26 มี.ค. 2022 เวลา 07:24 • การเมือง
สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะจบลงอย่างไร? ตอน 5
ตอนที่แล้ว เราเข้าสู่เนื้อหาฉากทัศน์ที่ 3 จากทั้งหมด 3 แบบแรกไป แต่เนื่องจากมีเนื้อหายาว เลยตัดแบ่งมาเป็นตอนนี้และตอนหน้าเพิ่มอีก 2 ตอน ทบทวนนะครับ ทั้ง 3 ฉากทัศน์คือ
[1] คุมเชิง: สถานการณ์แบบต่างสูญเสีย
[2] รุกฆาต: ปูตินได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
[3] บีบให้จนมุม: เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย
มาดูรายละเอียดกันต่อครับว่าผู้เขียนคือ เอสเชอร์ เททรูแอชวิลี ที่เป็นอดีตนักการทูตสหรัฐ และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายที่ศูนย์กฎหมายมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ คาดการณ์ลงรายละเอียดของฉากทัศน์ต่อไปยังไง จากตอนที่แล้ว ระบุว่าการล้มปูตินในประเทศ น่าจะเป็นได้ 2 แบบคือ จากคนใกล้ชิดและจากการลุกฮือของมวลชน
=======================
Photo by engin akyurt on Unsplash
ฉากทัศน์ที่ 3 บีบให้จนมุม: เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย
(Forced-mate: Revolution in Russia)
[ต่อจากตอน 4 ดู link ได้จากท้ายบทความนี้]
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปูตินใช้วาทศิลป์เรื่องความรักชาติเพื่อเน้นย้ำและสร้างความเกลียดชังให้เกิดกับชาวรัสเซีย ต่อผลการคว่ำบาตรโดยผู้นำชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ
หลังยุคปูติน รัสเซียจะเป็นเช่นไรนั้น ดูท่าน่าจะไม่ใช่รัสเซียแบบที่ชาติตะวันตกที่มีประชาธิปไตยต้องการเป็นแน่
ชาติตะวันตกจำเป็นต้องเริ่มนึกถึงตัวเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้นับแต่นี้
แนวโน้มความเป็นไปได้มากที่สุดของสงครามครั้งนี้ ผลน่าจะเป็นการพ่ายแพ้บางส่วน ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตของชาวยูเครนได้ ขณะที่ก็เป็นการโยนห่วงชูชีพให้กับพลเมืองชาวรัสเซียทั่วไปด้วยในตัว
การจะเป็นเช่นนี้ได้จำเป็นต้องใช้ความพยายามทางการทูตอย่างหลากหลายรูปแบบ
ชาวยุโรปจำเป็นต้องเห็นพ้องกันในเรื่องการต้อนรับยูเครนเข้าสู่สหภาพยุโรป พร้อมเสนอปูตินว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดระดับความรุนแรงลง และต่อรองให้เกิดสนธิสัญญา ที่จะช่วยรับประกันบางอย่างให้กับรัสเซียว่า จะได้รับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงตามความต้องการ
เมืองเคียฟของยูเครน. Photo by Robert Anasch on Unsplash
ผู้มีบทบาทหลักแต่ละคนควรต้องพยายามเดินหน้าเรื่องอาชญากรรมสงคราม โดยไม่จำเป็นต้องมีประเทศผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วม (กล่าวหาลับหลัง ศัพท์การศาล) และนาโต้ควรทบทวนกฎข้อบังคับว่าด้วยการส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซง ว่าอาจทำได้แม้ไม่มีการประกาศสงครามขึ้นก็ตาม เพื่อเป็นการปกป้องสมาชิกในสหภาพยุโรป
เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้การบังคับและยกระดับการคว่ำบาตรการทำธุรกรรมทางการเงินในทันที และการสนับสนุนกองกำลังจำนวนหนึ่งตามแนวคิดการใช้กองกำลังเพื่อรักษาสันติภาพ
หากมีการจัดตั้งระบอบหุ่นเชิดขึ้นในยูเครน ชาติตะวันตกก็จะต้องจำแนกผลที่จะตามมาสำหรับระบอบรัสเซียซึ่งจะอยู่ยาวออกไปให้ได้ว่า จะเป็นเช่นไร ซึ่งก็รวมทั้งการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าไปที่ผู้นำทางทหารที่เป็นตัวหลัก และเซ็กเตอร์พลังงาน
ชาวยูเครนจะยังคงต่อสู้ไม่เลิก และกองกำลังกบฏดังกล่าวก็จะมองหาความสนับสนุนจากนาโต้และประเทศยุโรปชาติต่างๆ แน่
การร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการตอบสนอง และน่าจะเกิดการตอบโต้ โดยอาศัยการปราบปรามอย่างรุนแรง
หากมองฉากหลังเช่นนี้แล้ว ผู้นำนาโต้ก็จำเป็นต้องระบุให้ได้ชัดเจนว่า กำลังต่อสู้กับใครและจะต้องต่อสู้อย่างไร เช่น หากขณะรัสเซียบดขยี้ขบวนการต่อต้าน กลับทำให้เกิดการโจมตีชาตินาโต้โดยไม่เจตนา
จะถือว่านี่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้ทางทหารได้หรือไม่?
ในตอนหน้าซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายในซีรีส์นี้ ผู้เขียนจะวาดภาพฉากทัศน์ต่อว่า หากปูตินยึดครองยูเครนได้สำเร็จ และไม่โดนบีบให้ลงจากอำนาจ แต่ตัดสินใจจะรุกต่อไปยังชาติอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ เช่น มอลโดวาหรือจอร์เจีย ยุโรปควรตอบสนองเช่นใด?
โฆษณา