22 ม.ค. เวลา 09:30 • การเมือง

รัฐบาลทหารพม่าช่วยรัสเซียยังไงใน “สงครามยูเครน”

รัสเซียได้รับการสนับสนุนในการทำสงครามกับยูเครนโดยกลุ่มประเทศพันธมิตรอย่างที่เรารู้กัน “อิหร่านเป็นผู้จัดหาโดรนให้” “เกาหลีเหนือส่งกระสุนและขีปนาวุธให้” ส่วนพม่าประเทศที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงในสงครามยูเครนและอยู่ติดกับไทยเรา แม้ว่าจะมีประวัติการซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์จากรัสเซียมาอย่างยาวนานก็ตาม
4
  • จากรถถังจีนไปสู่สัญญาซื้ออาวุธกับรัสเซีย
ในปี 1988 การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหารกับกลุ่มผู้ประท้วงในพม่าเพื่อเรียกร้องให้ประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้มีการลงโทษคว่ำบาตรจากต่างประเทศต่อพม่า ช่วงนั้นสหภาพโซเวียตที่กำลังจะเสื่อมถอยสมัย “กอร์บาชอฟ” และรัสเซียที่เพิ่งเริ่มต้นสมัย “บอริส เยลต์ซิน” ต่างไม่พร้อมที่จะต่อต้านความปรารถนาของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเห็นแก่พม่าที่ยากจน ซึ่งพม่ามีความพยายามที่จะล้างภาพลักษณ์และรีแบรนด์ตัวเองในปี 1989 โดยเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น “เมียนมาร์”
อย่างไรก็ตามประเทศเพื่อนบ้านของพม่าอย่างจีนก็พร้อมที่จะเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกรุงมอสโก ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รถถังและปืนครกจำนวนมากจากจีนเริ่มไหลข้ามชายแดน แต่ด้วยเงื่อนไขที่ไม่พึงประสงค์ประการหนึ่งสำหรับผู้นำทหารที่ปกครองพม่า นั่นคือ ปักกิ่งเรียกร้องขอสัมปทานสำหรับบริษัทจีนในพม่า รวมถึงจีนขอร่วมมือในเรื่องการต่างประเทศกับพม่า เช่น การขจัดเสี้ยนหนามอย่าง “ดาไลลามะ” (ซึ่งผู้นำจีนถือว่าเป็นผู้นำการแบ่งแยกดินแดนทิเบต) ออกจากสารระบบข้อมูลของพม่า
ดาไลลามะ เครดิตภาพ: freetibet.org
นอกเหนือจากการพึ่งพาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับความช่วยเหลือทางทหารของจีนแล้ว ผู้นำทหารพม่ายังไม่พอใจกับคุณภาพของรถถังและรถหุ้มเกราะของจีนที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 พม่าจึงเริ่มจัดหาอาวุธจากอิสราเอล อดีตรัฐของยูโกสลาเวีย และอินเดีย พม่ายังร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของยูเครนเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถหุ้มเกราะของตนเอง ลิสต์อาวุธยุทโธปกรณ์ของพม่าและสัญชาติตามลิงก์นี้
1
ความพยายามของรัฐบาลทหารในการหลุดพ้นจากการพึ่งพาอาศัยจีนอย่างเดียว ทำให้รัสเซียได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์มหาศาล ในช่วงทศวรรษแรกของ 2000s พม่าได้รับจัดส่งเครื่องบิน MiG-29 ของรัสเซีย พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ Mi-35 และ Mi-17 รัฐบาลทหารพม่ายังให้ทุนสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หลายพันคนในสถาบันการทหารของรัสเซีย และหน่วยงานด้านกลาโหมในรัสเซียยังได้รับคำสั่งให้ผลิตกระสุนและชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์สำหรับพม่าอีกด้วย
ตลอดระยะเวลายี่สิบปีตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2021 พม่าจ่ายเงินอย่างเป็นทางการให้กับมอสโกจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการปฏิบัติตามสัญญาทางทหาร สำหรับประเทศที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนแทบจะไม่เกิน 300 เหรียญสหรัฐฯ นี่ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่จ่ายเพื่อการทหารของประเทศ
1
  • “มิน ออง หล่าย” ในสายตารัสเซีย
“พลเอกมิน ออง หล่าย” เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการรัฐประหารในพม่า นายพลดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์รัสเซีย Moskovsky Komsomolets ซึ่งเขายกย่องความเป็นผู้นำของรัสเซีย และสัญญาว่ามิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศจะคงอยู่ตลอดไป เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางมอสโกมานานแล้ว
ระหว่างปี 2013 ถึง 2020 มิน ออง หล่าย เยือนรัสเซีย 4 ครั้ง โดยกลับมาพร้อมกับสัญญาที่ลงนามในการจัดหาเครื่องบิน ระบบขีปนาวุธ และรถหุ้มเกราะใหม่ เมื่อดูจากประวัติแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่การเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขาในตำแหน่งผู้นำประเทศคือการเยือนมอสโก เขาเดินทางมารัสเซียครั้งที่สองเพียงไม่กี่เดือนต่อมา
