29 มี.ค. เวลา 01:20 • ประวัติศาสตร์

“สโนว์ไวท์” อดีตดวงดาวระยับแสงแห่งประวัติศาสตร์แอนิเมชั่น

ย้อนกลับไปสมัยเรียนอนุบาล เราจะมีทีวีเครื่องใหญ่อยู่ตรงโต๊ะอาหารครูด้าน ใกล้กับโรงอาหาร ซึ่งจะเป็นที่ที่เด็ก ๆ จะมาเข้าแถวนั่งรอผู้ปกครอง
ภาพยนตร์เรื่องสโนว์ไวท์เพิ่งจะฉายไปได้สัปดาห์หนึ่งแล้ว ไม่ทราบว่ามีใครไปดูมาแล้วบ้างเอ่ย? แน่นอนว่าการสร้างสโนวไวท์ฉบับคนแสดงนี้ค่อนข้างเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก แถมเปิดตัวด้วยคะแนนจากนักวิจารณ์ที่ไม่ได้มากมายนัก
บ่อยครั้งที่มีการนำเอาแอนิเมชั่นมาปรับเป็นเวอร์ชั่นคนแสดงก็สร้างความตะขิดตะขวงใจให้กับคนที่เคยดูแอนิเมชั่นมาก่อนเหมือนกัน (พอ ๆ กับหนังที่สร้างจากนิยายที่ถ้าใครที่อ่านนิยายมาก่อนจะรู้สึกขัดใจในเวอร์ชั่นภาพยนตร์) ซึ่งสำหรับสโนว์ไวท์นั้น เวอร์ชั้นดั้งเดิมที่เป็นแอนิเมชั่นก็เป็นอะไรที่ได้รับการขึ้นหิ้งว่าดีพอสมควร การที่จะสามารถชนะใจผู้คนที่เคยดูฉบับแอนิเมชั่นมาก่อนได้ก็ถือว่ายากไม่ใช่เล่น ๆ
สโนว์ไวท์เวอร์ชั่นแอนิเมชั่นที่ออกฉายในปี 1937 นับว่าเป็นแอนิเมชั่นที่สร้างปรากฎการณ์มากมายให้กับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และแอนิเมชั่น ตลอดจนเป็นการผลิตซ้ำเนื้อหาจากเทพนิยายกริมม์ออกมาให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วด้วย ใน All About History สัปดาห์นี้ เราจะขอพาย้อนเวลากลับไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของสโนว์ไวท์ของดิสนีย์ให้มากขึ้น ตลอดจนจะพาไปดูว่าอะไรที่เป็นปัจจัยให้แอนิเมชั่นเรื่องสโนว์ไวท์ของดิสนีย์กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และแอนิเมชั่นกัน
⭐ประวัติศาสตร์ภาพยนต์แอนิเมชั่น(ก่อนสโนว์ไวท์)โดยสังเขป
แต่เด็กจนโต เราอาจจะคุ้นชินกับแอนิเมชั่นกันมาสมควร แต่รู้ไหมว่าแอนิเมชั่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? จากการศึกษานั้นเป็นไปได้ว่าแอนิเมชั่นน่าจะมีที่มาจากการเล่นเงาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นหุ่นเงาก็ดี หรือการใช้ “ตะเกียงวิเศษ” (ที่ปัจจุบันเราเรียกกันว่าโปรเจกเตอร์) ฉายภาพไปบนฝาผนังแล้วเปลี่ยนฉากไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเปลี่ยนฉากนี้เอง ที่นำมาซึ่งความคิดในการสร้างแอนิเมชั่นขึ้นมาจากภาพที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
ฝรั่งเศสเป็นเจ้าผู้ให้กำเนิดโลกภาพยนตร์ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก หรือแม้แต่แอนิเมชั่นเรื่องแรกเองก็เป็นผลผลิตจากชาวฝรั่งเศสอย่าง Charles-Émile Reynaud ที่ได้ประดิษฐ์เจ้าเครื่อง Théâtre Optique ขึ้นมา
โดยเป็นภาพที่วาดแผ่นต่อแผ่นเป็นเนื้อเรื่องที่ต่อกัน ตัวละครขยับไปทีละเล็กละน้อย เหมือนพวกสมุดภาพเคลื่อนไหว โดยของ Émile Reynaud ใช้ประมาณ 300-700 แผ่น และเปิดทำการแสดงตั้งแต่ปี 1892-1900 โดยแอนิเมชั่นชุดแรกในปี 1892 มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง แต่ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันมีอยู๋เรื่องเดียวคือ Pauvre Pierrot
จากความสำเร็จของ Émile Reynaud ทำให้แอนิเมชั่นได้เข้าไปอยู่วงการภาพยนตร์ เกิดการคิดค้นวิธีการสต็อปโมชั่น (Stop-Motion) ขึ้นมา และเริ่มเดินทางออกนอกประเทศ จากยุโรปก็ไปยังอเมริกา และได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ ก่อนที่จะถึงยุคแห่งภาพยนตร์เสียงในทศวรรษที่ 1920s ที่มาพร้อมกับบริษัทที่จะกลายมาเป็นเบอร์หนึ่งของวงการแอนิเมชั่นในช่วงเวลานั้นอย่าง “วอลซ์ ดิสนีย์ สตูดิโอ” ที่สร้างแอนิเมชั่นสำคัญ ๆ อย่างมิกกี้เมาส์และผองเพื่อน เป็นต้น
เสียงและสี นับว่าเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ดิสนีย์ผงาดขึ้นมาประสบความสำเร็จได้ และเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ยุคทองแห่งภาพยนตร์แอนิเมชั่นด้วย
⭐ยุคทองแห่งแอนิเมชั่นสหรัฐฯ
การมาถึงของภาพยนตร์เสียงได้ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ยุคทองแห่งแอนิเมชั่น ที่ซึ่งมีตัวละครมากมายจากหลากหลายค่ายที่กลายเป็นตัวละครในดวงใจ ทั้งกับของเด็ก ๆ และของผู้ใหญ่ เช่น
ค่ายดิสนีย์มีมิกกี้ เมาส์และผองเพื่อน
ค่ายแฟลส์เชอร์มีป็อบอาย
ค่ายวอร์เนอร์มีบั๊กบันนี่และครอบครัวลูนีย์ตูน
ค่ายเอ็มจีเอ็มมีทอมกับเจอร์รี่
เป็นต้น
โดยยุคทองนี้กินระยะเวลาที่ราว ๆ 40 ปี โดยประมาณ และเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯเริ่มที่จะมีแอนิเมชั่นเสียงขนาดยาวบ้าง แค่มีมาเรื่องแรกก็ประสบความสำเร็จเลยอย่างเรื่อง “สโนว์ไวท์” นี่เอง
⭐จากนิทานสยองของพี่น้องตระกูลกริมม์สู่แอนิเมชั่นเรื่องฮิตของโลก
ดิสนีย์แต่เดิมนั้นนิยมที่จะสร้างเป็นแอนิเมชั่นขนาดสั้นเป็นตอน ๆ มากกว่าที่จะทำเป็นเรื่องยาว แต่อย่างไรก็ดี ตัวของวอลซ์ ดิสนีย์นั้นรู้สึกว่าแอนิเมชั่นสั้น ๆ คงจะทำรายได้ให้ไม่เยอะอย่างที่ควรจะเป็นสำหรับขยายกิจการ ซึ่งก็ได้มีความคิดที่จะทำหลายเรื่อง จนกระทั่งหวนมาสู่นิทานของพี่น้องตระกูลกริมม์ที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก
1
สโนว์ไวท์เวอร์ชั่นของดิสนีย์เป็นสโนว์ไวท์ที่เรื่องราวอาจจะดูดี ไม่รุนแรงจนเกินไป เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี แต่ถ้าหากว่าเราย้อนกลับไปอ่านสโนว์ไวท์เวอร์ชั่นต้นฉบับแล้ว จะพบว่าตอนจบของมันนั้นค่อนข้างโหดร้าย กล่าวคือแม่มดใจร้ายถูกลงโทษโดยเจ้าชายให้สวมรองเท้าเหล็กเผาร้อน ๆ จนเป็นสีแดงและบังคับให้นางเต้นรำในขณะที่สวมใส่รองเท้านั้นจนขาดใจตายไปในที่สุด
ในตอนแรกดิสนีย์เองก็มีแพลนที่จะให้สโนว์ไวท์เป็นแอนิเมชั่นสั้น แต่ก็เห็นถึงความสามารถที่จะทำให้เป็นเรื่องยาวได้ จึงได้ประกาศทางนิวยอร์กไทม์ว่าจะทำแอนิเมชั่นเรื่องราว ทำให้เขาได้รับคำสบประมาทจากนักวิจารณ์หลายคน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สโนว์ไวท์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าแอนิเมชั่นขนาดยาวมันสามารถโด่งดังและเป็นที่นิยมไปได้จริง ๆ
⭐ ประดิษฐการใหม่ของแอนิเมชั่นที่มีรายได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ทำไมสโนว์ไวท์ ถึงเป็นแอนิเมชั่นที่ได้รับการยกย่องมากกว่าเรื่องอื่นในยุคก่อนหน้าหรือในยุคเดียวกัน? ข้อนี้มีปัจจัยหลายประการ ถึงแม้สโนว์ไวท์จะไม่ใช่แอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์มีเสียงเรื่องแรกของโลก แต่ก็เป็นแอนิเมชั่นฟอร์ยักษ์มีเสียงเรื่องแรกที่ดิสนีย์ทำสำเร็จ
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นของผู้สร้างคนอื่น ๆ ก่อนหน้าดิสนีย์ก็ได้รับคำชื่นชมไปในแง่บวกเสียหลายเรือง แต่ถึงอย่างนั้นในแง่ของรายได้ก็ไม่ได้ดีเด่นอะไรสู้ภาพยนตร์คนแสดงได้ ซึ่งสโนว์ไวท์นั้นต่างไป เพราะว่ามันประสบความสำเร็จด้านการเงิน และเป็นที่นิยมไม่เพียงแค่ในประเทศต้นกำเนิด หากแต่ยังดังไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย อีกทั้งสโนวไวท์เองก็เป้นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ใช้เทคนิคการวาดบนแผ่นใส (Cel)
การสร้างแอนิเมชั่นในยุคแรกเริ่มมีหลากหลายวิธีการ ตั้งแต่งานคัทเอาท์ ที่ตัดตัวละครและฉากจากกระดาษมาวางเรียงเป็นเหตุการณ์ งานตุ๊กตากระดาษ ที่ทำเป็นสีดำทุกอย่างทั้งตัวละครและอุปกรณ์ประกอบฉากซึ่งสร้างภาพเหมือนละครเงา ไปจนถึงงานที่เป็นภาพเขียนมือแล้วเปลี่ยนไปทีละแผ่น เทตนิคที่เรื่องสโนว์ไวท์ใช้จะเป็นแบบหลัง เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากการวาดบนกระดาษมาวาดบนแผ่นใสแทน
ตอนที่นักวิจารณ์รู้ว่าดิสนีย์กำลังจะสร้างแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกนั้นก็มีเสียงตอบรับที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่ไปในเชิงลบโดยมองว่าคงไม่มีใครทนดูมุกตลกและสีฉูดฉาดของแอนิเมชั่นดิสนีย์ได้เป็นชั่วโมงหรอก
อย่างไรก็ดี ทันทีที่สโนว์ไวท์ออกฉาย มันก็สร้างเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ จากเงินทุน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถทำรายได้ทั่วโลกมากถึง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่สามารถทำรายได้สูงทุกเป็นประวัติกาลในปี 1938 และครอบตำแหน่งนั้นมานานถึง 55 ปีด้วยกัน
ความฮิตของมันทำให้เกิดการฉายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งมีการออกวีดีโอขายในช่วงทศวรรษที่ 1990s และถ้าเทียบอัตราเงินเฟ้อแล้วล่ะก็ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงอันดับแรก ๆ ของแอนิเมชั่นที่ทำรายได้สูงสุดด้วยมูลค่ากว่า 2,297,000,000 เหรียญดอลลอร์สหรัฐฯ
1
⭐ ก้าวสำคัญที่บุกเบิกวงการแอนิเมชั่นขนาดยาว
ด้วยความสำเร็จของสโนว์ไวท์ก็นำมาซึ่งการยกย่องต่าง ๆ มากมายจากสื่อหลายสำนัก นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ยกให้เป็นแอนิเมชั่นขึ้นหิ้งว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ บางเจ้าก็บอกว่าอาจจะไม่ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ก็ยกให้เป็นก้าวสำคัญของแอนิเมชั่นในยุคถัดมา แม้แต่นางเอกอย่างสโนว์ไวท์เองก็ยังเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์คนแรกและคนเดียวที่ได้มีฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟมเป็นของตัวเองด้วย
1
ในงานประกาศออสการ์ครั้งที่ 11 สโนว์ไวท์ได้รับรางวัล พร้อมกับการยกย่องว่า “เป็นนวัตกรรมที่สำคัญของวงการที่สะกดใจผู้ชมนับล้าน และบุกเบิกแนวทางใหม่ ๆ ในวงการภาพยนตร์” การบุกเบิกวงการแอนิเมชั่นขนาดยาวในสหรัฐฯ ของดิสนีย์ได้สร้างปรากฎการณ์และแบบแผนให้กับวงการแอนิเมชั่นอเมริกันยุคหลังสืบมา และเป็นขวัญใจของผู้คนเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่น
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ประวัติศาสตร์ #แอนิเมชั่น #ภาพยนตร์ #snowwhite #สโนว์ไวท์ #อเมริกา #Bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
อ้างอิง:
Vaux, Robert. Disney 100: 10 Ways Disney's Snow White Revolutionized Animation.
The Disney classic. Snow White and the Seven Dwarfs Legacy and Achievements - 85th Anniversary.
Alward, Emily. Snow White and the Seven Dwarfs (film).
Hollywood Walk of fame. Snow White. https://walkoffame.com/snow-white/
โฆษณา