Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Letter From History
•
ติดตาม
7 ชั่วโมงที่แล้ว • ประวัติศาสตร์
กัมพูชา
กัมพูชา ตอนที่ 2 ฉลองความตาย
เมื่อพูดถึงการเมืองของกัมพูชาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึง “สงครามอินโดจีน” หมายถึง สงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ลาว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1946~1989(พ.ศ.2489~2532) รวมเวลา 43 ปี
โดยแบ่งออกเป็นสงครามย่อยได้ถึง 4 สงคราม และในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ “สงครามเวียดนามหรือเรียกกันว่า.. สงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2“ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของสงครามที่เกิดขึ้น เพราะสองประเด็นนี้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ตามที่ได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วว่า “แกะกันไม่ออก” เลยทีเดียว
3
เส้นทางโฮจิมินห์ ปีพ.ศ.2510
นับตั้งแต่ยุคที่เวียดมินห์ทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสนั้น พวกเขาได้ใช้พื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และกัมพูชา เป็นเส้นทางในการลำเลียงกำลังพล อาวุธยุทธภัณฑ์ รวมถึงยุทธปัจจัยต่างๆ เพื่อใช้ในการโจมตีฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อเวียดนามได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย คือเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้
โดย“เวียดกง” ซึ่งหมายถึง กลุ่มนักรบกองโจรคอมมิวนิสต์ที่ตั้งอยู่ในเวียดนามใต้ ซึ่งต้องการให้เวียดนามรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ ก็ยังคงใช้เส้นทางเดิมในการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มเวียดนามใต้ และแน่นอนว่า.. การเคลื่อนไหวนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศลาว และราชอาณาจักรกัมพูชาโดยตรง
ภาพการลำเลียงกำลังพล อาวุธยุทธภัณฑ์ รวมถึงยุทธปัจจัยต่างๆ
ในช่วงปีค.ศ.1950~1960(พ.ศ.2493~2503) เจ้านโรดมสีหนุ แห่งกัมพูชา ซึ่งดูเหมือนท่านจะ “หลับตาข้างหนึ่ง” ยอมปล่อยให้เวียดนามเหนือ และเวียดกงใช้พื้นที่ของพระองค์ ทั้งในเชิงเส้นทางผ่าน และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะจังหวัดพระสีหนุ หรือเรียกกันว่า “สีหนุวิลล์“ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา เป็นเมืองท่าเรือน้ำลึกติดกับอ่าวไทย ได้กลายเป็นทางออกสู่ทะเลสำหรับเวียดนามเหนือ และเวียดกงในการลำเลียงขนส่งยุทธภัณฑ์ต่างๆด้วย
รู้สึกขัดแย้งใช่มั๊ย!! เพราะรัฐบาลของพระองค์มีลักษณะอนุรักษนิยม แต่กลับเปิดทางให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนามเหนือ และเวียดกงมาตั้งฐานที่มั่น อีกทั้งยังเคลื่อนไหวบนแผ่นดินของพระองค์เองได้อย่างไรกัน เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ เจ้านโรดมสีหนุไม่พอใจกับแนวทางนโยบายของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งพระองค์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานเหมา เจ๋อตุง และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ของจีน มากกว่าฝ่ายอเมริกัน
พระบาทสมเด็จพระนโดม สีหนุ ขณะเป็นกษัตริย์สมัยแรกช่วงปลายสมัย
ในเวลานั้น กัมพูชาต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักหน่วงจากเพื่อนบ้านสองประเทศที่เป็นพันธมิตรกับอเมริกาคือ เวียดนามใต้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโง ดิญ เสียม อยู่ในตำแหน่ง 9 ปีคือ ปี ค.ศ.1955~1963(พ.ศ.2498~2506) และประเทศไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังการรัฐประหารในปี ค.ศ.1957(พ.ศ.2500)
โดยทั้งสองประเทศพยายามกดดันกัมพูชาให้ยุติการสนับสนุน หรือส่งเสริมรวมทั้งปิดเส้นทางขนส่งของเวียดนามเหนือ และเวียดกงด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเวียดนามใต้โดยตรง
ซึ่งแรงกดดันนี้ถึงขั้นที่ว่า..ตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชากับเวียดนามใต้กันเลย และในปี ค.ศ.1958(พ.ศ.2501) น้องชายของประธานาธิบดีเวียดนามใต้ คือ โง ดิญ ญู ยังได้วางแผนรัฐประหารเพื่อล้มล้างเจ้านโรดมสีหนุ โดยร่วมมือกับดาบ ฌวน รัฐมนตรีมหาดไทยของกัมพูชา แต่แผนการล้มเหลวลง จึงทำให้เจ้านโรดมสีหนุ ถึงกับประกาศตัดความสัมพันธ์กับเวียดนามใต้ทุกรูปแบบอย่างรุนแรงที่สุด
3
ภาพถ่ายของ โง ดิญ เสียม และ โง ดิญ ญู
และในปีถัดมานั่นเอง มีความพยายามลอบสังหารเจ้านโรดมสีหนุ ด้วยการส่งพัสดุบรรจุระเบิดเข้าไปในวัง แต่โชคไม่ดี (หรือโชคดี?) ระเบิดทำงานก่อนเวลา และได้คร่าชีวิตของอธิบดีกรมพิธีการทูตไปแทน เจ้านโรดมสีหนุ ได้ประกาศทันทีว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือโง ดิญ ญู แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่พระองค์ก็เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนอย่างไม่ปิดบัง
ปี ค.ศ.1960(พ.ศ.2503) ภายหลังจากที่พระชนกของพระองค์สิ้นพระชนม์ลง เจ้านโรดมสีหนุได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแต่งตั้งตนเองเป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่แค่พระมหากษัตริย์ธรรมดาเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นผู้นำฝ่ายบริหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคสังคมราษฎรนิยม เรียกได้ว่าทรงเป็น “ศูนย์รวมอำนาจ” อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเป็นเวลาถึง 15 ปี
และในช่วงทศวรรษนี้ กัมพูชามีนายกรัฐมนตรีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ซอน ซาน นักการเมืองเชื้อสายเวียดนามจากจังหวัดไพรเวง ผู้ที่ภายหลังจะกลายเป็นหนึ่งในแกนนำของเขมรสามฝ่ายและเขมรสี่ฝ่าย อีกคนคือ นายพลลอน นอล นักการเมืองฝ่ายขวาที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากกว่า ถึงแม้จะอยู่ภายใต้ระบอบของเจ้านโรดมสีหนุ
ภาพถ่ายของ ซอน ซาน และ นายพลลอน นอล
และช่วงปลายปี ค.ศ.1963(พ.ศ.2506)นี้เอง ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เจ้านโรดมสีหนุ รู้สึกโล่งใจอย่างสุดขีด เพราะ “ศัตรูทั้งสาม” ที่กดดันพระองค์มานาน ต่างก็ล้มตายลงไปในเวลาไล่เลี่ยกัน กล่าวคือ ภายใน 1 เดือนเศษๆ เริ่มต้นจาก
●
วันที่ 2 พฤศจิกายน ~ ประธานาธิบดีโง ดิญ เสียม และน้องชาย โง ดิญ ญู ถูกลอบสังหารในการรัฐประหาร ที่ไซง่อน ประเทศเวียดนามใต้
●
วันที่ 22 พฤศจิกายน ~ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกลอบสังหารในเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
●
วันที่ 8 ธันวาคม ~ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม ในกรุงเทพ ประเทศไทย
เจ้านโรดมสีหนุ ถึงขั้นจัดงานคอนเสิร์ตเฉลิมฉลอง ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และพูดอย่างเปิดเผยว่านี่คือ “ชัยชนะของกัมพูชา” ต่ออิทธิพลของต่างชาติ
1
ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในยุคของประธานาธิบดีลินคอน บี. จอห์นสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลดระดับความสนใจต่อกัมพูชาลง เพราะต้องทุ่มเทกำลังรวมถึงทรัพยากรทั้งหมดเพื่อมุ่งเข้าสู่สงครามเวียดนามพระองค์จึงยังคงปล่อยให้เวียดนามเหนือ และเวียดกงใช้ท่าเรือสีหนุวิลล์เพื่อเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธต่อไป
