21 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📈 การเติบโต (Growth, g) อีกปัจจัยที่มีผลกับมูลค่าหุ้น
จากบทความเรื่อง PE Ratio
เราได้ทิ้งท้ายสูตรคำนวณ PE คือ
📍 PE = Payout Ratio /(K-g)
ซึ่ง Payout Ratio คือ อัตราการจ่ายปันผลต่อกำไร เช่น กำไร 100 จ่ายปันผล 20%
จะมี Payout Ratio 20 ครับ
----------------------------------------
K คือ ต้นทุนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น หรือ Cost of Equity คือ เราต้องการผลตอบแทนจากการซื้อหุ้นตัวนี้เท่าไหร่หรือบริษัทนี้มีความเสี่ยงในส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่
g คือ การเติบโตของ EPS หรือกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท
โดยความหมายของสูตรหมายความว่าหุ้นจะมี PE ได้มากๆ (หรือหุ้นจะแพงได้มากๆ) ก็ต่อเมื่อ บริษัทมีการจ่ายปันผลมากๆ บวกกับ การเติบโตของกำไรมากๆ และความเสี่ยงของบริษัทมีน้อย
1
(สำหรับเรื่อง Payout สูงๆ ตรงนี้ได้มาจากการกลับสมการในสูตรคำนวณนะครับ เพราะว่าไม่เสมอไปที่บริษัทที่จ่ายปันผลสูงๆจะมี PE สูง ปัจจัยจริงๆแล้ว คือ บริษัทที่สร้างกระแสเงินสดได้มากๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ ต่างหากที่จะมีมูลค่าสูงๆได้ ซึ่งเราจะเอามาอธิบายกันอีกทีในบทความต่อๆไปนะครับ)
----------------------------------------
ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ g หรือการเติบโตของ EPS กันก่อนแล้วกันนะครับ ซึ่งจะขออธิบายลักษณะของ g โดยคิดว่าจำนวนหุ้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ปกติถ้าจำนวนหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงการเติบโตของ EPS จะเท่ากับการเติบโตของกำไรสุทธิครับ และวิธีการคำนวณเมื่อ จำนวนหุ้นเปลี่ยนแปลงจะค่อนข้างซับซ้อนนิดนึง ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจง่าย ขออธิบายแบบจำนวนหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงแล้วกันนะครับ)
แต่ขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับ EPS (กำไรต่อหุ้น) ตามนี้
📍 EPS = Net Profit / จำนวนหุ้น
ปกติจำนวนหุ้นจะเพิ่มจากการเพิ่มทุน จ่ายปันผลเป็นหุ้น การออก Warrant และลดลงจากกการซื้อหุ้นคืน หรือการลดทุน ซึ่งจะมีผลต่อ EPS ได้
สำหรับใครที่สนใจเรื่องกำไรสุทธิ (Net Profit) สามารถอ่านได้จาก 2 บทความนี้นะครับ
👉https://www.blockdit.com/posts/60b6786572134c0c2ea77f08
👉https://www.blockdit.com/posts/603785f2810cac0bf3434fb7
----------------------------------------
สำหรับเรื่องการเติบโต หรือ g เพื่อให้ง่าย ขออธิบายแบ่งเป็นหัวข้อตามนี้นะครับ
⭐ 1. การวัด g แบบต่างๆ อันนี้คือเราสามารถวัด g ของบริษัทได้ด้วยวิธีอะไรบ้าง
ปกติเราสามารถวัด g ได้ 3 แบบ คือ
1.1 แบบเลขคณิต (Arithmetic Average Rate of Return ขอเรียกสั้นๆ ว่า AM นะครับ) คือ การวัดโดยไม่คิดถึงการเติบโตทบต้น เช่น กำไรบริษัทปีนี้ 1,000 ล้าน ปีหน้าเพิ่มเป็น 1,200 ล้าน แล้วปีถัดไปเป็น 1,400 ล้าน แบบนี้ก็คำนวณง่ายๆ เลย คือ
