20 มิ.ย. 2020 เวลา 11:37 • ปรัชญา
เสรีภาพ ในปรัชญา Existentialism
ฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre) EP1.
1
อารัมภบท... intro
ฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้สถาปนาปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(Existentialism) ขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่บรรดาคนหนุ่มคนสาวและผู้เทิดทูนเสรีภาพทั้งมวล และดูเหมือนว่า เขาจะเป็นติ่งมาร์กซิสด้วยนะ
ฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre)
นักวิจารณ์บางคนกล่าวหาว่าซาร์ตสร้างปรัชญาขึ้นมาเพื่อยุยงหนุ่มสาวให้ทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีและคำสอนของศาสนาทั้งหลาย
อีกทั้งสนับสนุนให้บุคคลเหล่านี้กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจบางคนไม่รีรอที่จะพูดถึงซาร์ตร์ด้วยความรู้สึกสะอิดสะเอียน ดูถูกดูหมิ่น ดูแล้วก็มีชะตาคล้ายๆกับโสเครตีส(Socrates) นักปรัชญากรีกยุคคลาสสิกด้วย...
แต่เฮียซาร์ตพี่แกก็พอตัวครับ ไม่โดนการเมืองเล่นงานหนัก แบบผู้เฒ่าโสเครตีส
เวลาเอ่ยถึงปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ (Existentialism)เรามักนึกถึงแต่ปรัชญาของฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre) มาก่อนเลย แต่จริงแล้ว มีนักปรัชญาสายนี้อยู่หลายคน อาจเป็นที่เฮียแกดังเพราะปฏิเสธรางวัลโนเบล
1
เฮียซาร์ตเขาบอกว่าเขามีเสรีภาพที่จะเขียนและมีเสรีภาพที่จะไม่รับรางวัลใดๆภายใต้องค์กรหรือสถาบันใดทั้งนั้น
ถ้ารับโนเบล เขาก็จะเป็นคนตลบแตลง ปรัชญาของเขาก็จะไม่มีความหมายใดๆ
ฟังแล้วก็พอเข้าใจได้ สุดติ่งจริง
ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(Existentialism) หลายรูปแบบด้วยกัน แต่ละรูปแบบก็มีลักษณะแตกต่างกันไปตามความคิดของผู้สร้าง ดังนั้นเวลาพูดถึงปรัชญานี้ เราจึงต้องบอกด้วยว่าเป็นปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ของใคร
นักปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(Existentialism)
นอกจากซาร์ตร์แล้ว นักปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ซึ่งมีชื่อเสียงได้แก่ ซอเรน เคียร์เคการ์ด (Soren Kierkegard) มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger),คาร์ล ยาสเปอร์ (Karl Jasper) ชาวเยอรมัน กาเบรียล มาร์แซล (Gabriel Marcel) ฟรีดิช นิชเช่ (Friedrich Nietzsche) และ อัลแบร์ กามูส์(Albert Camus)คนนี้เป็นนักเขียนดัง รางวัลโนเบล แล้วก็เพื่อนกันกับเฮียซาร์ต...
ตัวผมเอง ส่วนตัวจะสนใจปรัชญาExist ของ ฟีโอดอร์ มิคาอิลโลวิช ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Mikhailovich Dostoyevsky) คนนี้เขาเป็นชาวรัสเซีย เราจัดว่าเป็นนักเขียนและนักปรัชญาสาย Existแบบหนึ่ง
ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Mikhailovich Dostoyevsky)
ประวัติชีวิตนั้นไม่ธรรมดา งานเขียนนวนิยายของเขาอย่าง "พี่น้องคารามาซอฟ" Brothers Karamazov "The Grand Inquisitor" หรือ"อาชญากรรมและการลงทันฑ์" 'Crime and Punishment' ลองหาอ่านดูนะครับ มันลึกซึ้งกินใจบอกไม่ถูก ทำให้ปลดล๊อคความคิดอะไรหลายอย่าง
1
ไว้วันหน้าจะเรียบเรียงเขียนเล่าให้อ่านเล่นๆกันในBlockdit โอกาสต่อไปละกัน
เว้นจากเคียร์เคการ์ด(Soren Kierkegard) ผู้ซึ่งเป็นนักปรัชญาศาสนาในกลางศตวรรษที่ 19
คนที่เหลือนั้นเป็นคนร่วมสมัยเดียวกับซาร์ตร์ สร้างปรัชญาExistentialismขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ซอเรน เคียร์เคการ์ด (Soren Kierkegard)
เราเรียกปรัชญาของนักคิดทั้งหมดนี้ว่าเป็นปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ ภาษาไทย "อัตถิภาวะนิยม" เพราะเป็นปรัชญาเกี่ยวกับสภาวะความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า existence ผมขอใช้คำย่อว่าExist ละกันครับ
ปรัชญาตะวันตกก่อนเคียร์เคการ์ดตั้งแต่สมัยเพลโต (Plato) เมื่อ 300 กว่าปีก่อนคริสต์กาล มาถึงสมัยเฮเกล (Hegel) ในศตวรรษที่ 18 มุ่งแสวงหาสัจธรรมทั่วไปเกี่ยวกับชีวิต โลก และจักรวาลแต่อย่างเดียว
ในBlockdit ผมโพสต์ บทความเรื่องจิตนิยม และปรัชญาของเพลโตไว้ ตอนนี้4 Partแล้วนะครับ ตามอ่านกันได้
บทความ Blockdit ปรัชญาจิตนิยมของเพลโต
ปรัชญากรีกยุคคลาสสิก ไม่สนใจศึกษาชีวิตมนุษย์แต่ละคนที่ประกอบไปด้วยความทุกข์ ความสุข ความสมหวัง และความผิดหวังเลย เพราะถือว่าชีวิตดังกล่าวนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ควรค่าแก่การคิด
ด้วยเหตุนี้ปรัชญาในสมัยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นนามธรรม ห่างไกลจากประสบการณ์ธรรมดาสามัญของคนทั่วไปเข้าถึง
จนทำให้ปรัชญาเป็นเสมือนสิ่งล่องลอยอยู่กลางอากาศที่ไม่มีคนมองเห็น
ทว่าสำหรับนักปรัชญาExist แล้ว สิ่งนี้ทำให้ปรัชญาไม่น่าสนใจและไม่มีความหมายสำหรับคนทั่วไป
ถ้าหากปรัชญาไม่ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตของเราและสภาวะต่างๆ ที่ประสบอยู่แล้ว เราจะศึกษาปรัชญาไปทำไมกัน
เครดิตภาพ : https://tuemaster.com
เพราะเราไม่มีเวลามากมายนักในชีวิตที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง
การเรียนรู้สิ่งที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา หรือไม่เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นั้น เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ชีวิตแสนสั้นและไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์ ไม่ควรเสียเวลาเรื่องพวกนี้
2
ปรัชญาExist เกิดจากความพยายามของนักปรัชญากลุ่มหนึ่งที่จะเปลี่ยนเนื้อหาของปรัชญาใหม่ ให้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากกว่าเรื่องอื่น
ปรัชญาExist สไตล์ของ ซาร์ต (Jean-Paul Sartre) ไม่เพียงทรงอิทธิพลอย่างสูงยิ่งในยุคสมัยของเขาเท่านั้นแต่ยังส่งผลล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน หลักคิดในข้อที่ว่า มนุษย์คือเสรีภาพ อันเป็นแก่นที่เขาสรุปรวมเอาไว้นั้น
ฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre)
เป็นหัวใจสำคัญให้คนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยทั่วทุกมุมโลกได้ยึดถือเป็นสายธารใหญ่ในการนำพาชีวิต หลักปรัชญาของเขายึดมั่นอยู่กับความเป็นอิสระในการเลือก ด้วยเหตุนี้ แต่ละบุคคลจึงเลือกตามเจตจำนงของตน
2
ทำให้มองว่าเสรีภาพของมนุษย์ไม่มีขอบเขตแน่นอน แท้จริงแล้วซาร์ตร์ได้เสนอทรรศนะเรื่องความรับผิดชอบด้วย โดยชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพและความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กันเสมอ เป็นการแสดงขอบเขตให้เสรีภาพมีครรลองและคุณค่ามากขึ้น
บุคคลต้องทบทวนความคิดก่อนกระทำสิ่งใด เพราะเหตุว่าต้องรับผิดชอบต่อการใช้เสรีภาพของตน เช่นนี้แล้ว ความรับผิดชอบจึงเป็นเสมือนขอบเขตที่มาจำกัดมิให้บุคคลทำอะไรตามใจชอบ
ทำให้หลายคนพยายามหลอกตัวเอง (Bad Faith) ว่าไม่มีเสรีภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบซึ่งผิดเจตนารมณ์ของซาร์ตร์อย่างสิ้นเชิง
2
เพราะเสรีภาพตามทรรศนะของซาร์ตต้องเป็นการตัดสินใจเลือกกระทำด้วยตนเอง และไม่ก้าวล่วงต่อเสรีภาพของผู้อื่นด้วย
เสรีภาพจึงจะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และมีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด
ดังนั้น เสรีภาพในทั้งสองทรรศนะจึงมิใช่ว่าบุคคลจะทำอะไรก็ได้
แต่ยังคงมีขอบเขตอยู่บ้างดังที่พระพุทธศาสนาสอนว่า
"ชีวิตมิได้อยู่ด้วยกฎข้อบังคับ แต่ชีวิตที่ดีงามอยู่ด้วยหลักการ"
1
เหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เปิดกว้าง นับเป็นศาสนาที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากที่สุด แม้ในปรัชญาของซาร์ตก็ไม่มีขอบเขตที่เป็นหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่มุ่งเสริมให้แต่ละบุคคลเป็นผู้ใช้เสรีภาพอย่างถูกต้อง คือใช้อย่างรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการใช้เสรีภาพของตน ตามความเหมาะสมของเหตุและปัจจัย
ซึ่งสุดท้ายขอบเขตของเสรีภาพก็คือ พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
1
ชาร์ตบอกไว้ว่า "มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ"(Man is condemned to be free) คำพูดนี้ดูเป็นคำพูดที่แปลก เพราะการบอกว่าเราถูกสาปให้มีเสรีภาพ ฟังดูราวกับเสรีภาพเป็นสิ่งไม่ดี
แต่สำหรับชาร์ตแล้ว เรามีเสรีภาพที่จะฆ่าใครก็ได้
เรามีเสรีภาพที่จะขโมยของ จะด่า จะดราม่า จะกินจะเที่ยว จะเรียน หรือทำอะไรก็ได้
แต่เราต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา เพราะมนุษย์ถูกบังคับให้เลือก
การฆ่าเกิดจากการเลือกของเรา หรือถ้าเราจะไม่ฆ่า ก็เป็นการเลือกของเราที่จะไม่ฆ่า เสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่บังคับให้มนุษย์ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เราเลือก
1
ยกตัวอย่างกรณีดัง เมื่อปีที่แล้ว เรื่องการวาดภาพ พระพุทธรูปอุนตร้าแมนสไตล์ มีเสียงวิภากษ์วิจารณ์อย่างน้อยก็สองฝ่ายล่ะ พวกที่ติเตียนก็บอกว่าไม่เหมาะไม่งาม ไม่เคารพ ลบหลู่พระพุทธเจ้า หักหาญน้ำใจพุทธศานิกชน
เครดิตภาพ: https://www.dailynews.co.th
พวกสายอาร์ทที่เห็นด้วย ก็บอกว่า นี่คืองานศิลปะ ยกทฤษฎีวิวัฒนาการศิลปะ ยุคเก่า ยุคกลาง ยุคโมเดริน์...ศิลปะเพื่อศิลปะ! อะไรเยอะแยะมาสาธยายกัน...
เหตุผลทั้งสองฝ่าย ก็ฟังขึ้นทั้งนั้น...
แต่ถ้าเฮียซาร์ต มาแจมด้วย ในทัศนะ Existentialismเขาก็จะบอกว่า
"ใช่ คุณสามารถครีเอทงานศิลป์ได้ไม่มีปัญหา" นี่คืองานสร้างสรรค์
ภาพสวย เท่ห์ คอสตูมเก๋ เห็นดีเห็นงามด้วย ยังไม่นับว่าใครใช้ให้ทำนะ
แต่เมื่อกล้าทำออกมาโชว์บนห้างแล้ว ก็ต้องยืดอกยอมรับผลที่ตามมา
เพราะว่าชาวบ้านร้านตลาดเขาไม่ได้เข้าใจในงานศิลป์อย่างลึกซึ้งว่าภาพนั้นมีความหมายว่าพระพุทธเจ้าเป็นดั่งซุปเปอร์ฮีโร่ ผดุงสันติและความยุติธรรม อย่างที่ทีมงานต้องการจะสื่อ
เครดิตภาพ: https://www.bangkokbiznews.com
คนไทยที่เห็นภาพนั้นน้อยคนจะเข้าใจงานศิลป์ได้ลึกซึ้ง
สิ่งที่ชาวบ้านเห็นคือนี่เหมือนเป็นการเอาพระศาสดามาเล่น เอาพ่อกูมาล้อ ว่าง่ายๆ ตบหัวกันนี่หว่า!!...
เพราะฉะนั้น การออกมาแสดงการขอโทษอย่างจริงใจ แทนที่จะแก้ตัวหรือตัดพ้อประชดออกสื่อก็ถือว่าเป็นสิ่งสมควรทำ ไม่สายเกินไป...
เพราะนั่นคือเสียงของวัฒนธรรมสังคมที่ต้องให้ความเคารพ
ไมเคิลแอนเจโล(Michelangelo)ได้รับการ “ขอร้อง”จากพระสันตปาปา ให้วาดภาพจิตรกรรมบนเพดานวิหารซิสซีนในกรุงวาติกัน (Sistine Chapel )ไมเคิลแอนเจโลเขาทำงานชิ้นนี้ด้วยความทุกข์ทั้งกายและใจ ภาพอะไรรึ?
"The Creation of Adam" ผลงานของเฮียแกล่ะ
เพราะนอกจากเป็นงานที่ไม่ถนัดแล้ว ยังต้องวาดภาพในท่าที่ลำบากอย่างยิ่ง ทั้งแหงนคอทั้งนอนวาด สีอะไรก็หยดใส่หน้าใส่ตานั่นแหละครับ ผลงานชิ้นนี้งดงามมากปัจจุบันต้องต่อคิวกันเพื่อเข้าชม เป็นสร้างสรรค์แต่แหวกขนบที่ถือปฏิบัติกัน
The Creation of Adam
ไม่มีใครกล้าทำกัน เดี๋ยวจะ"ชะตาไข่" ตกใส่หินก็แตก หินตกใส่ก็แตก
คาดว่าสมเด็จพระพระสันตปาปาทราบคอนเซปต์งานตั้งแต่แรกแล้วล่ะ ไม่งั้นไม่ยอมให้ทำหรอก คงอาร์ทพอกัน แต่ก็ต้องปิดวิหารกันเลย จุดตะเกียงเอามืดๆนั่นแหละ เพราะมีคนไม่เข้าใจมาเห็นแล้วทักท้วงก่อน ก็เอวังล่ะครับ
อาเฮียไมเคิลเราก็ต้องรับสภาพนะ เพราะตั้งใจจะสร้างผลงานที่โลกไม่ลืม ทั้งห้อยหัว แหงนคอ แสงก็น้อย ทำงานหลบๆซ่อนๆ ไม่งั้นได้ตายก่อนงานเสร็จแน่นอน มิหนำซ้ำยังถูกกดกันจากพระสันตะปาปาให้วาดเสร็จโดยเร็ว
ไมเคิลแอนเจโล(Michelangelo)
บ้างก็ว่าสีมักไหลมาเข้าตาเขา บ้างก็ว่าการวาดภาพบนเพดานนี้ทำให้เขากลายเป็นคนคอแข็ง เพราะต้องนอนนิ่งๆ วาดภาพนี้อยู่นาน เมื่อเขาวาดเสร็จผลงานของเขาก็กลายเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังต่อมาจริงๆ
ก็ถือว่าเป็นงานศิลป์ที่เปิดตัวมาแบบว่า... อ้าปากค้างกันเลยในยุคนั้น
หากมองประเด็นงานศิลป์จากฐานว่าเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ ศิลปินจำเป็นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหรอก
นักปรัชญาศิลปะและศิลปิน อย่างเช่น คอลลิงวูด (Collingwood ) ถ้ามาแจมด้วยคอลลิงวูด เขาก็จะบอกว่า...
เราอยู่คนเดียวไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีคนฟังเพลงที่เราร้อง เราก็ไม่ใช่นักร้อง เพราะร้องอยู่คนเดียวไม่มีคนฟัง...
R. G. Collingwood
ฉันใดฉันนั้น รูปภาพหรืองานศิลปะอื่นๆก็เช่นกัน ผลิตงานออกมาโดยไม่แคร์ประชาชน ก็คงไม่ชื่อว่าเป็นศิลปิน ในทัศนะของคอลลิงวูด (Collingwood )
กลับมาที่ปรัชญาของซาร์ต
เขากล่าวถึงภาวะสองชนิด (Two kind of beings)
คือ ภาวะในตัวเอง (being in itself) กับภาวะเพื่อตัวเอง (being for itself)
ภาวะสองอย่างนี้เป็นภาวะในโลก(being in the world) และเป็นภาวะสาหรับผู้อื่นด้วย (being for others)
เฮียซาร์ตต้องการปลดล็อคความเป็นมนุษย์ออกจากความเชื่อเรื่องกฏแห่งจริยธรรมสากลของคำสอนศาสนาเทวนิยม
เพื่อให้มนุษย์เป็นอิสระจากที่เคยเป็นสิ่งถูกสร้าง
เพื่อที่จะให้เป็นผู้สร้างเสียเอง
นั่นคือสามารถเลือกตัดสินใจกระทำอะไรได้ด้วยตัวของมนุษย์เอง จึงเป็นการปฏิเสธแนวคิดจิตนิยมเรื่อง"แบบ"ของเพลโต(Plato) พร้อมทั้งปฏิเสธปรัชญาเหตุผลนิยมของค้านท์(Immanuel Kant) และเดการ์ต (ReneDescartes)อีกด้วย
เรอเน่ เดการ์ต (ReneDescartes)
การสูญเสียตัวตน โดยการนำตัวเองให้ตกอยู่ในอิทธิพลของสภาพแวดล้อม จึงเป็นสาเหตุให้ใช้ชีวิตภายใต้การชี้นำและคอยปฏิบัติตามที่คนอื่นคาดหวัง
อดีตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เกิดและสิ้นสุดลงแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ชีวิตมนุษย์พุ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา แม้อดีตจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ แต่ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีอำนาจที่จะมีอิทธิพลเหนือการตัดดสินใจของเรา
2
คำสั่ง "ห้ามเข้า" "ห้ามเดินลัดสนาม" จะมีความหมายก็ต่อเมื่อ เรายอมรับและปฏิบัติตาม หากเราเลือกที่จะไม่เชื่อฟัง คำสั่งนั้นย่อมไม่มีความหมาย
ที่มันยังมีความหมาย เพราะเราเลือกที่จะยอมจำนนเอง
ระบบสังคมก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นอยู่ในระบบสังคมที่เราไม่ชอบ
"เรายังมีทางเลือก"
เลือกที่อยู่ภายใต้การปกครองระบบนี้ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่น มันตัดสินใจยากลำบาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ แต่การที่เราสามารถเลือกได้นั้นสำคัญยิ่งกว่า...
เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์ยอมให้ผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมมากำหนดการเลือกของตัวเขา ความหมายของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงก็หมดสิ้น
1
เราจะก้าวข้ามผ่านภาวะอันจมจ่อม หรือการหลอกตัวเอง ไปสู่ภาวะที่ดีได้หรือไม่
อย่าแถ อย่าโทษใคร...ต้องเลือกเอง...!!
1
ว่ากันตามตามทัศนะของฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre) แล้วแต่วิจารณญาณคุณผู้อ่านนะครับ
เครดิตภาพ: https://slate.com/technology/2013
ปรัชญา Exist... สไตล์ของซาร์ต ถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง
หนังสืองานเขียนของคนไทยบางเล่ม ถึงขนาดนำเอาแนวคิดของซาร์ตมาประกบกับท่านพุทธทาสก็มี
ใครสนใจแนวนี้ก็ศึกษาเพิ่มเติมเองได้
เอาไว้มีโอกาสจะมาต่อรายละเอียดปรัชญาExistentialism ฌอง ปอล ซาร์ต(Jean-Paul Sartre) กับคำเก๋ๆของเฮียซาร์ตว่า...
"นรกคือคนอื่น" จะกระตุ้นผลักดันให้คนเราหลุดพ้นจากพันธนาการที่ครอบงำชีวิตจิตใจยังไง ตอนต่อไปค่อยว่ากัน....
1
พอแค่นี้ก่อน สวัสดีครับ...
**บทความแนะนำ ปรัชญาจิตนิยม (Part๔) ส่วนPatr1-3 ลิ้งค์จะอยู่ท้ายบทความPartที่๔ครับ**
แหล่งอ้างอิง
1. Jean-Paul Sartre, Being and Nothingness.
2. Jean-Paul Sartre, Existentialism is a Humanism.
3. พระธรรมโกศาจารย์, เปรียบเทียบแนวคิดพุทธทาสกับซาตร์.
4. ศ.ดร.จำนง ทองประเสริฐ, ปรัชญาประยุกต์: ชุดตะวันตก
5. ศ.ดร. กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม.
6. โยสไตน์ กอร์เดอร์, โลกของโซฟี.
-วิรุฬหก-
โฆษณา