ลส์ในยุทธการที่ทาร์วิสซิโอ ชาร์ลส์ไม่สามารถต้านทัพนโปเลียนได้ นโปเลียนต้อนทัพของชาร์ลส์ให้ร่นถอยและเริ่มรุกเข้าไปในดินแดนออสเตรีย ชัยชนะของนโปเลียนทำให้ฝ่ายออสเตรียตื่นตระหนกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อกองทัพฝรั่งเศสรุกเข้ามาจนถึงเมืองเลโอเบนซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเวียนนาไปเพียงราว 100 กิโลเมตรเท่านั้น ออสเตรียจึงตัดสินใจเสนอเจรจาสงบศึก
เหตุการณ์การเจรจาที่เมืองเลโอเบน
การเจรจาดังกล่าวนำมาซึ่งสนธิสัญญาเมืองเลโอเบน และสนธิสัญญากัมโป ฟอร์มิโอที่มีรายละเอียดเฉพาะครอบคลุมยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ฝรั่งเศสได้ปกครองตอนเหนือของอิตาลีและกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ(เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก)แทบจะทั้งหมด และรวมถึงอนุสัญญาลับๆเกี่ยวกับสาธารณรัฐเวนิส นโปเลียนเคลื่อนทัพลงไปยังเวนิสและกดดันให้ยอมจำนน เวนิสล่มสลาย สิ้นสุดเอกราชอันยาวนานกว่า 1,100 ปี
นโปเลียนออกคำสั่งให้ทหารฝรั่งเศสปล้นทรัพย์สมบัติจำนวนมากอาทิ รูปปั้นม้าแห่งนักบุญมาร์ค เป็นต้น ในระหว่างเดินทางไปยังเวนิส นโปเลียนพูดถึงผู้นำทางทหารในอดีตบ่อยครั้งมากโดยเฉพาะอเล็กซานเดอร์มหาราช, จูเลียส ซีซาร์, สคิปิโอ แอฟริกานุส และฮันนิบาล นโปเลียนศึกษากลยุทธ์ของพวกเขาและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกลยุทธ์ของเขาเอง ครั้งหนึ่งหลุยส์ บูร์เรียนถามนโปเลียนว่าเขาชื่นชอบใครมากกว่ากันระหว่างอเล็กซานเดอร์มหาราช และจูเลียส ซีซาร์ นโปเลียนตอบว่าอเล็กซานเดอร์มหาราชเนื่องจากการทัพของอเล็กซานเดอร์ในเอเชีย
การที่นโปเลียนประยุกต์ใช้ยุทธวิธีทางทหารในอดีตเข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบันในขณะนั้น เช่น การใช้ปืนใหญ่สนับสนุนทหารราบ ส่งผลให้เขาได้รับชัยชนะมากมาย นโปเลียนสามารถชนะในการรบได้โดยการปกปิดการจัดวางกำลังและมุ่งความสนใจไปที่จุดอ่อนของแนวรบข้าศึกซึ่งเรียกว่า บานพับ โดยพยายามทะลวงเข้ายึดตำแหน่งกึ่งกลางให้ทัพศัตรูแตกเป็นสองส่วนลักษณะคล้ายแผ่นไม้สองแผ่นที่มีข้อต่ออยู่ตรงกลาง แล้วจึงเข้าโจมตีข้าศึกทางหนึ่งก่อนจนถอยหนีไปแล้วเข้าโจมตีอีกฝ่าย
นโปเลียนตรวจแถวเชลยศึกออสเตรีย
ในการทัพที่อิตาลีครั้งนี้ กองทัพนโปเลียนสามารถจับกุมเชลยได้ถึง 150,000 คน ยึดปืนใหญ่ได้ 540 กระบอก และธงประจำหน่วยรบได้ถึง 170 ผืน กองทัพฝรั่งเศสสู้รบเป็นจำนวน 67 ครั้งและได้รับชัยชนะ 18 ครั้งด้วยเทคโนโลยีปืนใหญ่ขั้นสูงและกลยุทธ์อันชาญฉลาดของนโปเลียน
อิทธิพลในทางการเมืองฝรั่งเศสของนโปเลียนเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างการทัพในอิตาลี นโปเลียนก่อตั้งสำนักหนังสือพิมพ์สองสำนัก สำนักหนึ่งสำหรับเหล่าทหารในกองทัพของเขา อีกสำนักสำหรับชาวฝรั่งเศสทั่วไป ฝ่ายนิยมเจ้าโจมตีนโปเลียนถึงการปล้นสะดมอิตาลีและได้เตือนว่านโปเลียนผู้นี้อาจกลายเป็นจอมเผด็จการได้ ในระหว่างการทัพนั้นเอง กองทัพของนโปเลียนยึดภาพวาดและประติมากรรมมากกว่า 300 ชิ้น เงินจำนวนกว่า 45 ล้านดอลลาห์สหรัฐมาจากอิตาลี และอีกกว่า 12 ล้านดอลลาห์สหรัฐเป็นโลหะมีค่า ทองคำ เงิน และอัญมณี
