18 ม.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
เคเอฟซีในสหรัฐอเมริกา บรรจุอาหาร PLANT-BASED เข้าในเมนูของร้าน
เคเอฟซี ตอบรับกระแสความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพโดยประกาศเพิ่มอาหารที่ทำจากเนื้อไก่เทียมเข้าไปใน เมนูอาหารของทางร้าน การเพิ่มเมนูครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับบริษัท บียอนด์มีท ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหาร plant-based รายใหญ่ในสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ทั้งเคเอฟซี และบียอนด์มีทได้มีการร่วมมือเพื่อพัฒนาและทดลองผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ ทดแทนเนื้อไก่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยวัตถุดิบ plant-based ที่จะนำมาใช้นั้นจะให้เนื้อสัมผัสคล้ายอกไก่ มากกว่าที่จะเป็นเนื้อไก่บดอัดก้อนแบบนักเก็ต การทดลองผลิตภัณฑ์ของทั้งสองบริษัทนั้นเริ่มต้นในปี 2563 โดยเริ่มจากสาขาในเมืองแอตแลนต้า ผลปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวขายหมดภายในเวลา 5 ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่ออาหาร plant-based
Kevin Hochman ประธานของเคเอฟซี เปิดเผยว่าการเพิ่มผลิตภัณฑ์ plant-based เข้าไปในเมนูของเคเอฟซีนั้น สอดคล้องกับกระแสความนิยมในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ที่ผู้บริโภคบางส่วนมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันชาวอเมริกันหันมาให้ความสนใจกับการรับประทานอาหารแบบกึ่งมังสวิรัติ (flexitarian) ซึ่งเป็นการลดปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ลงด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาหาร plant-based ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ไม่เพียงแต่ความร่วมมือกับเคเอฟซีเท่านั้น แต่บียอนด์มีทได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับร้านอาหารอื่นๆ เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบ plant-based เพื่อจำหน่ายในร้านต่างๆ ของ Yum Brand อาทิ Pizza Hut Taco Bell และ Chipotle โดยพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงถึงแม้ว่าความร่วมมือกับร้านอาหารต่างๆ ในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้บียอนด์มีทในการขยายฐานเข้าสู่ผู้บริโภคในวงกว้าง อย่างไรก็ตามบริษัทยังคาดหวังว่าจะสามารถดึงกลุ่มลูกค้าจากร้านอาหารฟาสท์ฟู๊ดต่างๆ ที่มีความสนใจในอาหาร plant-based ให้ไปซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแสดงความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่ออาหาร plant-based ได้อย่างชัดเจนมากขี้น
ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากความต้องการอาหาร plant- based ในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา โดยในปี 2563 สินค้า Plant-based มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 7 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มโดยรวมในสหรัฐฯ
1
หมวดหมู่สินค้าที่ครองสัดส่วนการตลาดสูงที่สุดได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมที่ทำมาจากพืช อาทิ อัลมอนต์ ข้าวโอ๊ต และมะพร้าว โดยมียอดขายในปี 2563 มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของตลาด plant-based ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ มียอดขายในปี 2563 มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตจากปี 2562 ถึงร้อยละ 45.3 ซึ่งถือเป็นอัตราเติบโตมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความนิยมอาหาร plant-based ในสหรัฐฯกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตสินค้า plant-based ที่ต้องการขยายตลาดมายังสหรัฐฯ
โฆษณา