9 ต.ค. 2021 เวลา 04:25 • ท่องเที่ยว
ศาลริมทางโค้ง สัญลักษณ์เตือนความปลอดภัยในการเดินทาง
เราเคยสังเกตทุกครั้งที่เดินทาง เราจะเห็นศาลที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ริมทางโค้งที่เป็นอันตรายเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อประตูผา (ลำปาง) ศาลพ่อตาหินช้าง (ชุมพร) หรือแม้แต่ศาลเจ้าพ่อพระรามหก (กรุงเทพมหานคร) ซึ่งผู้คนที่สัญจรไปมานิยมแสดงความเคารพด้วยการบีบแตร นอกจากแสดงความนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่แล้ว ยังเป็นการเตือนผู้สัญจรให้ระวังทางโค้งและมีสติกับการเดินทางอยู่ตลอดเวลา อีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อพระรามหก
ศาลเจ้าพ่อพระรามหกมีอยู่สองศาล ศาลหนึ่งอยู่ริมทางโค้งถนนประชาราษฎร์สาย 1 ตรงข้ามวัดสร้อยทอง ส่วนอีกศาลหนึ่งเป็นศาลอยู่เชิงสะพานพระรามหก โดยในศาลริมสะพานพระรามหกเป็นที่สถิตดวงวิญญาณเจ้าพ่อพระรามหก หรือ พระยาสิงหนาท ทหารเอกพระเจ้าตาก (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลที่ 1) ส่วนศาลริมทางโค้ง เป็นที่สถิตดวงวิญญาณเจ้าพ่อเล็ก หรือ พระยาทรงธรรมบดินทร์เดชา (เจ้าพระยาบดินทร์เดชา-สิงห์ สิงหเสนี แม่ทัพใหญ่ในรัชกาลที่ 3), เจ้าพ่อธงชัย หรือ พระเชียงเงิน (พระยาท้ายน้ำ ทหารเอกพระเจ้าตาก) และเจ้าพ่อพระรามหก (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลที่ 1)
(จากซ้ายไปขวา) เจ้าพระยาบดินทร์เดชา พระยาท้ายน้ำ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
โดยศาลที่อยู่เชิงสะพานพระรามหกเป็นศาลที่อยู่เริ่มแรก สันนิษฐานน่าจะสร้างหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากสะพานพระรามหกได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรจนสะพานช่วงกลางขาด และได้มีการซ่อมแซมจนใช้งานได้ในปี ค.ศ.1953 โดยลักษณะสะพานในตอนนั้น เป็นสะพานรถยนต์คู่กับรถไฟ โดยรถยนต์ โดยรถยนต์ที่ขึ้นจากฝั่งกรุงเทพต้องตีโค้งขึ้นมาจากถนนประชาราษฎร์สาย 1 ถึงจะขึ้นสะพานได้ ส่วนรถที่มาจากฝั่งธนบุรีต้องโค้งลงถึงจะไปบางโพหรือนนทบุรีได้
สะพานพระรามหก 1977-1982 จากนิตยสารฟ้าเมืองไทย แสดงให้เห็นถึงทางรถไฟคู่กับทางรถยนต์
ดังนั้น การมีศาลอยู่ตรงทางโค้งจึงเป็นการเตือนให้ผู้ขับรถระมัดระวังไม่ให้อุบัติเหตุ ก่อนที่สะพานพระรามหกจะเปลี่ยนเป็นสะพานรถไฟโดยถาวรในปี ค.ศ.1992 หลังจากการเปิดสะพานพระรามเจ็ด ทำให้ศาลมีลักษณะเป็นศาลเพียงตา เต็มไปด้วยพวงมาลัยและเครื่องไหว้บูชา
สะพานพระรามหกฝั่งกรุงเทพ เห็นศาลเจ้าพ่อพระรามหกอยู่ทางซ้ายมือ
สำหรับศาลที่อยู่ตรงข้ามวัดสร้อยทองเป็นศิลปะผสมระหว่างไทยกับจีน สันนิษฐานสร้างขึ้นหลังจากศาลหลังแรกประมาณ 10-20 ปี มีขนาดใหญ่กว่าศาลตรงเชิงสะพาน แต่หลังจากการสร้างทางขึ้นทางพิเศษสายศรีรัช-บรมราชชนีในปี ค.ศ.2016 ทำให้ทำให้ศาลมีขนาดเล็กลง ไม่สามารถจอดรถได้ แต่ยังคงเป็นที่สักการะของประชาชนชาวบางซื่อและผู้คนทั่วไปที่ศรัทธาในวีรกรรมของทหารเอกพระเจ้าตากและรัชกาลที่ 3 อยู่เช่นเคย
ศาลเจ้าพ่อพระรามหก หลังที่ 2 ทางโค้งตรงข้ามวัดสร้อยทอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา