12 เม.ย. เวลา 02:00 • สุขภาพ

ทำไมแต่ละคนเสี่ยงเป็นโรคอ้วนไม่เท่ากัน ทั้งที่ออกกำลังกายเหมือนกัน?

แม้ว่าจะมีคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอยู่อย่างชัดเจน แต่อัตราการเกิดโรคอ้วนทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยชิ้นใหม่จากวารสาร JAMA Network Open เมื่อมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาพบว่า ความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนของแต่ละบุคคลนั้นจะแตกต่างกันตามปัจจัยทางพันธุกรรม บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามพันธุกรรม จะต้องออกกำลังกายมากกว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือต่ำ เพื่อให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนในระดับเดียวกัน
งานวิจัยนี้ได้ใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัย All of Us Research Program ซึ่งเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังในกลุ่มประชากรสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3,124 คน ที่มีเชื้อสายยุโรป ใช้อุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนไหว และไม่มีโรคอ้วนในช่วง 6 เดือนแรกของการติดตาม รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงของโรคอ้วนทางพันธุกรรมจากการประเมิน Polygenic Risk Score ด้วยการตรวจถอดรหัสทางพันธุกรรม Genome Sequencing
ผลการศึกษาพบว่า ความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนจะเพิ่มขึ้นจาก 13% ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่ำสุด ไปเป็น 43% ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงสุด
บุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75) จะต้องเดินเพิ่มขึ้น 2,280 ก้าว/วัน เพื่อให้มีความเสี่ยงในระดับเดียวกับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) นอกจากนี้ ยังพบว่า บุคคลที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง จะต้องเดินเพิ่มขึ้นมากขึ้นตามค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ที่สูงขึ้นด้วย
ดังนั้น ข้อเสนอแนะทางสาธารณสุขที่เน้นปริมาณการออกกำลังกายอาจยังไม่เพียงพอสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามพันธุกรรม การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่ปรับตามปัจจัยทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล อาจเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอ้วนมากขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “One size doesn’t fit all”
อ้างอิง
Brittain EL, Han L, Annis J, Master H, Hughes A, Roden DM, Harris PA, Ruderfer DM. Physical Activity and Incident Obesity Across the Spectrum of Genetic Risk for Obesity. JAMA Netw Open. 2024 Mar 4;7(3):e243821. doi: 10.1001/jamanetworkopen.2024.3821. PMID: 38536175; PMCID: PMC10973894.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา