เมื่อวาน เวลา 12:50 • หนังสือ

บันได 10 ขั้น สู่ผู้ว่างงานโดยสมัครใจ และว่างงานอย่างมั่นคง

จากหนังสือการลาออกครั้งสุดท้าย
โดย ภาณุมาศ ทองธนากุล
ที่เล่าถึงประสบการณ์ชีวิต หลังจากลาออกจากงานประจำมาใช้ชีวิตอิสระ แบบคนว่างงานโดยสมัครใจ แบบมีอิสระ และมีความสุข จะได้ตกตะกอนออกมาเป็น 10 step ตัวผู้ว่างงานโดยสมัครใจดังนี้
Step 1 มีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง
สามารถสร้างคุณค่าได้ 3 ทาง
- เป็นคนแรกที่ได้เริ่มทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ
- หากไม่ได้เป็นคนแรกต้องเป็นคนที่ทำได้ดีที่สุด
- หากมีคนทำแล้วและทำได้ดีเราต้องมีความแตกต่าง
Step 2 การมีหลักคิดที่ถูกต้องเรื่องการประหยัด
"การประหยัดคือการทำงานศิลปะ เพราะคนประหยัดคือผู้ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับชีวิตโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด"
วิถีของคนประหยัดตามที่ผู้เขียนเล่าไว้ คือ จะต้อง...
กินพอดี อยู่พอดี คุ้มค่า สง่างาม ความสุขเต็มร้อย(ใจ เป็นตัวกำหนดความสุข ไม่ใช่ตัวเงิน) ถอยอย่างมีชั้นเชิง ตามหาคนในตำนาน(คือให้คนเหล่านี้จัดการความเสี่ยงให้ เช่น ช่างซ่อมรถ ซ่อมบ้าน และหมอ) จัดการหนี้ก้อนใหญ่ อย่าทำให้ชีวิตติดลบจนเกินไป รักษาเงิน และมีเพื่อนดี
Step 3 เป็นคนที่เข้าใจในกฎแห่งการเข้า-ออก
ข้อนี้จะเน้นถึงเรื่องการเงิน คือต้องดูเงินเข้าและเงินออกให้ดี จัดการให้มีเงินเข้าให้เยอะ เงินออกให้มีประสิทธิภาพ ไม่ฟุ่มเฟือย และทำให้มีเงินออกน้อยกว่าเงินเข้าอยู่เสมอ
Step 4 หาทรัพย์สินที่เราชอบ แล้วให้มันทำรายได้ให้เรา
นำเงินไปต่อยอด คือให้เงินทำงาน ให้เงินเป็นตัวสร้างเงินเพิ่ม ผ่านการนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราเข้าใจ เช่นฝากประจำ สลากออมสิน กองทุนรวม หุ้น ทองคำ เป็นต้น
Step 5 ดูจังหวะเวลา
ต่อจาก step 4 ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ใด ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงจังหวะเวลาในการซื้อขายหรือเข้าไปลงทุน รวมทั้งเข้าใจภาวะเศรษฐกิจ ว่าช่วงใดเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว ฟื้นตัว เฟื่องฟู หรือชะงักงัน
Step 6 การเลือกเกมที่เรารู้ว่าเล่นยังไงถึงชนะ
อย่าลงทุนหรือทำกิจกรรมใดที่มีความเสี่ยง และไม่เข้าใจมันอย่างแท้จริง ซึ่งอาจเจอการหลอกลวง เช่นแชร์ลูกโซ่ ที่ช่วงแรกจะได้ผลตอบแทนมากเกินจริง แต่ล้มละลายในตอนท้าย
รวมทั้งให้ปิดความเสี่ยงด้านต่างๆ ด้วยการมีเงินทุนสำรองและมีหลักประกันต่างๆ เพื่อปิดความเสี่ยงในชีวิต
Step 7 การสำรวจการใช้เวลาให้เหมือนตอนเราทำบัญชีรายรับรายจ่าย
"เวลาก็เหมือนเงิน ไม่ได้มีค่าด้วยตัวมันเอง ถ้าของมันอยู่ที่การเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์"
หากเวลาว่างมันแสดงถึงความร่ำรวยเวลา ก็จงอย่าใช้จ่ายเวลาอย่างสุรุ่ยสุร่าย ต้องทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ต่อใจ ต่อชีวิตของเราด้วย
Step 8 ชีวิตที่ดีนั้นต้องตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์
เมื่อมาถึงจุดนี้ จะพบความแตกต่างระหว่างมุมมองชีวิตของตัวเรา กับมุมมองชีวิตของผู้อื่น และจะเกิดการเปรียบเทียบกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรืออาจเกิดการเปรียบเทียบแม้ในจิตใต้สำนึกเราเลยก็เป็นได้ ซึ่งแบบนี้นับว่าเป็นการตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม
แท้จริงแล้วไม่อาจจะมาเปรียบเทียบได้ เพราะเป็นการใช้ชีวิตคนละแบบกัน ดังนั้นจึงต้องตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์
"คนทั่วไปชอบเปรียบเทียบความสำเร็จของตัวเองกับคนอื่น ใช้คนอื่นมาตัดเกรดให้ตัวเรา ทั้งที่จริงแล้วแต่ละชีวิตนั้นเปรียบเทียบกันได้ลำบาก คนแย่งชิงกันเพื่อเป็น 'ที่หนึ่ง'
ทั้งที่ความจริง เราแต่ละคนคือ 'หนึ่งเดียว'
ความสำเร็จของเราอยู่ที่เราคนเดียว ทุกอย่างที่เรามี ทุกสิ่งที่เราเป็น ต่างรวมเข้าเป็นชีวิตของเรา"
ไม่เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น แต่จงเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต
Step 9 รู้จักชื่นชมกับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
เป็นการจัดการกับความคิด คือให้สร้างทัศนคติเชิงบวก ทุกสิ่งมีด้านดี ด้านไม่ดี หากเจออะไรร้ายๆ ก็อย่าลืมว่ามันยังมีด้านที่ดีแฝงอยู่เสมอ
Step 10 บันไดขั้นสุดท้าย จัดการชีวิตให้ครบ 6 ด้าน
คือด้านการเงิน ด้านการใช้เวลา ด้านทัศนคติ ด้านการสร้างความรู้ ด้านสุขภาพ และด้านครอบครัวและคนใกล้ชิด
ทั้ง 6 ด้านนี้ผมได้อธิบายละเอียดไว้แล้ว ในบทความนี้ครับ
แล้วชีวิตจะมีอิสรภาพ เป็นคนว่างงานแบบสมัครใจ เป็นคนว่างงานที่มั่นคง มั่งคั่ง และมีความสุข
อิสรภาพคือการถูกขังในกรงที่เรารัก
ภาณุมาศ ทองธนากุล
โฆษณา