20 ก.พ. เวลา 09:44 • การเมือง

การเมืองโลกก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

บางคนบอกว่าปีนี้น่าจะเป็นปีสงบเงียบของการเมืองโลก เพราะเป็นปีเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ไบเดนจะต้องพยายามประคับประคองสถานการณ์ทั่วโลกไม่ให้มีอะไรปะทุขึ้นมาอีก เช่น ไม่ยั่วยุจีนในเรื่องไต้หวันมากเกินไป แต่ผมกลับคิดกลับกันว่า
สถานการณ์การเมืองโลกก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจจะอันตรายมาก
1
ไบเดนคงอยากประคับประคองสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ แต่บรรดาศัตรูคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ กลับจะมีแรงจูงใจที่จะราดน้ำมันลงบนกองเพลิงความขัดแย้งต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง โดยอาจหวังผลเพื่อส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้วย
ก่อนหน้านี้มีกันพูดกันว่า ไม่ว่ารัสเซีย กลุ่มฮามาส อิหร่าน หรือเกาหลีเหนือ ต่างก็รอเวลาไม่ทำอะไรตอนนี้ เพราะต้องการรอให้ทรัมป์กลับมาชนะเสียก่อน โดยเฉพาะรัสเซีย ซึ่งเชื่อว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ยูเครนย่อมจะถูกกดดันให้ต้องเจรจาสงบศึกกับรัสเซีย เพราะทรัมป์คงไม่ส่งเงินส่งอาวุธช่วยยูเครนเหมือนรัฐบาลไบเดน
ท่านผู้อ่านอาจคิดในใจว่าทรัมป์จะชนะได้อย่างไร ในเมื่อทรัมป์มีคดีติดตัวมากมาย และการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ไบเดนชนะคะแนนทรัมป์ทั่วประเทศทิ้งห่างถึงกว่า 6 ล้านคะแนน
แต่ผลโพลชี้ชัดว่า ยิ่งทรัมป์โดนคดีใหม่ คะแนนนิยมของทรัมป์กลับยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะทรัมป์เล่นกับกระแสว่ากำลังถูกขั้วอำนาจเก่ารังแกและเล่นงานขัดขวาง
ส่วนคะแนนที่ไบเดนเคยทิ้งห่างทรัมป์ถึงกว่า 6 ล้านคะแนนนั้น เป็นคะแนนรวมทั้งประเทศ แต่สหรัฐฯ ใช้ระบบการเลือกตั้งที่เรียกว่า Electoral College ซึ่งทำให้การเลือกตั้งในบางมลรัฐจะเป็นตัวตัดสินสำคัญ อย่างในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หากคะแนนในมลรัฐสำคัญไม่กี่รัฐรวมทั้งหมดพลิกไม่เกิน 100,000 คะแนน ทรัมป์ก็จะพลิกกลับมาชนะได้ (แม้จะแพ้คะแนนรวมทั้งประเทศ) ดังนั้น การเลือกตั้งรอบที่แล้วที่จริงสูสีมากนะครับ
1
ประเด็นที่ผมอยากชวนคิดก็คือ ศัตรูของสหรัฐฯ อาจไม่เพียงนั่งรอเฉยๆ หวังให้ทรัมป์กลับมา แต่อาจลุกขึ้นสร้างความปั่นป่วนทั่วโลกก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพื่อฉุดคะแนนนิยมของไบเดน หลายคนเชื่อว่าถ้าทรัมป์กลับมาจริง สหรัฐฯ น่าจะอ่อนแอลง เพราะวิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็จะเปลี่ยนแบบกลับหลังหันในหลายเรื่อง เช่น จะลดการสนับสนุนนาโต้และยูเครน
1
แม้สำหรับจีน ซึ่งภายในจีนโดยทั่วไปมักมองกันว่าจะเป็นทรัมป์หรือไบเดนก็ไม่น่าเปลี่ยนอะไรมาก เพราะทั้งสองพรรคการเมืองต่างมองว่าจีนเป็นคู่แข่งและภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ยิ่งถ้าเป็นทรัมป์อาจขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนหนักกว่าไบเดนเสียอีก
2
แต่ก็มีนักวิเคราะห์ในจีนที่เชื่อว่าทรัมป์ยังยินดีที่จะพูดคุยเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับจีน แตกต่างจากไบเดนที่มองว่าการต่อสู้กับจีนเป็นเรื่องอุดมการณ์ และกดดันจีนหนักมากในเรื่องเทคโนโลยี ไม่เคยเปิดให้มีการเจรจาอะไรได้ตลอดรัฐบาลไบเดน
3
ลองคิดตามนะครับว่า หากความขัดแย้งในตะวันออกกลางปะทุกลับขึ้นมาใหม่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและไบเดนยังแสดงท่าทีโน้มเอียงไปทางอิสราเอลอย่างมากเช่นเดิม ย่อมส่งผลแน่นอนต่อคะแนนเสียงของชาวสหรัฐฯ เชื่อสายอาหรับหรือที่นับถืออิสลาม ซึ่งอาจเทคะแนนให้ทรัมป์ นี่ยังไม่นับคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ที่มีท่าทีเห็นใจปาเลสไตน์ แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ซึ่งมีท่าทีเห็นใจอิสราเอลมากกว่า
แต่เดิมฐานเสียงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวสหรัฐฯ เชื่อสายอาหรับ ชาวสหรัฐฯ ที่นับถืออิสลาม หรือคนรุ่นใหม่ล้วนเป็นฐานเสียงของไบเดนและพรรคเดโมแครต แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเสียงของกลุ่มนี้อาจแตกได้ หากความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาปะทุอีกครั้งก่อนเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยการก่อความขัดแย้งรอบใหม่ของกลุ่มฮามาสหรือด้วยการสนับสนุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยอิหร่าน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีข่าวว่ารัสเซียอาจกำลังคิดที่จะทดลองติดตั้งฐานอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ เพื่อใช้ขู่โจมตีทำลายดาวเทียมสื่อสารต่างๆ ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียสามารถยึดเมืองอัฟดีฟกาของยูเครนได้ พร้อมกับข่าวความขัดแย้งในกองทัพยูเครนจนนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการกองทัพยูเครน
หลายคนยังสงสัยว่ารัสเซียจะรุกต่ออย่างไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ารัสเซียอาจรอเวลารุกใหญ่อีกครั้งช่วงก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็จะท้าทายภาวะผู้นำและการแก้วิกฤตของไบเดน ท่ามกลางความกดดันในการเดินสายหาเสียงของไบเดนในสหรัฐฯ
การเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในปีนี้คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน แต่นอกจากคำถามว่าทรัมป์จะกลับมาหรือไม่แล้ว ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความขัดแย้งต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในตะวันออกกลางและในยูเครนจะปะทุขึ้นอีกครั้งไหม และจะส่งอิทธิพลผลักการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไปเข้าทางใคร
โฆษณา