18 ธ.ค. 2023 เวลา 20:00 • ข่าวรอบโลก

“Golden Boy” ศิลปะแบบพระวิหาร ไม่ควรเป็นรูปของพระเจ้าชัย วรมันที่ 6

ทาง The Metropolitan Museum of Art (Collection of Walter H. and Leonore Annenberg) เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เตรียมการส่งรูปประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองที่เรียกว่า “Standing Shiva (?)” หรือ “Golden Boy” คืนให้กับประเทศไทย (รวมงานประติมากรรม 16 ชิ้น คืนให้กับกัมพูชาและไทย)
ตามข้อความ “...Deaccessioned by The Metropolitan Museum of Art for return to the Kingdom of Thailand, 2023 ...” ในเว็ปไซค์ของ MET/ The Metropolitan Museum of Art .
*** รูปประติมากรรมสำริดเคลือบกะไหล่ทองถูกระบุให้เป็น “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ตาม “ความสันนิษฐาน” ในหนังสือเปิดตัวโบราณวัตถุที่จะนำมาจัดแสดงชิ้นใหม่ “Recent Acquisitions: A Selection, 1988–1989": The Metropolitan Museum of Art Bulletin, v. 47, no. 2 (Fall, 1989)” หน้า 92
1
โดยเรียกรูปประติมากรรมว่า “Deified King (Jayavarman VI?)” อธิบายว่า เป็นงานศิลปะแบบบาปวน (Baphuon Style) ระบุเวลาชัดว่า ศิลปะของรูปเคารพนี้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1553 – พ.ศ. 1653 ( ตั้งแต่พระเจ้าสูริยวรมนัที่ 1 ไปจนถึง พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1)
1
แต่ด้วยเพราะรูปประติมากรรมนี้มีรูปศิลปะที่งดงามแตกต่างไปจากรูปสำริดอื่น ๆ ที่เคยพบ จึง “เชื่อว่า” น่าจะเป็นรูปประติมากรรมในคติ “เทวราชา” ที่หลงเหลืออยู่ โดย”อาจเกี่ยวข้อง”กับ (Perhaps associated with) พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่ครองราชย์สมบัติในปี พ.ศ. 1623 เป็นรูปที่อาจใช้โดยทิวากรบัณฑิต (Bhagavat pāda Kamarateṇ Añ ta guru Śrī Divakakarapāṇḍita) ผู้เป็นประธานใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครับ
*** การอ้างโดยเชื่อว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ในหนังสือเปิดตัวโบราณวัตถุของ Met ในปี 1989 นั้น กลับไม่เคยได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา โดยในเว็บไซต์ของ Met เองกลับได้ใช้คำเรียกว่า “Standing Shiva (?)” /พระศิวะยืน
และในหนังสือ Khmer Gold Gifts for the Gods 2008 และ Khmer Bronzes: New interpretations of the past 2011 ที่เขียนโดย นางเอมม่า Emma C Bunker และ Douglas Latchford กล่าวว่าเป็น “รูปบุคคลชาย กะไหล่ทองศิลปะบาปวน ที่มีชื่อเสียง” (The famous Baphuon-period gilded male figure in The Metropolitan Museums)
โดยไม่ได้ระบุว่าเป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ตาม หนังสือเปิดตัวของ Met
*** โดยการกล่าวถึง “รูปบุคคลกะไหล่ทอง”/ไม่ได้บอกว่าเป็นพระศิวะและรูปชัยวรมันที่ 6 ในหนังสือ”ของ นางเอมม่า ปี 2008 หน้า 45 ได้ขยายเชิงอรรถอ้างไปถึง Lerner & Kossak 1994 หน้า 82 รูป 85 ว่า
ที่จริงรูปประติมากรรมนี้พบที่บ้านยาง อำเภอละหานที่ซึ่งฐานศิลายังคงปรากฏให้เห็น และไม่ใช่มาจากกัมพูชา” Lerner & Kossak 1994, 82, pl. 85. The figure was actually found at the village of Ban Yang, Lahan district, where its stone base is still visible, and not in Cambodia...”
ซึ่ง ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า พบมาจากได้มาจากปราสาทหินในเขตอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ อย่างแน่นอนครับ
แต่เมื่อตามไปดูการอ้างอิงใน Lerner & Kossak 1994 หน้า 82 รูป 85 กลับไม่มีข้อความตรงไหนระบุว่ามารูปประติมากรรมนี้จากบ้านยาง อำเภอละหาน
แสดงว่านางเอมม่าได้เขียนสถานที่พบเจอรูปประติมากรรมกะไกล่ทอง Golden Boy นี้ขึ้นมาเองในเชิงอรรถของหนังสือปี 2008 โดยไปอ้างลอย ๆ ว่ามาจากหนังสือปี 1994 แถมหนังสือเปิดตัวก่อนหน้าปี 1989 และหนังสือของนางเองในปี 2011 ก็ไม่ได้ระบุที่มา
*** ส่วนเรื่องที่อ้างกันว่า ได้มีการสำรวจเจอฐานหินทรายและชาวบ้านบอกว่าขายไปราคาเท่านั้นเท่านี้ ล้วนสมอ้างมาจากข้อความเชิงอรรถของนางเอมม่าในหนังสือ Khmer Gold Gifts for the Gods 2008 หน้า 45 ทั้งสิ้น แต่ใน Khmer Bronzes: New interpretations of the past 2011 ซึ่งเป็น หนังสือประเภทโชว์ Gallery โบราณวัตถุ ของนาง กลับไม่ได้ระบุที่มาในคำอธิบายไว้แต่อย่างใดครับ
การระบุที่มา โดยใส่ข้อความไว้ในเชิงอรรถที่อ้างจากงานอื่น ๆ ของนางเอมม่า แต่ไม่มีข้อความนั้นในต้นทาง น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ?
*** แล้วศิลปะของรูปประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองนี้ควรอยู่ในช่วงงานศิลปะอะไร ? ในหนังสือ Khmer Gold Gifts for the Gods 2008 ของนางเอมม่า ก็ได้กล่าวถึงประติมากรรมรูปพระทวารบาล “พระนันทิเกศวร-พระนนฺทีศะ”(Nandikeśvara) /พระศิวะในพระภาคพระทวารบาล (Śivā) ในบริบทเดียวกันจากปราสาทสระกำแพงใหญ่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
เมื่อนำมาเปรียบเทียบ ถึงแม้จะมีขนาดที่แตกต่างกัน โดยรูป Golden Boy สูง 105.4 เซนติเมตร ฐานสูง 23 เซนติเมตร กว้างประมาณ 49 เซนติเมตร ในขณะที่ พระทวารบาลที่สระกำแพงใหญ่สูง 140 เซนติเมตร ฐานกว้าง 35 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร มีเดือยใต้ฐานยาว 34 เซนติเมตร แต่ในรายละเอียดของลวดลายประดับได้แสดงความเหมือนกันของสกุลช่างทางศิลปะและประติมาน ทั้งพระพักตร์ที่มีการเซาะร่องที่พระเนตร พระมัสสุ (หนวด) เหนือพระโอษฐ์ มีร่องแบ่งกึ่งกลางพระหนุจรดพระทาฒิกะ
ส่วนพระเนตร พระขนง(คิ้ว) พระมัสสุและพระทาฒิกะ เจาะเป็นร่องลึกลงไปจากผิว เพื่อประดับหินสี-อัญมณีสีขาวดำ ใต้พระศอเหนือพระอุระประดับด้วยกรอศอสามเหลี่ยม คาดลายลูกปะคำขนาบด้วยลายกลีบใบไม้แหลมมีแง่ง ซ้อนต่อกันไล่จากเล็กไปใหญ่ตรงกลาง ตัวห้ามกรอศอเป็นแผ่นตาบสี่เหลี่ยมรูปดอกไม้กลมสี่กลีบ สายกรอศอด้านหลังห้อยพวงอุบะยาวเส้นห่างเป็นระยะ
ต้นพระกรสวมพาหุรัดที่มีลวดลายเดียวกับกรอศอ ข้อพระหัตถ์ทรงทองกรลายกลีบบัวสองวง ข้อพระบาททรงกรทองพระบาทมีลายบัวกุมุทยื่นเป็นสันกลาง
รูปประติมากรรมนุ่งภูษาสัมพตสั้นแบบหยักนั้งผ้ารัดจนเกิดเป็นริ้วจีบแนบติดพระวรกาย ดึงบริเวณด้านข้างพระโสณีรั้งขึ้นสูง จนขอบบนโค้งย้อยมาใต้พระนาภี ม้วนชายพกที่มีเส้นเชือกลายลูกปัดกลมตรงกลางออกมาสองด้าน ปลายชายพกด้านขวามีขนาดใหญ่กว่า ขอบผ้าด้านหลังยกสูงขึ้นมาถึงพระปฤษฏางค์ คาดรัดพระองค์ใต้ระดับพระโสณี สลักลายวงกลม 3 ระดับซ้อนกัน 2 ชั้น
ตรงกลางรัดพระองค์เป็นลายดอกไม้ ใต้รัดพระองค์ห้อยพวงอุบะยาวเว้นเป็นระยะโดยรอบพระวรกาย ส่วนปลายสุดของภูษาสมพตด้านข้าง เว้าออกในระดับต้นพระชงฆ์ ตรงกลางของภูษาสมพตใต้รัดพระองค์มีร่องรอยผ้าชักชายพกทิ้งลงมาเป็นแถบยาว (แต่หักหายไปทั้งหมด)
ซึ่งตามรูปแบบขนบศิลปะนิยมจะเป็นการทิ้งชายพกสองระดับ ระดับบนจะสั้นกว่าคลี่ปลายออกเป็นรูปโค้งใหญ่ด้านหนึ่ง ส่วนปลายสุดอีกระดับจะยาวกว่า ทิ้งชายผ้าเป็นหางปลาเฉียงสองฝั่ง ปลายผ้าฝั่งล่างจะยาวแหลมลงมา
**** รูป Golden Boy ยังคงมีส่วนของกรวยรัดเกล้าทรงวิมานยอดแหลม ? สำริดเหลืออยู่ ซึ่งรูปทวารบาลสำริดของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ก็อาจเคยมีกรวยรัดเกล้าแบบเดียวกันเหนือพระเศียรด้วยเหมือนกันครับ
ด้วยความเหมือนกันทางศิลปะของรูปประติมากรรม ประกอบกับหลักฐานจารึกกรอบประตูโคปุระด้านทิศตะวันออก ที่กล่าวถึงชื่อนาม “ศรีพฤทเธศวร” (Srī Vrddheśvara) และการถวายที่ดิน ข้าทาสบริวารและทรัพย์สิน แก่ “กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร” ในวันวิศุวสงกราณต์ มหาศักราช 964 ตรงกับช่วงปีพ.ศ. 1585
รูปประติมากรรม Golden Boy นี้ จึงควรสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระทวารบาลนันทิเกศวร ในสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 เป็นงานศิลปะนิยมแบบพระวิหาร (หรืออาจเรียกว่าศิลปะบาปวนยุคต้น – แต่ตอนนั้นยังไม่มีการสร้างปราสาทบาปวนขึ้นเลย) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16
**** หรือยังอยากจะเชื่อว่าเป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่อ้างว่าท่านวิวากรบัณฑิตแห่งปราสาทพระวิหารนำมาใช้ในคราวบรมราชาภิเษก โดยไม่มีหลักฐานอะไรมากไปกว่าความสวยกว่ารูปประติมากรรมอื่น ๆ ลอกความคิดไปตามหนังสือเปิดตัวของ Met ในปี 1989 โดยเปรียบเทียบศิลปะไม่ออก ก็คงห้ามกันไม่ได้ครับ
*** ด้วยเพราะขนาดที่แตกต่างกันกับพระทวารบาลจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ แต่มีความงดงามไม่แพ้กัน ประติมากรรมระดับเอกอุนี้ จึงควรจะเคยประดิษฐานหน้าปราสาทสำคัญในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ในงานศิลปะแบบปราสาทพระวิหาร ที่ไม่ใช่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ แต่จะเป็นที่ไหนดีล่ะ ?
หรือจะเชื่อตามการอ้างในเชิงอรรถแปลก ๆ ของนางเอมม่าในหนังสือปี 2008 ที่บ้านยาง ละหานทราย ไปเลยดี ?
**** ส่วน Met จะได้ข้อมูลว่ารูปประติมากรรมนี้ได้มาจากไหน (อย่างผิดกฏหมาย) และจะคืนให้ประเทศไทย ก็คงต้องดูรายละเอียดที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนกันอีกทีครับ
.
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
.
ขอบคุณ Disapong Netlomwong ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับประติมากรรมพระศิวะ? ยืน จาก The Met https://www.facebook.com/netlomwong/posts/pfbid032a2Qm5rzWS9HNkvJS268fd2UYCu8AZbGEHM1mN4fNjj3Ju41uBAaCW1kxS4an8d4l
.
โฆษณา