ด้วยผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฝรั่งเศสเมื่อหลายเดือนก่อนพบว่ากลุ่มนิยมเจ้าได้เจ้านวนที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาไป คณะดิเร็กตัวร์นำโดยนโปเลียนได้ส่งนายพลของเขา ปิแอร์ โอเฌอโร ไปยังกรุงปารีสเพื่อนำการรัฐประหารและกวาดล้างกลุ่มนิยมเจ้าที่หวังจะล้มล้างระบอบสาธารณรัฐในวันที่ 4 กันยายน(รัฐประหาร 18 ฟลุกตีดอร์) ฝ่ายสาธารณรัฐได้รับชัยชนะ ทั้งบารัสและพันธมิตรฝ่ายสาธารณรัฐนิยมของเขาได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่ทั้งนี้พวกเขาต้องขึ้นตรงกับนโปเลียนผู้ซึ่งกำลังเจรจาสันติภาพกับออสเตรีย
รัฐประหาร 18 ฟลุกตีดอร์
การเจรจาสันติภาพจบลงด้วยสนธิสัญญากัมโป ฟอร์มิโอ นโปเลียนเดินทางกลับมายังกรุงปารีสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 1797 ในฐานะวีรบุรุษของชาติ นโปเลียนได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงกิจการต่างประเทศคนใหม่ ชาร์ลส์ มอริส เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเท่ากันและได้เริ่มพูดคุยถึงการเตรียมแผนการรุกรานอังกฤษ
หลักจากการวางแผนนานกว่าสองเดือน นโปเลียนเห็นว่ากองทัพเรือของฝรั่งเศสยังไม่มีความแข็งแกร่งมากพอที่จะต่อกรกับราชนาวีอังกฤษได้ จึงได้ตัดสินใจทำปฏิบัติการยึดอียิปต์ซึ่งจะบ่อนทำลายการเข้าถึงการค้าของอังกฤษในอินเดีย นโปเลียนปรารถนาการมีบทบาทของฝรั่งเศสในภูมิภาคตะวันออกกลางและการร่วมมือกับทิพู สุลต่าน แห่งไมสูรุผู้เป็นปฏิปักษ์กับอังกฤษ
นโปเลียนให้คำมั่นกับคณะดิเร็กตัวร์ว่าจะสถาปนาความสัมพันธ์กับเหล่าเจ้าอินเดียและจะโจมตีอังกฤษที่อยู่ในดินแดนอินเดียทันทีที่เขาสามารถยึดครองอียิปต์ได้ คณะดิเร็กตัวร์อนุมัติการบุกในครั้งนี้เพื่อรักษาสถานภาพและเส้นทางการค้ากับอนุทวีปอินเดีย
พฤษภาคม ปี 1798 นโปเลียนได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส การเดินทางสำรวจอียิปต์ของเขาประกอบด้วยกองทัพและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักวิทยาศาสตร์เคมี และนักภูมิมาตรศาสตร์ 167 คนเพื่อการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์ การสำรวจในครั้งนี้ทำให้ค้นพบโบราณวัตถุมากมายรวมทั้งศิลาจารึกโรเซตตาด้วย และรายงานการสำรวจของพวกเขาถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในเอกสาร Description de l'Égypte เมื่อปี 1809
ระหว่างทางไปยังอียิปต์ นโปเลียนเดินทางถึงเกาะมอลตาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปี 1798 ซึ่งในขณะนั้นมอลตาปกครองโดยคณะอัศวินบริบาลในนักบุญยอห์นแห่งเยรูซาเล็ม(อัศวินในยุคสงครามครูเสด) แกรนด์มาสเตอร์เฟอร์ดินันด์ ฟอน ฮอมเพช ซู โบลไฮล์ม ผู้นำคณะอัศวินบริบาลฯยอมจำนนหลังจากต้านทานนโปเลียนไม่สำเร็จ และนโปเลียนได้เข้ายึดท่าเรือสำคัญได้โดยเสียกำลังไปเพียง 3 คนเท่านั้น
วันที่ 1 กรกฎาคม นโปเลียนและคณะสำรวจหลบหนีจากการไล่ตามของราชนาวีอังกฤษและขึ้นบกที่เมืองอเล็กซานเดรีย เขาต่อสู้กับกลุ่มทหารมัมลุกของอียิปต์(กองทหารที่เป็นอดีตทาสที่ได้รับอิสรภาพ ส่วนมากมิใช่ชาวอาหรับแต่ได้รับใช้รัฐมุสลิมต่างๆในตะวันออกกลางมายาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9)ในยุทธการที่ชูบรอคีต
นโปเลียนบนหลังม้าคู่กับรูปปั้นสฟิงซ์/ ยุทธการแห่งพีรามิด(จะเห็นพีระมิดจากไกลๆได้)/ นโปเลียนบนหลังอูฐ
การรบนี้ช่วยฝึกฝนกองทัพฝรั่งเศสได้ดีในการต่อกรกองทัพอาหรับและจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับกลยุทธ์ป้องกันตนในยุทธการแห่งพีรามิดที่รบกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ห่างจากพีรามิดอันโด่งดังเพียง 24 กิโลเมตร กองกำลังนโปเลียน 25,000 นายและกองทหารม้ามัมลุกจำนวนใกล้เคียงกันรบพุ่งกัน ฝ่ายนโปเลียนสูญเสียทหารเพียง 29 ในขณะที่มัมลุก 2,000 คนโดยประมาณถูกสังหาร ชัยชนะที่ยุทธการแห่งปิรามิดส่งผลให้กองทัพฝรั่งเศสมีขวัญกำลังใจมากขึ้น
ยุทธการแม่น้ำไนล์
วันที่ 1 สิงหาคม 1798 กองเรืออังกฤษภายใต้บังคับบัญชาของเซอร์โฮราซิโอ เนลสันยึดเข้าทำลายกองเรือฝรั่งเศสกือบทั้งหมดในยุทธการแม่น้ำไนล์ เหลือไว้อยู่เพียงสองลำเท่านั้น ส่งผลให้อำนาจทางทะเลของฝรั่งเศสในเมดิเตอร์เรเนียนลดน้อยถอยลง แม้ว่าจะเผชิญการลุกฮือเป็นครั้งคราว กองทัพนโปเลียนก็ประสบความสำเร็จในการพิชิตดินแดนอียิปต์
ช่วงต้นปี 1799 นโปเลียนเคลื่อนทัพไปยังจังหวัดดามัสกัส(พื้นที่ซีเรียและกาลิลี)ของออตโตมัน จากนั้นเขานำทหาร 13,000 นายยึดครองเมืองอาริช กาซา จาฟฟา และไฮฟาซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเล การโจมตีเมืองไฮฟานั้นโหดร้ายไปกว่าปกติ นโปเลียนพบว่าศัตรูที่ปกป้องเมืองนี้ส่วนมากเคยเป็นเชลยศึกและดูเหมือนว่าจะถูกทัณฑ์บนเอาไว้ นโปเลียนจึงสั่งการให้ประหารเหล่าอดีตเชลยศึกและนักโทษราว 1,500-5,000 คนด้วยดาบปลายปืนหรือการถ่วงน้ำ ส่วนคนอื่นๆทั้งชาย หญิง และเด็กเล็กถูกปล้นและสังหารเป็นเวลากว่าสามวัน
นโปเลียนเยี่ยมผู้ป่วยกาฬโลกที่เมืองจาฟฟา
แรกเริ่มเดิมทีกองทัพนโปเลียนประกอบด้วยทหาร 13,000 นาย หลังจากนั้นมีรายงานว่าสูญหาย 1,500 นาย ตายในระหว่างสู้รบ 1,200 นาย และอีกหลายพันนายเสียชีวิตด้วยโรคระบาด ส่วนมากคือกาฬโลก
หลังจากความพ่ายแพ้ของนโปเลียนในการทลายป้อมเอเคอร์ กองทัพฝรั่งเศสจึงเคลื่อนทัพกลับไปยังอียิปต์ในเดือนพฤษภาคมปี 1799 นโปเลียนได้สั่งให้วางยาทหารที่ป่วยราว 30 ถึง 580 คนด้วยฝิ่นและแยกทหารที่บาดเจ็บราว 1,000 คนออกเพื่อเร่งการล่าถอยด้วย
ภายหลังจากเดินทางกลับอียิปต์ได้ไม่นาน ฝรั่งเศสก็เกิดสถานการณ์ภายในขึ้น ส่งผลให้นโปเลียนใช้โอกาสนี้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิด เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไรสามารถติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปครับ.......
โฆษณา