ในปี ค.ศ.1966(พ.ศ.2509) จีนเริ่ม “ปฏิวัติวัฒนธรรม” และใช้วิทยุคลื่นสั้นปลุกระดมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วภูมิภาค รวมไปถึงกัมพูชาด้วย โดยเป็นการสนับสนุนทางอ้อมต่อพรรคแรงงานกัมพูชาซึ่งต่อมาก็คือ “เขมรแดง”
เจ้านโรดมสีหนุเริ่มวิตกกังวล และติดต่อไปยังนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อขอให้หยุดการแพร่กระจายของวิทยุคลื่นสั้นที่ส่งเข้าไปยังกัมพูชา แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ กลับมา จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับจีนเริ่มสั่นคลอน
นางแจ็กเกอลีน เคนเนดี
ในปี ค.ศ.1967(พ.ศ.2510) นางแจ็กเกอลีน เคนเนดี หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ“แจ็กกี้”ภริยาม่ายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็เดินทางมาเยือนนครวัด ซึ่งเจ้านโรดมสีหนุได้ให้การต้อนรับด้วยตนเอง และถือเป็นช่วงผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี ค.ศ.1968(พ.ศ.2511)ริชาร์ด นิกสัน ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี คนที่ 37 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับกัมพูชาก็เริ่มดีขึ้นบ้าง ถึงแม้จะดูเหมือนผ่อนคลาย แต่สหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของนิกสัน ก็ยังคงแทรกแซงสอดส่องกัมพูชาในรูปแบบลับๆ เงียบๆ เหมือนไม่ใส่ใจ และใช้ยุทธวิธีทำลายฐานที่มั่นของพวกเวียดนามเหนือและเวียดกง
โดยการเปิดปฏิบัติการ “โอเปอเรชัน เมนู” ซึ่งใช้เครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดอย่างหนักในพื้นที่ตามแนวชายแดนกัมพูชา~เวียดนาม รวมถึงพื้นที่ในกัมพูชาที่เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังและอาวุธ เพื่อตัดขาทหารเวียดกงที่คาดว่า..มีอยู่มากกว่า 2 แสนคน มีพื้นที่ที่โดนถล่มกินอาณาบริเวณราวๆ 20% ของพื้นที่ทั้งประเทศ รวมถึงจังหวัดรัตนคีรี มณฑลคีรี ไปรเวง สวายเรียง และกำปอตัด ฯลฯ.ที่สำคัญ.. ข้อมูลของปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้ถูกเก็บถือเป็นความลับสุดยอด ยาวนานจนถึงปี ค.ศ.2000(พ.ศ.2543) กว่าจะถูกเปิดเผยออกมาสู่สาธารณชน
2
ภาพถ่ายของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ขณะทำการประชุม“โอเปอเรชัน เมนู” , ภาพถ่ายของ เครื่องบิน B-52 , ภาพถ่ายของบริเวณที่ถูกทิ้งระเบิด ตามลำดับ
ก่อนจบบทนี้.. ขอทิ้งท้ายด้วยว่า จากปฏิบัติการนี้เองได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่ม“ประชาชน” ที่ในช่วงแรกมีแนวคิดซ้ายกลางในทางการเมือง จนกระทั่งเมื่อพวกเขาถูกผลักออกจากระบบ จึงทำให้กลับไปรวมตัวกันกับกลุ่มของ พล พต ในเขตชนบท และสุดท้าย กลุ่มนี้เอง.. ที่จะกลายเป็น เขมรแดงในภายหลัง และเข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จในปี ค.ศ.1975(พ.ศ.2518) พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์กัมพูชาไปอีกนานหลายปี
1
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 2 ฉลองความตาย
https://shorturl.asia/a4Jlx
https://shorturl.asia/1jNKE
https://shorturl.asia/ph7GO
https://shorturl.asia/1fgZB
https://shorturl.asia/YLbO1
https://shorturl.asia/7JlIn
https://shorturl.asia/NhRS9
https://shorturl.asia/Zu0k5
https://shorturl.asia/w9TYQ
https://shorturl.asia/gWbJr
https://shorturl.asia/UdNof
https://shorturl.asia/RB93A
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
21 บันทึก
28
2
27
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เหตุการณ์ จากเขมรแดงสู่เอกภาพ
21
28
2
27
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย