11 เม.ย. 2020 เวลา 00:00 • การศึกษา
Insight : ภาวะเงินฝืดกำลังจะมา ? เรากำลังอยู่ในความเสี่ยงภาวะเงินฝืด !!
บันทึกหน้าที่ 1 : First Wave of a New Bear Market
...คลื่นลูกแรกของตลาดหมี...
ภาวะถดถอยในตลาดสินทรัพย์ ได้รับการทำนายโดย Elliott Wave International บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ Elliott Wave* ระดับโลก เริ่มจากการที่ตลาดหุ้นโดน Short Sell อย่างรุนแรง ตามมาด้วยการเทขายในสินทรัพย์อื่น ๆ ภายในกรอบเวลาที่สั้นมาก ๆ และเราเรียกสิ่งนี้ว่า "คลื่นลูกแรกของตลาดหมี (First Wave of a New Bear Market)"
* สำหรับผู้อ่านที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านตลาดหุ้น Elliott Wave เป็นทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจหลัก ๆ ของ Technical Analysis เช่นเดียวกับ Dow Theory
ผลที่จะตามมาหลังจาก First Wave ก็คือดัชนีหุ้นต่าง ๆ จะทรุดตัวลงในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้ และนี่ไม่ใช่แค่ในตลาดหุ้น แต่มันจะส่งผลไปถึงตลาดน้ำมัน ตลาดโลหะ ตลาดพันธบัตร ทั้งหมดจะทรุดตัวลงเช่นกัน
ภาวะเงินฝืดในราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ เป็นสัญญาณที่แน่นอนว่าการหดตัวของเศรษฐกิจกำลังจะมา และมันจะทำให้เกิดหนี้เสียในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน ซึ่งก็สมเหตุสมผลที่จะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากในปัจจุบัน เรามีหนี้สินท่วมโลกอยู่แล้ว ตามธรรมชาติของตลาดจึงต้องกลับไปสู่ความ "สมดุล"
สังเกตได้จากกราฟด้านล่างนี้ คาดการณ์ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เกิดวิกฤต (ถ้าเงินเฟ้อลดลง นั้นก็หมายถึงเงินฝืดกำลังเพิ่มขึ้น)
ข้อสังเกต : วิกฤตเมื่อปี 2008 ทำให้ดัชนีดังกล่าวลดลงต่ำกว่า 0 ส่วนวิกฤตครั้งนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% เรียบร้อยแล้ว และถ้าการระบาดยังยืดเยื้อ ก็มีแนวโน้มสูงมากที่ดัชนีดังกล่าวในปัจจุบันจะลดลงต่ำกว่า 0 ครับ
ภาวะเงินฝืด ส่งผลทำให้ราคาสินค้าลดต่ำลง ซึ่งมันควรจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคหลัก(ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง)ใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้วประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ผู้บริโภค หรือคนหาเช้ากินค่ำเลยครับ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะได้ประโยชน์ คือผู้ปล่อยกู้ และผู้มีรายได้ประจำ(ค่อนข้างสูง)ทั้งสิ้น
1
ลองคิดภาพสิครับ ต่อให้ราคาสินค้าต่ำลง แต่ถ้าคุณเป็นพ่อค้าแม่ค้าตามตลาด คุณก็ต้องแข่งขันกับคนอื่น ซึ่งก็คือต้องตั้งราคาขายให้ต่ำลงไปด้วย แล้วใครจะอยากขายครับ ? ดังนั้นแล้วมันจะเกิดเหตุการณ์ "กักตุนสินค้า" และจากนั้นจะตามมาด้วยการ "โก่งราคา" ในที่สุด
และไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้านะครับ ต่อให้เป็นนายจ้างก็เถอะ แต่ถ้าเป็นภาคเอกชน ยังไงก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กับบริษัทอื่น โดยเฉพาะภาครัฐที่เงินทุนสนับสนุนแน่นกว่า (ทั้งด้านสวัสดิการและอื่น ๆ)
เมื่อผู้บริโภคมีเงิน และต้องการซื้อ แต่ไม่มีใครอยากขาย ตลาดก็จะวนเข้าสู่ลูปที่ขาดสภาพคล่อง(อีกแล้ว) และอย่าลืมนะครับว่า "หนี้สิน" ที่เรากู้มาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม มันไม่สามารถหายไปได้เหมือนสภาพคล่องในตลาดครับ
แล้วในขณะที่คนเหล่านี้กำลังอยู่ในวังวนที่ไม่จบสิ้นของความปั่นป่วนทางการเงิน พวกนายแบงค์ รวมถึงผู้ปล่อยกู้อื่น ๆ กำลังทำอะไรอยู่ ? คำตอบคือไม่ต้องทำอะไรครับ คนพวกนี้ก็แค่ถือครองหนี้ที่คนส่วนใหญ่กู้ไปเอาไว้เรื่อย ๆ แล้วรอเวลาที่ธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับเวลาครบกำหนดชำระหนี้ที่จะมาถึง...
นั้นก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมคนรวย(ที่รู้ทัน)ยิ่งรวยขึ้น และคนจนยิ่งจนลง
บันทึกหน้าที่ 2 : The Collapse in Money Velocity
...การพังทลายลงของสภาพคล่องทางการเงิน...
เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังหยุดชะงัก และเงินไม่ถูกใช้จ่าย สิ่งนี้บังคับให้เกิดภาวะเงินฝืดโดยอัตโนมัติ
ความหมายที่ถูกต้องของ "ภาวะเงินเฟ้อ" คือ การขยายตัวของ Supply ทั้งหมดสำหรับ "เงินและสินเชื่อ" ในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งตรงข้ามกับ "ภาวะเงินฝืด" ที่อธิบายถึงการหดตัวลงของ Supply
ขออธิบายด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางด้านการเงินง่าย ๆ คือ
MV = PQ (เข้าใจง่ายครับ อย่าพึ่งอคติกับคณิตศาสตร์นะ)
M = Money (เงิน)
V = Velocity of Money (ความเร็วของเงิน)*
P = Price (ระดับราคาทั่วไป)
Q = Quantity (ปริมาณสินค้า)
* Velocity of Money หรือความเร็วของเงิน เป็นคำที่อธิบายถึงอัตราความเร็วในการ "เปลี่ยนมือ" ผู้ถือเงิน ให้ง่ายกว่านั้นคือ ถ้าตัวเลขของ V สูงหมายถึง เจ้าของเงินได้เงินมาและใช้จ่ายเงินไปสู่ผู้อื่นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันสอดคล้องกับ "สภาพคล่อง" ของตลาด
ซึ่งปัจจุบันนี้เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ V ลดลงอย่างมากเนื่องจากคนไม่ค่อยใช้จ่าย (ถือเงินไว้กับตัวนานขึ้น) ดังนั้นตามสมการ MV=PQ แล้วหากเราไม่เพิ่ม M ในขณะที่ V ลดลง มันก็จะทำให้ P และ Q ลดลงนั่นเอง (ราคาขายต่ำลง และบริษัทก็ผลิตน้อยลง)
ดังนั้นคำตอบที่ว่าทำไม FED ถึงต้องอัดฉีดเงินมหาศาล นั้นก็เพราะต้องการเพิ่ม M ให้สมดุลกับ V ที่ลดลงไป เพื่อรักษา P และ Q ให้คงเดิมนั่นเอง
ภาพด้านบนคือกราฟของ V ในปัจจุบัน (2020) ส่วนภาพด้านล่างที่ World Maker กำลังจะนำเสนอต่อไปคือกราฟของ V ในช่วงวิกฤต Great Depression (1929) อยากให้ผู้อ่านลองเปรียบเทียบกันดูครับ
โดยหลักคิดปกติแล้ว การที่ FED พิมพ์เงินออกมา ต้องทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้นใช่ไหมครับ แต่ในสถานการณ์นี้อย่าลืมว่า V มันลดลงครับ ไม่ใช่คงที่
และพอ V มันลดลงแล้วเนี่ย ทำให้มีอีกสิ่งที่น่าคิดกว่านั้นอีกครับ
คำถามก็คือ ถ้าหากวิกฤตได้คลี่คลายลงแล้ว และ V ได้เพิ่มขึ้นกลับมาในระดับของสภาวะปกติ หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากผู้คนมักจะตอบรับอย่างรุนแรงต่อข่าวดีหลังข่าวร้ายเสมอ แล้ว FED จะทำอย่างไรต่อไป ???
แน่นอนครับว่า FED ก็ต้องลด M ลงใช่ไหมครับ เพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ P และ Q พุ่งสูงเกินไป และเมื่อนั้นแล้วช่วงเวลาแห่งการ "ทวงหนี้" ก็จะมาถึงครับ เราจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ เช่น ลดการปล่อยสินเชื่อ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลับไปที่ระดับเดิม
พอถึงเวลานั้นเราจะได้เห็นบริษัทต่าง ๆ หาเงินมาใช้หนี้กันเลือดขึ้นหน้าเลยล่ะครับ จะพูดว่ามันคือการทำนายอนาคตก็ใช่นั่นแหละครับ แต่มันต่างกันนิดนึงตรงที่สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่ออยู่ในสถานการณ์และปัจจัยส่งเสริมที่คล้ายกัน เช่นเดียวกับในปัจจุบัน
บริษัทไหนใช้หนี้ทันก็รอด ส่วนบริษัทที่ใช้หนี้ไม่ทัน...ก็ล้มละลาย ซึ่งไอ้การ "ล้มละลาย" เนี่ยมันเป็นข้อกำหนดของกฎหมายทางการค้าซะด้วยสิครับ นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้มีสิทธิจะมาช่วยเหลือเยียวยาให้รอดพ้นวิกฤตไปได้ตลอดครับ ในบางครั้งจึงต้องดิ้นรนกันเอาเอง เนื่องจากภาครัฐก็มีภาระของตัวเองอยู่มหาศาลแล้ว
หลายคนอาจสงสัยว่าหากบริษัทล้มละลาย หนี้จะไปไหน? คำตอบก็คือมันจะกลายเป็น "หนี้เสีย" นั่นเอง ซึ่งบุคคลที่ถูกฟ้องล้มละลายก็ยังคงเป็นหนี้อยู่ หรือหากมีทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากเงินสดเหลือก็จะต้องถูกยึดไปขายเพื่อนำเงินมาชดใช้ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือจะไม่สามารถประกอบธุรกิจใด ๆ ได้ในสถานะ "บุคคลล้มละลาย"
บันทึกหน้าที่ 3 : Investors Give Cash Away
...นักลงทุนเทเงินสดออกไป...
หลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งบอกเราว่า "ภาวะเงินฝืด" เพึ่งจะเริ่มต้น
ขัดกับหลักการทั่วไปของ "ภาวะเงินฝืด" ที่กล่าวว่า "Cash is King" เพราะโดยปกติของภาวะเงินฝืดนั้น เงินสดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สินทรัพย์อื่น ๆ ราคาตกต่ำลง
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น นักลงทุนควรเก็บเงินไว้กับตัวสิ ตกลงยังไงกันแน่ ? ไปดูกันครับ
ที่ World Maker บอกว่ามันขัดกันก็เพราะตลาดเงินกำลังโดนแทรกแซง ทำให้มันไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงครับ และสิ่งนี้จะส่งผลกระทบให้นักลงทุนทั่วไปเกิด Bias* จนมองไม่เห็นความจริงและตัดสินใจผิดพลาดอย่างง่ายดาย
*Bias หมายถึง ความคิดตามหลักเหตุผลซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น นักลงทุน A เชื่อว่าหุ้นจะขึ้นเพราะปัจจัย X แล้วหลังจากนั้นไม่นานราคาหุ้นก็ขึ้นมาจริง ๆ ทำให้นักลงทุน A ยิ่งมั่นใจว่าปัจจัย X คือปัจจัยที่ทำให้หุ้นขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหุ้นอาจจะขึ้นจากปัจจัยอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับปัจจัย X เลย
ราคาหุ้นที่ขึ้นมาก่อนหน้านี้ แน่นอนว่ามันมาจากการเข้าซื้อโดยสถาบันการเงินอย่างธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ (โดยเฉพาะ FED) ไม่ได้เป็นเพราะตลาดกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างที่นักลงทุนบางกลุ่มเข้าใจ
ลองคิดตามหลักความเป็นจริงนะครับ ในตอนที่หุ้นกำลังดิ่งอย่างหนัก นักลงทุนคนไหนจะกล้าเข้าซื้อด้วยจำนวนเงินมหาศาลขนาดที่ผลักให้ตลาดหุ้นกลับมาเป็นสีเขียวเส้นยาว ๆ จนนักลงทุนรายย่อยเริ่มทยอยซื้อตาม ถ้าไม่ใช่กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ? (น่าคิดไหมล่ะครับ)
หลักฐานก็ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ มี 3 รูปนะครับ
1. รูปแรกแสดงถึงการถือครองสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงหนี้สินของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ในช่วงเริ่มมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ครับ
Source : Goldmoney
2. รูปที่สองแสดงถึงการถือครองสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงหนี้สินของธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวกัน หลังจากปรับใช้มาตรการช่วยเหลือมาสักพักครับ
Source : Goldmoney
3. รูปที่สามแสดงถึงการถือครองสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงหนี้สินของ FED ในปัจจุบันครับ จะเห็นได้ว่าการถือครองสินทรัพย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Source : Federal Reserve
อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นขึ้นมาจากการเข้าซื้อของ FED นั้น ก็สามารถสร้าง Bias ที่รุนแรงให้แก่นักลงทุนที่เชื่ออยู่แล้วว่าตลาดหุ้นจะดีขึ้น เป็นการเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้อย่างมาก และเมื่อเป็นอย่างนี้สัก 2-3 ครั้ง พวกเขาก็จะกล้าลงทุนด้วยเงินจำนวนมากขึ้น ด้วยความมั่นใจที่ถูกเติมเต็มมากขึ้นเช่นกัน
เกล็ดความรู้ : สิ่งนี้เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามทฤษฎี Reflexivity ของพ่อมดแห่งการเงินอย่าง George Soros ครับ
ข้อสังเกต : จริง ๆ แล้วนักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้คิดผิดว่าตลาดหุ้นจะดีขึ้น เพราะต่อไปมันจะดีขึ้นแน่นอน 100% แต่สิ่งที่พวกเขาส่วนใหญ่ผิดคือเรื่องของจังหวะและเวลา (มันจะดีขึ้นแน่นอน แต่ต้องรอให้ผ่านจุดต่ำสุดไปก่อน) การมองหาโอกาสทองในช่วงวิกฤตที่ทุกคนกำลังหวาดกลัว เป็นเรื่องฉลาด และเป็นสิ่งที่ดี ควรค่าแก่การสนับสนุนให้ทำต่อไป แต่ต้องอย่าลืมคำนึงถึงความเป็นจริง และต้องแน่ใจด้วยว่านั่นคือโอกาสทองจริง ๆ ไม่ใช่กับดัก
Dealogic บริษัทผู้นำด้านการเงินระดับโลกระบุว่า การออกหุ้นกู้โดยบริษัทที่มี Credit rank อยู่ในระดับ "น่าลงทุน (Investment Grade)" เพิ่มขึ้นไปที่ระดับสูงกว่า 2.44 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2019 (ตอนนั้นมียอดกู้ 2.52 แสนล้านดอลลาร์)
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า บริษัทเหล่านี้เอาเงินกู้ของนักลงทุนไปทำอะไร ?
สิ่งที่บริษัทเหล่านี้ทำหลังจากได้เงินทุนจำนวนมหาศาลโดยการออกหุ้นกู้จากนักลงทุน คือการทำ Leveraged Buyout และ Leveraged Buybacks ครับ
Leveraged Buyout หมายถึง การเข้าซื้อหุ้นของบริษัทอื่นโดยใช้เงินที่กู้ยืมมา โดยเป้าหมายของบริษัทที่เข้าซื้อคือการกินเงินปันผลและทำกำไรจากราคาส่วนต่างของหุ้น พูดง่าย ๆ คือบริษัทเหล่านี้กะว่าจะเอาเงินกู้ยืมไปลงทุนต่อในบริษัทอื่น และรอกินกำไรจากส่วนต่างอย่างเดียวเลย ไม่ต้องทำอะไรมาก สบาย ๆ เหมือนเสือนอนกิน
4
ซึ่งโดยส่วนใหญ่สัดส่วนหนี้ต่อเงินทุนในการทำ Leveraged Buyout จะอยู่ที่ 90% ต่อ 10% ครับ กล่าวคือในจำนวนเงิน 100% ที่เข้าซื้อจะมีถึง 90% เป็นเงินที่กู้มาอีกที หรือก็คือ "หนี้" นั่นแหละครับ
1
ภาพด้านล่างจะอธิบายถึงอุดมคติของบริษัทเหล่านี้ครับ จะเห็นได้ว่าหากมันเป็นไปตามแผน หนี้ที่กู้ยืมมาจะลดลง โดยสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นจะกลายมาเป็นกำไรให้บริษัทครับ
ส่วน Leveraged Buyback ก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันตรงที่เป็นการ "ซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองคืน" ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเงินปันผลต่อหุ้นที่สูงขึ้น
โดยเป้าหมายของการซื้อหุ้นบริษัทตัวเอง ก็คือการรอกินเงินปันผล และเทขายตอนที่ราคาขึ้นไปสูงมาก ๆ แล้วก็เอากำไรจากส่วนต่างตรงนั้นไปจ่ายคืนหนี้ที่กู้มาจากนักลงทุนอีกที (สบายเกิ๊น)
สรุปคือ Leveraged Buyout และ Leveraged Buybacks ต่างกันแค่บริษัทที่เข้าซื้อ แต่มีเป้าหมายเหมือนกัน 100%
ทั้งหมดนั้นก็คือสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้น All-time high กันเป็นว่าเล่น (ฟองสบู่ที่ใหญ่สุด ๆ จากการเก็งกำไรโดยใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาอีกที)
จนมาถึงในปัจจุบัน ที่ตลาดหุ้นโดนเทขายอย่างหนักหน่วงไปแล้วรอบหนึ่ง พอได้เงินกู้มาใหม่รอบนี้ บริษัทเหล่านั้นก็เริ่มการ Leveraged Buyout/Buybacks อีกครั้งอย่างเมามัน รวมถึงเงินที่อัดฉีดเข้ามาพยุงตลาดหุ้นไว้อีก
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงดัชนีการออกหุ้นกู้โดยธนาคาร Barclays ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณยังห่างไกลจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2008 อยู่มาก แต่ลองสังเกตดูว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของกราฟก็สูงชันกว่าในช่วงปี 2008 มากเช่นกัน สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเรา? คำตอบคือมันกำลังบอกว่า "นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น"
ข้อสังเกต : แปลกนะครับ ระบบการเงินทั่วโลกสนับสนุนให้คนเป็นหนี้ตลอดเวลา เพราะอะไร? นั่นก็เพราะคนจะได้ทำงานเป็นลูกจ้างใช้หนี้กันไปตลอดชีวิตไงล่ะครับ ส่วนคนที่ใช้ชีวิตสบาย ๆ นอนกิน ก็คือคนที่รู้ทันระบบเหล่านี้ และรู้ว่าเวลาไหนควรทำอย่างไร นี่คือความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ว่าระบบการเงินทำงานอย่างไร
แน่นอนว่าเมื่อนักลงทุนผู้ Bias เห็นสีเขียวและอัตราเงินปันผลที่สูงทะลุขอบฟ้าเช่นนี้ ใครจะอดใจไหวล่ะครับ ก่อนหน้านี้ก็พุ่ง All-time high ติด ๆ กันอย่างสวยงาม และจู่ ๆ ก็มาเกิดวิกฤตให้ราคาหุ้นตกหนักจนดูเหมือนโคตรถูก แถมเงินปล่อยกู้ก็ออกมาไม่จำกัด ดอกเบี้ยก็ต่ำ ปัจจัยทุกอย่างพร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจ นี่แหละโอกาสทองที่เราตามหา !!
เห็นหรือยังครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลังจากหุ้นขึ้นในรอบนี้ ?? คำตอบก็คือบริษัทเหล่านี้จะต้องเทขายหุ้นทิ้งเพื่อเอากำไรมาใช้หนี้อีกที พร้อม ๆ กับการที่ FED ถอนเงินที่เคยช่วยพยุงตลาดไว้ออกไป (เอาหนี้คืน พร้อมกำไรส่วนต่าง) ทีนี้แหละครับ เราจะเห็น Second Wave of Bear Market แน่นอน
ส่วนความเสี่ยงในการเกิด Third Wave นั้นจะมาจากการถอนหุ้นของนักลงทุนรายย่อยทั่วโลก ที่ขาดความเชื่อมั่นอย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงการล้มละลายของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็คงจะเป็นคลื่นลูกที่รุนแรงที่สุด และเป็นจุดต่ำสุดของตลาดหุ้น (คลื่นขาลงครบ 3 ลูกตามทฤษฎี Elliott Wave พอดี)
ภาพตอนนั้นสำหรับใครที่ยังถือหุ้นอยู่ก็จะรู้สึกเหมือนโดน Thanos ใส่ถุงมือแล้วดีดนิ้วใส่ครับ ส่วนใครที่ถือเงินสดไว้กับตัว เมื่อถึงตอนนั้น World Maker คิดว่ามันเป็น "โอกาสทอง" ที่จะ Buy รัว ๆ แล้วล่ะครับ
ยังครับ !! ยังไม่จบ มีอีก 2 เรื่องที่คุณต้องรู้ แต่ตอนนี้ให้โอกาสพักหายใจกันก่อนสักแปบนึง...ถ้าใครพร้อมแล้วก็เชิญเสพความรู้ต่อด้านล่างได้เลยครับ
บันทึกหน้าที่ 4 : The Excess of Credit Situation
...สถานการณ์ของสินเชื่อส่วนเกิน...
Hamilton Bolton ผู้เชี่ยวชาญด้าน Elliott Wave ซึ่งเคยศึกษาประวัติศาสตร์การเกิดภาวะถดถอยครั้งใหญ่ (Depression) ตั้งแต่ปี 1830 จนถึงปี 1957
เขาได้ข้อสรุปสำคัญดังนี้
1. ทุกครั้งของการเกิดภาวะถดถอยครั้งใหญ่ จะเริ่มจากการเกิดภาวะเงินฝืดในสินเชื่อส่วนเกิน ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัยหลักอื่น ๆ
2. มีบางครั้งที่สถานการณ์เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนเกิน เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีสุดท้ายก่อนฟองสบู่แตก
3. เหตุการณ์อื่น ๆ อย่างเช่นการล้มละลายครั้งใหญ่ หรือภาวะฉุกเฉินที่บีบบังคับให้เราต้องทำอะไรสักอย่าง จริง ๆ แล้วมักจะมีสัญญาณให้เห็นล่วงหน้าเสมอ อย่างน้อยก็หลายเดือนทีเดียว (ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป) และในหลายกรณีที่เกิดขึ้น ก็มีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาก่อนถึงหลายปี
ดังนั้นแล้วข้อสรุปของเขาคือ "การก่อตัวเพิ่มมากขึ้นของสินเชื่อส่วนเกิน คือเงื่อนไขหลักก่อนที่จะเกิดภาวะเงินฝืด"
World Maker ขอนำเสนอกราฟด้านล่างนี้ ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ "หนี้ภาคเอกชน" สหรัฐฯ เมื่อช่วงวิกฤต Great Depression ปี 1930
Source : Federal Reserve
และแน่นอนว่าตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ในช่วงปี 1930 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตก็ทำ All-time high กันเป็นว่าเล่นครับ ดูได้จากกราฟด้านล่างเลยครับ เราจะเห็นชัดเจนว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น
ที่นี้ลองดูแนวโน้มหนี้ภาคเอกชนของสหรัฐในปัจจุบัน ตามกราฟด้านล่างนะครับ จะเห็นความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งเลยทีเดียว และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือจริง ๆ แล้วกราฟมันบอกเราว่าภาวะเงินฝืดเริ่มมาตั้งแต่วิกฤตซัพไพรม์เมื่อปี 2008 แล้ว และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ง่าย ๆ คือวิกฤตตอนนี้ มันรวมปัจจัยทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกันหมดเลย)
และปัจจุบัน จากการที่ราคาของหุ้นก่อนหน้านี้ได้ขึ้นไปทำ All-time high อย่างต่อเนื่องมาแล้ว เศรษฐกิจก็กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากหนี้ภาคเอกชนจะพุ่งสูงขึ้นในช่วงแรกของวิกฤต เพราะมันมีสาเหตุมาจากการที่ GDP ลดต่ำลง แต่หลังจากนั้นเราจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดอย่างรุนแรง
...ผู้ให้ยืม จะไม่อยากให้ยืม ส่วนผู้กู้ ก็จะไม่อยากกู้...
เพื่อให้เห็นภาพชัดกว่านั้น World Maker มีกราฟของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวิกฤตปี 1980 มาให้ดูด้านล่างอีกด้วยครับ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นในตอนนั้น บอกเลยว่ามุมมองต่อตลาดของผู้คนดีมาก ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำจุดสูงสุดทุกปีตั้งแต่ 1980 จนถึงปี 1989 และได้พังทลายลงในปี 1990
นอกจากนี้หากลองสังเกตในรูปดูดี ๆ จะเห็นว่าในจุดที่ตลาดหุ้นสูงสุดไปแล้ว หนี้ภาคเอกชนยังคงพุ่งขึ้นต่อไปสักพัก และหลังจากนั้นก็เกิดภาวะเงินฝืดอย่างรุนแรง
ข้อสังเกตุอีกอย่างคือ "ระดับหนี้ของญี่ปุ่นเทียบกับ GDP ในตอนนั้น อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับสหรัฐฯ ในตอนนี้ ที่ประมาณ 200% of GDP"
อีกสิ่งที่เราควรจำไว้ คือการที่หนี้ภาคเอกชนยังคงอยู่ได้ขนาดนี้ มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า FED ได้ทำการ QE เข้าไปอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ซึ่งนั่นทำให้งบดุลของ FED ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้วครับ
และกราฟสุดท้าย(ของตอนนี้) จะแสดงให้เห็นถึง Demand ของสินเชื่อที่ลดลงในช่วงวิกฤตซัพไพรม์ปี 2008 ครับ
บันทึกหน้าที่ 5 : Inflation Slowed Sharply
...อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว...
ในเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ชะลอลงอย่างรวดเร็ว เสริมกับปัจจัยการแพร่ระบาดของ Coronavirus ที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก
ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) หรือ CPI ลดลง 0.4% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2020 และลดลง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งในปีก่อนหน้านั้น CPI เพิ่มขึ้น 2.3%
ดัชนีหลัก (The Core index) ซึ่งไม่รวมถึงภาคอาหารและพลังงาน ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า และเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2010
รายละเอียดที่น่าสนใจอื่น ๆ คือ
หมายเหตุ : ทั้งหมดเทียบจากเดือนกุมภาพันธ์ 2020
1. ราคาตั๋วเครื่องบินลดลงกว่า 12.6%
2. ราคาเสื้อผ้าลดลง 2%
3. ราคารถออกใหม่ลดลง 0.4%
4. ราคาอาหารลดลง 0.3%
5. ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานลดลง 5.8%
6. ต้นทุนน้ำมันดิบลดลง 10.5%
7. ราคาที่พัก/อสังหาริมทรัพย์ ลดลง 6.8%
8. ราคาให้เช่าที่พัก/ที่ดิน ลดลง 0.3%
9. ราคาสินค้าและอุปกรณ์ทำความสะอาดเพิ่มขึ้น 1.1%
10. ราคาพืชและดอกไม้สำหรับปลูกภายในบ้านเพิ่มขึ้น 2.1%
ข้อสังเกต : การลดลงของภาวะเงินเฟ้อ สอดคล้องโดยตรงกับการก่อตัวของภาวะเงินฝืด อันนี้ไม่ต้องอธิบายอะไรมากนะครับ Make Sense สุด ๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเสี่ยงที่อยู่เกิดภาวะเงินฝืดครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านไม่มากก็น้อย มองเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา