Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักลงพุง
•
ติดตาม
9 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • นิยาย เรื่องสั้น
ตอนที่ 19: ที่มาของสวนโมกข์
สวนโมกข์ไชยาก่อตั้งขึ้นโดยท่านอาจารย์พุทธทาสในปี 2475 ปีเดียวกับที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มคณะราษฎร์ จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย
ท่านพุทธทาสได้มีโอกาสบวชตามประเพณีเหมือนคนทั่วไปในสมัยนั้น ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นพุทธทาสดั่งที่คนทั่วไปรู้จัก ท่านเป็นเพียงแต่พระเงื่อม อินทปัญโญ พระบวชใหม่รูปนึงเท่านั้น แต่ด้วยที่เป็นคนที่ทำอะไรทำจริง เลยตั้งใจเล่าเรียนหลักธรรมคำสอน จนได้มีโอกาสขึ้นไปศึกษาบาลีที่ กทม เพราะเป็นแหล่งรวมทั้งสรรพวิชาและครูบาอาจารย์
พระเงื่อมศึกษาจนจบเปรียญธรรม 3 ประโยค แต่ตอนนั้นท่านก็ได้พบว่า ในแวดวงพุทธศาสนาในสมัยนั้นกลับ กลับผิดแผกไปจากที่ระบุไว้ในตำราหรือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไปมาก ท่านเลยคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อจะได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับมาบริสุทธิ์ดั่งเก่า เลยกลับมาสู่บ้านเกิดที่ไชยา
หลังจากกลับมาสู่ไชยา ท่านได้มาพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อว่า วัดตระพังจิก ซึ่งน้องชายของท่านได้เที่ยวเสาะหาสถานที่ให้ ซึ่งต่อมาน้องชายของท่านก็ได้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญคนนึง ในการเผยแผ่พุทธศาสนาแม้จะใช้ชีวิตเป็นฆราวาสธรรมดา ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุก็ตาม โดยใช้นามว่า ธรรมทาส
ที่วัดตระพังจิกนั้นมีต้นไม้ 2 ชนิดที่ขึ้นมามากคือ ต้นโมก และ ต้นพลา ท่านจึงได้นำชื่อของทั้งสองต้นนี้มาใช้เป็นชื่อสถานที่ในการปฏิบัติธรรมของท่านว่า สวนโมกขพลาราม หรืออารามแห่งการหลุดพ้น พร้อมทั้งปฏิญาณตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า และเปลี่ยนชื่อให้กับตนเองว่า พุทธทาส มานับแต่นั้น
ด้วยความที่เป็นพระใหม่ไฟแรง ท่านก็ได้กลับไปศึกษาคำสอนดั่งเดิมในพระไตรปิฎก ว่าแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไรกันแน่ เมื่อศึกษาแล้วยังไม่พอ ท่านก็ยังนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเสียอีกด้วย จนทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างเรียกท่านว่า พระบ้า เพราะอากัปกิริยาช่างต่างจากพระปกติทั่วไป
ท่านได้ทดลองอะไรต่างๆ นานา แถมยังจดบันทึกประจำวันเอาไว้ด้วยว่า ในแต่ละวันการปฏิบัติของท่านคืบหน้าไปอย่างไร ซึ่งสามารถหาอ่านได้ในชื่อหนังสือ อนุทินการปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านจะจดบันทึกเอาไว้โดยละเอียด
และถ้าเราได้ศึกษางานเขียนในยุคแรกๆ ของท่านอย่าง ตามรอยพระอรหันต์ ก็ทำให้เรารับรู้ได้ถึงอุดมการณ์อันแรงกล้าของพระหนุ่มรูปนี้ไม่น้อย อ่านแล้วรู้สึกฮึกเหิม มีความแกล้วกล้าในธรรมอยู่ไม่น้อย
ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้านี่เอง ทำให้สวนโมกข์ก็ขยายตัวขึ้นมาเรื่อยๆ มีพระและนักบวชต่างศาสนาแวะเวียนกันเข้ามาโดยไม่ขาด และด้วยความที่ตั้งชื่อว่าเป็นสวนไม่ใช่วัด เลยเปิดรับทุกๆ ศาสนา คุณสามารถเดินเข้ามา และยกระดับจิตวิญญาณของคุณ
สวนโมกข์เติบโตขึ้นจนพื้นที่เดิมไม่เพียงพออีกต่อไป จึงได้หาสถานที่ใหม่ได้แถวเชิงเขาพุทธทอง กอปรกับการที่มีลำธารสายเล็กๆ ไหลผ่านบริเวณนั้น จึงได้จัดจัดตั้งเขตวัดอย่างเป็นทางการว่า วัดธารน้ำไหล แต่ถึงกระนั้นประชาชนส่วนใหญ่ กลับยังคงเรียกชื่อว่า สวนโมกข์ อยู่เช่นเดิม
ท่านพุทธทาสตั้งใจให้สวนโมกข์แห่งนี้ มีความใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าให้ได้มากที่สุด เน้นอยู่อย่างง่ายมุ่งกระทำอย่างสูง จึงไม่เน้นสร้างอาคารวัตถุให้ใหญ่โตอลังการ ท่านอยากให้ทุกอย่างเรียบง่ายที่สุด จนมีสโลแกนประจำของวัดอยู่ว่า
กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง
แม้แต่กระทั่งโบสถ์ก็ไม่มีเป็นหลังๆ แต่ท่านใช้พื้นลานทรายโล่งๆ บนยอดเขาพุทธทองนั่นแหละเป็นพระอุโบสถของวัด มีกิ่งไม้ใบไม้เป็นหลังคา มีต้นไม้เป็นดั่งกำแพงโบสถ์ ไม่ต่างกับพระในสมัย 2,500 ปีก่อนอยู่อย่างไร ก็ทำอย่างนั้น แล้วเน้นไปที่การศึกษาและปฏิบัติแทน
ท่านมุ้งเน้นให้เรากลับไปยังแก่นธรรม ถึงกระนั้นก็เปิดรับมุมมองใหม่ๆ ทั้งแนวคิดของนิกายเซ็น นิกายมหายาน หรือแม้แต่ทั้งคริสต์หรืออิสลาม เพื่อให้เราเข้าใจซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะจากไป 30 ปีที่แล้ว แต่อุดมการณ์ที่ท่านมี พระหนุ่มอย่างผม ณ ตอนนั้น ก็สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน ทั้งจากผลงานและบุคคลต่างๆ ที่ใกล้ชิดท่าน แม้ว่าผมจะไม่ได้เก่งกล้าและมั่นคงเช่นดั่งพระเงื่อมเมื่อปี 2475 แต่อุดมการณ์ของท่านถูกส่งต่อมา ยังพระนวกะพวกเราทุกคน
ท่านพุทธทาสมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึง 87 ปี ก็มรณภาพ กลับคืนสู่ธรรมชาติที่สร้างท่านขึ้นมา โดยอาการสงบ ร่างของท่านถูกเผาอย่างเรียบง่าย บนเชิงตะกอนเล็กๆ ที่ถูกก่อขึ้นบนเขาพุทธทอง ซึ่งเป็นทั่งที่ท่องเที่ยว เป็นโบสถ์ เป็นสถานที่เผาศพ และเป็นธรรมาสน์ที่สุดท้าย ที่ท่านใช้แสดงธรรม ด้วยร่างของท่านและเปลวเพลิฝ เพื่อให้เราตระหนักถึงความไม่จีรังของชีวิต
บทนี้ผมขออุทิศให้กับท่านพุทธทาส ผู้เป็นดั่งแบบอย่าง อาจารย์และกัลยาณมิตร ผู้ที่คอยเตือนเวลาทำผิด ผู้ที่เป็นดั่งมิตรยามทุกข์ท้อใจ ผู้เป็นดั่งตะเกียงไฟ คอยส่องทางให้กับพวกเรา
แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าของ #ชนจิตโต นะครับ
สวัสดีครับ
ป.ล. ลองสร้างรูปภาพของท่านด้วย A.I. อยู่หลายรอบแต่มีหนวดเคราติดมาด้วยทุกครั้ง เลยตัดสินใจใช้รูปต้นฉบับน่าจะดีที่สุด สำหรับรูปที่ gen ด้วย AI จะเป็นไงดูได้ที่รูปด้านล่างนะครับ
นิยาย
พุทธศาสนา
เรื่องเล่า
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ชนจิตฺโต
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย