Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Letter From History
•
ติดตาม
24 พ.ค. เวลา 02:57 • ประวัติศาสตร์
เมียนมาร์ (พม่า)
ประเทศเมียนมาร์ ตอนที่ 5 ซ้ำรอยเดิม
พม่าที่กำลังเตรียมจะได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ และนายพลอองซาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำคนสุดท้ายของบริติชเบอร์มา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของอังกฤษ ได้มีการเดินหน้าเจรจากับตัวแทนของชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ แต่ก็มิใช่ว่า.. ทุกชาติพันธุ์จะยอมรับ อย่างน้อยที่สุดมีหนึ่งชาติพันธุ์ ที่ต้องการประกาศเอกราช และไม่ยอมอยู่กับสหภาพพม่า นั้นก็คือ “กะเหรี่ยง” เพราะต้องการมีรัฐอิสระของตัวเองเรียก “กอทูเล” มีความหมายว่า.. ดินแดนแห่งเสรีภาพ
1
ขอย้อนกลับมาดูในช่วงเวลาหลัง “สนธิสัญญาปางหลวง กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 ” นั้น สหภาพพม่ากำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นมีการเลือกตั้ง ที่อองซานกับพรรคสันนิบาตประชาชนเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People's Freedom League) จะเข้าไปสู่การเลือกตั้ง
ซึ่งก็แน่นอนที่สุดว่า ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ในขณะเดียวกัน ผู้ที่จะเป็นประมุขแห่งรัฐ อันนี้ก็น่าสนใจมาก เมื่ออองซานเป็นผู้นำรัฐบาล ในขณะที่พม่าเองก็ต้องมีประมุขด้วย จึงตกเป็นของเจ้าส่วยแต๊ก หรือเจ้าคำศึก ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าเมืองยองห้วยของรัฐฉาน นับเป็นประมุขของสหภาพพม่าคนแรก ที่เป็นชาวไทใหญ่
พรรคสันนิบาตประชาชนเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People's Freedom League)
ถ้ามองในแง่ดี เราจะรู้สึกว่า.. ตอนนี้ชาติพันธุ์กลุ่มอื่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองพม่าแล้ว หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ในความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น และท้ายที่สุดฝ่ายบริหารก็ยังตกอยู่ในมือของชาติพันธุ์พม่า ซึ่งชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อยก็อาจมองว่า..มันไม่ได้แตกต่างไปจากยุค 3 จักรวรรดิ ก็คือ พุกาม ตองอูและอังวะเลย
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญเรียกว่า “วันสหภาพหรือ Union Day” ซึ่งก็คือวันที่มีการประชุมปางหลวง แต่ในความเป็นจริง วันนั้นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากันไม่ครบถ้วนทุกกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยงหรือกอทูเล ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และสนธิสัญญานี้เองมันคือ จุดเริ่มต้นของความแตกแยกในสหภาพพม่าอย่างเด่นชัด
3
พอเริ่มต้นก็ไม่สมบูรณ์กันแล้ว แถมยังมีการเขียนระบุเอาไว้ในสนธิสัญญาอีกว่า.. “ชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมลงนามสามารถถอนตัวออกจากสหภาพพม่าได้หลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 10 ปีคือใน ปี ค.ศ. 1958 และจะสถาปนาเอกราชให้กับตัวเองได้“
สนธิสัญญาปางหลวง
ดังนั้น ปี ค.ศ. 1948 ถึง ค.ศ. 1958 จึงไม่ใช่ 10 ปีที่สงบสุขเลย ดูภายนอกเหมือนว่า.. พม่าเริ่มต้นมีเอกราช เป็นประชาธิปไตยแล้ว และพวกเขาจัดให้มีการเลือกตั้ง พรรคของนายพลอองซานพรรคสันนิบาตประชาชนเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ ชนะขาดลอยได้เสียงข้างมากถึง 176 เสียงจากทั้งหมด 210 เสียง ในขณะที่ชาติพันธุ์อื่นได้คะแนนเพียงแค่หลักหน่วยเท่านั้น และเจ้าส่วยแต๊ก หรือเจ้าคำศึก แห่งเมืองยองห้วยก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า ( วันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 ~ 12 มีนาคม ค.ศ.1952)
1
ทุกอย่างดูเหมือนจะดี ลงตัวหมด แต่จริงๆ แล้วเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายโกลาหลครั้งใหญ่ ที่มาจากชาวพม่ากันเอง และด้วยอุปนิสัยของนายพลอองซานเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์กับทุกคนอย่างเสมอภาค เคารพในความถูกต้อง และยึดมั่นในคุณธรรม เป็นคนที่ไม่หลงใหลในลาภยศหรือเงินทอง อีกทั้งเป็นคนที่พูดจาเด็ดขาด การทำงานก็ตรงไปตรงมา จึงเป็นที่รัก และเป็นความหวังของคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เสียผลประโยชน์ และไม่ชอบไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขา
1
ซึ่งตัวเขาเองได้เคยปรารภเรื่องนี้กับข้าหลวงใหญ่คนสุดท้ายของอังกฤษในพม่า ก็คือ เรจินัลด์ ดอร์แมน-สมิธ (Reginald Dorman-Smith) บอกว่า.. ตัวเขานั้นถูกปองร้ายจากหลายฝ่าย และในที่สุดก็เป็นดั่งที่เขาคาดไว้ คือในเดือน กรกฎาคม ปี ค.ศ.1947 เขาถูกลอบสังหาร ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากอังกฤษเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น
1
อูซอ อดีตนายกรัฐมนตรีของบริติชเบอร์มา
มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมด 9 คน คือ นายพลอองซาน และอีก 8 คน คือสมาชิกคณะรัฐมนตรีของเขา โดยมีผู้รอดชีวิตเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น และเหตุการณ์ในห้อง ณ เวลานั้นคือ มือปืนบุกเข้าไปในห้องที่กำลังมีการประชุมกันอยู่ และบอกว่า ให้ทุกคนนั่งลง ด้วยความเป็นวีรบุรุษ นายพลอองซานลุกขึ้นยืน จึงถูกยิงเป็นคนแรก และเสียชีวิตทันที จากนั้นก็มีการรัวยิง จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 9 คนด้วยกัน ซึ่ง ณ เวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่า.. ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ในครั้งนี้ คือ ใคร????
แต่ผู้ที่ถูกจับกุมโดนตัดสินดำเนินคดี คือ อดีตนายกรัฐมนตรีของบริติชเบอร์มาในยุคของจักรวรรดินิยมอังกฤษ นั่นก็คือ “อูซอ” ตัวเขาถูกควบคุม และในที่สุดก็ถูกสั่งประหารชีวิตในปีถัดมา ส่วนเจ้าอาณานิคมเดิมคือ อังกฤษนั้นก็ไม่พ้นโดนข้อกล่าวหาว่า.. เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารนายพลอองซานด้วย และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า.. ฝ่ายใดกันแน่?? ที่เป็นผู้สั่งการสังหาร หรืออาจเป็นเพราะด้วยสถานะการณ์ในขณะนั้น คือ ทุกฝ่ายพร้อมจะสังหารกันเอง
” อู้นุ“ สหายร่วมอุดมการณ์ ร่วมต่อต้านอังกฤษด้วยกัน ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง จนกระทั่งมาตั้งพรรคการเมืองในยุคปี 30 ซึ่งก็เป็นแนวร่วมในพรรคการเมืองของอองซานด้วย ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหภาพพม่า หลังกระบวนการรับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้นบุคคลที่มีการลงนามในหนังสือสัญญาการรับมอบเอกราชจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอู้นุ ของสหภาพพม่า และนายกรัฐมนตรีคลีเมนต์ แอตต์ลี ของอังกฤษ
อู้นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศพม่า
ทีนี้เรามาดูเรื่องความคิดเห็นของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นกันบ้าง เช่น กะเหรี่ยง นับเป็นชาติพันธุ์แรกที่ไม่เห็นด้วยกับการอยู่รวมกันเป็นสหภาพ และต้องการให้ชาติพันธุ์ของตัวเองเป็นรัฐที่มีอธิปไตย ทั้งนี้กะเหรี่ยงตระหนักดีว่า.. ญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นไปได้ว่า.. อังกฤษก็กำลังจะปลดปล่อยดินแดนอาณานิคมในจักรวรรดิของตนเอง
