8 ก.พ. เวลา 12:58 • ท่องเที่ยว
แขวงบ้านบาตร

Mahanakorn PhotoWalks | เสียงที่ไม่ได้ ...

ชุมชนที่มีพื้นที่ไม่กว้างมาก และเป็นชื่อแขวงๆ หนึ่งของกรุงเทพมหานคร หลากหลายผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างร่วมทำสิ่งหนึ่งที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าส่งต่อกันมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดจนมาถึงสมัยก่อตั้งเมืองรัตนโกสินทร์จวบจนปัจจุบัน กับเรื่องราวของ "บ้านบาตร" ชุมชนทำบาตรแฮนด์เมดที่วันนี้อาจเป็นแห่งเดียวในโลก
เราเดินข้ามสะพานสมมตอมรมารค (สม-มด-อะ-มอน-มาก) หรือสะพานเหล็กประตูผี ที่คุ้นเคยกัน เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงในส่วนของคลองบางลำพู ที่ไม่ห่างจากภูเขาทองเท่าไหร่นักเพื่อเดินเข้าไปย่านชุมชนบ้านบาตร
หลังจากตัดแผ่นเหล็กตามแบบ ก็พับขึ้นรูปและประกบแผ่นเหล็กเข้าหากัน โดยปลายแผ่นเหล็กจะตัดเป็นลักษณะคล้ายซีกฟันเพื่อสอดประสานเข้าหากัน
จากคนแรกที่ตัดเหล็กประกอบขึ้นตามแบบ ชิ้นงานก็ถูกส่งต่อไปยังการแล่น (ภาพปก) หรือการเชื่อมประสานรอยให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน และเมื่อเสร็จแล้วชิ้นงานก็จะถูกส่งต่อไปยังการลาย หรือการเคาะบาตรเพื่อขึ้นรูปตามรูปแบบของบาตรนั้นๆ
ลุงอมร หนึ่งเดียวที่รับหน้าที่ในการแล่น ผ่านประสบการณ์และความชำนาญมาอย่างยาวนาน เราถ่ายภาพแกอยู่นานเพราะต้องการภาพที่ดีที่สุดด้วยข้อจำกัดผ่านแผ่นฟิล์มที่ไม่สามารถเห็นภาพที่บันทึกได้เลยทันที เวลาจึงถูกใช้ไปนานพอที่ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม หากวันนี้ลุงคือคนเดียวที่รับหน้าที่นี้ แล้ววันต่อไป? ..คำตอบจากลุงที่ได้กลายเป็นกระดาษที่ว่างเปล่า
การลาย คือการนำบาตรที่ผ่านการแล่น มาเคาะด้วยค้อนที่มีรูปทรงโค้งงอ ส่งต่อไปยังการตะไบ และเก็บรายละเอียดต่อไปพร้อมเสร็จสิ้นขั้นตอน
กาลเวลาถูกทับถมด้วยปัจจุบัน สิ่งหนึ่งคงอยู่ สิ่งหนึ่งเลื่อนหาย สิ่งหนึ่งอาจแปรเปลี่ยนไป เสียงเคาะ เสียงตีเหล็กที่เคยก้องกังวาลประหนึ่งเสียงชีพจรของชุมชน อาจไม่ดังพอที่ใครๆ จะได้ยิน เมื่อกาลเวลาไม่เคยทวนเข็มนาฬิกา
everything
is
Always
changing

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา