28 ก.พ. 2022 เวลา 23:00
ปฏิจจสมุปบาท หรือ ขันธ์ 5 คือ อาการของจิต สองประการ
สืบเนื่องจากปวงญาติเมื่อได้ฟังธรรมในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในหัวข้อธรรมที่ว่าปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์5ที่อาตมานำมาแสดงอยู่ โยมได้ปรารภเหตุให้ฟังว่าตนเองนั้นแม้จะฟังธรรมนี้หลายต่อหลายครั้ง ตนก็ยังไม่สามรถที่จะรู้จริง ไม่สามารถแทงตลอดในธรรมนี้จนเป็นที่ถ้วนรอบได้
ในเรื่องนี้อาตมมากลับอนุโมทนากับโยมด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะโยมนั้นได้แสดงความจริงใจว่าเมื่อตนเองยังไม่รู้ตอบว่ายังไม่รู้ ถ้าเมื่อใดโยมได้รู้ในเรื่องนี้โยมก็จะได้รู้และกล้าที่จะบอกว่าตนเองได้รู้แล้ว และพร้อมที่จะแสดงให้ใครต่อใครได้รับฟัง ถูกก็รู้ว่าถูก ผิดก็รู้ว่าผิดโดยผู้รู้นั่นเอง
ดังนั้นลำดับต่อไปนี้เพื่อเป็นความอนุเคราะห์แก่ปวงญาติ อาตมาจะนำเอาปฏิจจสมุปบาทและบทธรรมที่ถูกย่อแล้วเป็นขันธ์5นั้นมาแสดงให้กับพวกเราได้เห็น โดยให้เห็นเป็นภาพที่เป็นปัจยาการต่อกันอยู่สองระดับหรือสองประการก่อน ในขณะเดียวกันก็จะชี้ให้เห็นบทที่เป็นปัจจยาการของปฏิจจสมุปบาทที่เป็นแม่บทธรรมหลัก และชี้ให้เห็นปัจจยาการที่เป็นบทธรรมที่ถูกย่อลงเป็นขันธ์5ด้วย แต่จะแสดงให้เห็นถึงอาการที่หนึ่งและอาการที่สองที่เกิดอยู่ในปฏิจจสมุปบาทนั้นว่าเกิดอย่างไร
นั่นเป็นอาการ นั่นเป็นลิงค นั่นเป็นนิมิต นั่นเป็นอุเทส ของจิต ของมโน ของวิญญาณ ของสรรพสัตว์แต่ละตัวแต่ละตนบุคคลเราเขา จะเกิดอยู่ด้วยอาการหลักๆสองอาการ ในปฏิจจสมุปบาทที่ยาวๆนั่นนะ จะเกิดอยู่หลักๆสองอาการ แล้วเมื่อถูกย่อลงมาเป็นขันธ์5 ก็จะเกิดอยู่สองอาการนี้
อุปมาดังนี้เหมือนเรารู้จักรถหนึ่งคัน เราเห็นรถ เรารู้จักรถรู้ว่านั่นรถ แต่เรายังไม่รู้รายละเอียดของรถ ว่านั่นล้อรถ ว่านั่นมียางนอกยางใน มีเพลามีคัดซี มีพวงมาลัย มีตัวถัง มีฝากระโปงรถ มีอะไรทั้งหมดทั้งมวล เรายังไม่รู้ แต่เรารู้ภาพรวมว่านี่คือรถเท่านั้น วันนี้เรามาดูตรงนี้กันก่อน เรามาเริ่มตนกันดังนี้
อาตมาได้แสดงให้กับพวกเราได้รับฟังตามธรรมของพระศาสดาอยู่ประจำ บทธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์5 ปฏิจจสมุปบาทนี้ถูกย่อลงเป็นขันธ์5 ปฏิจจสมุปบาทกับขันธ์5นี้เป็นธรรมอันเดียวกัน เป็นธรรมที่แสดง อาการ ลิงค นิมิต อุเทส ของจิต ของมโน ของวิญญาณ ของสรรพสัตว์แต่ละตัวแต่ละตนบุคคลเราเขา
อาการคืออาการที่เกิดขึ้น เช่นอาการนี้เป็นอาการของสัตว์นรก
ลิงคคือเพศ เพศนี้คือเพศหญิงเพศชายของความเป็นสัตว์นรก
นิมิตคือเครื่องหมายเครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายของสัตว์นรก
อุเทสเป็นเรื่องราวของสัตว์นรก
อาการนี้ ลิงคนี้ นิมิตนี้ อุเทสนี้ เป็นของเดรฉาน
อาการนี้ ลิงคนี้ นิมิตนี้ อุเทสนี้ เป็นของเปรต
อาการ ลิงค นิมิต อุเทสนี้เป็นของมนุษย์
