13 มี.ค. เวลา 14:44 • ข่าวรอบโลก

ย้อนอดีต “Ramadan War” สงครามอาหรับ-อิสราเอล IV

ชัยชนะของอิสราเอลในสงครามหกวัน ปี 2510 (สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 3) ทำให้ชาติยิวสามารถควบคุมดินแดนได้มากกว่าเดิมถึงสี่เท่า อียิปต์สูญเสียคาบสมุทรไซนายและฉนวนกาซาขนาด 23,500 ตารางไมล์ จอร์แดนสูญเสียเวสต์แบงก์และเยรูซาเลม ตะวันออก และซีเรียสูญเสียที่ราบสูงโกลัน
เมื่ออันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของอียิปต์ในปี พ.ศ. 2513 เขาพบว่าตัวเองเป็นผู้นำของประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่สามารถที่จะทำสงครามกับอิสราเอล ต่อไปได้
ในปี พ.ศ. 2515 ซาดัตได้ขับไล่ที่ปรึกษาโซเวียต 20,000 คนออกจากอียิปต์ และเปิดช่องทางการทูตใหม่กับวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งในขณะนั้นเป็นพันธมิตรคนสำคัญของอิสราเอล และคาดหวังจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยที่สำคัญในการเจรจาสันติภาพในอนาคต แต่เบื้องหลังเขามีแผนลับกับซีเรีย ร่วมกันวางแผนโจมตีอิสราเอล
เสนาธิการอียิปต์ ซาอัด เอล-ชาซลี (ซ้าย) ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต (กลาง) และรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม อิสมาอิล อาลี (ขวา) ทบทวนการพัฒนาสนามรบในสงครามเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 [เอกสารประวัติศาสตร์สากล/UIG ผ่านรูปภาพ Getty]
6 ตุลาคม 2516 คือวันที่เรียกว่า “ยมคิปปูร์” (Yom Kippur) ซึ่งเป็นวันไถ่บาปของชาวยิว วันที่ได้ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในปีปฏิทินของชาวยิว และอยู่ในช่วงรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของการถือศีลอดในศาสนาอิสลามอีกด้วย ชาวอาหรับและมุสลิมจึงเรียกสงครามนี้ว่า “สงครามรอมฎอน” หรือ “สงครามเดือนตุลาคม”
ขณะที่ทหารอิสราเอลอยู่ในห้วงถือศีล Yom Kippur (or Day of Atonement) ในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว อียิปต์และซีเรียได้โจมตีอิสราเอลพร้อมกันในสองแนวรบโดยที่อิสราเอลไม่ทันระวังตัว ทำให้กองทัพอียิปต์สามารถข้ามคลองสุเอซได้สำเร็จอย่างง่ายดายเกินกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่กองกำลังซีเรียสามารถเปิดฉากการรุกต่อที่มั่นของอิสราเอลและบุกทะลุไปยังที่ราบสูงโกลัน
ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน SAM II ของอียิปต์ที่สร้างโดยโซเวียต ซึ่งชาวอิสราเอลยึดได้บนฝั่งตะวันตกของคลองสุเอซ ชาวอิสราเอลยึดอาวุธโซเวียตที่ซับซ้อนจำนวนมหาศาลในระหว่างความขัดแย้ง [รูปภาพ Hulton Archive / Getty]
กองกำลังทั้งสองกวาดผ่านแนวหน้าของอิสราเอล ด้วยอาวุธส่วนใหญ่จากโซเวียต มีปืนใหญ่หนักและเครื่องบินไอพ่นยิงกราดสนับสนุน กองกำลังเคลื่อนที่ด้วยรถถังและรถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์บรรทุกกองทหารอาหรับเข้าสู่สนามรบ โดยซีเรียก็ได้รับการสนับสนุนจากจอร์แดน
อิสราเอล ซึ่งผ่านพ้นสงครามอาหรับ-อิสราเอล (สงครามหกวัน) ในปี พ.ศ. 2510 มา เมื่อถูกจู่โจมแบบไม่คาดคิด ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์สำรองของอิสราเอลหมดลงอย่างรวดเร็ว นางโกลดา เมียร์ (Golda Meir) นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในขณะนั้น ต้องหันมาพึ่งสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยเหลือ
ทหารอียิปต์ขนส่งอาหารข้ามคลองสุเอซไปยังสมาชิกของกองทัพที่ 3 จากฝั่งสุเอซของอียิปต์ [รูปภาพ Keystone / Hulton Archive / Getty]
กองกำลังอิสราเอลรบด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดย 10 วันหลังจากการเริ่มสงคราม อิสราเอลพลิกกลับมาได้เปรียบในสนามรบ และเริ่มคุกคามไคโร กองทัพของอียิปต์ซึ่งในตอนแรกได้รับชัยชนะในไซนาย กลับเพลี่ยงพล้ำถูกกองทัพอิสราเอลล้อม และอิสราเอลไม่ยอมให้กาชาดนำเสบียงเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อมาถึงจุดนี้ ประธานาธิบดีซาดัต เริ่มขอความช่วยเหลือจากโซเวียตในการกดดันอิสราเอลให้ยอมรับการหยุดยิง
12 วัน หลังจากความขัดแย้ง ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาหรับภายใต้องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันลงห้าเปอร์เซ็นต์ พร้อมบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับสหรัฐอเมริกา โดยระงับการจัดหาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันปี 2516 ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา
การคว่ำบาตรดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกา ดิ้นรนหาทางแก้ไขความขัดแย้งในสงครามอาหรับ-อิสราเอล นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมทำข้อตกลงหยุดยิง โดยวิ่งรอกระหว่างไคโร ดามัสกัส และเทลอาวีฟ เพื่อพยายามสร้างสันติภาพอาหรับ-อิสราเอล
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2516 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง หลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐอเมริกาก็เริ่มความพยายามทางการทูตเพื่อยุติสงคราม
วันที่ 24 ตุลาคม 2516 โซเวียตขู่ว่าจะเข้าแทรกแซงการสู้รบ ประธานาธิบดีนิกสันได้แจ้งเตือนกองทัพสหรัฐอเมริกา และเพิ่มความพร้อมในการส่งกองกำลัง และอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นความโชคดีที่สหภาพโซเวียตตัดสินใจถอยกลับและไม่ส่งทหารเข้าร่วมรบ
นายกรัฐมนตรี Golda Meir และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Moshe Dayan พบปะกับกองกำลังบนที่ราบสูงโกลัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 1973 (Ron Frenkel/GPO)
ภายใต้ความพยายามในการเจรจายุติสงคราม นายกรัฐมนตรีโกลดา เมียร์ หญิงเหล็กแห่งอิสราเอล ยืนกรานจะนำกองทัพอิสราเอลสู่ชัยชนะ ภายใต้ความกดดันจากสหรัฐอเมริกาผู้ให้การสนับสนุน และเธอก็ได้รับข่าวร้ายจากประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่จะเลื่อนความช่วยเหลือทางทหารฉุกเฉินออกไป
สุดท้าย นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นขอเสนอจะถอนความช่วยเหลือหากอิสราเอลยังคงเคลื่อนไหวทางทหาร ทำให้นายกรัฐมนตรีเมียร์ ต้องกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา และลงนามข้อตกลงหยุดยิง เมื่อสิ้นสุดการสู้รบ อิสราเอลสูญเสียทหาร 2,688 นาย อียิปต์สูญเสีย 7,700 และซีเรีย 3,500 นาย
สงครามยมคิปปูร์ ซึ่งกินเวลานานถึง 19 วัน ประกาศการหยุดยิงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2516
เชลยศึกชาวอียิปต์ที่ถูกปิดตาด้วยเท้าเปล่า 3 นายถูกทหารอิสราเอลพาไปยังฝั่งตะวันตกของคลองสุเอซ [รูปภาพแดเนียล Rosenblum / Getty]
ชัยชนะของอิสราเอลมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมาก และชาวอิสราเอลก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ขาดความพร้อมจนเกิดความสูญเสีย หลังสงครามยมคิปปูร์ นายกรัฐมนตรีเมียร์แห่งพรรคแรงงานตัดสินใจลาออกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2517 และรัฐบาลฝ่ายขวาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก (พรรคลิคุดที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน เบนจามิน เนทันยาฮู เป็นผู้นำ) อิสราเอลได้ส่งคาบสมุทรไซนายคืนให้กับอียิปต์
จากซ้าย ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์ ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีเมนาเคม บีกิน ของอิสราเอล ลงนามข้อตกลงที่จัดทำขึ้นที่การประชุมลับแคมป์เดวิด และการประกาศร่วมกันที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2521 /ภาพ AP
แม้ว่าอียิปต์จะประสบความพ่ายแพ้ทางทหาร แต่กลับประสบความสำเร็จในการเจรจาสันติภาพ ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต และนายกรัฐมนตรีเมนาเฮม เบกิน ของอิสราเอล ได้ลงนามในข้อตกลงแคมป์เดวิด พ.ศ. 2521 ซึ่งอิสราเอลตกลงที่จะถอนกองกำลังและพลเรือนออกจากไซนายเพื่อแลกกับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอียิปต์และการเข้าถึงคลองสุเอซ นำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์–อิสราเอล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยคืนส่วนสุดท้ายของคาบสมุทรไซนายให้แก่อียิปต์
อียิปต์กลายเป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล สนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์–อิสราเอล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2522 ลงนามโดยอันวาร์ ซาดัต ประธานาธิบดีอียิปต์ และเมนาเคม บีกิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โดยมีจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นพยาน
1
กองทหารอิสราเอลรุกคืบระหว่างการสู้รบในที่ราบสูงโกลัน [รูปภาพหลักสโตน / Getty]
สำหรับซีเรีย ถือว่า “สงครามยมคิปปูร์” เป็นหายนะ การหยุดยิงระหว่างอียิปต์และอิสราเอลโดยไม่คาดคิดทำให้ซีเรียพ่ายแพ้ทางทหาร และอิสราเอลก็เข้ายึดดินแดนเพิ่มเติมในที่ราบสูงโกลัน ซีเรียลงมติร่วมกับรัฐอาหรับอื่น ๆ ให้ขับไล่อียิปต์ออกจากสันนิบาตอาหรับ หลังจากอียิปต์ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2522 (คืนสถานะเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับในปี พ.ศ. 2532)
ต่อมา การเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับของซีเรียก็ถูกเพิกถอนเช่นกัน หลังจากประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด สั่งปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ทำให้ประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมือง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งล้านคน และทำให้มีผู้พลัดถิ่นอีก 23 ล้านคน (คืนสถานะเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับในปี พ.ศ. 2566)
ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ถูกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงสังหารในกรุงไคโร ขณะชมขบวนพาเหรดทหารเพื่อรำลึกถึงวันครบรอบการข้ามคลองสุเอซของอียิปต์ในช่วงเริ่มต้นของ "สงครามยมคิปปูร์"
1
โฆษณา