29 ม.ค. เวลา 15:39 • ประวัติศาสตร์

สะพานช้างโรงสี สะพานชื่อช้าง แต่เป็นหัวสุนัข

สะพานช้างโรงสี เป็นสะพานคอนกรีตสร้างข้ามคลองคูเมืองเดิม ตั้งอยู่บริเวณหลังกระทรวงกลาโหม ปลายสะพานอีกด้านหนึ่งคือบริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทย อยู่ระหวางแขวงพระบรมมหาราชวังและแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สะพานช้างโรงสีสร้างเมื่อ ร.ศ.106 (พ.ศ. 2430) ในสมัยรัชกาลที่5 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก แต่เดิมเป็นสะพานไม้ซุงแข็งแรงแน่นหนา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังมีความจำเป็นต้องใช้ช้างสำหรับการศึกสงครามป้องกันและฟื้นฟูราชอาณาจักร จึงต้องมีสะพานลักษณะพิเศษ คือแน่นหนาแข็งแรงสำหรับช้างข้ามคลองคูเมืองเดิมเพื่อเข้าเขตราชธานี สะพานที่มีความแข็งแรงพอที่จะให้ช้างเดินข้ามได้จะเรียกว่าสะพานช้างทั้งสิ้น
มีหลักฐานเกี่ยวกับสะพานช้างอยู่ 3 สะพานได้แก่ สะพานช้างวังหน้า ปัจจุบันเป็นที่ลาดของเชิงสะพานปิ่นเกล้า สะพานช้างปากคลอง ปัจจุบันคือสะพานเจริญรัช และสะพานช้างถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นสะพานช้างที่เหลืออยู่เพียงสะพานเดียวเรียกกันว่า สะพานช้างโรงสี เหตุที่ได้ชื่อว่าช้างโรงสีเนื่องมากจากสะพานช้างนี้อยู่ใกล้กับโรงสีข้าวของฉางหลวงสำหรับพระนคร คนทั่วไปจึงเรียกว่า "สะพานช้างโรงสี" เพื่อให้รู้ถึงสถานที่ตั้ง
สะพานช้างโรงสีแต่เดิมเป็นสะพานไม้ซุง ต่อมาได้รับการซ่อมเปลี่ยนแปลงรูปร่างมาหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ เมื่อ พ.ศ. 2453 ขณะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้โปรดให้บูรณะสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเรียบง่าย แต่มีความงามอยู่ที่ลูกกรงปูนหล่อโปร่งเบา คานสะพานโค้ง ที่ปลายสะพาน 4 มุมประดับรูปหัวสุนัขมีอักษรบอกศักราช 129 เป็นสัญลักษณ์ของปีที่ซ่อมสะพาน ซึ่งตรงกับปีประสูติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในปี พ.ศ.2518 กรุงเทพมหานครปรับปรุงและขยายสะพานได้พยายามคงลักษณะรูปแบบเดิมไว้แต่เปลี่ยนโครงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กและลูกกรงปูนหล่อโปร่งเบา ที่เสาปลายราวสะพานมีรูปสุนัขหมายถึงปีจอซึ่งเป็นปีที่สร้างสะพานนี้
บริเวณโดยรอบสะพานช้างโรงสีในอดีต เป็นกลุ่มวังที่ประทับของเจ้านายในย่านถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ ริมคลองหลอด เชิงสะพานช้างโรงสี ถัดไปทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง สร้างมาแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นที่ประทับของเจ้านายมาอีกหลายพระองค์ต่อเนื่องกันมา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย 2 วัง คือ
. วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ เดิมเป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสนิทนเรนทร์ ต้นราชสกุลไพฑูรย์ เมื่อกรมหมื่นสนิทนเรนทร์สิ้นพระชนม์ จึงเป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ต้นราชสกุลชุมแสง
เมื่อกรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชาสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานวังนี้เป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ต่อมาเมื่อเมื่อกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว พระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า แพร่งภูธร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
. วังสะพานช้างโรงสี วังใต้ เดิมเป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนียม ต้นราชสกุลนิยมิศร เมื่อพระองค์เจ้าเนียมสิ้นพระชนม์ จึงเป็นที่ประทับของ พระองค์เจ้าอุทัย พระองค์เจ้าสว่าง พระองค์เจ้าแฉ่ง พระราชโอรสร่วมเจ้าจอมเดียวกันในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เมื่อพระองค์เจ้าสว่างสิ้นพระชนม์เป็นพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์ใดมาประทับที่วังนี้อีก และได้รื้อวังนี้สร้างเป็น กระทรวงนครบาล. ในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคือ กระทรวงมหาดไทย
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่น่าสนใจในบริเวณสะพานช้างโรงสี คือ อีแอมกาติบ คือห้างของนาย อี.เอ็ม.กาติ๊บ พ่อค้าชาวมุสลิม เป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าของพ่อค้ามุสลิมดาวูดีโบห์รา จากเมืองสุรัต (อินเดีย) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศสำหรับราชสำนัก และจำหน่ายให้ข้าราชการและคหบดีในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมค้าขายอยู่ริมถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นแหล่งการค้าของชนชั้นนำชาวสยามสมัยนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้ย้ายไปตั้งที่ถนนบำรุงเมือง เชิงสะพานช้างโรงสีมุมถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนอัษฎางค์
โฆษณา