อาการ ลิงค นิมิต อุเทสนี้ เป็นของเทวดา
นรก เดรฉาน เปรต มนุษย์ เทวดา เกิดจากจิตมโนวิญญาณที่เป็นไปตามเหตุแห่งกรรมที่สรรพสัตว์นี้ได้กระทำเอาไว้ ไปเสวยวิบากกรรมนั้นๆ
โดยเราจะเห็น อาการลิงค นิมิต อุเทส ของจิต ของมโน ของวิญญาณของตัวเราเองนี้ได้โดยบทธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทนี้เท่านั้น
เราจะเห็นธรรม เห็นจิต เห็นมโน เห็นวิญญาณของเราได้ ด้วยบทธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทนี้เท่านั้น
ณ ที่แห่งนี้อาตมาจะชี้ให้พวกเราได้ดูบทธรรมที่เป็นปฏิจจสมุปบาทโดยรวมก่อน
เริ่มต้นที่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น มีได้ด้วยประการฉะนี้
เมื่อพระองค์ท่านตรัสบทธรรมที่เป็นปฏิจจสมุปบาทโดยถ้วนรอบนี้แล้ว บอกให้พวกเราได้รับทราบว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น ทุกข์ทั้งสิ้นที่ไปในนรก ในเดรฉาน ในเปรต ในมนุษย์ ในเทวดา
เป็นเพราะบทธรรมนี้ บทธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทนี้
เป็นเพราะบทธรรมนี้คืออาการของจิต ของมโน ของวิญญาณ ของสรรพสัตว์แต่ละตัวแต่ละตนบุคคลเราเขานั่นเอง
1
เมื่อเห็นบทธรรมนี้เป็นที่ถ้วนรอบแล้ว พระองค์ท่านก็จะตรัสเป็นบทธรรมต่อท้ายว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ว่าโดยย่ออุปาทานทั้ง5 เป็นตัวทุกข์
ขันธ์5ก็มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ห้าคำนี้ ห้าคำนี้คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ย่อลงมาจากปฏิจจสมุปบาทแม่บทธรรมหลักนี้ ถ้านับตามอาการ อาการปฏิจจสมุปบาทจะมีอยู่สิบสองปัจจยาการ
พอย่อลงมาเป็นขันธ์5เหลือเพียงห้าปัจจยาการ แต่เป็นธรรมอันเดียวกันเกิดขึ้นในขณะจิตเดียวกัน ไม่ใช่เกิดปฏิจจสมุปบาทแล้วจึงเกิดขันธ์5ไม่ใช่ เกิดปฏิจจสมุปบาทนี้แหละคือเกิดขันธ์5อันเดียวกันเลย
นั่นหมายถึงว่าปฏิจจสมุปบาทและขันธ์5เป็นธรรมอันเดียวกัน
เมื่อเราได้เห็นบทธรรมหลักและบทธรรมย่อแล้วดังนี้ อาตมาได้ชี้ให้ดูว่า นี่คำว่าวิตก นี่คำว่าวิจาร มีสองคำ อาตมาได้แสดงได้ชี้ลูกศรให้ดูว่าจากอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนานี้ เป็นปัจจยาการที่หนึ่ง หรือเป็นอาการที่หนึ่ง เป็นอาการที่พอเราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาตมาเคยยกตัวอย่างว่า ผู้ชายเห็นผู้หญิง แต่วันนี้จะยกตัวอย่างให้ดูว่าเงิน
แต่วันนี้อาตมาจะยกตัวอย่างให้ดูว่าเงิน เงิน พอบุคคลคนหนึ่งตาเห็นเงิน หูได้ยินว่านี่เงิน จมูกได้กลิ่นว่านี่กลิ่นของเงิน ลิ้นรับรสว่านี่รสชาติของเงิน กายสัมผัสในเงินว่าดีงามเหลือเกิน ใจรับรู้เรื่องราวของเงินนี้เป็นสิ่งที่ช่วงอนุเคราะห์อนุกูลให้สรรพสัตว์ตั้งอยู่ได้และมีความสุข จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณรับรู้
บุคคลคนนี้เห็นเงินครบองค์ประชุม ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว บุคคลคนนี้ได้เห็นเงินแล้วเกิดเวทนา เกิดความรู้สึกว่าเงินนี้ดีนะ เป็นสุข ทำให้เป็นสุข เกิดความพอใจ เกิดความฉันทะ เกิดความปรารถนา เกิดความต้องการ ต้องการในเงิน
นี่เป็นอาการของปฏิจจสมุปบาทในส่วนที่หนึ่ง อาตมายกมาให้ดูว่าเป็นวิตก เป็นวิตก เป็นอาการที่หนึ่งตั้งแต่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะถึงเวทนานี้เป็นอาการที่หนึ่ง
คือเราเมื่อเห็นเงินแล้ว เห็นครบถ้วนด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรับรู้ว่านี่เงิน เงินดีที่สุดสำหรับตัวเราในตอนนี้ เราเป็นสุขที่จะมีเงิน เราปรารถนาที่จะมีเงิน เราต้องการที่จะมีเงิน
ขั้นตอนที่หนึ่งนี้ เราเพียงมีความรู้สึกที่ดีเท่านั้นนะ อย่าเพิ่งเอาไม่ดี เอาเฉพาะดีต่อเงินเท่านั้น ถามว่าเราได้เงินหรือยัง ตอบ คือตอนนี้เรายังไม่ได้เงิน เราเพียงแต่รู้ว่าเงินดีอยากได้เงิน ปรารถนาในเงินเท่านั้น เพราะว่าเงินจะทำความสุขให้กับเราและสุขที่สุดด้วย แต่เรายังไม่ได้เงิน นี่เป็นอาการที่หนึ่ง เป็นขั้นตอนที่หนึ่ง จะเกิดแบบนี้
ลำดับต่อไป อาตมาเขียนคำว่าวิจารเอาไว้
ตรงนี้เริ่มตั้งแต่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ไปจนถึงที่สุดของปฏิจจสมุปบาท ตรงนี้เป็นส่วนของวิจาร วิจารนี้คือเมื่อเรายินดีในเงินแล้ว เรายังไม่ได้เงินแต่เราปรารถนาที่จะเอาเงิน เราเลยกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน ประกอบสัมมาอาชีพ โดยการหากินอยู่บนพื้นโลก เป็นเกษตรกร ประกอบสัมมาอาชีพโดยการเป็นช่าง ประกอบสัมมาอาชีพโดยการเป็นพ่อค้า ประกอบสัมมาอาชีพโดยการเป็นผู้รับจ้าง
ประกอบกายทุจริตเพื่อให้ได้เงินอย่างเช่น ลัก โขมย จี้ ปล้น ฆ่า ประกอบสัมมาอาชีพโดยการเป็นผู้ปราบปรามความเห็นผิดนี้ เช่นเป็นตำรวจเป็นทหาร ประกอบสัมมาอาชีพโดยเป็นปุโรหิตเป็นครูเป็นอาจารย์ สำหรับสอน ประกอบสัมมาอาชีพโดยเป็นผู้ปกครอง เป็นนักปกครอง เป็นผู้ใหญ่บ้านกำนันอย่างนี้เป็นต้น เพื่อให้ได้เงินมา กระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมา และที่สุดก็ได้เงินมา
เป็นสองอาการเห็นไหม๊ อาการที่หนึ่งเป็นวิตก อาการที่สองเป็นวิจาร
จะเกิดอยู่อย่างนี้กับปฏิจจสมุปบาททุกครั้ง
เกิดที่ตาก็เกิดวิตกและวิจาร
เกิดที่หูก็เกิดวิตกและวิจาร
เกิดที่จมูกก็เกิดวิตกและวิจาร
เกิดที่ลิ้นก็เกิดวิตกและวิจาร
เกิดที่กายก็เกิดวิตกและวิจาร
เกิดที่ใจก็เกิดวิตกและวิจาร
ยกตัวอย่างอีกเช่นเรารู้สึกหิวข้าว เรารู้สึกว่าเหนื่อยๆอย่างนี้เป็นอาการหิวข้าวแน่นอนต้องการที่จะกินข้าวหรือรับประทานอาหารที่เป็นข้าวนี้แน่นอน
อาการแรกนี้เป็นวิตก คือเรารู้ว่าเราหิวข้าวแต่เรายังไม่ได้กินข้าวนะ
นี้เป็นวิตก เป็นอาการที่เกิดขึ้น คือความรู้สึกแรกก่อนเป็นรู้สึกว่าอ่อเราหิวข้าว
อาการที่สองตั้งแต่ ตัณหา อุปาทาน กระทำการใดๆเพื่อให้ได้ข้าวมา เพื่อรับประทานหรือมากินนี้ ตัวนี้เป็นวิจาร อาการของจิตของเราจะเป็นอย่างนี้
เราเห็นสิ่งนี้สวย เรายังไม่ได้สิ่งนั้น เราต้องกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้ความสวยนั้นมาเป็นของเราเห็นความสวยนั้นเป็นวิตก กระทำเพื่อให้ได้ความสวยนั้นมาเป็นวิจาร
ได้ยินเสียงนี้ไพเราะได้ยินเสียงนี้ไพเราะเราชอบเป็นวิตก เรากระทำเพื่อให้เสียงนี้มาเป็นของเราเป็นวิจาร
ได้กลิ่นนี้หอมหวนเหลือเกินยังไม่ได้ เป็นเพียงความรู้สึกปรารถนาเป็นวิตก แต่พอเรากระทำเพื่อให้ได้กลิ่นนี้มาเป็นของเราเป็นวิจาร
รสนี้เขาว่าอร่อยเราก็รู้ว่าอร่อยแต่ยังไม่ได้กินเป็นวิตก พอเรากระทำเพื่อให้ได้รสชาติหรืออาหารชิ้นนั้นมาให้เราได้กินเป็นวิจาร
สิ่งนี้สัมผัสแล้วนิ่มนวลเหลือเกินดีงามเหลือเกิน เราปรารถนานี่เป็นวิตก พอเรากระทำเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของเราตรงนั้นเป็นวิจาร
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีงาม อยากได้มาเป็นของตนเอง อาการนี้เป็นวิตก พอเรากระทำให้สิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นมาเป็นของเราตรงนั้นเป็นวิจาร
นี่คืออาการที่เป็นปัจจยาการอยู่สองอาการ ที่เกิดขึ้นทุกขณะจิต เป็นอาการที่เรียกว่าวิตกและวิจาร อยู่ในปฏิจจสมุปบาททุกครั้งที่เกิด เกิดวันหนึ่งๆไม่น้อยกว่า300ครั้ง อาการที่เรียกว่า จิต มโน วิญญาณนี้ เกิดวันหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า300ครั้ง
ดังที่พระพุทธเจ้าอุปมาว่าเราถูกประหารโดยหอกวันละ300เล่ม นั่นคือทุกครั้งที่เกิดครั้งหนึ่งถูกประหารหนึ่งครั้ง เกิดสองครั้งประหารสองเล่ม เกิดร้อยครั้งก็ประหารด้วยหอกร้อยเล่ม สามร้อยครั้งหนึ่งวันก็สามร้อยเล่ม เกิดอยู่อย่างนี้
นี่คืออาการของจิต ของมโน ของวิญญาณของเรามีสองส่วน มีส่วนที่เกิดที่หนึ่งมาจนถึงเวทนานี้ เห็นสิ่งใดจะเกิดความรู้สึกรักชอบใจเป็นวิตก
เรากระทำตามความรักความชอบใจนั้นเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาจากตัณหาไปจนถึงที่สุดเป็นวิจาร ให้เห็นเราเห็นตรงนี้ ดูตรงนี้ไปฝึกตาม
ทีนี้พอย่อลงมาเป็นขันธ์5เหลือเพียง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รูปก็คือสิ่งนั้นๆที่เราเห็น
รูปคือสิ่งนั้นๆที่เราได้ฟัง
รูปคือสิ่งนั้นๆที่เราได้กลิ่น
รูปคือสิ่งนั้นๆที่เรารู้ว่ารสชาติดี
รูปคือสิ่งนั้นๆที่เราสัมผัสแล้วว่าดี
รูปคือสิ่งนั้นๆที่เรารับรู้เรื่องราวดี
ที่มาเข้าตา เข้าหู เข้าจมูก เข้าลิ้น เข้ากาย เข้าใจของเราเป็นรูป
พอเรารู้สึกดีนั่นแหละ เราเกิดเวทนาว่าอย่างนี้เป็นสุขๆ ฉันชอบๆ ฉันรักฉันปรารถ ตรงนี้เป็นวิตกเรายังไม่ได้ เรายังไม่ได้สิ่งนั้นมา ยังไม่ได้สิ่งนั้นมาเป็นเจ้าของ เรารับรู้โดยสัญญาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ถ้าเราได้มาสิ่งนี้จะเป็นความตั้งอยู่ได้และก็จะเป็นสุขที่สุด หลังจากนั้นเมื่อรู้ว่าถ้าได้สิ่งนี้มาเราจะตั้งอยู่ได้และเป็นสุขแล้ว เราก็สังขารแเละวิญญาณขยายต่อไป จนทำสิ่งนี้รูปตัวนี้ให้ได้มาเป็นของเรา ตรงนี้เป็นวิจาร
อาการที่เกิดโดยเต็มก็มีวิตก จากอวิชชาไปจนถึงเวทนาเป็นวิตก ก็คือจากรูปมาจนถึงเวทนาเหมือนกัน อาการวิจารจากสังขารไปจนถึงวิญญาณ ไปจนถึงได้สิ่งของนั้นเป็นวิจารคือทำเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ก็เป็นวิจารของปฏิจจสมุปบาทก็คือจากตัณหาไปจนถึงที่สุด อาการของจิตของโยมหรือของปวงญาติหรือของผู้คนทั้งหมดทั้งมวล ทั่วมหาจักวาลนี้เป็นเหมือนกัน
จะมีสภาวะที่หนึ่งที่เห็นสิ่งนั้นแล้วชอบรัก ยินดีปราถนา หลังจากนั้นก็กระทำเพื่อให้ความยินดีความปรารถนานั้นสมปรารถนาเท่านั้นเป็นวิจารตามมา ก็จะเป็นวิตกแล้วก็จะเป็นวิจาร เป็นวิตกแล้วก็เป็นวิจาร ย่อลงมาเท่าใดก็จะมี อาการของวิตกและก็วิจาร อยู่เท่านั้น
วันนี้อาตมาบอกให้พวกเราได้รับทราบว่าปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นแม่บทธรรมหลักยาวๆนี้ มีอาการอยู่สองอาการเป็นหลักๆ คืออาการที่เป็นวิตก คือความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งนั้น เอาเฉพาะดีก่อน ยังไม่เอาร้าย ยังไม่เอาทุกข์ ตอนนี้ให้เห็นเฉพาะดีก่อน แล้วหลังจากนั้นเมื่อเรายินดีปรารถนาในสิ่งนั้นแล้วเราก็ทำการวิจารเอาสิ่งนั้นมาเป็นของเราให้ได้ จึงเกิดวิตกและวิจาร
ทั้งปฏิจจสมุปบาทสายหลักแม่บทธรรมหลัก และบทธรรมย่อที่ถูกย่อมาเป็นขันธ์5ก็เหมือนกัน ทุกเรื่องเป็นรูปทั้งนั้น ทุกเรื่องทำให้เราเกิดเวทนาทั้งนั้น ทุกเรื่องที่เราปรารถนาแล้วเรารับรู้แล้ว เราจะกระทำการให้ได้สิ่งนั้นมาทั้งนั้น จึงมีวิตกและมีวิจารอยู่ ทุกขณะจิตของเรา
ให้ปวงญาติไปดูตรงนี้ก่อน แล้วหลังจากนั้นเมื่อเห็นบทธรรมรวมๆหลักๆสองส่วนนี้แล้วค่อยมาดว่าอวิชชาคืออะไร สังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไร นามรูปคืออะไร สฬายตนะคืออะไร ผัสสะคืออะไร เวทนาคืออะไร ตัณหาคืออะไร อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ คืออะไรไปตามลำดับ
อาตมาเชื่อมั่นว่าเมื่อเรารู้จักรถแล้ว เราขึ้นไปหัดขับรถ ขึ้นขี่รถ เราก็จะค่อยๆศึกษารายละเอียดว่าตัวรถเป็นอย่างนี้ ที่นั่งเป็นอย่างนี้ พวงมาลัยเป็นอย่างนี้ไปตามลำดับ จนถึงที่สุด ขับได้ ให้พวกเราได้รับรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ให้ทำความรู้สึกตามว่า บุคคลทุกคนในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ต้องเข้ากับอาการที่รู้เห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ไม่ง่ายแม้แต่คนเดียว
หลวงพ่อ พุทธปัญโญ
อนุโมทนากับทุกคนเอาไว้เท่านี้ก่อน
แสดงธรรมโดย หลวงพ่อ พุทธปัญโญ
วันพุทธที่13 เดือนมกราคม 2564
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา