7 ธ.ค. 2023 เวลา 16:54 • หนังสือ

หนังสือ Think Again คิดแล้ว คิดอีก (Last Part)

พลังแห่งการตั้งคำถาม กับสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้อง
1
ประเด็นที่ 6 :
ความคิดเดิม —>> พยายามบงการ กดดัน หรือบังคับอีกฝ่ายให้ทำตามในสิ่งที่แนะนำหรือต้องการ
ความคิดใหม่ —>> ตั้งคำถาม หรือทำให้อีกฝ่ายมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำตามด้วยตนเอง โดยไม่บังคับ หรือ ขู่เข็ญ
ขยายความ —>> บางทีคนเรามักจะชอบออกคำสั่งหรือบังคับให้ผู้อื่นยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือทำตามคำแนะนำของผู้สั่ง แต่การบงการ หรือเผด็จการ กลับทำให้อีกฝ่ายต่อต้านและยิ่งไม่ยอมเชื่อหรือยอมทำตาม
ดังนั้นสิ่งที่ควรคิดใหม่คือ เราควรมีวิธีโน้มน้าวที่แยบยล ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายว่าทำไมถึงไม่อยากทำตามหรือเปลี่ยนแปลง เคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย และตั้งคำถามด้วยความจริงใจโดยไม่มีนัยยะแอบแฝง เพื่อให้อีกฝ่ายทบทวนความคิดและการตัดสินใจของตัวเองใหม่ และเชื่อว่าอีกฝ่ายก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีหรือเหมาะสมกับตนเอง
ประเด็นที่ 7:
ความคิดเดิม —>> การมีมุมมองหรือความคิดเห็นแค่เพียงสองฝ่าย ทำให้เกิดการปะทะกันได้ง่าย
ความคิดใหม่ —>> การมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้คนเราหันมาฉุกคิดทบทวน
ขยายความ —>> การที่โลกเรามีมุมมองแค่สองขั้วมักจะทำให้เกิดการปะทะกัน กล่าวคือ การที่เรามีมุมมองระหว่างสองฝ่ายเป็นแค่ขาวกับดำ ทำให้ตั้งตัวกันเป็นศัตรูกันได้ง่ายกว่า ราวกับว่าความคิดเห็นมีอยู่แค่สองแบบ
แต่กลับกันการที่เรามีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย รวมถึงการแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย ทำให้เราหันไปคิดทบทวนมุมมองที่มีต่อเรื่องต่างๆมากขึ้น ความมีอคติ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายน้อยลง เพราะทำให้เรามองเห็นว่าคนเรามีความแตกต่างกัน มีสีเทาหรือหลายเฉดสีมากกว่านั้น ทำให้เกิดความสงสัย คิดใคร่ครวญ ตั้งคำถาม ได้รู้และเข้าใจในมุมมองที่ไม่เคยรู้มาก่อน นำไปสู่การยอมรับความหลากหลายของคนในสังคม
ประเด็นที่ 8 :
ความคิดเดิม —>> การเรียนแบบ passive learning เน้นการบรรยายและรับข้อมูลอย่างเดียว
ความคิดใหม่ —>> การเรียนแบบ active learning เน้นการเรียนแบบเชิงรุก ให้รู้จักตั้งคำถามและใช้ความคิด
ขยายความ —>> การเรียนแบบดั้งเดิมที่โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้สอนกัน คือการบรรยายให้นักเรียนฟัง และแสดงขั้นตอนวิธีการแก้โจทย์อย่างตรงไปตรงมา โดยนักเรียนเป็นผู้รับข้อมูลอย่างเดียว โดยไม่ได้ลองคิด ตั้งคำถาม หรือท้าทายต่อการเรียนเท่าที่ควร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักเรียนจะชอบวิธีการเรียนแบบนี้ เพราะง่าย ได้ความรู้มาก สะดวกสบายกว่า เพราะมีคนมาพูดสรุปให้ ทำให้เมื่อรับข้อมูลมากลับติดกับดักวงจรความมั่นใจที่มากเกินไปว่าฉันรู้มาก ฉันเก่ง
แต่กลับกันถ้าผู้สอนหันมาใช้การเรียนที่เหมือนวิทยาศาสตร์ ให้นักเรียนสร้างสมมุติฐาน หาวิธีการแก้โจทย์ปัญหาด้วยตัวเอง เน้นการปฏิบัติจริง ผู้สอนเพียงเป็นไกด์นำทาง จะทำให้เป็นรูปแบบการเรียนมีความท้าทายมากกว่า ถึงแม้จะเป็นการเรียนที่ให้ความรู้สึกไม่ง่ายมากนัก แต่กลับทำให้ผู้เรียนมีความถ่อมตัวมากขึ้น และมีความเข้าใจในบทเรียนต่างๆอย่างลึกซึ้งมากกว่าเดิม
ประเด็นที่ 9 :
ความคิดเดิม —>> การทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมืออาชีพวัดจากผลงานเป็นหลัก
ความคิดใหม่ —>> การทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพต้องดูที่กระบวนการด้วย
ขยายความ —>> เดิมทีคนเรามักให้ค่าของคนที่ผลงานเป็นหลักมากกว่า ซึ่งการวัดที่ผลงานอาจจะดีในบางสถานการณ์เท่านั้น เพราะการวัดที่ผลงาน ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ต่างคนต่างต้องการจะเหยียบขึ้นไปอยู่ที่สูงเหนือคนอื่นๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ แต่กลับทำให้คนในองค์กรรู้สึกถึงความปลอดภัยทางจิตใจน้อยลง พองานของตัวเองมีความผิดพลาดก็เลือกที่จะไม่ยอมรับ และโทษคนอื่น ละเลยการให้ความใส่ใจต่อกระบวนการหรือวิธีการทำงานที่ถูกต้องระหว่างทางไป
กลับกันการใส่ใจต่อกระบวนการและทำงานเป็นทีม ทั้งยังให้คนในทีมมีสิทธิแสดงความคิดเห็น ถ้าเห็นข้อผิดพลาดก็ไม่เยาะเย้ยกัน รู้จักการให้เกียรติต่อเพื่อนร่วมงาน
กลับทำให้คนในองค์กรมีความปลอดภัยทางจิตใจมากกว่า กล้าชี้จุดผิด อาจทำให้เห็นถึงข้อผิดพลาดมากกว่า แต่กลับทำให้ผลลัพธ์ของการทำงานดีกว่า โดยที่ไม่ต้องย้อนกลับมาเสียใจในสิ่งที่ทำในภายหลัง
ประเด็นที่ 10 :
ความคิดเดิม —>> ด่วนสรุปอัตลักษณ์ในสิ่งที่เราอยากเป็น ในสิ่งที่เราอยากทำเร็วเกินไป
ความคิดใหม่ —>> คิดทบทวนความหมายของชีวิตตัวเอง ทำในสิ่งที่เหมาะสมกับทักษะและค่านิยมของตัวเอง และค้นหาตัวตนที่แอบซ่อนอยู่ของตัวเอง
ขยายความ —>> คนเราส่วนใหญ่มักเลือกที่จะทำงานที่โลกหรือคนในสังคมมองว่าดี เพื่อให้ได้รับการเคารพนับถือ และยึดติดตัวตนของตัวเองเร็วเกินไปว่าตัวเองควรจะทำอาชีพนั้นอาชีพนี้ ซึ่งเป็นเพียงความสุขระยะสั้นเท่านั้น
แต่สิ่งที่ควรคิดทบทวนคือการค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง รู้จักลองผิดลองถูก และค้นหาตัวเองระหว่างทางการเดินทางของชีวิต เพราะการเจอตัวตนที่แท้จริง รู้ว่าชีวิตเกิดมาเพื่อทำอะไร ค้นพบสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ทักษะ ค่านิยม ความสุข ความถนัด พรสวรรค์ของตัวเอง จะทำให้เกิดความสุขในระยะยาวมากกว่าและเกิดเป็นรางวัลของชีวิต โดยที่มีความยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ของตัวเองมากจนเกินไป
สรุป คือ ความคิดเป็นสิ่งที่เกิดคู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ความคิดถ้าคิดให้ดีก็จะดี แต่ถ้าคิดไม่ดีก็จะไม่ดี ความคิดของคนเราจึงเป็นสิ่งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน การคิดโดยไม่ยึดติด และรู้จักเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งที่พบเจอเป็นสิ่งที่สำคัญ การคิดทบทวนแบบนักวิทยาศาสตร์ด้วยการตั้งสมมุติฐาน ทดลองสมมุติฐาน การแก้ปัญหาและปรับปัจจัยภายในภายนอกต่างๆ แล้วเกิดเป็นผลลัพธ์ของการทดลอง เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกๆเรื่องในชีวิตของคนเรา
การคิดทบทวนจึงเป็นทักษะที่คนในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตควรให้ความสำคัญ เพราะความคิดเก่าๆบางเรื่อง ถ้าไม่ละทิ้ง และแทนที่ด้วยความคิดใหม่ๆที่เป็นไปได้ในความเป็นจริง โลกของเราจะไม่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเรามาทบทวนและเปลี่ยนความคิดของเราให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีจะดีกว่า
แหล่งอ้างอิง :
Think Again.คิดแล้ว คิดอีก.เขียนโดย Adam Grant(2021) .ผู้แปล วิโรจน์ ภัทรทีปกร(2022).สำนักพิมพ์วีเลิร์น
โฆษณา