ในรัสเซีย “มิน ออง หล่าย” ได้รับการปฏิบัติและต้อนรับในระดับค่อนข้างสูง แต่ก็ยังไม่ถึงระดับสูงสุด เขาใช้เวลาเข้าพบประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย แต่ไม่ใช่กับประธานาธิบดีปูติน เชื่อว่าเป็นเพราะความแตกต่างในสถานะของผู้นำทั้งสองมีส่วนเพราะ มิน ออง หล่าย เป็นผู้ทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ปูตินมองว่าเขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย
1
เครดิตภาพ: Vadim Savitskiy/Ministry of Defence of the Russian Federation
แม้ว่า “มิน ออง หล่าย” จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยพฤตินัยในบ้านเกิด แต่ประมุขของเมียนมาร์โดยทางนิตินัยก็คือประธานาธิบดี “มินต์ ฉ่วย” (รักษาการ) ซึ่งถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิด เขาเป็นนายพลที่เกษียณอายุแล้วซึ่งได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในอำนาจชั่วคราวหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021
  • การส่งออกอาวุธจากพม่ากลับคืนมายังรัสเซีย
ในที่สุดทั้งคู่ “ปูติน” กับ “มิน ออง หล่าย” ก็ได้พบกัน “แบบเป็นทางการ” ที่งานประชุม Eastern Economic Forum ในเดือนกันยายน 2022 ที่เมืองวลาดิวอสต็อกทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียยังให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือรัฐบาลทหารพม่าในการดำเนินการเลือกตั้งของประเทศในอนาคต
เครดิตภาพ: Radio Free Asia
ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 แม้แต่ “ปูติน” ก็เข้าใจว่าสงครามกับยูเครนจะยังไม่สิ้นสุดอย่างรวดเร็วหรือง่ายดาย บางทีเขาอาจจะถูกบังคับให้ลดความร่วมมือทางทหารกับพม่า ซึ่งเพิ่งเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหารครั้งล่าสุดในพม่า
ระหว่างการโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 จนถึงการเริ่มต้นการบุกยูเครนเต็มรูปแบบของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เครมลินได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์แก่พม่ามูลค่ามหาศาลกว่า 276 ล้านดอลลาร์ หากเปรียบเทียบสัญญาทางทหารระหว่างจีนกับพม่าในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่ารวมเพียง 156 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ทั้งคู่พบกันที่ตะวันออกไกลของรัสเซีย มีความเป็นไปได้ที่ “ปูติน” เริ่มที่จะร้องขอการส่งคืนยุทโธปกรณ์ทางการทหารรัสเซียบางส่วนที่ขายให้กับรัฐบาลทหารพม่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะรัสเซียต้องเผชิญกับการสูญเสียในสนามรบที่เพิ่มขึ้นและการเจอคว่ำบาตรนำเข้าอะไหล่ที่จะปรับปรุงรถถังและรถหุ้มเกราะจำนวนมากที่ยังคงมีอยู่ในคลังแสง รัสเซียจึงเริ่มซื้อยุทโธปกรณ์บางส่วนที่เคยส่งออกไปยังพม่ากลับคืน
เมื่อมิถุนายน 2023 สื่อญี่ปุ่นอย่างนิเคอิรายงานว่า รัสเซียจ่ายเงินให้อินเดีย 150,000 ดอลลาร์ เพื่อซื้อระบบนำทางและส่องในเวลากลางคืนที่รัสเซียผลิตขึ้นสำหรับระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน การซื้ออาวุธคืนของรัสเซียครั้งแรกที่เห็นชัดเจนเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2022 หนึ่งเดือนก่อนการประชุมที่วลาดิวอสต็อกระหว่าง “ปูติน” และ “มิน ออง หล่าย”
เมื่อธันวาคม 2022 รัสเซียได้ดำเนินการซื้อคืนระบบตรวจจับและสอดแนมสำหรับรถถังมูลค่าอย่างน้อย 24 ล้านดอลลาร์ที่เคยขายไปให้ และตามคำกล่าวอ้างของ “คิริโล บูดานอฟ” หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารยูเครนที่บอกว่า รัสเซียกำลังพยายามชดเชยการขาดแคลนกระสุนโดยหันไปหาประเทศที่สาม ในบรรดาคู่ค้าที่มอสโกกำลังเจรจาด้วย บูดานอฟกล่าวว่าคือพม่า
การส่งมอบอาวุธของพม่าให้กับรัสเซียยังคงเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพม่า เหตุใดผู้นำทหารพม่าจึงเต็มใจที่จะแบ่งปันทรัพยากรทางทหารที่มีความต้องการใช้ในประเทศและอาจขาดแคลนไปให้รัสเซียยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
1
เครดิตภาพ: The Irrawaddy
เรียบเรียงโดย Right SaRa
22nd Jan 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Insider Russia>
โฆษณา