📍การเติบโตปีแรก g1 = (1200 - 1000)/1000 =20%
📍การเติบโตปีที่ 2 g2 = (1400 - 1200)/1200 = 16.67%
AM ของปีที่ 1-3 เท่ากับ AM 1-3 = (g1+g2)/2 = (0.2+0.1667)/2 x 100 = 18.33%
----------------------------------------
1.2 แบบเรขาคณิต (Geometric Average Rate of Return ขอเรียกสั้นๆ ว่า GM)
เป็นการวัดโดยคิดถึงการเติบโตทบต้น ซึ่งจะคำนวณจากสูตร
📍GM = ∏ (1+HPR)^(1/n)-1
 
หรือว่า เอาการเติบโตแต่ละปีบวกด้วย 1 แล้วจับคูณกัน ได้เท่าไหร่ถอดรากที่ n
(คำนวณ GM 2 ปีก็คือถอดรากที่ 2 นั่นเอง) ดังนั้นเราจะได้ค่า GM ตามนี้ครับ
GM = ((1+g1) x (1+g2))^(1/2)) -1 = ((1.2 x 1.1667)^1/2) -1 = 18.32%
ซึ่งจะเห็นว่าน้อยกว่า AM นิดนึง
----------------------------------------
1.3 แบบ CAGR ซึ่งผมมักจะใช้วิธีนี้เพราะว่าคำนวณง่ายที่สุด
และได้ค่าใกล้เคียงกับแบบเรขาคณิตด้วย ตามสูตร คือ
📍 CAGR = (กำไรปีที่ n/กำไรปีที่ 1) ^ (1/n) -1
ทำให้เราจะคำนวณ CAGR ได้เท่ากับ
📍CAGR = (1400/1000)^(1/2) -1 = 18.32%
ซึ่งจะเท่ากับการคำนวณแบบ GM นั่นเอง
----------------------------------------
ตรงนี้เป็นวิธีคำนวณการเติบโตคร่าวๆ ซึ่งจุดอ่อนของ AM คือ การคิดการเติบโตแบบไม่คิดถึงการทบต้นนั่นเองทำให้ค่าที่ได้แม่นยำสู้ GM และ CAGR ไม่ได้ (ใครสนใจตรงนี้ลองหาหนังสือแนวทฤษฎีการเงินอ่านกันดูนะครับ)
----------------------------------------
สรุปตรงนี้ง่ายๆว่า ใช้ CAGR แล้วกันนะครับ ง่ายและสะดวกที่สุดแล้ว แต่ก็เป็นการวัดการเติบโตเชิงตัวเลขแต่ในการลงทุนเราอาจจะต้องพิจารณารายละเอียดของการเติบโตในเชิงเหตุผลประกอบกันด้วย เช่น
การเพิ่มขึ้นของกำไรของปีนี้เพิ่มขึ้นจากการอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทำให้ขายสินค้าเป็นเงินสกุลต่างประเทศแล้วแลกกลับเป็นเงินบาทได้เงินมากขึ้น, การที่กำไรดูเหมือนเพิ่มขึ้นมากจากการที่ไตรมาสนี้ของปีที่แล้วมีการปิดเมืองยอดขายและกำไรจึงลดลงมากพอมาไตรมาสนี้เริ่มเปิดเมืองได้ยอดขายและกำไรจึงเพิ่มขึ้นมากทั้งที่จริงๆถ้าเทียบกับการที่ไม่มีการปิดเมืองยอดขายและกำไรระดับนี้อาจจะไม่นับเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากนัก
หรือการที่กำไรเพิ่มขึ้นมากจากกำไรพิเศษซึ่งเป็นการเกิดขึ้นครั้งเดียว เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาประกอบกับเหตุผลจะทำให้เห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรเกิดจากปัจจัยระยะสั้น หรือระยะยาวกันแน่ ซึ่งนักลงทุนแนว VI ควรสนใจในปัจจัยระยะยาวมากกว่าครับ
การวัด g แบบนี้เป็นการวัดย้อนหลังไปในอดีต คือเทียบตอนนี้กับช่วงเวลาในออีตช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งวิธีการวัดที่กล่าวมานี่สามารถใช้วัด การเติบโตอื่นๆ ได้ เช่น g ของยอดขาย, g ของต้นทุน, ผลตอบแทนของสินทรัยพ์ต่างๆ เฉลี่ยต่อปี ซึ่งเราเอาไว้ดูผลงานที่ผ่านมาแต่การลงทุนมักจะเป็นเรื่องของการมองไปในอนาคตมากกว่า แต่การมองย้อนอดีตก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกันครับ
⭐2. ลักษณะของ g ตามขนาดบริษัท และประเภทของหุ้น ปกติเวลาเราลงทุนเรามักจะลงทุนในบริษัทใหญ่ๆที่มั่นคงใช่ไหมครับ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความคิดที่ไม่ดี เพราะว่าบริษัทใหญ่มีความมั่นคงและจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ถ้าเราเป็นนักลงทุนที่ไม่เน้นให้เงินลงทุนเติบโตสูงๆและหวังเงินปันผลมาใช้จ่ายบริษัทใหญ่ๆที่มั่นคงอาจจะเป็นคำตอบของเรา
แต่สำหรับนักลงทุนที่อยากให้เงินลงทุนเติบโตสูงๆ เราอาจจะหาผลตอบแทนได้ดีกว่าในการลงทุนในบริษัทที่มีการเติบโตสูง ขอยกตัวอย่างบริษัท 2 บริษัทที่มีกำไรเติบโตเท่ากัน คือ 2,000 ล้านบาท โดยบริษัท A มีกำไรในปีก่อน 20,000 ล้านบาท กับบริษัท B มีกำไรในปีก่อน 4,000 ล้านบาท ถ้าคุณลองคำนวณการเติบโตของกำไรดูจะเห็นได้ว่า
📍บริษัท A กำไรเติบโต CAGR = (22000/20000) -1 = 1.1-1 = 10%
📍บริษัท B กำไรเติบโต CAGR = (6000/4000) -1 = 1.5 -1 = 50%
สังเกตอะไรไหม ครับ บริษัทที่เล็กกว่าแต่มีความสามารถในการเติบโตสูงจะสร้าง g ได้มากกว่าซึ่งก็จะทำให้สามารถมี PE สูงกว่าได้ด้วย แต่โดยปกติบริษัทที่เติบโตสูงอาจจะเติบโตได้แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
----------------------------------------
ถ้าบริษัทไม่ได้โดดเด่นเหนือคู่แข่งตลอดหรือไม่สามารถสร้าง Barrier to Entry เพื่อป้องกันการเข้ามาแข่งขันของคู่แข่งรายใหม่ ได้การเติบโตในปีหลังๆ จะถูกคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาแบ่งไปทำให้การเติบโตลดลง ดังนั้นการลงทุนในหุ้นที่เติบโตเราอาจจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้รู้ว่าบริษัทยังสามารถเติบโตได้อยู่หรือเปล่าครับ
----------------------------------------
และเพราะอะไรบริษัทเล็กๆถึงเติบโตเร็วกว่าบริษัทใหญ่ คำตอบคือ บริษัทเล็กยังอยู่ในช่วงของการเติบโตหรือ Growth Stage ตามบทความนี้
ทำให้ยังเติบโตต่อไปได้อีกนานกว่าบริษัทใหญ่ที่อิ่มตัวไปแล้ว
(อันนี้ขอไม่นับ Big Tech ต่างๆ เช่น Google, Facebook, Amazon, etc. นะครับ บริษัทเหล่านี้มีปัจจัยบางอย่างทำให้แม้ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่แต่การเติบโตไม่ได้น้อยลงเหมือนบริษัททั่วไป ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังครับ)
----------------------------------------
เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะว่าบริษัทเล็กเพิ่งเข้ามาในตลาดและบางบริษัทเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้จำนวนคนที่ใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทเหล่านี้มีอยู่น้อย และฐานรายได้และกำไรของบริษัทยังเล็กอยู่การเติบโตจึงทำได้มากเพราะเพียงแค่หาลูกค้าใหม่จำนวนเท่าๆกับบริษัทใหญ่
เช่นที่ยกตัวอย่างไปคือขายเพิ่มได้เท่ากัน แต่ฐานของกำไรไม่เท่ากันก็ทำให้บริษัทเล็กมี g ที่มากกว่าได้ ขณะที่บริษัทใหญ่ด้วยฐานกำไรที่มากและลูกค้าส่วนมากก็ซื้อสินค้าและบริการของบริษัทกันเกือบจะทั้งประเทศอยู่แล้วการที่จะหาการเติบโตจึงทำได้ยากกว่าด้วย (เช่น seven มีสาขาเป็นหมื่นสาขาครอบคลุมเกือบจะทุกๆชุมชนที่สามารถไปเปิดสาขาได้แล้วโอกาสที่จะขยายไปเป็น 20,000 หรือ 30,000 สาขาก็จะยากกว่าการไปขยายสาขาในต่างประเทศที่ยังมีร้านสะดวกซื้อไม่มาก เป็นต้น)
หรืออธิบายง่ายกว่านั้นคือ สมมติมีร้านขายอาหารเปิดขึ้นมา 1 ร้าน รายได้ 1 ล้านบาท พอเปิดสาขาที่ 2 รายได้จะเพิ่มจาก 1 ล้านเป็น 2 ล้านบาท เท่ากับเพิ่ม 100 % ขณะที่ร้านอาหารอีกร้านมีสาขา 10 สาขา การเปิด 1 ร้านเท่ากัน จะทำให้รายได้เพิ่มแค่ 10% เท่านั้น
(สมมติว่าแต่ละสาขาขายได้รายได้เท่ากัน) จะเห็นได้ว่าการเติบโตจากฐานที่น้อยกว่าก็จะทำให้เติบโตได้มากกว่าด้วย แต่ขณะเดียวกันบริษัทที่ใหญ่กว่าจะมีความได้เปรียบเหนือกว่าในด้านต่างๆ เช่นกัน อย่างความได้เปรียบจากขนาด หรืออำนาจต่อรองกับ Supplier หรือการมี Barrier to Entry ตามที่เคยเขียนไปใน 2 บทความนี้ครับ
ดังนั้นในการลงทุนเราจึงควรพิจารณาหลายๆปัจจัยประกอบกันไป ไม่ควรดูแค่การเติบโตแต่ควรวิเคราะห์ 5 Forces และ Barrier to Entry ประกอบด้วย
⭐3. วิธีประมาณ g ของบริษัท มาถึงคำอธิบายสุดท้ายแล้ว ว่าเราจะประมาณการเติบโตได้อย่างไร จริงๆมีคำอธิบายทั้งเชิงทฤษฎีการเงิน และคำอธิบายเชิงอื่นๆ นะครับ
3.1 เริ่มจากเชิงทฤษฎีกันก่อน คือ
📍 g = b x ROE
b หรือ Retention Ratio (อัตราการเก็บกำไรไว้)
b = 1- Payout Ratio
ROE คือ กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทใช้เงินทุนไปสร้างกำไรได้มากแค่ไหน ยิ่ง ROE มากแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการสร้างกำไรได้มากๆเมื่อใช้เงินทุนเท่ากัน เช่น บริษัท ROE 15% กับ 20% แปลว่าบริษัทแรกถ้าได้เงินทุนมา 100 สามารถทำกำไรได้ 15 ส่วนบริษัทหลังทำได้ 20 แปลว่าบริษัทหลังมีความสามารถในการสร้างกำไรสูงกว่านั้นเอง
ดังนั้นในความหมายของสมการ g คือ บริษัทที่เก็บกำไรไว้กับตัวมากๆ (จ่ายปันผลน้อยเก็บเงินไว้ลงทุนต่อเยอะ ซึ่งมักเป็นธรรมชาติของบริษัทที่กำลังเติบโต) และสามารถนำเงินทุนที่เก็บไว้ไปหาผลตอบแทนได้มาก หรือมี ROE สูง (เก็บเงินไว้ลงทุนมากแล้วเมื่อลงทุนแล้วก็สร้างกำไรได้สูงบริษัทก็จะเติบโตสูงตาม)
3.2 การพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น แผนงานของบริษัท ความสามารถของผู้บริหาร ความสำเร็จของบริษัทที่เคยทำได้ในอดีต (อันนี้เหมือนนักเรียนเรียนดีเราก็คิดว่าอนาคตน่าจะทำงานเก่งล่ะ)
การควบคุมต้นทุน และการเพิ่มประสิทะิภาพ (อย่าลืมว่าเรากำไลังพูดถึง g ของ กำไร ไม่ใช่แค่ยอดขาย ดังนั้น การพิจารณาเรื่องต้นทุนจึงสำคัญไม่แพ้กัน) ปัจจัยเชิงคุณภาพอื่น ๆ เช่น 5 forces (ซึ่งจะบอกถึงสถานการณ์และสถานะของบริษัทในขณะนั้น)
Barrier to Entry (บอกความยากง่ายที่คู่แข่งจะเข้ามาแข่ง) และการควบรวมกิจการ รวมถึงปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
ขอยกตัวอย่างๆง่ายๆ เช่น บริษัทมีแผนจะเพิ่มยอดขายโดยจะเพิ่มจำนวนสาขาอีก 100 สาขา จาก 1,000 สาขาที่มีอยู่ก็จะทำให้ตัวเลขยอดขายเพิ่มตามจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น 10% และการลงทุน และสมมติว่าสาขาเดิมกับสาขาใหม่ทำยอดขายเพิ่มได้อีกสาขาละ 3% ก็จะให้ยอดขายรวมเติบโต 13% ((1.1 x 1.03) - 1)
ถ้าอัตราการเพิ่มขึ้นต้นทุนของบริษัทเท่ากับยอดขายคือ 13% กำไรก็จะเติบโต 13% เช่น กัน แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มน้อยกว่าอัตาการเพิ่มขึ้นของยอดขายกำไรก็จะเพิ่มมากกว่า 13% เป็นต้น (ส่วนนี้มีอธิบายไว้ในบทความ ธุรกิจจะเก่งแค่ในไหนการทำกำไรดูได้จาก งบกำไรขาดทุน Understanding Income Statement ครับ)
ซึ่งการเติบโตแบบนี้เรียกว่า Organic Growth ที่เป็นการเติบโตไปตามธรรมชาติของบริษัท แต่จะมีการเติบโตอีกแบบที่เรียกว่า Inorganic Growth เช่น การควบรวมกิจการ (M&A) เช่น การไปซื้อบริษัทอื่นๆมาแล้วรวมเข้ากับบริษัทตัวเอง ซึ่งการเติบโตแบบนี้จะทำให้ได้ยอดขายและกำไรเติบโตขึ้นมากในปีแรกที่ซื้อ
เช่น บริษัท A ยอดขาย 20,000 ล้าน ซื้อ บริษัท B ที่ยอดขาย 4,000 ล้าน เมื่อรวมบริษัทกันแล้ว บริษัท A จะมียอดขายเพิ่มเป็น 24,000 ล้านทันที แม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มยอดขายของตัวเองเลยแต่ได้ยอดขายและกำไรเพิ่มมาจากการรวมกำไรกับบริษัทที่ไปซื้อมา และถ้าการซื้อนั้นทำได้ดีพอ ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Synergy ระหว่างทั้ง 2 บริษัทก็จะทำให้บริษัทมีความสามารถแข่งขันสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
เช่น เครือ Central ซื้อ Grab ที่เป็น App เรียกรถแท็กซี่และสั่งอาหาร ก็จะทำให้ ร้านค้าของห้างเซ็นทรัลสามารถส่งอาหารได้โดยคนขับรถของ Grab ซึ่งช่วยให้ส่งอาหารได้เร็วขึ้น และอาจจะมีต้นทุนลดลง เป็นต้น แต่อย่างไรซะการเติบโตไม่ว่าเป็นแบบ Organic หรือ Inorganic สิ่งสำคัญคือการเลือกลงทุนได้อย่างถูกต้อง
คือลงทุนแล้วสามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนได้ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลไปที่การเติบโตของกำไรอีกทีหนึ่ง ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องพิจารณาว่าการลงทุนเพื่อการเติบโตนั้นสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพหรือไม่ด้วยครับ
เอาล่ะครับ จบไปแล้วสำหรับเรื่อง g เป็นยังไงกันบ้างครับ หากยังสงสัยตรงไหนเม้นต์ถามใต้โพสต์ได้เลยครับ แล้วพบกันบทความต่อไป!
ชอบ "กดถูกใจ ❤️" ใช่ "กดแชร์ 👆"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane
🔥 คลิกเลย https://skl.website/3czknQd
#มูลค่าหุ้น #SkillLane
#เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
โฆษณา