เนื่องจาก “ซอบาอูจี” เป็นผู้นำกะเหรี่ยงที่มีความคุ้นเคยกับบริติชเอ็มไพร์เป็นอย่างดี เพราะเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และศึกษาวิชากฎหมายจนจบเนติบัณฑิตอังกฤษโดยตัวเขาก็เป็นรัฐมนตรีสรรพากรของอังกฤษในปี ค.ศ.1937 ถึง ค.ศ.1939
เขาเดินทางไปที่ลอนดอนหลายครั้ง เพื่อล็อบบี้ให้รัฐบาลอังกฤษมอบเอกราชให้กับชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยตรง ให้เป็นรัฐอธิปไตย แบบที่ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีก ซึ่งแน่นอนว่า.. หากพวกเขาต้องกลับไปอยู่กับพม่า ก็คงมีสภาพไม่ดีไปกว่ายุคก่อนหน้านั้นเลย เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็กลายเป็นชนชาติพันธุ์ที่ต่ำต้อยกว่าพม่าอยู่เหมือนเดิม
ภาพถ่ายของซอบาอูจีและเหตุการ์ตอนเสียชีวิต
แต่อังกฤษเองก็ไม่ได้นำพาต่อสิ่งที่ซอบาอูจี และชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเรียกร้องเลย พวกอังกฤษได้วางแผนมอบเอกราชให้กับพม่าเป็นเพียงสัญญาหนึ่งต่อหนึ่ง คือ อังกฤษกับพม่าเท่านั้น โดยให้ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไปพูดคุยตกลงกับพม่ากันเอง และบอกว่า.. ได้มีข้อตกลงในสนธิสัญญาปางหลวงที่จะมีหนึ่งทางเลือก คือ การให้ชาติพันธุ์อื่นมีโอกาสในการประกาศแยกตัวเป็นอิสสระอย่างเป็นทางการได้หลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 10 ปี
แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ ซอบาอูจี รับไม่ได้เช่นกัน ในที่สุดการประชุมปางหลวง ครั้งที่ 2 ซึ่งคนพม่าเรียกว่า “ยูเนี่ยนเดย์” คือ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ได้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งรัฐอิสระของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีชื่อว่า “กอทูเล” บางทีก็เรียกว่า “เคเอ็นยู” (The Karen National Union)
ภายใต้การนำของกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยง ที่เรารู้จักกันในนามของ “เคเอ็นดีโอ”( Karen National Defence Organisation ) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ไม่เพียงแต่กะเหรี่ยงเท่านั้น แต่ว่าชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น มอญที่อยู่ติดกันทางตอนใต้ ชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณตะนาวศรี ก็เข้าไปร่วมกับเคเอ็นยู เพื่อที่จะรบกับรัฐบาลกลางของสหภาพพม่าด้วย
1
สมิท ดุน
ทีนี้เราไปดูท่าทีของรัฐบาลอู้นุุกันบ้าง ก็คงเหมือนกับหลายศตวรรษที่ผ่านมาก็คือ พม่ายังคงเป็นชนชั้นปกครองหลัก เขาได้ปลดนายทหารมือดีสัญชาติกะเหรี่ยง คือ สมิท ดุน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหาร ถือเป็นแกนหลักของกองทัพพม่าในยุคบริติชอินเดีย เพราะว่ากะเหรี่ยงกับอังกฤษใกล้ชิดกันมาก
หลังการปลดสมิท ดุนออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ.1949 แล้ว ยังได้มีการมอบอำนาจในการจัดการกวาดล้างผู้เห็นต่างชนกลุ่มน้อยให้กับนายทหารดาวรุ่งในเวลานั้น ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่ม ”30 สหายร่วมรบ“ ที่ถูกเทรนมาจากญี่ปุ่นในยุคเดียวกันกับนายพลอองซาน และอู้นุ เขาก็คือ “พลตรีเนวิน”
หลังจากที่ยูเนี่ยนเดย์ผ่านมาได้ 3 ปีถัดมาคือ ในปี ค.ศ.1950 โดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่บอกไว้ตั้งแต่วันแรกว่า “ไม่ขอร่วมด้วย” ก็ยังคงมีการปะทะกับทหารของรัฐบาลของพม่าอยู่บ่อยครั้ง
จนในที่สุดวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1950 เป็นวันแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยง เพราะว่า.. ผู้นำคือ ซอบาอูจี พร้อมคณะได้เดินทางออกจากหมู่บ้านปีตะคะ เพื่อปฏิบัติภารกิจในระหว่างทางได้เข้าพักที่กระท่อมปลายนาหลังหนึ่ง มีชาวบ้านเห็นเหตุการณ์ได้ไปแจ้งกับทหารฝ่ายพม่า และในคืนนั้นเองทหารพม่าจำนวนมากเข้าปิดล้อมกระท่อม ระดมยิงปืนเข้าไป ทำให้ซอบาอูจี รวมถึงนายทหารติดตามต้องจบชีวิตลงในฐานะวีรชนที่สละชีพเพื่อชาติ โดยศพของซอบาอูจี และพวกถูกลำเลียงไปทิ้งในทะเลนอกชายฝั่งไกลถึง 4 ไมล์
1
เนวิน
หากถามว่า.. ทำไม? ต้องทิ้งศพขนาดนั้นด้วยล่ะ คำตอบก็คือ.. ไม่ต้องการให้ชาวกะเหรี่ยง นำศพไปทำพิธีตามความเชื่อ หรือทำสุสานเพื่อเป็นพื้นที่เชิงสัญญลักษณ์ ”ศูนย์รวมจิตใจ“ สรุปคือ ปิดตำนานผู้ทรงอิทธิพลของชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง และผู้นำปฏิบัติการปิดล้อมซุ่มโจมตีในครั้งนี้คือ นายพลเส่ง ลวิ่น นายทหารกลุ่มสันนิบาตเสรีประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ ซึ่งต่อมา ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมืองในยุคของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาในปี ค.ศ. 1988
และถึงแม้ว่าซอบาอูจีจะจากไปแล้วก็ตาม แต่ว่าอุดมการณ์ของกอทูเล ก็คือ รัฐอิสระของชาวกะเหรี่ยงยังคงเดินหน้าจวบจนวันนี้ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้น พวกเขาเป็นกองกำลังที่มีการต่อต้านรัฐบาลกลางของพม่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่มีความเป็นเอกภาพ นั่นคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลมเกลียวสามัคคีร่วมมือกัน แต่พวกเขากลับแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดย
ส่วนที่หนึ่งหมายถึง กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเรียกว่า “กลุ่มกะเหรี่ยงเคเอ็นยู” คือ กลุ่มที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์ ดังที่ได้เคยเล่าไว้ในตอนที่ 2 แบ่งแยกและปกครอง
กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
และส่วนที่สองหมายถึง กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ หรือเรียกว่า “กลุ่มกะเหรี่ยงดีเคบีเอ” คือ กลุ่มที่ยังคงนับถือศาสนาพุทธ
นั่นจึงทำให้การสู้รบของชาวกะเหรี่ยงนับเป็นการสู้รบเพื่ออิสรภาพที่ยาวนานที่สุดในโลก คือ นานมากเกินกึ่งศตวรรษมาแล้ว ไม่แต่เพียงแค่นั้น ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับชายแดนของพม่า ที่รัฐยะไข่ ก็ได้มีการเคลื่อนไหว มีกองกำลังที่เป็นมุสลิมมุญาฮิดีนเพื่อต่อต้านรัฐบาลกลางของพม่าเช่นเดียวกัน
กลับมาดูที่อู้นุกันบ้าง เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานถึง 3 สมัย ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งเขาไว้เนื้อเชื่อใจนายทหารคนสนิทอย่างนายพลเนวินมากๆ เลย โดยที่นายพลเนวินได้เคยทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของอู้นุด้วย ซึ่งในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งรักษาการนี้ เขาได้เดินหมากเกมสำคัญกับชาติพันธุ์ที่เป็นพันธมิตรของพม่าอย่างแน่นแฟ้น
นั่นก็คือ บรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ แห่งรัฐฉาน คงจำกันได้ว่า เจ้าส่วยแต๊กเป็นผู้ให้การสนับสนุนสนธิสัญญาปางหลวง อีกทั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งรัฐฉานเองก็ยังเลือกที่จะอยู่กับพม่าต่อไป แม้ว่า.. พวกเขาจะมีสิทธิ์ในการแยกตัวเป็นอิสระได้ตามข้อกำหนดในปี ค.ศ.1958 ก็ตาม
เจ้าส่วยแต๊ก
แต่แล้ว ในปี ค.ศ. 1959 นายพลเนวินที่เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้เตรียมการกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของชาติพันธุ์พม่า โดยมีข้อเสนอให้กับบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ ให้ลดบทบาททางการเมืองในระบบศักดินาของรัฐฉาน แลกกับการให้เงินบำนาญที่จะอยู่อย่างสุขสบายไปตลอดชีวิต
1
แต่เรื่องราวกลับแย่ลงไปกว่านั้นอีก เพราะว่าในอีก 3 ปีต่อมา นายพลเนวินได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของอู้นุุในเดือน มีนาคม ปี ค.ศ.1962 และได้ควบคุมตัวเจ้าส่วยแต๊กเข้าสู่เรือนจำ พร้อมทั้งยิงสังหารโอรสวัย 17 ปีของเจ้าส่วยแต๊กถึงแก่ชีวิตด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว ต่อมาเจ้าส่วยแต๊กได้ถึงแก่พิลาลัยในเรือนจำ ที่กรุงย่างกุ้ง ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1962
พระมหาเทวีเจ้านางเฮือนคำ
และในปีถัดมาคือ เดือนมกราคม ค.ศ.1963 พระมหาเทวีเจ้านางเฮือนคำ ผู้เป็นชายาของเจ้าส่วยแต๊ก พระนางต้องการปกป้องสถานภาพของรัฐฉาน พระนางจึงเดินทางมายังประเทศไทย ร่วมกับลูกชายของเธอ เจ้าจางหย่งเว ได้ก่อตั้งสภาสงครามรัฐฉาน (SSWC) และกองทัพรัฐฉาน (SSA) เพื่อประกาศสงครามเรียกร้องเอกราชของรัฐฉาน และต้องสู้รบกับรัฐบาลกลางของพม่า ต่อเนื่องนานนับ 10 ปี แต่ด้วยกำปั้นเหล็กของตะมะดอ หรือกองทัพพม่าภายใต้การนำของนายพลเนวิน ก็ไม่มีอะไรที่สามารถสะเทือนรัฐบาลพม่านี้ได้เลย
แน่นอนว่า.. ความอึดอัด ความคับข้องใจ ยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของเหล่าชาติพันธุ์ทั้งหลายในพม่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งสรุปได้ว่า การรัฐประหารของตะมะดอในปี ค.ศ.1962 นั้นไม่ใช่เพียงแค่.. การหยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตยของพม่าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการคงไว้ซึ่งอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาลชาติพันธุ์พม่าให้อยู่เหนือชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วยกำลังทหารอย่างเข้มข้น
1
ซึ่งนอกจากการสยบชาติพันธุ์อื่นๆ แล้ว รัฐบาลของนายพลเนวิน ยังได้ดำเนินการริบสัญชาติของชาวยะไข่ ที่เป็นชาวมุสลิมซึ่งเป็นชาติพันธุ์เบงการี เช่น ชาวโรฮิงญา ออกไปจากสารบบคือ การปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง ทำให้พวกเขาไม่มีสัญชาติอีกด้วย
ซึ่งการกระทำดังกล่าว..ไม่ต่างจากยุคก่อนหน้านั้นเลยคือ พม่าเป็นชนชาติที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นแผ่นดินที่เรียกว่า “สหภาพพม่า” ต่อมามีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ทางการเมือง ที่เรียกกันว่า “การเคลื่อนไหว 8888 หรือ การลุกฮือ 8888 “ ซึ่งก็คือ 08/08/1988 เป็นการประท้วงทั่วประเทศ ที่เริ่มต้นขึ้นในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง โดยกลุ่มนักศึกษาแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ยังมีพระสงฆ์ เด็ก แม่บ้าน แพทย์ รวมถึงประชาชนหลายแสนคนร่วมประท้วง
การลุกฮือ 8888
มียอดผู้เสียชีวิตหลายพันคน และสุดท้ายจบลงด้วยการสละอำนาจของนายพลเนวิน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพพม่า นานถึง 26 ปี เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนมือไปสู่พลเอกอาวุโสซอมอง เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพม่ากับชาติพันธุ์อื่นๆ ดูไปคล้ายกับมีความหวัง ส่วนเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนหน้าครับ
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 5 ซ้ำรอยเดิม
https://shorturl.asia/SUEvH
https://shorturl.asia/4tCem
https://shorturl.asia/t2owE
https://shorturl.asia/n3pEG
https://shorturl.asia/zq3Gy
https://shorturl.asia/muA02
https://shorturl.asia/Q9ZVl
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
ความรู้รอบตัว
26 บันทึก
30
14
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประเทศเมียนมา อาณาจักรพุกาม
26
30
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย