19 เม.ย. 2020 เวลา 22:50 • ความคิดเห็น
ฝากเพจตัวเองเยอะๆดีหรือไม่?
การเขียนบทความกับกลยุทธ์การตลาดและการขาย ที่มีมากกว่าแค่การคอมเม้นต์ฝากเพจ
Credit Unsplash
การขายที่ดีคือการไม่พยายามขาย?
คนเรามักจะซื้อแต่ไม่ชอบที่จะถูกขาย?
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเขียนบทความล่ะ?
คนเราชอบซื้อสินค้าที่อารมณ์แต่มักไม่ชอบที่จะถูกขาย
"สวัสดีค่ะ ดิฉันโทรจากบริษัทประกัน...“
"พี่คะ/พี่ครับ เรามีโปรโมชั่นคอร์สทำหน้าฟรีมานำเสนอค่ะ"
มีเพื่อนๆกี่คนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้จากพนักงานที่พยายามโทรมาเสนอขาย
หรือพยายามยัดโบรชัวร์ในมือเรา
เขียนคำตอบในใจก่อนนะคะ
ในขณะเดียวกันหากมีคนมาคอมเม้นต์
"ฝากเพจเราหน่อยนะคะ"
"แวะเพจผมบ้างนะครับ"
การฝากคอมเม้นต์อาจทำให้คนเข้าไปในครั้งแรก ถ้าตัดความเกรงอกเกรงใจออกแล้ว ถ้าเจ้าของเพจไม่มาตามให้ไปอ่าน เราอยากไปอ่านบทความนั้นๆจริงๆรึเปล่า
การฝากเพจไปแบบไร้จุดหมาย เหมือนกับการแจกใบปลิวสินค้าที่ไม่ได้ระบุกลุ่มเป้าหมาย คนรับอาจจะแค่รับตามมารยาทแล้วก็วางใบปลิวที่ไหนสักแห่ง
คิดก่อนฝาก วิเคราะห์ก่อนขาย การตลาดของเพจ/บทความของคุณคืออะไร ผ่าน 5 คำถามต่อไปนี้
1. What is your products? สินค้าหรือบทความของคุณคืออะไร?
1.1 สายรูปสวย ชวนเสพย์ให้ความรู้สึกดี
ตัวอย่าง เพจเกษตรอินทรีย์สวนสนุกปลุกสนุก ที่มีทั้งภาพสวยๆและเรื่องราวของการปลูกพืชแบบอินทรีย์
1.2 ความรู้เฉพาะทาง ความเชี่ยวชาญในอาชีพ
ตัวอย่าง เพจสุขภาพดีวิถีแพทยืไทยติดดิน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสาระของสมุนไพรชนิดต่างๆ รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพที่หลายๆคนกำลังสนใจอยู่ในขณะนี้เลยค่ะ
1.3 เพจเน้นแนวเอนเตอร์เทน
ขายฮาขายขำ อาจจะเจอได้พี่เพจการ์ตูนลายเส้นกวนๆ กับเนื้อหา 18+ ของพี่ติ แอฟโฟร่
1.4 สายแชร์ประสบการณ์ทำธุรกิจ การลงทุน
ตัวอย่าง พี่นุจากเพจ Savvy Invester ที่แชร์ประสบการณ์การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และวิเคราะห์แนวคิดการทำธุรกิจในช่วงวิกฤต บทความบางส่วนอาจจะยาว แต่อ่านแล้วรู้เลยว่ากลั่นมาจากประสบการณ์จริงๆค่ะ
1.5 ประสบการณ์ส่วนตัว เช่นแนวท่องเที่ยว คนไทยในต่างแดน ฯลฯ
สาวไทยในนอร์เวย์ที่มีภาพสวยๆ และมุมมองต่างๆทั้งรัฐบาล ไลฟ์สไตล์ที่มาจากนอร์เวย์
คุณมดดี้แม่ครัวไทบในบังคลาเทศที่เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ
1.6 และมีอีกหลายๆหมวดมากๆค่ะ ที่เราอาจจะพูดไม่หมด ต้องขออภัยตรงนี้นะคะ อาจจะมีพูดถึงในบทความถัดๆไปค่ะ
2. Who is your target customer? กลุ่มเป้าหมาย หรือ ว่าที่ผู้อ่านบทความของเรา
ขอย้ำอีกครั้งค่ะว่าการฝากเพจไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นการหว่านแหหาผู้อ่านมากเกินไป ไม่ว่าสินค้าหรือบริการใดๆ ไม่ได้เหมาะกับทุกคนค่ะ
ผู้อ่านของเราคือใคร เพศ/ ช่วงอายุ / ความสนใจ ไลฟ์สไตล์
อย่างเช่น คุณทำเพจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก
กลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็น คนที่แต่งงานแล้ว อายุประมาณ 30-45 ปี
เพราะฉะนั้นการเข้าไปอ่านบทความ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพจที่ผู้เขียนดูจะใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา น่าจะได้ผลมากกว่าการไปโฆษณาตัวเองกับเพจนักศึกษาวัยกำลังค้นหาชีวิต หรือเพจคนโสด อินดี้แบกเป้สะพายกล้อง
3. When do you launch products to the market? ช่วงเวลาที่บทความออกสู่ตลาด
เพื่อนๆหลายคนอาจจะพูดถึงช่วงเวลาในการโพสต์ไปหลายคนแล้ว เราจะพูดถึงเทรนด์ หรือความสนใจในช่วงนั้นๆ
ซึ่งโดยปกติเพจเราจะเน้นที่ประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตการทำงาน การค้าขายของเรา หรือแง่มุมอาชีพและธุรกิจของเพื่อนๆบ้าง
แต่บางครั้งที่สถานการณ์ที่ดูตึงเครียด บางครั้งก็ต้องมีบทความที่หลุดธีมของเพจเราเพื่อให้ผู้อ่านอ่านแล้วสบายใจ ไม่เครียดจนเกินไป
เช่นข้อมูลการดูแลตัวเองหลังจากติดตามข่าวเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช
แต่ฉันใดฉันนั้นก็ไม่อยากหลุดธีมของเพจ เลยมีบทความการวิเคราะห์ธุรกิจในช่วงที่มรสุมมารอบด้าน
ซึ่งบทความทั้ง 2 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีค่ะ มุมมองของเราเป็นเพราะว่าเขียนในช่วงที่คนน่าจะสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆพอดี
4. What is your customer relationship management? หรือการทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากติดตามเราเรื่อยๆ
นอกจากสินค้าหรือบทความที่ดี ถูกกลุ่มถูกเป้าหมาย ลงบทความที่เป็นที่สนใจในช่วงนั้นๆแล้ว การรักษาฐานแฟนก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเพจมากมาย ซึ่งทำให้ค่าการมองเห็นของเพจเราเริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านชอบติดตามเพจเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากวิธีการสื่อสารของผู้เขียนกับผู้อ่าน หรือผู้เขียนท่านอื่นๆ
เพจที่เราชอบเป็นการส่วนตัว นอกจากเนื้อหาสาระในวิชาชีพพยาบาล เรารู้สึกว่าสามารถสัมผัสความน่ารักเป็นกันเองของคุณเนิ้ตได้ ทั้งจากบทความที่โพสท์และการตอบผู้อ่าน
หรือคุณกูล ที่เราชอบคอมเม้นต์ของคุณกูลในเพจอื่นมากกว่าบทความ "ฮา" อย่าโกรธเรานะ 555
แต่เวลาเห็นคอมเม้นต์ในเพจก็อยากไปตามต่อในเพจอยู่ดีค่ะ
น้องพลอย จากเพจตามพลอยมา เรื่องความน่ารักอันนี้ก็เป็นที่เลื่องลือในนี้อยู่แล้ว แต่ที่เราชอบยิ่งกว่าคือคอมเม้นต์ของคุณพลอยในเพจอื่นๆนี่แหละ ขนาดเรายังโดนหยอดเช้าหยอดเย็น ไม่ใจอ่อนแวะไปหาก็ใจแข็งเกินไปแล้ววว ฮา
จุดเด่นคือ คุณพลอยจดจำรายละเอียดแต่ละเพจได้เก่งมากเลยค่า
หรืออีกคนที่มีคอมเม้นต์น่ารักๆ พร้อมเพื่อนแก๊ง 4 ขาที่คอยมาคอมเม้นต์แบบน่ารักตลอดเวลา
ถึงช่วงนี้จะไม่ค่อยได้เขียนบทความ แต่คอยแชร์บทความเพื่อนๆตลอดเวลา น่ารักมากเลยค่ะ
อีกคนที่ตอบคอมเม้นต์ แฟนเพจแบบสุภาพ และน่ารักมากๆ คุณแบมเรื่องเล่าจากดาวนี้ค่ะ
5. What is your long-term plan? การวางแผนในระยะยาว
คุณจะเกิดคำถามมากมายขึ้นมาในระหว่างที่เขียนบทความ
ก่อนได้ครบ 1K ทำอย่างไรถึงผู้ติดตามจะครบ?
พอครบแล้วจะทำให้แต่ละบทความได้ดาวได้อย่างไร?
เมื่อไหร่จะครบ 2K 3K 4K 5K
แต่ละคนก็จะมีจุดมุ่งหมายในการเขียนแตกต่างกันออกไป เช่นหารายได้บ้าง หาเพื่อนบ้าง หรือชอบที่จะเขียนแชร์ประสบการณ์
ส่วนเป้าหมายของเราในตอนนี้ก็คือ
ทำอย่างไรให้เพจเราเป็นที่จดจำมากกว่านี้?
อันนี้วิเคราะห์จากเวลาเพจอื่นๆ เวลาที่พูดถึงเพจที่มีอยู่ในใจ เพจเราอาจจะยังไม่ใช่เพจขาประจำของใครหลายคนเท่าไหร่
พอมาลองวิเคราะห์ตัวเองแล้วก็พบว่า
1. ยังเขียนไม่ค่อยต่อเนื่อง บางช่วงก็เขียนเยอะ บางช่วงหายไปทีหลายเดือนเลย ก็เลยอาจจะทำให้เวลาพูดถึงหลายๆเพจ เพจเราอาจจะโดนลืมๆไปบ้าง เพราะจะมาก็มา จะหายก็หาย ให้ได้อย่างนนี้สิ
2. ปฏิสัมพันธ์กับเพจอื่นๆอาจจะยังน้อยเกินไป เพจที่มีเพื่อนๆติดตามเรื่อยๆ สังเกตว่าเจ้าของเพจจะมีความเฟรนลี่ เป็นกันเองกับคนอ่านพอสมควร ตัวตนของคนเขียนเองก็สำคัญมากๆนะคะ เพื่อนๆบางคนคอยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนตลอด ถึงบางทีเค้าไม่ได้อัพบทความอะไรแต่เราก็แวะไปส่องอยู่เสมอเลยค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านหรือผู้เขียนคนอื่นๆ ไม่มากก็น้อย
การยกตัวอย่างเพจของเพื่อนๆในนี้มีเพียงแค่บางส่วน ซึ่งอาจจะพูดไม่ครบ
แต่ละเพจก็มีดีแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านกำลังสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ
ถ้าใครชอบให้วิเคราะห์แนวนี้ อาจจะทำภาคต่อนะคะ
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามทุกกำลังใจค่ะ
#successjourney
โฆษณา