23 พ.ค. 2019 เวลา 05:48 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ ตอนที่ 4
ตลอดหลายปีที่หัวเว่ยร่วมทำสงครามขับไล่ธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากต่างชาติซึ่งมีถึงเจ็ดประเทศแปดระบบ ที่เข้ามายึดตลาดโทรคมนาคมในจีนไว้ได้ในยุคเริ่มแรก
สงครามครั้งนั้นสิ้นสุดลงด้วยนโยบายยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าให้กับบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากต่างชาติในปี 1994
หลังจากนั้นสงครามภายในก็ระเบิดขึ้น ผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีโทรคมนาคมในจีนต่างแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อแย่งตำแหน่งผู้นำ
ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมของจีนไม่ได้มีเพียงหัวเว่ยเท่านั้นแต่ยังมี จวี้หลงซึ่งเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ประกอบด้วยแปดบริษัทในสังกัดกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปักกิ่ง
ยังมีบริษัทต้าถังซึ่งเป็นบริษัทไฮเทคซึ่งแยกตัวมาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไปรษณีย์โทรคมนาคม ซึ่งเน้นการวิจัยพัฒนา การผลิตและการขายเข้าไว้ด้วยกัน
แล้วยังมีบริษัทจงซิง บริษัทเอกชนในเซินเจิ้นอีกด้วย
หัวเว่ยในเวลานั้นจึงต้องแข่งกับยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุนหนาและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเมื่อทราบว่า ต้าถัง และจงซิง เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน
เหริน เจิ้งเฟย จึงต้องการนำหัวเว่ยเข้าไประดมทุนเช่นกัน แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าหัวเว่ยมีพนักถือหุ้นเกิน 200 คนซึ่งเป็นข้อห้ามของตลาหลักทรัพย์จีน
1
แต่ด้วยความพยายามและความเฉลียวฉลาดของเหริน เจิ้งเฟย เขาหาโอกาสในการเอาชนะศึกครั้งนี้ได้เมื่อรัฐบาลประกาศให้กรมสื่อสารดำเนินการแก้ปัญหา ด้านต้นทุนในการติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานและค่าบริการโทรศัพท์ที่สูงเกินไปให้ประชาชน รวมถึงแก้ปัญหาการที่รัฐต้องแบกรับปัญหาค่าใช้จ่ายในด้านเงินบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลจำนวนมหาศาลให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีคนล้นงาน
เหริน เจิ้งเฟยเร่งติดต่อกับกรมสื่อสารทุกมณฑล เพื่อแสดงให้เห็นว่าหัวเว่ยยินดีใช้เทคโนโลยีที่มีตั้งบริษัทร่วมทุนกับทางการในมณฑลต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน
ข้อเสนอที่เย้ายวนของหัวเว่ยจึงได้รับการตอบรับจากหน่วยงานด้านสื่อสารและโทรคมนาคมจากทั่วประเทศ
เมื่อเจรจาและแบ่งผลประโยชน์กันเรียบร้อย ในปี 1997 หัวเว่ยจึงก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับการสื่อสารของ เสฉวน เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ซานตง เหอเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง และเหลียวหนิง ในการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และยังได้หลอมรวมเป็นผู้ร่วมชะตากรรมกับหน่วยงานการสื่อสารของรัฐอีกด้วย
1
นอกจากทั้ง จวี้หลง ต้าถัง และจงซิง ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรงแล้ว หัวเว่ยยังมีบริษัทคู่แข่งระดับสากลซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลเบลเยี่ยมอย่างบริษัท อัลคาเทล เซี่ยงไฮ้ เบลล์ ที่ครองตลาดอันดับหนึ่งของจีนในเวลานั้น
ซึ่งบริษัทเบลล์ของเบลเยียมนี้ยังมีห้องทดลองที่อยู่ภายใต้บริษัทเอทีแอนด์ทีของอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ในยุโรปอีกด้วย
จุดเด่นของเซี่ยงไฮ้เบลล์ในเวลานั้นคือเทคโนโลยี V5 interface ซึ่งเป็นระบบสื่อสารแบบชุมสายโทรศัพท์ที่สามารถแก้ปัญหาความไม่เข้ากันของแต่ละโครงข่าย
ทำให้หน่วยงานโทรคมนาคมทุกแห่งในจีนพากันซื้ออุปกรณ์ตู้สาขาโทรศัพท์จากเซี่ยงไฮ้เบลล์กันเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดทำให้สินค้าไม่พอต่อความต้องการ
1
ระหว่างที่หัวเว่ยกำลังแข่งกับเซี่ยงไฮ้เบลล์อย่างดุเดือดและตกเป็นรองในสงครามครั้งนั้น แต่เหรินเจิ้งเฟยกลับมองไปไกลกว่านั้น
เขาเร่งเครื่องเต็มที่ให้กับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ RAN หรือ Radio Access Network ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบโทรคมนาคมมือถือระบบ GSM โดยที่เซี่ยงไฮ้เบลล์ยังไม่ทันไหวตัว และเพลิดเพลินอยู่กับผลประกอบการที่สูงจากเทคโนโลยี V5 interface
จนกระทั่งปี 1998 ขณะที่เซี่ยงไฮ้เบลล์ครองตลาดถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในมณฑลเสฉวน หัวเว่ยเปิดฉากรุกสำหรับเทคโนโลยีตัวใหม่ที่เพิ่งพัฒนาเสร็จด้วยการเสนอให้เมืองเฉิงตู และฉงซิ่งทดลองใช้ระบบ RAN ของพวกเขาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากนั้นก็กระจายออกไปจนครอบคลุมทั้งเสฉวน
เมื่อ RAN เชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์คถึงระดับหนึ่งแล้ว หัวเว่ยก็รีบขยาย RAN ไปสู่ตู้สาขาโทรศัพท์ระบบดิจิตอล จากนั้นก็ใช้กลยุทธนี้ขยายตัวไปยังเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ในปี 1999 เมื่อโทรศัพท์บ้านเริ่มอิ่มตัวบรอดแบรนด์กลายเป็นกระแสหลักของธุรกิจด้านนี้ ระบบ RAN ระบบ Optical Network การสื่อสารแบบดิจิตอล และผลิตภัณฑ์สมาร์ทเน็ต ที่หัวเว่ยได้ทุ่มทุนศึกษาวิจัยอย่างเต็มที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้ไม่มีใครในแผ่นดินจีนต้านทานพวกเขาได้
1
หลายคนแอบสงสัยว่าแล้วหัวเว่ยไปเอาทุนมหาศาลสำหรับงานวิจัยนี้มาจากไหน ไม่ต้องแปลกใจเลยค่ะ เพราะรัฐบาลจีนในยุคนั้นต่างให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับธุรกิจเอกชนที่พอจะมีศักยภาพในการต่อกรกับธุรกิจต่างชาติ
อย่างกรณีของหัวเว่ย รองนายกรัฐมนตรี จูหรงจี ซึ่งเข้ามาเยี่ยมชมโรงงานของหัวเว่ย ในปี 1996 และได้ทราบว่าหัวเว่ยต้องการยกระดับมาตรฐานการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ติดปัญหาด้านการเงิน
1
หลังจากนั้นไม่นานธนาคารใหญ่หลายแห่งในเซินเจิ้นก็พากันปล่อยสินเชื่อให้หัวเว่ยอีกครั้งซึ่งทำให้ปัญหาด้านการเงินในช่วงนั้นคลี่คลายลง
ยามนั้นแม้หัวเว่ยจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด แต่เหรินเจิ้งเฟยทำอย่างไรให้ลูกค้าเลือกหัวเว่ยฝากติดตามในตอนต่อไปด้วยนะคะ
ตามอ่านซีรีย์ชุด “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ได้ตามลิ้งค์นี้นะคะ
Reference:
หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา