10 เม.ย. 2024 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

รู้จัก “ปออีเก้ง” ออกผลสวย สูงเด่นเป็นสง่า เหนือเรือนยอดป่าหน้าร้อน

ถ้าช่วงนี้หลายๆ ท่านเดินทางผ่านเส้นทางที่เป็นป่าเขา โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน ภาคเหนือ ถ้าเห็นต้นไม้สูงในเรือนยอดชั้นบนของป่า ที่มีสีสันสวยแปลกตา โดดเด่นไปจากเรือนยอดไม้อื่นๆ เป็นสีเขียวอ่อนบ้าง ออกโทนเหลืองหรือสีน้ำตาลแดงบ้าง ดูเหมือนเป็นการทิ้งใบแล้วออกดอกเต็มต้น คาดเดาได้เบื้องต้นว่าเป็นต้น “ปออีเก้ง”
และที่เห็นเป็นพุ่มสวยนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่ดอก แต่เป็นผลของปออีเก้งต่างหาก ซึ่งมีลักษณะเป็นผลแบบมีปีก ส่วนของปีกคล้ายๆ รูปเรือ ออกผลอัดตัวกันเป็นคล้ายพุ่มใบ และเปลี่ยนสีไปเมื่ออายุของผลมากขึ้น และจะสวยงามกว่านี้เมื่อผลหลุดร่วงออกจากกิ่ง เพราะด้วยผลที่มีปีก จะหมุนและร่อนไปตามลม คล้ายๆ การร่วงหล่นของของผลไม้วงศ์ยาง
ปออีเก้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝘗𝘵𝘦𝘳𝘰𝘤𝘺𝘮𝘣𝘪𝘶𝘮 𝘵𝘪𝘯𝘤𝘵𝘰𝘳𝘪𝘶𝘮 (Blanco) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ MALVACEAE ไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 20-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบรูปไข่หรือรูปหัวใจ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมนหรือรูปหัวใจ ขอบใบเว้าเป็นลอนหรือเป็นคลื่น
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง เกิดตามกิ่งหรือที่ปลายกิ่ง ดอกสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูประฆัง ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร พูกลีบเลี้ยงยาวเท่ากับหลอดกลีบ ไม่มีกลีบดอก แกนเกสรเพศผู้มีขนสีขาวที่ฐาน ผลยาว 5-6 เซนติเมตร สีเทาดำ 3-5 ผลต่อ 1 ก้าน แต่ละผลมีเปลือกบางคล้ายกระดาษเป็นรูปเรือห่อหุ้มเมล็ดย่นๆ ที่ฐาน 1 เมล็ด เปลือกนอกสีน้ำตาลเทา เปลือกเรียบหรือมีตุ่มกระจายทั่วลำต้น เปลือกในสีน้ำตาลแดงสลับขาว เปลือกหนา 3-5 เซนติเมตร
บทความ : กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)
ภาพถ่าย : นายวิษณุรักษ์ ศรีบัณฑิต นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
#ปออีเก้ง #ป่าดิบแล้ง #กรมอุทยานแห่งชาติ #สบอ7นครราชสีมา
โฆษณา