Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ
•
ติดตาม
21 ม.ค. 2024 เวลา 16:05 • หนังสือ
ทิ พ ย ดุ ริ ย า ง ค์
มีผู้แต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยย้อนยุคต่าง ๆ เรื่อยมา ช่วงหลายปีมานี้ก็มีนักเขียนรุ่นใหม่แต่งเรื่องแนวนี้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อลองนึกทบทวนว่ามีนวนิยายเรื่องใดที่เอ่ยถึงเรื่องดนตรีไทยบ้างก็พบว่าไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่
.
ครั้งนี้แอดมินจึงอยากแนะนำเรื่อง “ทิพยดุริยางค์” ของคุณโบตั๋น (นามปากกาของคุณสุภา สิริสิงห์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้เขียนนำเสนอความสำคัญของดนตรี และนาฏศิลป์ไทย และสะท้อนความแตกต่างระหว่างตัวเอกสองคนได้อย่างสร้างสรรค์ คนหนึ่งรักดนตรีไทยส่วนอีกคนสนใจดนตรีสากล
.
นิรัติศัยหรือ แบ๊งค์ เป็นหลานชายของครอบครัวที่มุ่งไปเรื่องธุรกิจการเงิน แต่เขาเป็นลูกคนเดียวที่สนใจด้านนาฎศิลป์และะวัฒนธรรมไทย แบงค์และปัจจันต์ เพื่อนอีกคนก็ยังเรียนโขนที่โรงเรียน ทั้งสองชอบไปดูละครที่โรงละครแห่งชาติทุกสุดสัปดาห์ด้วย เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกเรียนต่อ ทั้งคู่ตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนนาฏศิลป์ พ่อและแม่ของแบงค์คัดค้านแต่แบงค์ดื้อจะเรียนสาขานี้ พ่อแม่จึงขอให้อาคนเล็กช่วยเกลี้ยกล่อม แต่ก็ไม่สำเร็จ
.
ต่อมาแบ๊งค์มีโอกาสรู้จักเวฬุริยา หรือ ไผ่ ซึ่งเป็นลูกสาวเลขาทูตและเล่นดนตรีสากลเก่งระดับแชมป์เปียนโนด้วย แบ็งค์ไม่ค่อยชอบไผ่ และคิดว่าเธอเป็นสาวหัวนอก ครั่งไคล้วัฒนธรรมฝรั่ง ไผ่อธิบายให้แบ๊งค์ฟังและพยายามสื่อให้เขาเข้าใจคนอื่นด้วย แบ๊งค์แปลกใจเมื่อพบไผ่อีกครั้งขณะที่เธอพาคุณยายไปดูละครที่โรงละครแห่งชาติ
.
เนื้อหาของเรื่อง “ทิพยดุริยางค์” ไม่ได้เอ่ยถึงดนตรีไทยเท่านั้น ครอบครัวของแบ๊งค์มีสมาชิกหลายคนและผู้เขียนแทรกเรื่องพี่ชายคุณปู่ที่หายไปช่วงสงครามโลกเมื่ออยู่ที่ประเทศจีน
.
เมื่อแบ๊งค์มีโอกาสจะไปแสดงโขนที่เมืองจีน คุณปู่จึงขอให้เขาช่วยตามหาพี่ชายที่หายสาปสูญ เขาได้รู้จักล่ามชาวจีนคนหนึ่งชื่อหลี่หวังฮวา ซึ่งมีชื่อไทยด้วยว่า นิราลัย เธอคือหลานสาวของพี่ชายคุณปู่นั่นเอง
.
คุณปู่ดีใจมากและขอให้แบ๊งค์ช่วยเก็บเป็นความลับ และต่อมาก็รับนิราลัยมาอุปการะโดยอ้างว่าเป็นญาติจากแม่สาย ทำให้ลูกชายและสะใภ้คนโตไม่พอใจเพราะกังวลเรื่องทรัพย์สมบัติที่อาจต้องแบ่งกัน นิราลัยมาอยู่ไม่นานก็ต้องกลับเมืองจีน
.
เวลาผ่านไปเกือบสิบปีแบ๊งค์ยังสนใจทั้งโขนและดนตรีไทย ต่อมาเขาซื้อมอเตอร์ไซค์และก็เกิดอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถเล่นโขนได้อีกต่อไปเนื่องจากขาต้องดามเหล็ก แต่แบ๊งค์ก็เลือกจะเป็นนักพากย์โขนแทน นิยายดำเนินไปอย่างสนุก ผู้แต่งสอดแทรกบทพากย์โขนโดยนำบางตอนมาจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
ตัวอย่างบทพากย์ของตัวเอกที่แม้ผู้อ่านจะไม่ได้ดูละคร แต่ถ้าอ่านและใช้จินตนาการตามเราก็พอจะนึกถึงท่วงท่าและอารมณ์ของพิเภกที่ขุ่นเคืองอินทรชิตหลานชายที่อวดเก่งได้บ้าง แบ๊งค์เป็นนักพากย์โขนว่า
"อันตัวเจ้าเยาว์วัยไร้สติ เหมือนหน่อไม้พึ่งแรกผลิออกจากกอ นี่ใครหนอพาเจ้าเข้ามาในนี้ อันทารกยังไม่มีสติรั้ง ไม่ควรเลยจะเข้ามานั่งในชุมนุม ที่ประชุมปรึกษาการงานสำคัญ มาพูดจาหุนหันไม่น่าฟัง มาอวดดีน่าชังเป็นหนักหนา มาอวดฤทธิ์อหังการ์ไม่รู้กาล จะอวดหาญไปม้วยมรณ์ด้วยศรชัย... " (น.๒๙๘)
.
คุณปู่ยังมีลูกสาวคนโตที่มีปัญหาครอบครัวและกลับมาเมืองไทยพร้อมลูกสาวและบุตรบุญธรรม ซึ่งเข้ามาในชีวิตของแบ๊งค์ ต่อมาแบ๊งค์เปิดโรงเรียนดนตรีชื่อ ‘ทิพยดุริยางค์’ แบ๊งค์เติบโตขึ้นและมีโอกาสเจอไผ่อีกครั้งเมื่อเธอกลับมาอยู่เมืองไทย
.
ไผ่และแบ๊งค์มีฐานะและการศึกษาแตกต่างกันขณะที่ทั้งสองยังคงก้าวเดินในเส้นทางดนตรีที่ตนเองรัก แบ๊งค์ชอบไผ่แต่ไม่นานไผ่ก็เดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศอีกสามปี เธออยากให้เขาไปด้วย แต่เขายังมุ่งมั่นจะดูแลโรงเรียนดนตรีของตนเอง
.
แบ๊งค์อยากแต่งงานกับคนที่ตนรัก แต่เขาก็ไม่คิดจะทิ้งวิชาชีพที่เขารักมาก เขาได้แต่หวังว่าหญิงที่เขารักจะเข้าใจ เพราะเขาก็ไม่คิดจะทำให้เธอตกต่ำหรือลำบาก เพียงแต่เขาไม่มีเงินจะซื้อเปียนโนยี่ห้อแพงที่ใช้คีย์งาช้าง... เขามีความจริงใจและอาจจะซื้อเปียนโนคีย์พลาสติกให้เธอสักหลัง...
.
ไผ่และแบ๊งค์จะลงเอยกันอย่างไร เวลานานถึงสามปีความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด และนิราลัยจะกลัยมาเมืองไทยอีกอย่างไร
.
"ทิพยดุริยางค์" เป็นนิยายอีกเรื่องของโบตั๋นที่สะท้อนสังคมและสอดแทรกข้อคิดที่น่าสนใจให้แก่ผู้อ่านโดยเฉพาะด้านดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย การเล่นโขนและพากย์โขน และยังสะท้อนวัฒนธรรมไทยในการชมละคร ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จักหรือเคยไปชมกันมากนัก หากท่านใดสนใจขอแนะนำค่ะ
.
เรื่องนี้เคยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารพลอยแกมเพชรก่อนจัดพิมพ์รวมเล่มโดยสุวีริยาสาส์นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีผู้นำมาสร้างเป็นละครและได้รับรางวัลเมขลาประเภทละครอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๓ และอีกรางวัลในปีเดียวกันคือรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ ๑๕ ด้านละครส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดีเด่น
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #โบตั๋น #สุภาสิริสิงห #ทิพยดุริยางค์ #นวนิยายสะท้อนสังคม #ครอบครัว #ดนตรีไทย #นาฏศิลป์#โขน #ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
หนังสือ
ดนตรี
วัฒนธรรม
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย