2 พ.ค. เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
เมียนมาร์ (พม่า)

ประเทศเมียนมาร์ ตอนที่ 4 สันติไม่ใช่คำตอบ

เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นเดินหน้าเข้ามาขยายอิทธิพลในพม่านั้น ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี เพราะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากอองซาน จนกระทั่งเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส ฯลฯ. ได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “วันดีเดย์” นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตร นำไปสู่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดในเวลาต่อมา และนั่นก็ทำให้สถานการณ์โดยรวมของโลกเปลี่ยนแปลงไปรวมถึงใน “บริติช เบอร์มา“ ด้วยเช่นกัน
และเมื่อสถานการณ์ของฝ่ายอักษะ คือ เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น (ฝ่ายอักษะในยุโรปหมายถึง เยอรมัน และอิตาลีเป็นหลัก ส่วนทวีปเอเซียและทะเลแปซิฟิค ญี่ปุ่นเป็นหลัก) ได้พลิกผันกลับกลายเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำลงเรื่อยๆ ทำให้กองกำลังของพม่า ที่นำโดยอองซาน เริ่มตระหนักดีว่า.. ถ้าญี่ปุ่นแพ้สงครามล่ะก็ อังกฤษคงต้องกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกแน่ๆ
เรือยกพลขึ้นบกปล่อยตัวรถถังและรถบรรทุกที่หาดโอมาฮ่า ภาพถ่ายโดย U.S. NATIONAL ARCHIVES
จึงเปลี่ยนท่าทีเสียใหม่ และหันมาต่อต้านญี่ปุ่นแทน รวมถึงได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่มีชื่อว่า “สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Auti-Fascist People’s Freedom League :AFPFL )
พูดง่ายๆ คือแม้แต่ชื่อพรรคก็สื่อว่า “ไม่เอาญี่ปุ่นแล้ว” และในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1945 กองทัพแห่งชาติพม่าได้ลุกขึ้นก่อกบฏต่อต้านญี่ปุ่นทั่วประเทศ ดังนั้นวันที่ 27 มีนาคมจึงถือเป็น “วันต่อต้าน” และมีงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วันกองทัพพม่า”
หลังจากนั้นไม่นาน.. สงครามในสมรภูมิแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์จบลง ด้วยการยอมแพ้ของกองทัพญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1945 เป็นไปดังที่ทุกฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ นั่นจึงทำให้อังกฤษ และฝรั่งเศสกลับเข้ามามีสถานภาพเจ้าอาณานิคมต่อไป และสิ่งนี้เองนำไปสู่การเกิดดุลยภาพใหม่ด้านการเมืองของพม่า และดินแดนอาณานิคมในเอเชียอาคเนย์
“สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Auti-Fascist People’s Freedom League :AFPFL )
โดยขอพักฝั่งนี้ไว้ก่อนครับ ผมจะพาไปดูกันว่า.. เจ้าอาณานิคมที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีของอังกฤษนั้น พวกเขามีท่าทีหรือแนวคิดเห็น ต่อการบริหารจัดการกับบรรดาเหล่าอาณานิคมในเอเชียอาคเนย์กันอย่างไร ดังนั้นจากพม่าพวกเราจะกระโดดไปดูที่ลอนดอนกันบ้างนะครับ
ขออนุญาตย้อนนิดนึง ในช่วงสงครามโลก อังกฤษไม่ได้มีการเลือกตั้งเลย ตามปกติอังกฤษจัดเลือกตั้งทุก 4 ปี แต่ในช่วงนั้นจำเป็นต้องมีการเว้นวรรค พวกเขามีรัฐบาลผสมพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) กับ พรรคแรงงาน(Labour)
มีนายกรัฐมนตรีก็คือ “วินสตัน เชอร์ชิล”(Sir Winston Leonard Spencer Churchill)และ มีผู้นำของเลเบอร์คือ “คลีเมนต์ แอตต์ลี”(clement attlee) เป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยเชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้เป็นวีรบุรุษสงครามได้ขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน จนกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะสามารถเอาชนะสงครามเหนือญี่ปุ่นที่เอเชียได้สำเร็จ
วินสตัน เชอร์ชิล”(Sir Winston Leonard Spencer Churchill)
แต่ว่าผู้นำเลเบอร์คือ คลีเมนต์ แอตต์ลี ไม่ตกลง ก็เลยทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 6 โปรดเกล้าฯให้มีการเลือกตั้ง ในปี ค.ศ.1945 ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว.. วีรบุรุษสงครามวินสตัน เชอร์ชิล น่าจะเป็นผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมาพลิกล็อคถล่มทลาย ชนิดเหนือความคาดหมาย
กลับกลายเป็นว่า.. ฝ่ายเลเบอร์พลิกกลับมามีชัยชนะเหนือพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) แบบขาดลอย ทำให้มีที่นั่งในสภามากกว่าเดิมเกือบ 100 ที่นั่ง และถ้าถามว่า 100 คะแนนนี้มาจากไหน?? คำตอบก็คือ คนที่เคยโหวตให้พรรคอนุรักษ์นิยม กลับไปโหวตให้พรรคแรงงาน(Labour) แทน
และถ้าถามอีกว่า.. ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ!! คำตอบก็คือ คนอังกฤษส่วนใหญ่พูดว่า “war is over , we need a new britain ; สงครามสิ้นสุดลงแล้ว เราต้องการอังกฤษรูปแบบใหม่” การก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแบบพลิกล็อกของ “คลีเมนต์ แอตต์ลี” ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายเดิมๆ ของอังกฤษ
“คลีเมนต์ แอตต์ลี”(clement attlee)
เพราะเขาใส่ใจกับสวัสดิการ และเศรษฐกิจภายในของอังกฤษ มากกว่าการรักษาอาณานิคมเดิมของจักรวรรดิ “คลีเมนต์ แอตต์ลี” ไม่ใช่พวกลัทธิจักรวรรดินิยม แบบเชอร์ชิล เขาไม่ใช่คนที่ต้องการจะสร้างจักรวรรดิขนาดใหญ่อีกต่อไปแล้ว นั่นหมายความว่า.. เขาพร้อมที่จะปลดปล่อยอาณานิคมเดิมให้เป็นเอกราช
ที่สำคัญ.. การรักษาอาณานิคมเดิมคือ การใช้งบประมาณมหาศาลอย่างสิ้นเปลือง และตัวเขาเลือกที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มเติมให้เป็นสวัสดิการแก่คนอังกฤษแทนจะดีกว่า ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างไปจากฝรั่งเศส ที่ยังคงเดินหน้ายกกำลังพลไปตรึงกำลังในพื้นที่อาณานิคม เช่น การเข้าไปในเวียดนาม และแอลจีเรียเพื่อรักษาอาณานิคมเหล่านั้นต่อไป
ดังนั้นเราจะพบว่าในยุคของ “คลีเมนต์ แอตต์ลี่” นั้น แม้แต่อินเดีย หรือปากีสถานต่างก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ปี ค.ศ.1947 และแน่นอน พม่าเองก็น่าจะได้รับเอกราชในเวลาไม่ช้านี้
ทีนี้จากลอนดอน.. เรากลับมาที่ย่างกุ้งกันบ้าง เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงครามไปแล้ว หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทน (Lord louis Francis Mountbatten)ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองผสมสัมพันธมิตรเอเชียเล็งเห็นว่า..
หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทน (Lord louis Francis Mountbatten)ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองผสมสัมพันธมิตรเอเชีย
บุคคลที่มีบารมีสูงสุดในบรรดาแกนนำขบวนการชาตินิยมพม่าก็คือ พันธมิตรเดิมของชาวญี่ปุ่นนั่นก็คือ “อองซาน” ดังนั้นเขาจึงได้มีการเสนอแนะไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า.. การเจรจาเพื่อรัฐบาลอังกฤษมอบเอกราชคืนสู่พม่านั้น ต้องพูดคุยกับนายพลอองซานคนนี้
ณ เวลานั้น พลเอกวิลเลียม โจเซฟ สลิม วิสเคานต์สลิมที่ 1 (William Slim)แห่งกองทัพอังกฤษเป็นผู้เข้าเจรจารอบแรกกับอองซาน ก่อนในฐานะตัวแทนการเจรจารับมอบอธิปไตยจากอังกฤษ และนายพลอองซานได้รับการแต่งตั้งจากบริติช เอ็มไพร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายในยุคบริติช เบอร์ม่า
โดยที่จะเป็นคู่เจรจากับรัฐบาลของคลีเมนต์ แอตต์ลี ในยุคนั้น อังกฤษเองมีพันเอกเรจินัลด์ ดอร์แมน-สมิธ (Reginald Dorman-Smith) เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ที่พม่า จากการพูดคุยกัน คงไม่จบเฉพาะ 2 ฝ่ายเท่านั้น คือพม่ากับอังกฤษ
พลเอกวิลเลียม โจเซฟ สลิม วิสเคานต์สลิมที่ 1 (William Slim) และ พันเอกเรจินัลด์ ดอร์แมน-สมิธ (Reginald Dorman-Smith) เป็นข้าหลวงใหญ่ของพม่า ณ เวลานั้น
เพราะอย่างที่บอกมาตลอดว่า.. พม่าไม่ใช่เป็นประเทศที่มีเอกภาพในตัวเอง แต่พม่าคือ ดินแดนที่ประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ อีกหลากหลายชาติพันธุ์ ดังนั้นนอกเหนือไปจากเรื่องการรับเอกราชจากอังกฤษแล้ว คงจำเป็นจะต้องมีการจัดประชุมกัน ระหว่างผู้นำของชาติพันธุ์พม่าและชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย
* การประชุมปางหลวงครั้งที่ 1
ได้มีการจัดประชุมขึ้นที่เมืองปางหลวง หรือเรียกว่า เวียงปางหลวง ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในรัฐฉาน ถือเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ของชาติพันธุ์อื่นที่มิใช่พม่า เมื่อวันที่ 20–28 มีนาคม ค.ศ. 1946 มีตัวแทนฝ่ายพม่าได้แก่ อู้นุ อู บาเกียน มาน บาขิ่น อูซอว์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ พม่าได้เรียกร้องให้รัฐฉานรวมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
ข้อตกลง ที่มีชื่อว่า“อองซาน- แอตต์ลี“ (Aung San-Attlee)
หลังจากการประชุมปางหลวงครั้งที่ 1 นายพลอองซานได้ลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษ ที่มีชื่อว่า“อองซาน- แอตต์ลี“ (Aung San-Attlee) ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1947 โดยสาระสำคัญของข้อตกลงนี้ก็คือ สหราชอาณาจักรต้องคืนเอกราชให้กับพม่าในอีก 1 ปีต่อจากนี้ และพม่าจะไม่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริติช เอ็มไพร์อีกต่อไป ซึ่งวันนั้นเรียกว่า “บริติช เบอร์ม่า“ และสามารถควบคุมกำลังพลของตัวเอง โดยจะมีการรวมอาณานิคมทั้งหมดของสหราชอาณาจักรในบริเวณนี้เข้าด้วยกัน เพื่อส่งมอบให้กับสหภาพพม่าปกครองต่อไป
ซึ่งแน่นอนสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องถือว่า.. มีความซับซ้อนและอาจจะซับซ้อนมากกว่า การมอบเอกราชให้กับอินเดีย หรือปากีสถานเสียอีก เพราะชาติพันธุ์ต่างๆในพม่านั้น ไม่ยอมรับอำนาจของชาติพันธุ์พม่าอย่างง่ายดายนัก
1
* การประชุมปางหลวงครั้งที่ 2
ฝ่ายรัฐฉานต้องการปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า จึงจัดการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ในระหว่าง วันที่ 3–12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 โดยมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วม 3 กลุ่ม อันได้แก่ ฉาน คะฉิ่น และฉิ่น และได้ตกลงจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อเจรจาต่อรองกับฝ่ายพม่า
ภาพผู้เข้าร่วมการประชุมปางหลวง
ซึ่งตัวแทนฝ่ายพม่า นำโดยอองซานพร้อมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษในฐานะผู้สังเกตุการณ์ เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เข้าเจรจากับตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา และการเจรจาสามารถหาข้อยุติได้เป็นผลสำเร็จ จนเป็นที่มาของการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947
และหนึ่งในข้อตกลงระบุว่า.. ชาติพันธุ์เหล่านี้สามารถถอนตัวออกจากสหภาพพม่าได้หลังจากเวลาผ่านไป 10 ปีคือ ในปี ค.ศ. 1958 และจะสถาปนาเอกราชให้กับตัวเองได้ โดยมีผู้ลงนามในสัญญา 23 คน ประกอบด้วยฝ่ายพม่า และฝ่ายที่เป็นชาติพันธุ์อื่นๆ คำกล่าวที่กลายเป็นหลักการหรือคำมั่นสัญญาในเวลานั้น ก็คือ นายพลอองซาน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า..
”ถ้าพม่าได้หนึ่งจัต พวกท่าน.. ก็จะได้หนึ่งจัตเช่นเดียวกัน”
อองซาน
อันหมายถึง.. ชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมลงนามด้วย
และถ้าไปย้อนดูเอกสารต้นฉบับ ข้อตกลงต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดทั้งหมดนั้น ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งๆทีไม่ได้มีฝรั่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นกิจการภายในของสหภาพพม่า ส่วนสาเหตุน่าจะเป็นเพราะว่า.. ชาติพันธุ์อื่นๆ มิได้ยอมรับภาษาพม่าเป็นภาษากลางนั่นเอง
บริติช เบอร์ม่า หรือสหภาพพม่าไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมการประชุมเท่านั้น แต่ทว่า.. ยังมีอีกหลายชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย โดยจะพบว่าไม่มีตัวแทนจากมอญ ไม่มีตัวแทนจากยะไข่ เพราะพวกเขาถูกเหมารวมว่า มีตัวแทนผ่านชาวพม่าไปแล้ว
ภาพถ่ายเหตุการณ์ สนธิสัญญา อองซาน- แอตต์ลี“ (Aung San-Attlee)
ไม่เพียงแค่นั้น ชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในรัฐฉานเอง ซึ่งก็ไม่ได้มีเฉพาะแค่ไทใหญ่เท่านั้น พวกเขาไม่ได้มีตัวแทนในที่ประชุมเลย กลับถูกเหมารวมเอาว่า ตัวแทนจากไทใหญ่ ก็คือบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ในรัฐฉานคือ ตัวแทนของชาติพันธุ์กลุ่มน้อยเหล่านั้นด้วย ในขณะที่อีกหนึ่งชาติพันธุ์ ที่มีสัดส่วนพลเมืองเป็นอันดับ 3 ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งก็คือกะเหรี่ยง ได้ส่งผู้สังเกตการณ์มาทั้งหมด 4 คน แต่ทั้ง 4 คนนั้นก็มิใช่ตัวแทนเพื่อมาเจรจาทั้งที่เป็นชาติพันธุ์ขนาดใหญ่
นั่นหมายความว่า.. พวกเขามิได้รับรู้ด้วยว่า จัดการประชุมอะไรกัน และมีมติอะไรบ้าง ซึ่งมติในที่ประชุมนั้น มิได้มีผลบังคับใช้หรือผูกมัดพวกเขาได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่บริติช เบอร์ม่าได้รับเอกราช โดยสมบูรณ์จากอังกฤษแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องการเพียงหนึ่งเดียวในเวลานั้นคือ รัฐเอกราชของชาติกะเหรี่ยง หรือกอทูเล ไม่ใช่การเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า
หลังการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกอบกู้เอกราช เช่นเดียวกับที่นายพลอองซานก็ได้รับสถานะวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติด้วยเช่นกัน และด้วยสนธิสัญญาฉบับนี้เองทำให้นักการเมืองรวมถึงทหารบางกลุ่มไม่พอใจ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากอยู่ในดินแดนของชนชาติพันธุ์อื่นๆ
นายพลออง ซาน  ภาพถ่ายในลอนดอน เมื่อ ค.ศ.1940
ดังนั้นหากมีการแยกตัวออกเป็นอิสระ จะทำให้พม่ามีปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 ในปีเดียวกันนั้นเอง กองกำลังลึกลับได้บุกเข้าสังหารนายพลอองซาน พร้อมทั้งคณะบริหารหลายคน เสียชีวิตในอาคารที่กำลังประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ
นายพลอองซาน เสียชีวิตในวัยเพียง 32 ปี โดยที่ยังไม่ทันได้เห็นเอกราชของสหภาพพม่า ซึ่งได้รับในวันที่ 4 มกราคม ปี ค.ศ. 1948 สถานะการณ์การเมืองของพม่าคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และความสัมพันธ์ของพม่า กับชาติพันธุ์อื่นๆ จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนหน้าครับ
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 4 สันติไม่ใช่คำตอบ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา