1 ก.พ. 2020 เวลา 15:36 • ข่าว
Brexit Done - อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ
มีความสำคัญยังไงและส่งผลอะไรบ้างมาดูกันครับ
สิ้นสุดระยะเวลา 47 ปี ของการเป็นส่วนนึงของสหภาพยุโรป
บอริส จอห์นสันกล่าว "นี่ไม่ใช่จุดจบ มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น”
ขอบคุณภาพจาก https://www.kasikornasset.com
สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตามองคือ "การทำข้อตกลงทางการค้าเสรี" ระหว่างอังกฤษและ EU ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายในอนาคต
ตลอดปี 2563 จะเป็นช่วงของ “ระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน”
ข้อตกลง Brexit มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Agreement on the withdrawal of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland from the European Union and the European Atomic Energy Community แปลเป็นไทยได้ว่า "ข้อตกลงการถอนตัวของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือออกจากสหภาพยุโรปและองค์กรพลังงานปรมาณูของยุโรป"
มีรายละเอียดคำสัญคร่าว ๆ ดังนี้
1. อังกฤษได้อยู่นอกเหนืออำนาจสถาบันการเมืองของ EU แล้ว แต่อังกฤษ ยังต้องทำตามกฎหมายและระเบียบของ EU ต่อไปอีก 11 เดือนจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งเรียกว่า "ระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน" โดยสามารถขอขยายไปได้อีก 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของอังกฤษและ EU ซึ่งต้องตัดสินใจภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
2. จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งอังกฤษและ EU หน้าที่กำกับดูแล อำนวยความสะดวก แก้ไขข้อพิพาท และมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit รวมถึงมีอำนาจแก้ไขข้อตกลงนี้ด้วย
3. ข้อตกลง Brexit จะมีผลอย่างเดียวกันทั้งในอังกฤษ และ EU
4. กฎหมายของอังกฤษอนุมัติให้จ่ายเงินแก่ EU (ตามข้อตกลงการถอนตัวจาก EU) ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
5. สิทธิของพลเมืองในการอาศัยและทำงานระหว่างอังกฤษและ EU จะเหมือนเดิมต่อไป ยกเว้นในกรณีที่ได้เดินทางออกนอกพื้นที่เกิน 5 ปีแล้ว
6. การเดินทางเข้าออกระหว่างอังกฤษและ EU จะยังเหมือนเดิมทุกประการอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2563
ขอบคุณภาพจาก https://www.aljazeera.com
7. ไอร์แลนด์เหนือจะออกจากสหภาพศุลกากรของ EU และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษแทน หมายความว่าหลังจากนี้หากอังกฤษเจรจาการค้าเสรีกับประเทศใด สินค้าจากไอร์แลนด์เหนือก็จะรวมอยู่ในข้อตกลงนั้นด้วย
8. ระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จะไม่มีการตรวจภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาพรมแดนแบบเข้มงวดหรือ Hard Border
9. สินค้าจากส่วนอื่นของอังกฤษที่เดินทางเข้าไอร์แลนด์เหนือจะถูกเรียกเก็บภาษีโดย EU หากสินค้าเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเดินทางต่อไปยังเขตของ EU (ถ้าพิสูจน์ได้ว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ออกไปจากไอร์แลนด์เหนือ ภาคธุรกิจก็อาจขอคืนภาษีที่จ่ายไปได้)
10. สินค้าจากประเทศที่ 3 ที่เข้ามายังไอร์แลนด์เหนือก็จะต้องถูกเก็บภาษีโดย EU เช่นกัน (ยกเว้นถ้าพิสูจน์ได้ว่าสินค้าเหล่านี้ไม่เดินทางออกไปยังเขตของ EU อีก สินค้าเหล่านี้จะถูกเรียกเก็บภาษีตามกฎหมายของอังกฤษแทน)
11. ไอร์แลนด์เหนือจะยังปฏิบัติตามกฎหมายบางอย่างของ EU ต่อไป โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าในระบบตลาดเดียวของ EU (Single Market) รวมถึงความร่วมมือระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์
Brexit กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
อังกฤษเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของโลก โดยติดอันดับ Top 5 แทบจะทุกปี ซึ่งปริมาณ GDP ของประเทศ Top 5 นี้รวมกันก็มีปริมาณเกิน "ครึ่งหนึ่ง" หรือ 50% ของ GDP โลกไปแล้ว
ข้อมูลจาก Statista วิเคราะห์ไว้ดังนี้
- การที่อังกฤษจะออกจาก EU นั้นจะเป็นไปได้ 5 กรณี
1. No Deal Brexit
การออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ จะทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษชะลอลง 9.3%
2. Canada-Style FTA Brexit
การออกจาก EU โดยมีข้อตกลงทางการค้าเสรีแบบแคนาดา จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 6.7%
3. Brexit under withdraw agreement
การออกจาก EU ตามข้อตกลงที่ EU และ อังกฤษเห็นชอบร่วมกันก่อนหน้านี้ จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 3.9%
4. Brexit under Chequers plan
การออกจาก EU ตามข้อตกลงรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างอังกฤษกับ EU จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 2.5%
5. Brexit under Norway-style
การออกจาก EU โดยมีข้อตกลงแบบนอร์เวย์ จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 1.4%
ตลอดระยะเวลา 3 ปี นับแต่อังกฤษเริ่มประกาศ Brexit ค่าเงินปอนด์ร่วงลงมาแล้วกว่า 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีการประเมินกันว่าค่าเงินปอนด์อาจอ่อนได้ถึง 25% ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ส่งออกในอังกฤษ เพราะหมายถึงการขายของได้เงินมากขึ้น หุ้น FTSE ตอบสนองต่อ Brexit ด้วยการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วถึง 17% นับตั้งแต่ทำประชามติเมื่อปี 2016
ขอบคุณภาพจาก https://www.thestudentroom.co.uk/
ก่อนหน้านี้อังกฤษและ EU ต่างพึ่งพาการค้าระหว่างกันสูง Brexit ย่อมส่งผลให้การค้าระหว่างภูมิภาคชะงักและธุรกิจต่าง ๆ อาจต้องปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่
ขอบคุณภาพจาก http://www.drprapat.com
Brexit และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IMF และธนาคารกลางอังกฤษ, “EU withdrawal scenarios and monetary and financial stability" ปี 2018 แสดงให้เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจในกรณี No-deal Brexit
ขอบคุณภาพจาก https://techsauce.co/
อังกฤษไม่ใช่คู่ค้าคนสำคัญของไทย ดังนั้น Brexit จึงส่งผลกระทบทางตรงค่อนข้างน้อย แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมต่อการค้ากับ EU และการค้าโลกเสียมากกว่า
การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นถึงข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ระหว่างไทย-อังกฤษ ปี 2018
ขอบคุณภาพจาก https://techsauce.co/
EIC วิเคราะห์ถึงผลกระทบโดยตรงของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทย ว่าสามารถเป็นไปได้ 3 ทางคือ
1. ผลกระทบต่อการส่งออก
- Brexit มีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลง และส่งผลให้การส่งออกจากไทยไปอังกฤษชะลอตัวตาม
- สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังอังกฤษ คือ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนและอะไหล่ นอกจากนี้ยังมีเนื้อไก่แปรรูป
- การส่งออกสินค้าไทยไปอังกฤษ มีสัดส่วนราว 6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
2. ผลกระทบต่อการลงทุนทางตรง
- Brexit ทำให้นักธุรกิจในอังกฤษ ให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น (รวมถึงไทย) หากไทยเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจง่ายขึ้นและลดขั้นตอนการขอวีซ่าและใบอนุญาตต่าง ๆ อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะได้รับเงินลงทุนจากอังกฤษมากขึ้น
- ปัจจุบันมูลค่าเงินลงทุนจากอังกฤษมายังไทยมีสัดส่วนเฉลี่ยราว 1% ของการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างต่ำ จึงไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรกับไทย
3. ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย
- นักท่องเที่ยวจากอังกฤษ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวต่อคนค่อนข้างสูงประมาณ 73,890 บาทต่อคนต่อทริป
- Brexit ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดเงินให้เงินปอนด์อ่อนค่า ซึ่งขณะนี้อ่อนค่ามาแล้วกว่า 15% ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาวอังกฤษ และอาจเป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวอังกฤษที่มาไทยลดลงได้
- อย่างไรก็ตาม รายได้จากนักท่องเที่ยวอังกฤษ มีสัดส่วนเพียง 1% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศไทย ภาคการท่องเที่ยวไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเช่นกัน
ตราบใดที่ Brexit ยังไม่ได้ข้อสรุปในข้อตกลงทุกอย่างเรียบร้อย ปัญหาเรื่องนี้ ก็จะเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลของเศรษฐกิจโลกต่อไป ยังไม่มีใครตอบได้ว่า Brexit จะเป็นชนวนของวิกฤตครั้งใหญ่ หรือจะเป็นแค่ผลกระทบเล็ก ๆ เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา