8 ก.พ. เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

5 ประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ What My Bones Know: A Memoir of Healing from Complex Trauma

ชื่อหนังสือ: What My Bones Know: A Memoir of Healing from Complex Trauma
เขียนโดย: Stephanie Foo
หนังสือบันทึกความทรงจำของสเตฟานี ฟู ที่เล่าถึงความบอบช้ำทางจิตใจจากการตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว จนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Complex PTSD ได้พูดถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อเอาชนะสถานการณ์ที่ทุกข์ยากต่างๆ จนก้าวไปสู่การเยียวยาได้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน สเตฟานียังได้ตอกย้ำถึงความไม่สมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์ ที่เราต่างมีข้อบกพร่องและทำผิดพลาดได้ แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้เราได้เติบโตถ้าเรากล้าพอที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง
5 ประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้
1. วัฒนธรรมการเลี้ยงดูและเหตุการณ์ในวัยเด็กจะหล่อหลอมกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเรา
สเตฟานีเติบโตมาจากครอบครัวคนมาเลเซียเชื้อสายจีนที่ได้ย้ายมาอยู่อเมริกาตั้งแต่ยังเด็ก มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ยาวนานหลายปีติดต่อกันตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งการถูกทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจจากพ่อแม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแม่) และการถูกทอดทิ้ง ที่พ่อแม่สร้างเป็นปมอดีตที่เป็นบาดแผลทางใจทิ้งไว้
เหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลให้สเตฟานีมีภาวะซับซ้อนทางด้านจิตใจ ทำให้กลายเป็นคนมีอารมณ์แปรปรวน มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เชื่อใจใครไว้ใจใคร จนเป็นเหตุให้มีปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์
2. Grounding การดึงสติ
การจมปลักอยู่กับความคิด หมกมุ่นอยู่กับความเครียด ความกลัวหรือความกังวล คือ ตัวคั่นกลางที่ทำให้เราสูญเสียการเชื่อมต่อระหว่างตัวเรากับ(โลก)รอบตัวหรือปัจจุบัน
ถ้าเรามีสติ คือการที่ภาวะของการรับรู้ทางจิตใจว่า ณ ขณะนี้ เราเป็นใครและอยู่ที่ไหนและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งตรงข้ามกับการแยกตัวหรือตัดขาด ด้วยการพาตัวเองไปติดอยู่กับภาพเหตุการณ์เจ็บปวดในอดีต หรือจมปลักอยู่กับความคิดลบๆ อยู่กับความทุกข์ที่กำลังมีต่างๆนานา
การดึงสติเป็นหนึ่งในการทำจิตบำบัด เทคนิคที่สเตฟานีใช้ในการดึงสติคือการนับสี ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้สเตฟานีรู้สึกตัวเองว่าเริ่มมีอารมณ์แปรปรวนหรือเกรี้ยวกราด จะใช้เทคนิคการนับสี(แดง) สิ่งของที่อยู่รอบๆตัว 5 อย่าง เพื่อให้ใจเย็นลง สงบลง
 
การดึงสติจะช่วยให้เราตื่นจากจิตใจที่ขุ่นมัว ที่จะพาเราออกจากความคิดลบทั้งหลายอย่างช้าๆ เพื่อดึงจิตใจกลับคืนมาอยู่กับตัวเองกับปัจจุบัน
ด้วยการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าได้ จะทำให้เรารู้สึกถึงการมีตัวตนของเราและรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของชีวิตเราที่กำลังดำเนินต่อ
3. Connectedness ความเชื่อมโยงและผูกผัน
ถ้าอีโก้หรือตัวตนของเราเงียบลงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นจะค่อยๆสลายไป จนขาดความเชื่อมโยงในที่สุด
การเข้าสู่ภาวะของการเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับคนอื่น การรับรู้ถึงระดับความสัมพันธ์ที่ผูกพันระหว่างตัวเรากับคนรอบตัว รวมถึงคนอื่นๆในสังคม ส่งผลให้ได้รับความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง(กับคนอื่นๆ หรือสิ่งอื่นๆ) ที่นอกเหนือไปจากตัวเอง ด้วยการนึกถึงสถานที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย หรือนึกถึงใครสักคนที่เรารู้สึกได้ถึงความปลอดภัยและเชื่อว่าเขาจะปกป้องดูแลเราได้
เราไม่ได้ใช้จำนวนวันหรือเวลาเป็นตัววัดความเชื่อมโยงหรือระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน แต่วัดผ่านความเชื่อมโยงให้รู้สึกถึงความผูกพันที่รับรู้ได้ ความรู้สึกของการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งเป็นความรู้สึกลึกๆ ว่าไม่ได้อยู่ตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว ที่จะช่วยคว้าและดึงเราไว้ไม่ให้หลุดลอยไปไหน
4. การเยียวยาเป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่อง
เส้นบางๆที่แยกความแตกต่างระหว่างการรับรู้บางอย่างและการเข้าใจบางสิ่ง คือ ความรู้สึก
การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการเยียวยา เราต้องไขประตูการเรียนรู้และปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึกตามจังหวะที่เราทำได้
เริ่มจากการรับรู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน และยอมรับถึงประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างตรงไปตรงมา ที่จะค่อยๆช่วยเชื่อมต่อระหว่างเรากับปัจจุบัน เชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับคนอื่น และทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นอิสระในเวลาเดียวกัน
การรับรู้และยอมรับถึงประสบการณ์ชีวิตที่เจ็บปวด และเข้าใจว่าประสบการณ์นั้นๆคือแผลเป็นที่จะยังคงอยู่ ที่จะคอยเตือนจำว่าเราสามารถอยู่กับมันได้ เพราะบางครั้งอาจมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจให้เรารู้สึกเจ็บปวดได้ แต่เราจะมีความเข้มแข็งที่จะรับมือกับมันได้อย่างกล้าหาญ
1
เราจึงต้องเรียนรู้ขอบเขตชีวิตตัวเองให้เข้าใจหรือสร้างกติกาใหม่ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเยียวยา โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และการเปลี่ยนแปลงของเรานั้นไม่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ใครมาชื่นชมหรือยอมรับ เพราะความชื่นชมนั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการได้มาซึ่งการเติบโตที่มั่นคงของเรา
“Just because the wound doesn’t hurt, doesn’t mean it’s healed.”
หนังสือ WHAT MY BONES KNOW: A Memoir of Healing from Complex Trauma
by Stephanie Foo
5. (การรับรู้ได้ถึง)ความรู้สึกเป็นอภิสิทธิ์ที่ได้มา
ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับใครสักคนหนึ่ง การแสดงออกทางพฤติกรรมก็จะต่างกันออกไป เพราะเราต่างมีอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างไปตามบริบทของครอบครัวและเงื่อนไขในการเลี้ยงดูมา
บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรักและความอบอุ่น จึงมีประสบการณ์และได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่หลากหลายทั้งบวกและลบ ถือกลายเป็นอภิสิทธิ์ที่ครอบครัวได้ให้มา
 
บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่ขาดความรักและความอบอุ่น สิ่งที่ได้รับแค่ความบอบช้ำทางกายหรือปมบาดแผลทางใจ จึงทำให้ขาดอภิสิทธิ์ทางความรู้สึก (หรืออาจมี..แต่แสดงออกไม่เป็น)
และอาจเป็นเหตุที่ทำให้”รับ”หรือ”ให้”ความรักกับใครไม่เป็น - ทั้งกับตัวเองและคนอื่น
 
เราต่างมีประสบการณ์ในชีวิตที่ท้าทายและมีเรื่องราวที่ทำให้เจ็บปวดไม่เหมือนกัน เราจึงมีการต่อสู้และดิ้นรนในแบบของแต่ละคนที่ต่างกันออกไป จึงเป็นเรื่องง่ายในการตัดสินคนอื่นจากภาพที่เราเห็นเพียงภายนอกผิวเผิน
1
เพราะเราไม่รู้ความเป็นมาของเขา เราจึงไม่เข้าใจใน “ความเป็นเขา” เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ มีพฤติกรรมแบบนี้ เราจะไม่มีวันเข้าใจถึงความรู้สึกของคนเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น แทนการตัดสินที่ทำให้เขารู้สึกผิดหรือใช้คำพูดที่ทำให้เขาได้รับความอับอายหรือเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น ควรเปิดใจรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจตามที่เขาเหล่านั้นสมควรได้รับ ด้วยการรับฟังด้วยวิธี"เอาใจเขามาใส่ใจเรา" คือ ฟังแบบไม่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
แต่ฟังเพื่อให้ได้ยินสิ่งที่เขาต้องการสื่อ ฟังให้เข้าใจผ่านมุมมองประสบการณ์ของเขา - ไม่ใช่ประสบการณ์ของเรา รับฟังอย่างไม่ตัดสินและไม่คิดแทนหรือแก้ปัญหาให้ เราก็จะสามารถเข้าใจความรู้สึกหรือเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้น
บางประสบการณ์ของสเตฟานีได้สะท้อนบางมุมของชีวิตที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และทำให้รู้สึกตกผลึกในหลายประเด็นตามโจทย์ชีวิตที่ตัวเองมี ที่พร้อมเป็นพลังผลักดันช่วยให้มองเห็นความจริงของชีวิตตัวเองได้มากขึ้นและชัดเจนขึ้น
หนังสือเล่มนี้ได้ทั้งน้ำตาและสาระที่ให้แรงบันดาลใจ ที่จะช่วยเปิดรับความท้าทายและโอกาสในการต่อสู้สำหรับทุกคนที่กำลังอยู่บนเส้นทางในการเยียวยาได้เป็นอย่างดี
(..สเตฟานีก็ได้พบกับความสุขในที่สุด..)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา