25 พ.ย. 2023 เวลา 04:40

ปฎิบัติธรรม ที่ไหน อย่างไร

การปฏิบัติธรรมจะปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติอย่างไรเป็นความสงสัยที่ควรสงสัย และควรได้คำตอบ ได้อาศัยธรรมในพระพุทธเจ้า แสดงให้ได้รับทราบมาโดยลำดับแล้วว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในบทธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท
โดยเริ่มต้นว่า "เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร จึงเกิดวิญญาณ จนเกิดนามรูป จึงเกิดสฬายตนะ จึงเกิดผัสสะ จึงเกิดเวทนา จึงเกิดตัณหา จึงเกิดอุปาทาน จึงเกิดภพ จึงเกิดชาติ จึงเกิดชารามรณะ โสกะ ปิริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส อัปปิเยหิ สัมปโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปโยโค ทุกโข ยัมปิจฉัง น ลภติ ตัมปิ ทุกขัง" แล้วก็ตรัสเป็นบทสรุปจบว่า "ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นมีได้ด้วยประการฉะนี้"
ได้แสดงให้ทุกคนได้รับฟังแล้วว่า บทธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นบทธรรมที่แสดง อาการ ลิงค นิมิต อุเทส ของจิต ของมโน ของวิญญาณ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในเรื่องของจิต ของมโน ของวิญญาณ ตรงที่ท่านตรัสเอาไว้ว่า "ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นมีได้ด้วยประการฉะนี้ " ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ที่ต้องไปในนรก ในเดรัจฉาน ในเปรต ในมนุษย์ ในเทวดา ที่ไม่มีที่สิ้นสุดในวัฏฏสงสาร ต้นเหตุแห่งทุกข์หรือตัวเหตุแห่งทุกข์ หรือตัวการแห่งทุกข์ คือจิต คือมโน คือวิญญาณนี้เอง
เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุแห่งทุกข์เกิด เพราะจิต เพราะมโน เพราะวิญญาณ หรือทุกข์เกิดขึ้น ที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณ ปฏิบัติธรรมปฏิบัติที่ไหน ก็ต้องปฏิบัติ ที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณนี้ ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ จากเจ้าจิต เจ้ามโน เจ้าวิญญาณให้สิ้น จนดับสนิท จึงจะได้นิพพานหรือปรินิพพาน ต้องปฏิบัติที่จิตเท่านั้น
หลายๆพระสูตรที่ได้ยกมาให้ทุกคนได้รับทราบแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เห็นข้อธรรมนี้ ได้นำเอา มูลสูตร ข้อ 58 จากพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 24 มาแสดงเป็นหลักฐานให้ทุกคนได้รับทราบด้วยกัน ดังนี้
มูลสูตร ข้อ 58 พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล มีอะไรเป็นแดนเกิด มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่ประชุมลง มีอะไรเป็นประมุข มีอะไรเป็นใหญ่ มีอะไรเป็นยิ่ง มีอะไรเป็นแก่น มีอะไรเป็นที่หยั่งลง มีอะไรเป็นที่สุด เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่าอย่างไร"
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นเธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล มีอะไรเป็นแดนเกิด มีอะไรเป็นที่หยั่งลง มีอะไรเป็นที่สุด
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีมนสิการเป็นแดนเกิด มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง มีสมาธิเป็นประมุข มีสติเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นยิ่ง มีวิมุตติเป็นแก่น มีอมตะเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นที่สุด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้แล"
คำว่า "ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล" ดูคำว่าธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีความพอใจ ในภาษาไทยเราว่า พอใจ ความยินดีความพอใจ ในการที่จะปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ปฏิบัติที่จิตนะ มีความพอใจนะ พอใจที่จะปฏิบัติ ไม่ใช่พอกาย พอวาจา ให้ดูตรงนี้ พอใจ ให้เห็นชัดๆลงไปตรงนี้
"มีฉันทะเป็นมูลกา" ทำที่ไหน ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติที่ " มนสิการสัมภวา" มีมนสิการเป็นแดนเกิด เห็นไหม ทำที่ไหน เกิดตรงไหน ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติ ที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณ มีมนสิการ ทำในใจนะ
ได้ยกเอาอนุสาสนีปาฏิหาริย์ที่พระพุทธดเจ้าประกาศว่า
"เอวัง วิตักเกถ มา เอวัง วิตักกยิตถ
เอวัง มนสิกโรถ มา เอวัง มนสิกโรถ"
ดูตรงนี้ ท่านจงทำใจในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำใจในใจอย่างนั้น ปฏิบัติธรรมปฏิบัติที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณของเรา มีมนัสดิการเป็นสัมภวา
"ผัสสสมุทยา" ปฏิบัติยังไง "มีผัสสะเป็นเหตุเกิด" ปฏิบัติเมื่อมีผัสสะ ต้องผัสสะก่อน ปฏิบัติธรรมต้องผัสสะก่อน จึงจะมีเหตุเกิดทุกข์ขึ้น แล้วปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ตรงนั้น
ปฏิบัติแบบไหน เมื่อผัสสะแล้วจะเกิดเวทนาขึ้นนะ "เวทนาสโมสรณา" มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง เวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ทั้งหมดนี้ เป็นเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ยังเบียดเบียนอยู่ทั้งนั้น ความเป็นคุณของเวทนานี้มีความไม่เบียดเบียน ดังที่ได้แสดงแล้วต้องเห็น ปฏิบัติเพื่อดับเวทนานี้แหละ
เมื่อดับเวทนาได้แล้ว เวทนาสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่เกิดขึ้นแล้ว เป็นอุเบกขาแล้ว "สมาธิปมุขา" สมาธิเป็นที่ตั้ง คือไม่มีทุกข์ ไม่ฟูมฟาย ไม่ตีอกชกหัวแล้วตรงนี้ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจแล้ว โลกจะมีความสุขโดยส่วนเดียวเมื่อมีสมาธินี้ หรือสัมมาสมาธินี้ เป็นที่ตั้งอยู่ตรงนี้
การปฏิบัติปฏิบัติอย่างไรปฏิบัติโดย "มีสติเป็นใหญ่" ตรงนี้เรียกว่า "สตาธิปเตยยา" มีสติเป็นใหญ่ มีสติเป็นอธิปไตยที่ท่านว่า ทำไมถึงใช้คำนี้ดูดีๆจะแสดงให้ดูว่า ในพระสูตรที่แสดงการดับทุกข์ จะมีสติปัฏฐาน 4 อานาปานสติสูตร กายคตาสติสูตร 3 พระสูตรนี้ พระสูตรหลักคือสติปัฏฐานสูตร มีอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 10 และเล่มที่ 12 เป็นพระสูตรที่แสดงรายละเอียดของโพธิปักขิยธรรม ในการดับทุกข์
พระสูตรที่ 2 คืออานาปานสติสูตร จะปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 14 พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่แสดงสติปัฏฐาน 4 โดยย่อ และกายคตสติสูตร ก็อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 14 เป็นพระสูตรที่แสดงมหาสติปัฏฐานสูตรโดยย่อ บทธรรมที่ 3 นี้แสดงเฉพาะการกระทำฌาน ซึ่งเป็นที่สุดแห่งการปฏิบัติธรรมที่ตรงนี้
เราจะเห็นว่าคำว่า "มีสติเป็นใหญ่" ให้เธอมีสติในการเห็น กายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ก็คือเห็นการดับทุกข์ ในบทดับปฏิจจสมุปบาทสายดับทั้งหมดนั่นเอง โดยใช้โพธิปักขิยธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เป็นความดับทุกข์
มีสติเป็นใหญ่ มีสติเป็นเบื้องต้น มีสติอย่างไร มีสติทุกลมหายใจจากอานาปานสติสูตร มีสติทุกลมหายใจ ทุกลมหายใจอย่างไร ทุกลมหายใจในขณะที่เธอมีชีวิตอยู่ คือมีองค์ประชุมแห่งกาโย จากกายคตาสติสูตร
ทั้ง 3 พระสูตรนี้ มหาสติปัฏฐานสูตร อานาปานสติสูตร กายคตาสติสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่แสดงความดับทุกข์ โดยทั้ง 3 พระสูตรนี้ ต้องเห็นพระสูตรหลักคือ มหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแสดงรายละเอียดของโพธิปักขิยธรรมอยู่ที่นั่น นี่คำว่า "มีสติเป็นใหญ่" ให้เธอดูนะนี่กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมที่เกิดเนื่องกันอยู่ แล้วเธอดับทุกข์ดั บอย่างไรที่ตรงมีสติเป็นใหญ่นี้
จะนำเอาพระสูตรมหาสติปัฏฐานสูตรบางส่วน มาแสดงให้ทุกคนได้รับทราบด้วย ตรงนี้ "อัตถิ กาโยติ วา ปนัสส สติ ปัจจุปัฏฐิตา โหติ ยาวเทว ญาณมัตตาย ปฏิสสติมัตตาย อนิสสิโต จ วิหรติ" ตรงนี้ดูว่า "อนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น" เห็นไหม ถ้าพูดถึงกายให้เธอเห็นว่า กายมีเพียงแต่ว่ามีความรู้ว่ามีเท่านั้นนะ เพียงสักแต่ว่าอาศัยในการปฏิบัติธรรมนี้เท่านั้นนะ สติให้เธอตั้งมั่น ให้เธอเห็นว่ากายมีอยู่ก็เพียงสักแต่ว่ามี สักแต่ว่าอาศัยปฏิบัติธรรมเท่านั้น
แต่ในส่วนที่เธอปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติที่จิตของเธอ จน "เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก" เป็นเรื่องของจิต ของมโน ของวิญญาณของเรา ให้เห็นดังนี้ เห็นชัดโดย "มีสติเป็นใหญ่"
แล้วมี "ปัญญุตตรา" มีปัญญาเป็นยิ่ง ปัญญาของเราเห็นว่า นี่ทุกข์ นี่สมุทัย นี่นิโรธ นี่มรรค หรือมีปัญญาว่า ภิกษุเห็นเหตุเกิด เห็นเหตุดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออก นั่นเป็นองค์ประชุมในการปฏิบัติธรรม ตรงนี้คำว่ามีปัญญาเป็นยิ่ง คือเป็นผู้ที่ เห็นเหตุเกิด เห็นเหตุดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง 6 ตามความเป็นจริง หรือเห็น นี่ทุกข์ นี่สมุทัย นี่นิโรธ นี่มรรค ตามเป็นจริง
ปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไร ปฏิบัติแล้ว "วิมุตติสารา" มีวิมุติเป็นแก่น เป็นแก่นเป็นแกน เป็นหลักที่ปฏิบัติแล้วเกิดความเป็นวิมุติ ไม่ไปในนรก ในเดรัจฉาน ในเปรต ในมนุษย์ ในเทวดา ไม่ตีอกชกหัว ฟูมฟายในการดำเนินชีวิตอยู่ ตรงนี้มีวิมุติเป็นสาระ
"อมโตคธา" มีอมตะเป็นโอคธา มีอมตะเป็นที่หยั่งลง ก็คือตั้งมั่นที่ไม่ต้อง เวียนเกิด เวียนแก่ เวียนเจ็บ เวียนตาย แล้ว ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่อมตะ เป็นโอคธา เป็นที่หยั่งลง
หยั่งลงจนสุดแล้วเป็นอย่างไร "นิพพานปริโยสานา" มีนิพพานเป็นที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นการปฏิบัติที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณ จากบทธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศเอาไว้ว่า มีสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้งเป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สิ้นสุด มีทางปฏิบัติเข้าถึงได้โดยรอบนั้นมีอยู่ ในสิ่งนั้นแล ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่อาจตั้งอยู่ได้ ในสิ่งนั้นแล ความยาว ความสั้น ความหยาบ ความละเอียด ความงาม ความไม่งาม ไม่อาจตั้งอยู่ได้ ในสิ่งนั้นแล นามรูปดับสนิทไม่มีเหลือ นามรูปดับสนิทไม่มีเหลือเพราะความดับสนิทซึ่งวิญญาณ
นามรูปดับสนิทไม่มีเหลือเพราะความดับสนิทซึ่งวิญญาณ ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณของเรา จิตเป็นเบื้องต้น มโนเป็นตัวดำเนินการไป วิญญาณเป็นตัวจบ นามรูปดับสนิทไม่มีเหลือเพราะความดับสนิทซึ่งวิญญาณ วิญญาณต้องเป็นตัวที่ดับสนิท ดับสนิทจากตัณหา จากทิฏฐิทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ ตรงนั้นเป็นที่สุด
คำตอบก็คือ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติที่จิต ปฏิบัติที่มโน ปฏิบัติที่วิญญาณนี้ เพราะตัวเหตุแห่งความทุกข์ คือจิต คือมโน คือวิญญาณ เพราะฉะนั้นจะดับทุกข์ก็ต้องดับที่จิต ที่มโน ที่วิญญาณนี้ ความจบสิ้นอยู่ที่นี้
1
อ้างอิง
มูลสูตร ข้อ 58 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 24
โฆษณา