21 พ.ค. เวลา 08:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Nanomedicine: Small Technology For Huge Impact

[#FutureUpdate]: เมื่อการรักษาโรค ก้าวไปถึงการรักษาได้ตั้งแต่ระดับโมเลกุลขนาดจิ๋วสร้างโอกาส
การแพทย์นาโนคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่วัสดุมีขนาดเล็กมากถึงระดับนาโนเมตร (หนึ่งในพันล้านเมตร) มาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อตรวจหา วินิจฉัย นำส่งยา ตลอดจนการรักษาและฟื้นฟูร่างกาย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นาโนเทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการแพทย์อย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังถูกนำไปพัฒนาร่วมกับระบบปฏิบัติการอัจฉริยะและเทคโนโลยีควอนตัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งสตาร์ทอัพและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้ตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากการคาดการณ์พบว่าตลาดการแพทย์นาโนในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งมีขนาด 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถเติบโตถึง 360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในปี ค.ศ. 2025 ด้วยอัตราการเติบโต 13% ต่อปี สำหรับประเทศไทย มีการกล่าวถึงนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์ไว้ในร่างแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2566 - 2570 (ค.ศ. 2023 - 2027) ในฐานะหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์จาก Dubai Future Foundation ว่านาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์จะถูกใช้อย่างแพร่หลายในสังคมภายในปี ค.ศ. 2050
ตัวอย่างแนวคิดการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในทางการแพทย์คือ การส่งหุ่นยนต์นาโนบอทและอนุภาคนาโนเข้าไปในร่างกายคนไข้เพื่อตรวจและรักษาโรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน เพราะการรักษาด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นอันตรายกับร่างกายน้อยกว่าและเห็นผลการรักษาได้รวดเร็วกว่าวิธีปฏิบัติทั่วไป ทั้งยังสามารถเข้าถึงทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ผิวหนัง อวัยวะภายใน ไปจนถึงสมอง ตามแต่แพทย์ผู้ใช้จะป้อนชุดคำสั่งไปยังอวัยวะเป้าหมาย
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องวัคซีนระดับนาโน (nanovaccination) ซึ่งอาจช่วยให้บุคคลที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นโรคอ้วนสามารถรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมได้ โดยการส่งอนุภาคนาโนเข้าไปตรวจสอบกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย รวมถึงการตรวจจับและจัดการไวรัสหรือเชื้อโรคต่าง ๆ
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การตรวจร่างกายด้วยนาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน
- จำเป็นต้องมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมถึงการเข้าถึงยาหรือบริการทางการแพทย์เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการถูกจำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยอาจไม่ได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว หรือเลวร้ายกว่านั้นคืออาจได้รับบริการ แต่ด้วยวัสดุหรือตัวยาที่มีคุณภาพต่ำ
- จำเป็นต้องการมีมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ตรววินิจฉัยโรคหรืออนุภาคนาโนที่จะถูกนำเข้าไปในร่างกายอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้ เช่น การเกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
อ้างอิงจาก: Niems, Dubaifuture
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #Nanomedicine #MQDC
โฆษณา