7 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • นิยาย เรื่องสั้น

ตอนที่ 18: เข้าพรรษา

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน ในระหว่างการเขียนตอนนี้ ผมได้มาเที่ยวพำนักอยู่ในตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรสยาม
แม้จะได้ท่องเที่ยวแค่ไม่กี่วัน ก็รับรู้ได้ถึงความอลังการของบ้านเมือง และชวนให้จินตนาการย้อนกลับไปว่า ซากปรักที่เห็นยังยิ่งใหญ่ขนาดนี้แล้ว สมัยก่อนนั้นจะยิ่งใหญ่กว่านี้สักกี่ร้อยเท่ากัน แต่ถึงกระนั้น ทุกสิ่งก็ล้วนอนิจจาครับ สมกับคำที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
พาแวะไปอยุธยานิดนึงนะครับ งั้นขอกลับมารับใช้กันต่อ
และแล้วช่วงเทศกาลเข้าพรระษาที่ผมรอคอยอย่างใจจดใจจ่อก็มาถึงแล้ว ก่อนหน้าเข้าพรรษาหนึ่งวัน จะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกเช่นกันคือ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศเผยแผ่ธรรมะเป็นครั้งแรก และในวันั้นก็ได้มีพระภิกษุกลุ่มแรกเกิดขึ้นมาในโลกเช่นกัน
ซึ่งที่สวนโมกข์ของเรานั้น ก็จะมีการตักบาตรวันพระใหญ่ บรรยายธรรมให้ญาติโยมที่มาเที่ยวที่วัด วันนั้นก็จะคับคั่งไปด้วยทั้งพระและโยมกันเลยล่ะครับ
ในส่วนของพระนั้น ก็จะมีการสวดปาฏิโมกข์กันที่โบสถ์เขาพุทธทอง โดยการสวดปาฏิโมกข์นั้น ก็จะเป็นการ cross check ทบทวนกันในหมู่คณะสงฆ์ว่า เรามีข้อกำหนดกติการกันอย่างไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง ถ้าทำผิดพลาดไปประการใด ก็จะต้องแถลงไขให้ผู้อื่นทราบ จะได้ไม่ทำผิดอีก
ซึ่งกฏ ข้อกำหนด วินัย หรือเรียกแบบชาวบ้านๆ ว่า ศีล นั้น พระก็จะต้องถือปฏิบัติกัน 227 ข้อด้วยกัน โดยเรียงมาจากข้อที่หนักที่สุดไปเบาที่สุด คือถ้าทำพลาดไป 4 ข้อนี้ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ก็สามารถย้อนกลับไปดูได้ในตอนที่ 2 นะครับ
และในวันพระใหญ่ทั้ง 3 วันนี้ มาฆะ วิสาขะ และอาสาฬหบูชา ธรรมเนียมของวัดป่า ก็จะมีการปฏิบัติธรรมกันแบบโต้รุ่งด้วย โดยเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า เนสัชชิก เป็นวันที่มีการเสิร์ฟกาแฟให้พระในช่วงน้ำปานะ แล้วจะฟังธรรม เดินจงกรม หรือจะนั่งสมาธิกันตลอดทั้งคืนกันเลยทีเดียว
ส่วนพระใหม่น่ะเหรอครับ เหอะๆ หลับกันตั้งแต่เที่ยงคืนตีหนึ่งแล้ว 555+
เช้าวันรุ่งขึ้นของการเข้าพรรษา ไม่มีพิธีการใดมากเลย ไม่เหมือนกับเมื่อวานที่อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยญาติโยม วันนี้ค่อนข้างเรียบง่ายด้วยซ้ำ ถ้าจำไม่ผิดจะมีแค่พิธีกรรมของสงฆ์อย่างเดียวเท่านั้น คือการที่พระทั้งหมดในวัด เราจะขึ้นไปโบสถ์บนเขาเหมือนเดิม แล้วอธิษฐานเพื่อเข้าพรรษา ณ ที่แห่งนี้ ก็เป็นอันจบพิธี
ในพรรษาปีนี้ ถือเป็นอีกปีที่มีพระมาจำพรรษากันเยอะมากๆ 100 กว่ารูปได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพระชาวไทยนะ จะมีพระต่างชาติประมาณ 3 รูปเห็นจะได้ หลวงพี่อังเดรจากรัสเซีย หลวงพี่ฮูเบิร์ตจากเยอรมัน และอีกท่านที่ผมจำชื่อไม่ได้แต่มาจากฟินแลนด์
การฉันอาหารก็แตกต่างจากวัดบ้านทั่วๆ ไป เพราะที่นี่เราจะฉันกับแบบรถไฟกล่าวคือ ที่โรงฉันนั้น จะมีที่ให้พระนั่งเป็นแถวยาวต่อกัน 2 แถวแล้วหันหน้าเข้าหากัน ระหว่างกลางจะมีช่องเว้นว่างห่างสัก 2 ไม้บรรทัด และช่องว่างนี้เองครับที่เป็นที่มาของคำว่า รถไฟ
เมื่อพระนั่งพร้อมกันหมดแล้ว ญาติโยมทั้งหลายก็จะนำอาหารต่างๆ ใส่จานใส่ถาด แล้วนำไปใส่บนรถเข็นไม่คันเล็กๆ ที่มีขนาดความกว้างเพียงพอที่จะวิ่งอยู่บนช่องว่าง 2 ไม้บรรทัดนั้นได้
โดยโยมก็จะยกรถเข็นคันน้อยขึ้นวางบนหัวแถวให้พระอาวุโสก่อน พอพระท่านตักทั้งข้าวและกับในรถคันนั้นเสร็จแล้ว ก็จะเข็นต่อไปยังพระรูปถัดไป แล้วโยมก็จะยกรถเข็นคันอื่นมาต่อแถวแบบนี้ไปเรื่อยๆ พระตักเสร็จก็เลื่อนไปเรื่อยๆ พอถึงท้ายแถวโยมก็จะยกรถเข็นออกไป ก็กลายเป็นที่มาของการฉันแบบรถไฟฉบับสวนโมกข์นี่ล่ะครับ
นับจากนี้ไป ผม และเหล่าพระนวกะบวชใหม่ ก็จะต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในสวนโมกขพลารามที่กว้างขวางนี้ ก็เป็นเรื่องราวที่แสนจะสนุก แสนน่าจดจำ เรื่องราวจะเป็นเช่นไร สวนโมกข์นี้จะมีอะไรรอค้นหาอยู่อีกบ้าง อย่าลืมติดตามได้ในตอนต่อไปของ #ชนจิตโต นะครับ
สวัสดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา