19 พ.ย. 2021 เวลา 10:17 • ปรัชญา
จิตสุดท้าย และ การเวียนว่ายตายเกิด
ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนั้นถูกพูดต่อ ๆ กันมาหลายยุคหลายสมัย โดยที่เราก็เชื่อและไม่เชื่อไปตามเหตุปัจจัยทางความคิดของแต่ละคน
1
แต่รู้หรือไม่ว่า ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องสังสารวัฏ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฐิทั้งสิ้น
แล้วตรงไหนกันแน่ถึงจะเป็นคำตอบที่ถูกที่ควร…
คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด เป็นมิจฉาทิฐิ เพราะความคิดนั้นเป็น สัสสตทิฐิ คือเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นนิรันดร์ มีความเที่ยง ไม่มีดับสูญ
ส่วนคนที่เชื่อว่าตายแล้วดับสูญ อัตตาและโลกจะดับสิ้นไปหมด ก็เป็นมิจฉาทิฐิเช่นกัน คือเป็นอุจเฉททิฐิ เชื่อว่าดับสูญ
ในทางพุทธศาสนานั้นจะต้องไม่สุดโต่งไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
การเวียนไหว้ตายเกิดนั้น เกิดขึ้นได้อย่างมีเงื่อนไข และดับลงได้อย่างมีเงื่อนไขเช่นเดียวกัน
ตรงกับหลักปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจยตา คือเมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล และเมื่อเหตุดับ ผลก็ดับ ทุกอย่างล้วนมีเงื่อนไขทั้งสิ้น
สิ่งที่ยังผลให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดนั้นคือ อวิชชา คือความไม่รู้ ตัณหาหรือเรียกกันว่ากิเลส
1
กิเลสในที่นี้ หมายรวมถึงหลายสิ่งอย่าง ทั้งตัณหา อวิชชา ความไม่รู้ ความหลง โง่งมงาย ความโลภ โทสะ โมหะ ล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น
ดั้งนั้นตัวหลักนี้คือกิเลส ที่ดึงเราไม่ให้หลุดออกจากวงจรการเวียนว่ายตายเกิด
ถ้ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงยังต้องไปเกิดอยู่
นี่คือเงื่อนไขของการเวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้นการเวียนว่ายตายเกิดจึงหมดลงได้ ด้วยการละกิเลสให้หมดสิ้น
แล้วจะตัดกิเลสได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยหลักมรรคมีองค์ 8 ซึ่งถือเป็นทางตรงสู่พระนิพพาน คือละกิเลสได้หมดสิ้น (ไว้จะเขียนบทความอธิบายตรงนี้โดยละเอียดอีกครั้ง)
เมื่อกิเลสดับแล้ว ก็พ้นทุกข์ คือพ้นไปจากสังสารวัฏ
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถึงการเวียนว่ายตายเกิด โดยมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกว่า
ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนไป ท่องเที่ยวไป ฯลฯ เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ บางคราวตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป บางคราวจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น บางคราวก็จากโลกอื่นมาสู่โลกนี้
ภิกษุทั้งหลาย สงสารมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ โครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูกของบุคคลหนึ่งผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปตลอด 1 กัป ถ้านำกระดูกนั้นนำมากองด้วยกันได้ และกระดูกที่กองรวมกันไว้ไม่สูญหายไป พึงใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละ ถ้ากองกระดูกนั้นเป็นของพึงขนมารวมกันได้ และกองกระดูกนั้นกองไว้ไม่พึงกระจัดกระจายไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้
โดยผู้ที่จะเกิดอีกนั้นจะไปเกิดที่ตรงไหนอย่างไร ก็ขึ้นกับกรรมที่ได้ทำไว้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งเหนือวิสัยที่คนทั่วไปจะล่วงรู้ได้
สัตว์ทั้งหลายนั้นตายเกิดในสังสารวัฏตามกำเนิดที่เรียกว่าคติ 5 อันได้แก่ สัตว์นรก เดรัจฉาน เปตวิสัย มนุษย์ และ เทวดา
ทั้งนี้ก็แบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือสุคติ และ ทุคติ คือหากทำกรรมดีไว้มากก็จะได้ไปเกิดในสุคติ คือเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม แต่หากทำกรรมชั่วไว้มากก็เกิดในทุคติ คือ สัตว์นรก เปรต อสูรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน
และแม้จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือการพ้นทุกข์ โดยการละซึ่งกิเลสสู่หนทางนิพพาน แต่คนทั่วไปก็ยังคงหวังการเกิดอยู่ แต่อยากจะเกิดในสุคติ คืออยากเกิดในภพภูมิที่ดี เช่นเป็นเทวดา หากเป็นมนุษย์ ก็อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ดี รูปร่างหน้าตางาม ร่ำรวยเงินทอง เป็นต้น
เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการจำแนกกรรม และมีการบันทึกไว้ในจูฬกัมมวิภังคสูตร เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดมามีความดีร้ายแตกต่างกัน พระองค์ตรัสว่า
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ต่างกันไป
ส่วนในมหากัมมวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกกรรม มีเรื่องเล่าว่า
สมัยหนึ่งพระอานนท์ได้นำความไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้ากรณีของพระสมิทธิกับโปตลิบุตรถึงเรื่องกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วมีผล เมื่อบุคคลตายไปแล้วไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่กล่าวมาขั้นต้นก็จะไม่เกิดขึ้น หากเหตุของการกระทำที่ทำไว้นั้นจะส่งผลไปสู่ภูมิที่เกิดแทน คือ กุศลกรรมที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ก็จะส่งผลให้ไปเกิดในสุคติ เช่น สวรรค์ เป็นต้น ส่วนอกุศลกรรมที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ก็จะส่งผลให้ไปเกิดในทุคติ เช่น นรก เป็นต้น อย่างเป็นเหตุเป็นผล พระพุทธเจ้าทรงตรัสอธิบาย พอสรุปได้ว่า
1. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เพ่งอยากได้ของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฐิ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
2. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นมักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เพ่งอยากได้ของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฐิ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
3. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
4. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เห็นได้ชัดว่าการเวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่เพียงอาศัยแรงกรรมอย่างเดียว เพราะถึงแม้ทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว ก็ยังมีโอกาสไปสู่สุคติและทุคติ ได้ทั้งสองทาง เนื่องด้วยยังต้องอาศัยสภาวะจิตก่อนที่จะตาย หรือที่เรียกกันว่าจิตสุดท้ายนั่นเอง
จิตสุดท้ายจึงมีความสำคัญมาก โดยได้เคยอธิบายเรื่องนี้ในบทความเรื่องจิตสุดท้ายสำคัญมาก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์นี้ค่ะ https://www.blockdit.com/posts/6177dc05e21c360ca9086f43
เมื่อก่อนสิ้นลมหายใจ จิตของบุคคลนั้นคิดเรื่องใดก่อนตาย ถ้าเป็นกุศลก็จะไปสู่สุคติ ถ้าเป็นอกุศลก็ไปเกิดในทุคติ แม้จิตสุดท้ายจะดูเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เรานั้นสามารถเตรียมการรับมือ หรือฝึกไว้เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ในเสี้ยววินาทีก่อนกายและจิตจะดับ
ดังคำพูดที่ว่า เราฝึกมาทั้งชีวิต เพื่อจิตสุดท้ายเพียงเสี้ยววินาที
โดยธรรมชาติแล้วจิตนี้จะไปตามตัณหาความอยาก และเราไม่สามารถบังคับจิตเราได้อย่างมั่นคงแน่นอน แม้เราห้ามไม่ให้โกรธ ให้หลง ก็ยังทำไม่ได้อย่างแท้จริง นั่นเป็นเพราะจิตไม่ใช่ของเรา
สูตรสำเร็จจึงอยู่ที่การถอนอุปาทานออกจากจิต คือ ถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าจิตนี้เป็นของเรา และฝึกได้ด้วยการเอาจิตมารับรู้ที่กาย จิตหลุดไปคิดเรื่องใดก็ให้ดึงกลับมา นำมาอยู่รับรู้ที่ลมหายใจ รับรู้อิริยาบถทางกายแทน
ทำไปเรื่อย ๆ บ่อยเข้าจิตก็จะไม่อยากคิดไปทางอกุศล เพราะรู้แล้วว่าทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง คิดไปก็เท่านั้น เราก็จะมีสติหรือจิตรับรู้ที่กายได้นานขึ้น และเกิดทุกข์น้อยลง
นอกจากนี้ ให้เข้าใจกันไว้อีกประเด็นว่า คนที่ทำดีมาแทบทั้งชีวิต แม้ตอนที่จะตาย ก็มีโอกาสสูงที่จะคิดถึงการทำชั่วไม่ออก ส่วนคนที่ทำชั่วมามาก ก็มีโอกาสสูงที่จะคิดถึงเรื่องดี ๆ ไม่ออกเช่นกัน
คิดถึงสิ่งใดในช่วงจิตสุดท้ายนั้น ภพก็ได้เกิดแล้วดังนั้น
โดยภายหลังจากการเสวยกรรมจากภาวะจิตสุดท้ายจนหมดสิ้นแล้ว ก็จะไปเสวยผลกรรมที่ทำไว้ดังเดิมต่อไป
ในทางพุทธนั้นถือว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นไปตามหลักอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท คือเกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไข การเชื่ออย่างสุดโต่งว่ามีหรือไม่มีสังสารวัฏจึงผิดถนัดทั้งคู่
ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และนำมาแสดงมีความเกี่ยวข้องกับการเวียนว่ายตายเกิด เหตุของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ตลอดจนการหลุดพ้นจากเส้นทางเหล่านี้
ก็อยู่ที่ว่าเราจะมีดวงตาได้เห็นธรรม เชื่อในคำพระศาสดา และได้เรียนรู้ ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นหรือไม่
พูดถึงเรื่องความเชื่อ ในพระพุทธศาสนามีสิ่งที่ควรเชื่อ 4 ประการ ได้แก่ (1) เชื่อเรื่องกรรม เชื่อว่ากรรมมีจริง (2) เชื่อเรื่องผลของกรรม เชื่อว่าทำกรรมลงไปแล้วได้รับผลจริง (3) เชื่อว่าทุกคนมีกรรมของตน คือใครทำใครได้ ไม่สามารถให้หรือรับกรรมแทนกันได้ และ (4) เชื่อเรื่องปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระองค์รู้แจ้งเห็นจริง และสิ่งที่นำมาสั่งสอนนั้นนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ และทำให้พ้นจากความทุกข์ได้จริง
...
Reference: แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดกับพุทธปรัชญา วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์
โฆษณา